xs
xsm
sm
md
lg

หอฯไทยจับมือ 6 องค์กร ถกทางรอดอุตฯ-ท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา -หอการค้าไทย จับมือร่วม 6 องค์กรภาครัฐ- เอกชน สัมมนาระดมความเห็น แนวทางแก้วิกฤตการเงิน การตลาด และทางรอดของภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่ม.บูรพา 9 ตุลาคม หวังลดความเสียหายทางธุรกิจให้แก่กลุ่มเอสเอ็มอี หลังพบวิกฤตน้ำมัน-เงินเฟ้อ ทำผู้ประกอบการปิดตัวแล้วเดือนละกว่า 2 พันราย

นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ประธานกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม หอการค้าไทย เผยถึงการจับมือร่วมกับองค์กรธุรกิจที่ประกอบด้วยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เอ.ไอ.เอส. มหาวิทยาลัยบูรพา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี สมาคม ATSME และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 9 จัดโครงการ “พลิกวิกฤตสร้างโอกาสผู้ประกอบการทั่วไทย ” เพื่อเป็นเวทีระดมแนวคิดกระตุ้นภาคธุรกิจให้ตื่นตัวและพลิกวิกฤตจากราคาน้ำมันและภาวะเงินเฟ้อ สำหรับหาช่องทางอยู่รอดด้วยการลดต้นทุน บริหารจัดการองค์กรด้วยวิธีใหม่และเสาะหาลู่ทางตลาด

รวมทั้งประสานงานกันระหว่างคลัสเตอร์ธุรกิจ ให้สามารถพึ่งพากันเองภายในประเทศ รวมทั้งจัดตั้งทีมที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเพื่อ ให้คำปรึกษาในการแก้ปัญหาทางธุรกิจทั้งด้านการตลาด แหล่งทุน การจัดการด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นพี่เลี้ยงโครงการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วประเทศ

ที่ผ่านมาได้เปิดโครงการดังกล่าวที่จังหวัดเชียงใหม่และอยุธยา จนประสบความสำเร็จ และในวันที่ 9 ตุลาคม ได้กำหนดจัดให้มีการทำโรดโชว์ และสัมมนาเพื่อชี้ทางอยู่รอดของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ในภาคตะวันออก รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ณ หอประชุมศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา

ทั้งนี้ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิร่วมบรรยายในหัวข้อ “อนาคตธุรกิจและเศรษฐกิจภาคตะวันออก ต้อนรับปี 2009 ” โดยผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช กรรมการหอการค้าไทยและ “ทางรอด ทางรุ่งธุรกิจอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวภาคตะวันออก 2009 ”โดยนายยรรยง เนตรสมานนท์ รองประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคกลางและตะวันออก นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด อุปนายกสมาคม ATSME( ชลบุรี) ฯลฯ

ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช กรรมการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หอการค้าไทย กล่าวถึงปัญหาด้านต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นว่า ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย และจากสถิติปัจจุบันพบว่า มีผู้ประกอบการที่ต้องเลิกกิจการไปแล้วจำนวนกว่าเดือนละ 2 พันราย นับเป็นวิกฤตที่ใหญ่มาก เนื่องจากฐานธุรกิจส่วนใหญ่ของไทย คือ ธุรกิจเอสเอ็มอีและหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้เรื่อยไป จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยที่ถดถอยลงเป็นลำดับ

นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยลบที่คอยฉุดซึ่งก็คือ ภาวะเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ที่ 8-9 % นับว่าสูงสุดในรอบ 3 ปี จึงจำเป็นต้องเร่งกระตุ้นความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีโดยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น โดยคาดว่าหลังเสร็จสิ้นทั้งโครงการที่จะดำเนินการจนครบทั้ง 4 ภาคจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 2 ,000 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น