xs
xsm
sm
md
lg

การแข่งขันเพื่อความยิ่งใหญ่ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือของโลก

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

เดิมธุรกิจโทรศัพท์มือถือมีบริษัทยักษ์ใหญ่ 2 บริษัท คือ บริษัทโมโตโรล่าและบริษัทอีริคสัน ซึ่งครองตลาดโลกมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ โดยเฉพาะบริษัทโมโตโรล่าครองส่วนแบ่งตลาดโลกมากถึง 45%

ขณะที่บริษัทโนเกียในช่วงนั้นนับว่าเป็นม้านอกสายตา แม้การผลิตโทรศัพท์มือถือของโนเกียเองก็ต้องไปซื้อสิทธิบัตรบางชิ้นจากบริษัทโมโตโรล่า ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีฐานะการเงินง่อนแง่นและประสบวิกฤตทางการเงินครั้งสำคัญเมื่อปี 2533 ถึงขั้นต้องเปิดเจรจาเพื่อขายธุรกิจโทรศัพท์มือถือให้แก่บริษัทอีริคสัน แต่การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากบริษัทอีริคสันไม่ต้องการแบกรับภาระหนี้สินจำนวนมากของบริษัทโนเกีย

แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อบริษัทโนเกียได้พลิกฟื้นจากธุรกิจที่ใกล้ล้มละลายจนก้าวไปสู่อันดับ 1 ของโลกอย่างเหลือเชื่อ เนื่องจากความสำเร็จหลายประการ

ประการแรก การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจากระบบอนาล็อก (1G) ไปสู่ระบบดิจิตอล (2G) ซึ่งทำให้โทรศัพท์มือถือใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาก ขณะเดียวกันก็มีเสียงดังฟังชัด กินไฟน้อยลง แต่บริษัทโมโตโรล่ากลับดำเนินกลยุทธ์ผิดพลาดครั้งสำคัญ คือ เน้นการพัฒนาโทรศัพท์ที่มีขนาดเล็กลง แต่ยังคงเป็นแบบอนาล็อกเหมือนเดิม แทนที่จะหันมาเน้นการพัฒนาโทรศัพท์แบบดิจิตอล

แม้ต่อมาบริษัทโมโตโรล่าจะประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาโทรศัพท์มือถือระบบดิจิตอลและเริ่มวางตลาดเมื่อปี 2540 แต่ก็นับว่าสายไปแล้วสำหรับธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ซึ่งความเร็วนับว่าเป็นหัวใจสำคัญของความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้ต้องแก้ไขวิกฤตโดยประกาศปรับโครงสร้างการดำเนินการเมื่อปี 2541 พร้อมกับปลดพนักงานมากถึง 20,000 คน เพื่อลดค่าใช้จ่าย

ขณะที่บริษัทโนเกียได้ดำเนินกลยุทธ์ไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยรับฟังความเห็นของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือว่าต้องการสิ่งใด จากนั้นได้ตัดสินใจทุ่มเทเงินทองหมดหน้าตักเพื่อวิจัยและพัฒนาโทรศัพท์มือถือ GSM ซึ่งเป็นระบบดิจิตอล ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงอย่างมากก็ตาม โดยหากไม่ประสบผลสำเร็จ จะกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทโนเกียเป็นอย่างมาก

การตัดสินใจข้างต้นนับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ทำให้มีเทคโนโลยีเหนือกว่าคู่แข่ง ประกอบกับเทคโนโลยี GSM ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ส่งผลให้ยอดจำหน่ายของโนเกียเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะรุ่น 2100 ซึ่งเปิดตัวในปี 2537 ตั้งเป้าผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งหมดเป็นจำนวนรวม 500,000 เครื่อง แต่กลับประสบผลสำเร็จเกินความคาดหมายสามารถจำหน่ายได้เป็นจำนวนมากถึง 20 ล้านเครื่อง

ประการที่สอง คู่แข่งอีกราย คือ บริษัทอีริคสัน แม้จะประสบผลสำเร็จในการพัฒนามือถือในระบบดิจิตอล ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความสามารถในด้านเทคโนโลยีดีเยี่ยม แต่กลับมีจุดอ่อนสำคัญ คือ ออกแบบโทรศัพท์มือถือไม่เป็น ทำให้มีรูปลักษณ์ไม่น่าสนใจ ทำให้ธุรกิจมียอดจำหน่ายตามหลังคู่แข่ง เนื่องจากโทรศัพท์ขายได้เฉพาะคนอายุมากเท่านั้น ทำให้ธุรกิจโทรศัพท์มือถือขาดทุนหลายปีติดต่อกัน แม้ปลดพนักงานในปี 2544 มากถึง 12,000 คน แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

ในที่สุดบริษัทอีริคสันได้ตัดสินใจมุ่งเอาดีเฉพาะธุรกิจที่ตนเองถนัดเท่านั้น คือ การผลิตอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมสำหรับโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ดังนั้น เมื่อปี 2544 ได้แยกกิจการในส่วนโทรศัพท์มือถือออกมาควบกิจการเข้ากับธุรกิจโทรศัพท์มือถือของบริษัทโซนี่ กลายเป็นบริษัทโซนี่อีริคสัน เพื่อผนึกจุดแข็งแกร่งด้านวิศวกรรมของบริษัทอีริคสัน มาเสริมจุดแข็งของโซนี่ที่เก่งด้านอุปกรณ์ความบันเทิง รวมถึงความเชี่ยวชาญในด้านการผลิตกล้องดิจิตอล

ปัจจัยแห่งความสำเร็จสำคัญของโนเกีย คือ ความสามารถที่จะผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและการตลาด ทำให้ผลิตภัณฑ์กลายเป็นสินค้าแฟชั่น เนื่องจากตระหนักว่าโทรศัพท์มือถือไม่ได้เป็นเพียงแค่อุปกรณ์โทรคมนาคมเท่านั้น แต่ยังเป็นสินค้าแฟชั่นด้วย จึงมีรูปลักษณ์สวยงามและมีลูกเล่นมากมาย ทำให้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จึงกระโดดข้ามทั้งบริษัทโมโตโรล่าและบริษัทอีริคสันกลายเป็นอันดับ 1 ของโลก นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

จากตัวเลขล่าสุดเมื่อปี 2550 ตลาดโทรศัพท์มือถือของโลกเติบโต 15.8% เป็น 1,150 ล้านเครื่อง โดยจำนวนนี้เป็นตลาดของประเทศไทยประมาณ 8.5 ล้านเครื่อง หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.8% ของตลาดโลก สำหรับโนเกียครองตลาดเป็นอันดับหนึ่งของโลกโดยมีส่วนแบ่งตลาดโลกมากถึง 40.9% โดยแต่ละวันสามารถจำหน่ายโทรศัพท์มือถือได้มากถึง 1.5 ล้านเครื่อง

ขณะที่บริษัทซัมซุงนับว่าเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่หากนับเฉพาะโทรศัพท์ระบบ CDMA แล้ว นับว่าเป็นรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยบริษัทซัมซุงได้แซงหน้าบริษัทซีเมนส์ของเยอรมนี ขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลก เมื่อปี 2547 เนื่องจากมีจุดเด่นสำคัญ คือ โทรศัพท์นำสมัย ทำให้ราคาขายเฉลี่ยของโทรศัพท์มือถือยี่ห้อซัมซุงสูงกว่าคู่แข่งสำคัญ คือ โนเกีย เสียอีก

อย่างไรก็ตาม เดิมซัมซุงมีจุดอ่อนสำคัญ คือ ไม่มีโทรศัพท์ราคา 1,000 – 2,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูก เพื่อจำหน่ายในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งตลาดมีขนาดใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่วนแบ่งตลาดโลกลดลงจาก 12.7% ในปี 2547 เหลือ 11.6% ในปี 2549 เนื่องจากคู่แข่งสำคัญ คือ โนเกียและโมโตโรล่า ผลิตโทรศัพท์ราคาถูกเพื่อแย่งตลาดล่าง แต่ปัจจุบันซัมซุงได้แก้ไขจุดอ่อนเป็นผลสำเร็จ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยในช่วงปลายปี 2550 มีส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 14.5% ทำให้แซงหน้าโมโตโรล่าขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก

สำหรับอันดับ 3 คือ โมโตโรล่า ซึ่งเดิมมาแรงจากโทรศัพท์มือถือรุ่น RAZR กลายเป็นโทรศัพท์มือถือขายดีที่สุดในโลกในช่วงปี 2548 แต่ปัจจุบันกลับอ่อนแรงไปมาก แม้ธุรกิจโทรศัพท์มือถือของบริษัทแห่งนี้จะมียอดขายเป็นเงินมากถึง 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2550 แต่ประสบปัญหาขาดทุนจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 ยอดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือลดลงมากถึง 40% ทำให้ส่วนแบ่งตลาดโลกลดลงต่ำกว่า 10%

อันดับ 4 คือ บริษัทแอลจี ด้วยส่วนแบ่งตลาดโลก 7.2% เดิมมีจุดแข็งเฉพาะโทรศัพท์ระบบ CDMA และปัจจุบันกำลังรุกตลาดโทรศัพท์ระบบ GSM และกำลังมาแรงมาก โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 มียอดขายเพิ่มขึ้นมากถึง 54% แซงหน้าโซนี่อีริคสันขึ้นเป็นอันดับ 4 ของโลก และมีแนวโน้มว่าในปี 2551 น่าจะแซงหน้าโมโตโรล่าขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลก

ปัจจุบันผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือต้องเผชิญกับความท้าทายของคู่แข่งรายใหม่ คือ บริษัทแอปเปิล ซึ่งเปิดตัวโทรศัพท์มือถือไอโฟนเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2550 โดยใช้เวลา 74 วัน ภายหลังเปิดตัว ยอดจำหน่ายก็ทะลุ 1 ล้านเครื่อง

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 บริษัทแอปเปิลก็ได้เปิดตัวไอโฟนรุ่นใหม่ คือ ไอโฟน 3G ซึ่งใช้เวลาเพียงแค่ 3 วันแรก ยอดจำหน่ายก็ทะลุ 1 ล้านเครื่อง โดยลูกค้าจำนวนมากต้องต่อแถวเพื่อซื้อโทรศัพท์มือถือยี่ห้อนี้ นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับโทรศัพท์มือถือของยี่ห้ออื่นๆ

รูปแบบการดำเนินธุรกิจไอโฟนของบริษัทแอปเปิล นับเป็นการปฏิวัติธุรกิจโทรศัพท์มือถือในหลายด้าน

ประการแรก เป็นโทรศัพท์มือถือที่มุ่งเจาะตลาดบนเป็นการเฉพาะ มีความโดดเด่นในด้านนวัตกรรม เนื่องจากเป็นการนำเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์แบบมัลติมีเดียมารวมเข้าด้วยกัน และง่ายต่อการใช้งาน โดยความยอดเยี่ยมของไอโฟนนั้นไม่ใช่ในด้านฮาร์ดแวร์ซึ่งคู่แข่งสามารถลอกเลียนแบบได้ง่าย แต่เป็นจุดเด่นในด้านซอฟต์แวร์ซึ่งคู่แข่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าที่จะสามารถลอกเลียนแบบได้

ประการที่สอง กำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจแตกต่างจากบริษัทอื่นๆ เป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่มุ่งเน้นเฉพาะการจำหน่ายอุปกรณ์เท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นจำหน่ายเนื้อหาและการให้บริการอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันธุรกิจส่วนนี้จะเป็นการให้บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ไม่ได้เป็นบริการของผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือแต่อย่างใด

ประการที่สาม แม้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นสูง แต่กลับวางจำหน่ายในราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ โดยไอโฟนรุ่น 3G แบบหน่วยความจำ 8 กิกะไบต์ จำหน่ายในราคาเพียงแค่ 199 เหรียญสหรัฐ เนื่องจากใช้กลยุทธ์ร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใดรายหนึ่ง เป็นต้นว่า บริษัท AT&T ฯลฯ เป็นผู้ผูกขาดโทรศัพท์แบบนี้ พร้อมกับออกแบบระบบให้สามารถใช้บริการจากรายนั้นๆ เท่านั้น

ขณะเดียวกันผู้ให้บริการจะต้องจ่ายเงินตอบแทนแก่บริษัทแอปเปิลเพื่อแลกกับการผูกขาด โดย เดิมบริษัท AT&T ต้องจ่ายเงินแก่บริษัทแอปเปิล 12 – 18 เหรียญสหรัฐ/เดือน ต่อจำนวนไอโฟนที่มาใช้บริการแต่ละราย แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาจ่ายเป็นการเหมาเครื่องละ 200 เหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์นี้ต้องเผชิญปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากมีผู้ซื้อบางรายได้นำเครื่องไอโฟนไปดัดแปลงเพื่อให้สามารถใช้กับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของผู้ให้บริการรายอื่นได้ โดยผู้เชี่ยวชาญได้คำนวณว่านับถึงปัจจุบันมีการดัดแปลงไปแล้วไม่น้อยกว่า 1 ล้านเครื่อง

แม้บริษัทแอปเปิลคาดว่าในปี 2551 จะมียอดจำหน่ายไอโพนประมาณ 10 ล้านเครื่อง คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดโลกเพียงแค่ 1% แต่การรุกคืบของบริษัทแอปเปิลได้สร้างความตื่นตกใจให้กับอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือของโลก เนื่องจากเกรงว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนกับอุปกรณ์เครื่องเสียง iPod ซึ่งออกแบบโดยแอปเปิลซึ่งไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มาก่อนแต่อย่างใด แต่ใช้เวลาสั้นๆ เท่านั้น iPod ก็สามารถโค่นเจ้าถิ่นซึ่งเดิมครองตลาดธุรกิจเครื่องเสียงอย่างราบคาบเป็นหน้ากลอง

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทแอปเปิลดำเนินธุรกิจเหมือนกับไนกี้ในธุรกิจรองเท้ากีฬา กล่าวคือ ไม่ได้ผลิตไอโฟนเองแต่อย่างใด โดยดำเนินการเฉพาะในขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์และการตลาดเท่านั้น ส่วนการผลิตได้จ้างบริษัท Foxconn ของไต้หวัน ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันรับจ้างผลิตมากหลายยี่ห้อ เป็นต้นว่า โนเกีย โซนี่อีริคสัน โมโตโรล่า ฯลฯ

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น