xs
xsm
sm
md
lg

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ปัจจุบันโลกได้ก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก สำหรับเศรษฐกิจยุคเก่านั้น เน้นการผลิต จะให้ความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการแปรรูปผลผลิตในเชิงกายภาพ ขณะเดียวกันแทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากพลังสมองของพนักงานจำนวนมากมายในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ

สำหรับเศรษฐกิจใหม่นั้น ทรัพยากรที่สำคัญที่สุด คือ พลังสมอง ส่งผลทำให้ทรัพยากรมนุษย์กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของประเทศ ประเทศต่างๆ ได้มุ่งเน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ เป็นต้นว่า รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศวิสัยทัศน์ 2020 เมื่อปี 2534 กำหนดเป้าหมายที่จะพัฒนามาเลเซียให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2563 สำหรับในเฟสแรกได้เน้นการพัฒนาในส่วนที่เป็นรูปธรรมเป็นหลัก เป็นต้นว่า โครงสร้างพื้นฐาน โรงงาน และปัจจุบันกำลังดำเนินการอยู่ในช่วงเฟสที่ 2 ของวิสัยทัศน์ 2020 เป็นการเน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

สำหรับหลายประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้สร้างความแข็งแกร่งต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก เป็นต้นว่า รัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าจะเป็นประเทศที่นำหน้าเทคโนโลยีในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันภายในปี 2553 จากนั้นตั้งเป้าหมายตามทันเทคโนโลยีของประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2563 และท้ายที่สุดตั้งเป้าหมายเป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านเทคโนโลยีภายในปี 2592

ปัจจุบันจีนมีนักศึกษาในสถาบันอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยมากถึง 17 ล้านคน ส่วนใหญ่ศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ นับเป็นจุดแข็งสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยแต่ละปีจีนสามารถผลิตบัณฑิตในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ได้มากถึง 325,000 คน ซึ่งมากเป็น 5 เท่าของสหรัฐอเมริกา และมากเป็น 3 - 4 เท่าของญี่ปุ่น ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ของจีนในแต่ละปียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สหรัฐฯ และญี่ปุ่นกลับมีจำนวนลดลงตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด โดยนาย Philip Yeo ซึ่งในอดีตเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์และเคยเป็นประธานของสำนักงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการวิจัย (Agency for Science, Technology and Research) ของสิงคโปร์ ได้เคยกล่าวอุปมาอุปไมยว่าหากต้องการลงทุนก่อสร้างสะพานแล้ว จะใช้เวลา 2 ปี หากลงทุนก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน จะใช้เวลา 5 ปี แต่หากลงทุนสร้างทรัพยากรมนุษย์แล้ว จะใช้เวลายาวนานนับสิบปี ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศต่างๆ ได้มีมาตรการหลายประการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ประการแรก พัฒนาการศึกษาของประชาชนให้เป็นเลิศ เป็นต้นว่า นายบิลล์ คลินตัน ได้พูดเสมอขณะดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีว่าการศึกษานับเป็นดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจในยุคเศรษฐกิจใหม่ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา โดยเฉพาะการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา เน้นให้ครูอาจารย์มีผลตอบแทนมากขึ้น เพื่อจูงใจให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาประกอบอาชีพนี้

สำหรับรัฐบาลจีนเองได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ โดยเมื่อปี 2540 ได้ประกาศ “โครงการ 211” ซึ่งย่อมาจากเป้าหมายที่จะให้มหาวิทยาลัยของจีนเป็นอันดับ 1 ของโลกในช่วงศตวรรษที่ 21 ขณะเดียวกัน ต้องพยายามส่งเสริมให้ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของประชาชนต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยรัฐบาลประเทศต่างๆ เป็นต้นว่า ฟินแลนด์ สถานศึกษาจะไม่เก็บค่าเล่าเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงจะแจกอุปกรณ์การสอนและอาหารฟรีแก่นักเรียนและนักศึกษา

ประการที่สอง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีพ ซึ่งนับว่าสำคัญมาก เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ความรู้ที่มีอยู่นั้นล้าสมัย รัฐบาลของประเทศต่างๆ จึงพยายามส่งเสริมในด้านนี้ เป็นต้นว่า รัฐบาลไทยได้ยกเลิกอากรขาเข้ากระดาษนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เพื่อทำให้ราคาหนังสือลดต่ำลง

ส่วนรัฐบาลมาเลเซียยังมีนโยบายกระตุ้นให้ประชาชนรักการอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง ประชาชนสามารถนำจำนวนเงินที่ซื้อหนังสือมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ปีละ 500 ริงกิต หรือประมาณ 5,000 บาท

ประการที่สาม พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ โดยปัจจุบันการศึกษาของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย เป็นระบบที่เน้นป้อนความรู้ในเรื่องข้อเท็จจริงต่างๆ มากกว่าจะเป็นระบบที่พยายามกระตุ้นให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวของตนเอง ทำให้ทรัพยากรมนุษย์ขาดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นข้อจำกัดอย่างมากต่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคต

ตัวอย่างหนึ่ง คือ กรณีของญี่ปุ่น นาย Leo Esaki ชาวญี่ปุ่นซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เมื่อปี 2518 ในฐานะที่ได้ประดิษฐ์คิดค้น Esaki Diode และเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัย Tsukuba ได้กล่าวว่าปัญหาการขาดความคิดสร้างสรรค์นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จำกัดการพัฒนาขีดความสามารถในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น

สำหรับนาย Susumu Tonegawa ชาวญี่ปุ่นซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้และความจำ (Center for Learning and Memory) ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี 2530 ได้กล่าวในทำนองเดียวกัน โดยหยิบยกตัวอย่างบทความที่เขียนโดยลูกชายของเขาที่เรียนในวันธรรมดาในโรงเรียนในสหรัฐฯ และในวันหยุดเรียนที่โรงเรียนญี่ปุ่นในสหรัฐฯ

สำหรับกรณีเรียนในโรงเรียนสหรัฐฯ จะเน้นความคิดสร้างสรรค์ โดยเมื่อมีการสอนเรื่องทาส ครูจะสอบถามนักเรียนว่าทำไมจำเป็นต้องเลิกทาส ซึ่งนักเรียนสามารถตอบความเห็นได้อย่างหลากหลาย แต่กรณีของโรงเรียนญี่ปุ่นกลับตรงกันข้าม ได้เน้นการท่องจำ โดยครูจะสอบถามว่าเริ่มมีการนำทาสมายังสหรัฐฯ เมื่อปีใด โดยหวังคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียวเท่านั้น

กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นได้รับยอมรับถึงปัญหาดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น นโยบายปฏิรูปการศึกษาของญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมาได้พยายามหันมาเน้นการเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์แก่บรรดานักเรียนและนักศึกษา

ประการที่สี่ พัฒนาความคิดอ่านของประชาชนให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ (Entrepreneur) ซึ่งนับว่าสำคัญมาก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ผู้ประกอบการใหม่เหล่านี้ได้ก่อตั้งธุรกิจเทคโนโลยีสูงจำนวนมาก บริษัทเหล่านี้เติบใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี เช่น ไมโครซอฟท์ อินเทล ซิสโก้ กลูเกิ้ล อเมซอน ฯลฯ

ปัจจุบันหลายประเทศได้เน้นพัฒนาในด้านนี้มาก เป็นต้นว่า รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประสานงานกับโรงเรียนต่างๆ ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อติดตั้งเกมเกี่ยวกับการก่อตั้งธุรกิจชื่อ BizWorld โดยเด็กนักเรียนอายุ 13 - 14 ปี ของสิงคโปร์ จะเล่นเกมโดยก่อตั้งธุรกิจ นักเรียนแต่ละคนจะมีความรับผิดชอบแตกต่างกัน เช่น ผู้จัดการฝ่ายการเงิน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ฯลฯ โดยต้องถกเถียงเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ จากนั้นจะต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ พร้อมกับพยายามโน้มน้าวให้กองทุนร่วมลงทุนให้เงินสนับสนุน และจัดทำงบการเงินเพื่อวางแผนเกี่ยวกับกระแสเงินสดของโครงการ

การเรียนการสอนข้างต้น นอกจากจะช่วยเสริมสร้างทัศนคติเกี่ยวกับการเป็นเถ้าแก่แล้ว ยังเสริมสร้างพื้นฐานความรู้ในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ภาษา และส่งเสริมให้เรียนรู้ทักษะการทำงานเป็นทีมด้วย อนึ่งนอกจากปลูกฝังความเป็นเถ้าแก่ผ่านการเล่มเกมแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ยังกระตุ้นให้โรงเรียนมอบหมายให้นักเรียนรับผิดชอบกันเองในด้านต่างๆ เช่น ห้องสมุด โรงอาหาร กิจกรรม ฯลฯ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกและเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ

ประการที่ห้า ส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูงจากต่างประเทศมาทำงานภายในประเทศ เป็นต้นว่า หน่วยงานของสิงคโปร์ยังได้พยายามดึงชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถระดับโลกมาทำงานที่สิงคโปร์ โดยเรียกบุคคลเหล่านี้ในคำศัพท์ว่า “ปลาวาฬ” (Whale)สำหรับกลยุทธ์ของรัฐบาลสิงคโปร์ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ลึกลับซับซ้อนแต่อย่างใด โดยจะใช้กลยุทธ์ง่ายๆ โดยสอบถามว่าต้องการอะไร จากนั้นจะพยายามตอบสนองในสิ่งที่บุคลากรเหล่านี้ต้องการ

สำหรับกรณีของประเทศจีน เมื่อปี 2545 เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้เริ่มอนุญาตให้ชาวต่างประเทศเข้ามาอาศัยและทำงานเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี โดยมีรูปแบบการอนุญาตคล้ายคลึงกับระบบ Green Card ของสหรัฐฯ โดยผู้ได้รับอนุญาตสามารถทำงานทั้งการเป็นนักวิจัย ก่อตั้งธุรกิจใหม่ หรือเป็นลูกจ้างบริษัท

ต่อมาเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ยังได้ประกาศเมื่อต้นปี 2546 ว่าจะพยายามแสวงหาผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เป็นต้นว่า ชาวต่างประเทศซึ่งได้รับรางวัลโนเบลในสาขาต่างๆ ฯลฯ ให้มาทำงานที่นครเซี่ยงไฮ้ โดยมีเป้าหมายจำนวน 10 - 20 คน/ปี ทั้งนี้ จะว่าจ้างบริษัทที่ทำธุรกิจ Head Hunter ในระดับนานาชาติ มาเป็นที่ปรึกษา พร้อมกับเสนอสิทธิพิเศษแก่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มากมาย เป็นต้นว่า การรักษาพยาบาล และบ้านพักฟรี

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น