xs
xsm
sm
md
lg

หลายจังหวัดอีสานยังจมบาดาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำในแม่น้ำโขงบริเวณ จ.หนองคายวานนี้ (18 ส.ค.) ลดลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่สูงกว่าจุดวิกฤต 15 เซนติเมตร จึงยังมีหลายพื้นที่ที่จมอยู่ใต้น้ำ เกษตรกรที่อพยพสัตว์เลี้ยงขึ้นไปอยู่บนที่สูง เริ่มประสบปัญหา ไม่มีหญ้าแห้งและอาหารให้สัตว์เลี้ยง โดยล่าสุด จ.หนองคาย มีพื้นที่ประสบภัยทั้งหมด 12 อำเภอ มีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 150,000 คน
ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้สั่งตั้งศูนย์เฉพาะกิจเตรียมรับสถานการณ์แม่น้ำโขงเอ่อล้นตลิ่งอีกระลอก โดยเฉพาะที่ อ.เขมราฐ และ อ.โขงเจียม ระดับเหลืออีก 2 เมตรจะเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง แต่อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดได้เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนจังหวัดที่วิกฤตหนักมาก่อนจังหวัดอื่น ๆ อย่าง จ.หนองคาย ขณะนี้ระดับน้ำยังทรงตัว เจ้าหน้าที่ต้องนำถุงยังชีพ อาหารและน้ำดื่ม ลงเรือไปช่วยเหลือชาวบ้านที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขงซึ่งได้รับความเดือดร้อนถูกน้ำท่วมมานานนับสัปดาห์แล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
วันเดียวกันนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข และ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในพื้นที่บ้านคูสว่าง ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งปีที่ผ่านมาหมู่บ้านดังกล่าวถูกน้ำท่วมกว่า 300 หลังคาเรือน อีกทั้งขณะนี้จังหวัดหนองคายที่อยู่ทางตอนเหนือของ จ.อุบลราชธานี แม่น้ำโขงเริ่มลดลงและไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างที่ จ.นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ รวมถึงอุบลราชธานี จึงกำชับให้สาธารณสุขของพื้นที่ดังกล่าวขนย้ายเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ไว้บนที่สูง พร้อมนำกระสอบทรายทำเป็นทำนบกั้นน้ำเข้าท่วมฉับพลัน
นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมสำรองยารักษาโรคที่จะระบาดในช่วงน้ำท่วมไว้แล้ว รวมทั้งสำรองยาสามัญประจำบ้าน 300,000 ชุด และยาทาโรคน้ำกัดเท้าอีก 100,000 ตลับ สำหรับน้ำท่วมเชียงรายและหนองคายที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการมาตลอด 6 วันที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนเจ็บป่วยกว่า 6,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า เพราะต้องเดินลุยน้ำเป็นเวลานาน
ส่วนที่ จ.นครสวรรค์ พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังใน อ.ชุมแสง ที่ขณะนี้กำลังออกรวงถูกน้ำท่วม ชาวนาเร่งสูบน้ำออกจากนาข้าวเพื่อบรรเทาความเสียหาย นอกจากนี้ข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้วตากไว้รอส่งขาย ก็มีความชื้นมาก ขายไม่ได้ราคา
ทางด้าน ร.อ.หญิงเดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวถึงการเตรียมพร้อมป้องกันและรับมือสถานการณ์น้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ว่า ในส่วนของการป้องกันน้ำในแม่น้ำปิงล้นตลิ่งเข้าท่วมตัวเมืองเชียงใหม่นั้นที่ผ่านมาได้ร่วมกับสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการขุดขยายความกว้างของลำน้ำปิง 10-15 เมตรรวมทั้งสิ้น 11 จุด ตั้งแต่บริเวณบ้านท่อ-ถนนมหิดล ความยาวจุดละ 200-750 เมตร
ขณะเดียวกันได้มีการจัดทำแนวคันดินป้องกันน้ำท่วมและปลูกหญ้าแฝกเสริมความแข็งแรงของคันดินตลอดลำน้ำ รวมทั้งมีการจัดเตรีมกระสอบทรายเพื่อทำแนวกั้นลำน้ำแม่ปิงช่วงผ่านตัวเมืองเชียงใหม่อีกด้วย จึงค่อนข้างมั่นใจว่าจากการเตรียมความพร้อมดังกล่าวนี้ประกอบกับสถานการณ์น้ำในเวลานี้ จะไม่เกิดปัญหาน้ำในแม่น้ำปิงล้นตลิ่งเข้าท่วมตัวเมืองเชียงใหม่อย่างแน่นอน ยกเว้นแต่จะมีเหตุการที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเท่านั้น
ส่วนการเตรียมความพร้อมป้องกันในส่วนของน้ำจากดอยสุเทพและน้ำท่วมขังในตัวเมืองช่วงฝนตกหนักนั้น นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทำการขุดลอกท่อระบายน้ำภายในเขตความรับผิดชอบ และทำการขุดลอกลำเหมืองทั้งสิ้นประมาณ 30 สาย โดยได้รับการสนับสนุนกำลังพลจากศูนย์วิวัฒน์พลเมือง นอกจากนี้ยังได้มีการจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำและนำไปติดตั้งไว้ประจำจุดต่างๆ เพื่อสูบระบายน้ำออกจากท่อ และมีการซ่อมบำรุงสถานีสูบน้ำทุกแห่งไว้ทั้งหมดแล้วเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง โดยเชื่อว่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 (เชียงใหม่) กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมแผนระบายน้ำออกจากเขื่อนแม่งัด ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ประมาณร้อยละ 51 ของความจุอ่าง ออกไปให้เหลือประมาณร้อยละ 40 ของความจุอ่าง ก่อนที่จะถึงช่วงที่มีฝนตกลงมาหนักกว่านี้ ทั้งนี้เพื่อให้เมื่อถึงเวลาที่มีฝนตกลงมาหนัก ทางเขื่อนจะได้สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้โดยไปไม่ต้องปล่อยลงสู่แม่น้ำปิง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ ทั้งนี้น้ำที่ระบายออกไปนั้นจะใช้เพื่อปั่นเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย และคาดว่าจะสามารถกักเก็บลงสู่อ่างให้เต็มความจุได้จากฝนที่ตกในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมนี้
ขณะเดียวกันผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 (เชียงใหม่) บอกด้วยว่า ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 7 แห่ง ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำปิงและเป็นพื้นที่รองรับน้ำที่ไหลลงมาจากดอยสุเทพ ให้ทำการระบายน้ำออกจากอ่างก่อนในช่วงนี้เช่นกัน เพื่อให้เหลือความจุสำหรับรองรับกักเก็บน้ำในช่วงฝนตกหนัก ซึ่งเป็นการป้องกันน้ำท่วมอีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ เห็นว่าหากฝนที่ตกลงมาตลอดช่วงหน้าฝนปีนี้ยังคงมีการตกลงมากระจายเป็นช่วงๆ ก็ไม่น่าจะปัญหาน้ำปิงล้นตลิ่งท่วม แต่หากมีฝนตกหนักลงมาอย่างต่อเนื่อง 2-3 วัน ก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ ซึ่งต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมตลอด
กำลังโหลดความคิดเห็น