xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสภาแก้ปัญหาการเมือง : การเปิดธาตุแท้นักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ชาวพุทธหรือแม้มิใช่ชาวพุทธผู้สนใจการแก้ปัญหาตามแนวทางของพระพุทธเจ้า จะเรียนรู้และมีความเข้าใจหลักธรรม 4 ประการ อันเป็นหัวใจแห่งพุทธปรัชญาคือ

1. ทุกข์ ได้แก่ สิ่งที่บุคคลพึงกำหนดรู้ตามความเป็นจริงว่าหมายถึงอะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร
2. สมุทัย ได้แก่ เหตุให้เกิดทุกข์ที่บุคคลพึงละให้เด็ดขาดหมดไปจากจิตใจแห่งตน
3. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ที่บุคคลพึงทำให้แจ้ง คือศึกษาให้เข้าใจจนสามารถใช้เป็นเครื่องมือดับทุกข์ได้
4. มรรค ได้แก่ แนวทางที่จะไปให้ถึงความดับทุกข์ที่บุคคลพึงทำให้ดีและมากขึ้นในตน จนกลายเป็นหนทางที่ไปสู่ความดับทุกข์ได้อย่างเด็ดขาดและสิ้นเชิง ไม่กลับมาเกิดอีก

ถ้าจะนำธรรม 4 ประการข้างต้นมาอธิบายขยายความเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในระดับของโลกียธรรม คือ ธรรมสำหรับปุถุชนคนอย่างเราๆ ท่านๆ จะพึงปฏิบัติได้ ก็จะมีนัยแห่งการอธิบายดังต่อไปนี้

1. ทุกข์ หมายถึง ปัญหาที่บุคคลประสบและก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ จึงจำเป็นที่ผู้ประสบทุกข์ต้องรีบแก้ไขให้หมดไปโดยเร็ว
2. สมุทัย หมายถึง เหตุให้เกิดปัญหาที่ผู้ต้องการแก้ไขปัญหาจะต้องค้นหา และหาวิธีการขจัดให้หมดไป และจะต้องป้องกันมิให้เหตุที่ว่านี้เกิดขึ้นอีก
3. นิโรธ หมายถึง การที่บุคคลสามารถแก้ไขปัญหาได้ และทำให้ผู้ประสบปัญหากลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีสภาวะความพร้อมที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างสงบสุข
4. มรรค หมายถึง แนวทางหรือครรลองที่บุคคลผู้ต้องการแก้ไขปัญหาจะต้องแสวงหาให้มี และทำให้มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงระดับที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร

ธรรม 4 ประการที่ว่านี้ปรากฏอยู่ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันเป็นพระสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์หลังจากที่พระองค์ได้ตรัสรู้ และจากการที่มีการแสดงธรรมด้วยพระสูตรนี้ ได้มีพยานบุคคลที่ยืนยันถึงการนำข้อธรรม 4 ประการนี้ไปเผยแพร่ต่อเนื่องกันไป ดังจะเห็นได้จากการที่อัสสชิได้แสดงแก่อุปติสสมาณพ (ซึ่งต่อมาได้ออกบวช และได้ชื่อใหม่ว่า สารีบุตร) ว่าธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตได้ตรัสเหตุและความดับแห่งธรรมนั้น พระมหาสมณะตรัสอย่างนี้ (เย ธัมมา เหตุปปภวา เตสัง เหตุง ตถาคโต เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ เอวัง วาที มหาสมโณ)

โดยนัยแห่งธรรมทั้งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสด้วยพระองค์เองในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และเถรวาทะที่อัสสชิได้แสดงแก่อุปติสสมาณพ เป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่าถ้าจะแก้ปัญหาจะต้องแก้ที่เหตุแห่งปัญหานั้นๆ ปัญหาจึงจะได้รับการแก้ไขให้หมดไป และเมื่อแก้ไขแล้วก็ควรที่จะป้องกันมิให้เหตุแห่งปัญหานั้นเกิดขึ้นอีก

วันนี้และเวลานี้ ผู้คนในสังคมไทยได้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย โดยมีรัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช เป็นเหตุแห่งความขัดแย้ง เนื่องมาจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน และลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ในท่ามกลางเสียงกล่าวหาจากผู้คนส่วนหนึ่งในสังคมว่า เป็นนอมินีหรือเป็นตัวแทนของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำพรรคไทยรักไทยที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค และมีผลทำให้กรรมการบริหารพรรค 111 คนต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และสมาชิกของพรรคส่วนหนึ่งที่มิได้อยู่ในข่ายเว้นวรรคทางการเมือง รวมไปถึงตัวแทนผู้ที่เว้นวรรคทางการเมืองจำนวนหนึ่งได้เข้ามาอยู่ในพรรคพลังประชาชน กับทั้งยังได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากกลุ่มทุนของพรรคไทยรักไทยเดิมด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช เข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน จึงเท่ากับนั่งอยู่ในท่ามกลางคนของพรรคไทยรักไทยเดิมนั่นเอง

2. เมื่อพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึงแม้ในแง่ของกฎหมายจะลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ แต่เท่าที่ความจริงปรากฏจากข่าวก็มิได้วางมือทางการเมืองอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม ตรงกันข้ามยังเข้ามากำหนดทิศทางทางการเมืองให้กับพรรคพลังประชาชนโดยผ่านทาง ส.ส.ของกลุ่มพรรคไทยรักไทยเดิม จึงเท่ากับผู้อยู่เบื้องหลังคอยกำกับบทบาททางการเมืองให้นายสมัคร สุนทรเวช ต้องเดินตาม ถึงแม้จะไม่ทุกเรื่อง แต่เชื่อได้ว่าเรื่องที่สำคัญ เช่น การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในโควตาของพรรคพลังประชาชน และการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในสภาฯ อาศัยช่องทางแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 และ 309

3. ที่สำคัญที่สุดเหนืออื่นใด อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร นอกจากไม่ยุติบทบาทในทางการเมืองอย่างสิ้นเชิงแล้ว ยังใช้กลไกทางการเมืองทั้งในส่วนของนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร เป็นเครื่องมือช่วยเหลือเกื้อกูลให้ตนเองรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีในทางศาลด้วย

4. ในขณะที่ปัจจัยจากข้อ 1 –3 ได้รับการยอมรับ และให้การช่วยเหลือจากบรรดานักการเมือง และผู้สนับสนุนทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้งชัดเจนเป็นรูปธรรม ฝ่ายต่อต้านอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ออกมาคัดค้านกิจกรรมทางการเมืองในทุกแง่มุมที่เห็นว่าส่อเค้าจะทำเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลให้อดีตนายกฯ ทักษิณ และพวกพ้นผิด โดยการแก้กฎหมายหรือด้วยการแทรกแซงองค์กรอิสระ รวมไปถึงองค์กรตุลาการด้วย

จากจุดที่ผู้คนสองฝ่ายในสังคมไทยเลือกข้างทางการเมืองนี้ ความขัดแย้งในหมู่ประชาชนทั่วๆ ไปได้เกิดขึ้น และแผ่ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ทำให้จำนวนผู้คัดค้านที่เริ่มด้วยหลักหมื่นในระยะแรกได้เพิ่มเป็นหลักแสนด้วยเวลาเพียง 100 กว่าวันเท่านั้น

กลุ่มต่อต้านที่เริ่มกิจกรรมด้วยการประชุม และมีการบรรยายให้ความรู้ทางการเมือง ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองในเชิงลบ และได้ก้าวหน้ายกระดับขึ้นเป็นกิจกรรมเดินขบวนต่อต้านอำนาจรัฐในหลายๆ รูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. เป็นต้นมา จนวันที่เขียนบทความนี้คือวันที่ 4 ก.ย. 2551 กลุ่มต่อต้านได้เข้ายึดทำเนียบรัฐบาล และมีแนวโน้มว่าการต่อต้านจะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้านายสมัคร สุนทรเวช ไม่ยอมลาออกไป

แต่อย่างไรก็ตาม ในทางซีกรัฐบาลก็ใช่ว่าจะยอมรับฟัง และนำไปทบทวนแล้วแสดงสปิริตด้วยการลาออกไปเฉกเช่นผู้นำประเทศที่เจริญแล้ว

ตรงกันข้าม รัฐบาลได้สมรสทางการเมืองด้วยการเปิดประชุมสภาฯ ร่วมระหว่าง ส.ส.กับ ส.ว.เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน แต่จากผลการประชุมที่เกิดขึ้นในวันนั้น มิได้ส่อให้เห็นแววว่าจะแก้ปัญหาได้ แถมยังกลายเป็นเวทีโต้คารมกับฝ่ายที่ตรงกันข้าม และแนะนำให้นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ยิ่งกว่านั้น นอกจากการประชุมสภาฯ ยังช่วยแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว การประชุมสภาฯ ในวันนั้นน่าจะมีส่วนให้ความรุนแรงจากการที่สองฝ่ายที่เห็นตรงข้ามกันทางการเมืองได้ปะทะกันจนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บหลายสิบคน และเสียชีวิต 1 คน แล้วนำไปสู่การประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาต่อมา และในขณะที่บทความนี้ออกตีพิมพ์เชื่อว่า พ.ร.ก.นี้คงยังมีผลบังคับใช้อยู่ ทั้งๆ ที่หลายฝ่ายแสดงความไม่เห็นด้วย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลาออกไปแล้วก็ตาม แต่นายกฯ สมัครยังคงอยู่ นี่คือธาตุแท้นักการเมืองที่ดื้อด้าน และอ้างการมาด้วยระบอบประชาธิปไตย และพูดย้ำตลอดเวลาว่าไม่ออก ไม่ยุบสภาฯ เพราะไม่เคยทำอะไรผิด แต่ลืมไปว่าแล้วที่ กกต.ฟ้องยุบพรรคพลังประชาชนตามมาตรา 237 และที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้มูลความผิดเรื่องลงนามโดยผ่านสภาฯ เป็นความผิดได้หรือไม่?

แต่จะถือว่าผิดหรือไม่ผิด ท่านผู้อ่านอย่าไปสนใจหาคำตอบ เพราะถึงหาก็คงไม่ได้คำตอบจากคนที่พูดแล้วปฏิเสธว่าไม่ได้พูดอยู่บ่อยๆ จะได้ไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อนกับการที่ผู้นำไม่อยู่ในภาวะปกติที่คนทั่วไปเขามีและเขาเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น