xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ไม่สามารถจะพัฒนาได้ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดโครงสร้างและกระบวนการทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว ที่สำคัญจำเป็นจะต้องมีพื้นฐานที่มั่นคง นั่นคือ การมีวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย ถ้าสังคมนั้นประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำการเมืองมีลักษณะที่เป็นเผด็จการอันเนื่องมาจากวัฒนธรรมสังคม รวมตลอดทั้งบุคลิกภาพของคนในสังคมนั้น ย่อมยากที่จะพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย วัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยคือ การมีทัศนคติที่เชื่อในความเสมอภาคของมนุษย์ มีศรัทธาในมนุษย์ว่าสามารถที่จะใช้เหตุใช้ผลในการชี้แจงข้อสงสัยและความขัดแย้งต่างๆ เชื่อในสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง มีจิตใจที่เป็นนักกีฬา การยอมเสียสละส่วนตนเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม การเคารพในหลักนิติธรรม โดยมีแนวโน้มที่จะร่างกฎหมายและอ่านกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ต่อส่วนรวม ด้วยการยึดถือหลักการเป็นใหญ่ ไม่ใช่เล็งผลปฏิบัติและมีลักษณะพร้อมที่จะตะแบงแบบศรีธนญชัย

ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวเป็นเสมือนฐานรากของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และนั่นคือวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้นำทางการเมืองจนพัฒนาเป็นจิตวิญญาณประชาธิปไตย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือค่านิยมและปทัสถานที่เป็นประชาธิปไตย

คำถามคือ ทำอย่างไรจึงจะมีการพัฒนาวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยขึ้นได้ในสังคม คำตอบของนักรัฐศาสตร์ก็คือจะต้องมีการกล่อมเกลาเรียนรู้ (socialization) ให้มีวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กระบวนการดังกล่าวนี้เรียกว่ากระบวนการกล่อมเกลาเรียนรู้ทางการเมือง (political socialization) ซึ่งจะมีขั้นตอนและกระบวนการทั้งในแง่การสร้างค่านิยมแบบนามธรรมในลักษณะหลักการหรือปรัชญา รวมตลอดทั้งการปฏิบัติที่อยู่ในสังคม เริ่มต้นตั้งแต่ระดับครอบครัว จากนั้นก็โรงเรียน องค์กรศาสนา องค์กรสังคม และสังคมโดยรวม

กระบวนการกล่อมเกลาเรียนรู้ทางการเมือง (political socialization) โดยทั่วไปจะมี 3 ขั้นตอน คือ

1) แนวสัมผัสการเรียนรู้ (cognitive orientations) คือ ต้องรู้ว่าหลักการ กระบวนการ รวมทั้งสิ่งที่ปรากฏเป็นวัตถุเกี่ยวโยงในทางการเมืองอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาตมันทางการเมืองของตนเอง (political self) ตัวอย่างเช่น หลักการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยแตกต่างจากเผด็จการอย่างไร นี่คือการเรียนรู้ว่าระบบการเมืองมีลักษณะอย่างไร แต่จริงๆ แล้วต้องเริ่มตั้งแต่การเรียนรู้ว่าสังคมหรือประเทศที่ตนอาศัยอยู่นั้นมีฐานะอย่างไร กล่าวคือ เป็นรัฐเอกราช เป็นเมืองขึ้น เป็นประเทศที่เป็นมหาอำนาจ หรือเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา เป็นต้น นอกเหนือจากนั้นอาตมันทางการเมืองคือ ตนเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ มีสิทธิหรือมีความจำกัดในสิทธิมากน้อยเพียงใด สรุปคือ ต้องรู้ว่าตนเป็นใครทางการเมือง และทางวัตถุนั้นเช่นสัญลักษณ์ต่างๆ ตั้งแต่รูปร่างของประเทศทางภูมิศาสตร์ ธงชาติ บุคคลสำคัญซึ่งเป็นประมุข วัฒนธรรมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้คือแนวสัมผัสการเรียนรู้ในทางการเมือง

2. แนวสัมผัสความผูกพันทางอารมณ์ (affective orientations) ได้แก่การถูกกล่อมเกลาสั่งสอนในครอบครัว ในโรงเรียน ในสถาบันศาสนา ในองค์กรสังคม และในสังคมโดยรวม ให้รับหรือปฏิเสธอันได้แก่ให้ชอบหรือไม่ชอบ เช่น มีความรักชาติ ยกย่องเชิดชูชาติของตน ไม่ชอบให้คนมาดูถูกประเทศ ดูหมิ่นวัฒนธรรมของตน มีความภูมิใจในประวัติความเป็นมาของแผ่นดินของตน ของบรรพบุรุษ หรือกล่าวนัยหนึ่ง มีความผูกพันต่อเอกลักษณ์ที่ตนเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคมการเมืองนั้นๆ นอกจากนี้ยังมีการสร้างความผูกพันทางอารมณ์ในแง่ชอบการมีสิทธิเสรีภาพ ไม่ชอบการถูกกดขี่ รักความยุติธรรม ไม่ชอบความอคติ ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้คือแนวสัมผัสผูกพันทางอารมณ์ วิธีพิสูจน์ง่ายๆ คือ ถ้าบุคคลผู้นั้นไปต่างประเทศและหยิบหนังสือแผนที่เล่มใหญ่ซึ่งมีประเทศต่างๆ ในโลกขึ้นมาเปิดดู ถ้าบุคคลผู้นั้นพยายามพลิกไปหาประเทศไทยนั่นคือความผูกพันที่มีต่อประเทศไทย หรือในกรณีที่ยืนอยู่หน้าสหประชาชาติซึ่งมีธงชาติของประเทศสมาชิกสะบัดเป็นทิวแถว บุคคลผู้นั้นที่เป็นคนไทยก็อาจจะมองธงชาติไทยว่าปลิวสะพัดอยู่ที่ใด นั่นคือแนวสัมผัสผูกพันทางอารมณ์

3. แนวสัมผัสการประเมินและพฤติกรรม (evaluative orientations and behavior) ถ้าแนวสัมผัสการเรียนรู้และผูกพันทางอารมณ์ปฏิเสธเผด็จการ เมื่อมีความพยายามที่จะยึดอำนาจโดยรัฐบาลเผด็จการ ก็จะประเมินและมีพฤติกรรมแสดงการต่อต้านขึ้น การกล่อมเกลาเรียนรู้ในส่วนนี้อาจจะเกิดจากการปลุกเร้าทางการเมือง เช่น การต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ หรือการพยายามสถาปนาสังคมคอมมิวนิสต์ขึ้นให้สมบูรณ์แล้วแต่ว่าตนจะถูกกล่อมเกลาไปในทางใด

กระบวนการ 3 ขั้นตอนดังกล่าวนี้จะมีสถาบันสังคมเป็นผู้ทำหน้าที่เริ่มตั้งแต่ในครอบครัว ครอบครัวใดที่มีความเป็นประชาธิปไตย ให้โอกาสลูกๆ แสดงความคิดเห็น ขณะเดียวกันก็กล่อมเกลาให้เห็นข้อดีข้อเสียของระบบประชาธิปไตยรวมทั้งระบบเผด็จการจนเกิดการผูกพันทางอารมณ์ และผลสุดท้ายก็จะนำไปสู่การตัดสินใจของสมาชิกในครอบครัวนั้น ในทางการเมืองนอกจากครอบครัวแล้ว โรงเรียน สถาบันศาสนา องค์กรในสังคม และสังคมทั่วไป ก็จะมีส่วนทำหน้าที่ดังกล่าวทั้งสิ้น ประเด็นก็คือ ถ้าสถาบันสังคมต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วมีกระบวนการกล่อมเกลาเรียนรู้ที่สอดคล้องกัน (consonant) ก็จะไม่เกิดปัญหา แต่ถ้ามีลักษณะขัดแย้งกัน เช่น โรงเรียนและครอบครัวสอนคนละอย่างก็จะมีลักษณะที่เรียกว่าเกิดการไม่ราบเรียบของกระบวนการกล่อมเกลาเรียนรู้ (dissonant)

ที่กล่าวมานั้นคือกระบวนการกล่อมเกลาเรียนรู้ทางการเมืองในภาคการอบรมสั่งสอนหรือการกล่อมเกลาเรียนรู้ แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งคือภาคการปฏิบัติ เช่น การมีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยตรงโดยการร่วมเดินขบวนต่อต้านประท้วง หรือโดยการมีส่วนร่วมเป็นขบวนการในฐานะประชาชนผู้รับผิดชอบ สมาชิกพรรคการเมือง องค์กรเอกชน ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้คือการกล่อมเกลาเรียนรู้จากการปฏิบัติ

ข้อสังเกตคือ สภาวะทางการเมืองเมื่อสองปีที่ผ่านมาได้มีกระบวนการกล่อมเกลาเรียนรู้อย่างขนานใหญ่ ทั้งในฝ่ายที่เป็นกลุ่มที่เรียกว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปก.) รวมตลอดทั้งกลุ่มที่ต่อต้านและสนับสนุนโดยแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย นี่คือตัวอย่างของกระบวนการทางการเมืองที่จะมีผลต่อการกล่อมเกลาเรียนรู้ ทั้งในแง่ทฤษฎีคือ การให้ข่าวสารข้อมูล ความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ทั้งในแง่การปรากฏตัวการชุมนุมเป็นกลุ่ม จากวิทยุ หรือวิทยุโทรทัศน์ และในแง่การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติ กระบวนการดังกล่าวนี้ย่อมจะส่งผลต่อวัฒนธรรมการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรูปประชาธิปไตยหรือไม่ใช่ประชาธิปไตยก็ตาม แต่เป็นตัวอย่างของการกล่อมเกลาเรียนรู้ทางการเมือง

การพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยขึ้นในหมู่ประชาชน โดยประชาชนจะเรียนรู้แนวสัมผัสต่างๆ จากสถาบันที่กล่าวมา รวมทั้งการมีโอกาสเลือกด้วยตนเอง คำถามที่สำคัญที่สุดคือ จากวัฒนธรรมสังคมที่มีอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงลูกแบบจารีตประเพณี ที่อาจจะไม่เปิดโอกาสให้เด็กพัฒนาบุคลิกภาพด้วยตัวเองขึ้นมาในระดับหนึ่ง แต่จะถูกกำหนดเป็นความเชื่อที่ว่าเด็กดีควรเป็นอย่างไร นอกจากนั้นยังกำหนดด้วยการเลือกอาชีพให้กับบุตรหลานของตน ไม่ว่าจะเป็น หมอ วิศวะ นักกฎหมาย ทหาร และตำรวจ ฯลฯ จนคนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถจะพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง หรืออาตมันปัจเจกภาพ (selfhood) เมื่อขาดอาตมันปัจเจกภาพการพัฒนาอาตมันทางการเมืองที่เป็นตัวของตัวเอง (political self) ในทางการเมืองจึงเกิดขึ้นได้ยาก

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นเรื่องไม่แปลกถ้าคนจำนวนไม่น้อยสามารถถูกปลุกเร้าเดินตามแนวของผู้ที่เก่งทางวาทศิลป์ได้จนกลายเป็นกระแสทางการเมืองได้ และนี่เป็นจุดอ่อนของสังคมซึ่งคนส่วนใหญ่ขาดข่าวสารข้อมูล การศึกษาเล่าเรียนไม่มีการสอนให้รู้จักคิดวิเคราะห์จึงไม่เกิดความรู้ที่แท้จริง และกลายเป็นจุดอ่อนที่อาจจะถูกปลุกเร้าจนเกิดอารมณ์ผูกพัน มิได้ตัดสินใจด้วยตนเองแต่ถูกจูงโดยกระแส

การพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงมิได้อยู่เฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญ การมีพรรคการเมือง การเลือกตั้ง การประชุมรัฐสภา การบริหารประเทศโดยฝ่ายบริหาร แต่จะต้องมีฐานรากที่สำคัญที่สุดนั่นคือวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยซึ่งมีคุณลักษณะตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เช่น ความเชื่อเรื่องความเสมอภาค การเคารพในสิทธิเสรีภาพ การเคารพในหลักนิติธรรม การมีอาตมันปัจเจกภาพ และมีอาตมันทางการเมืองที่มีความอิสระเสรี ตัดสินใจด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดมั่นอยู่ในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ถนนไปสู่ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่ถนนที่เรียบราบ จะต้องใช้เวลาในการพัฒนาโดยตัวแปรสำคัญที่สุดคือการศึกษา วัฒนธรรม และจิตสำนึกที่สอดคล้องกับโครงสร้างและกระบวนการประชาธิปไตย หรือระบบประชาธิปไตยโดยคนจำนวนมากเชื่อว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของสังคมมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์
กำลังโหลดความคิดเห็น