xs
xsm
sm
md
lg

ลุ่มเจ้าพระยา,สุมาตรา,พม่า,กัมพูชา คาดมีพิษ“สารหนู”ปนเปื้อนในน้ำ“สูง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี –พื้นที่ด้านตะวันออกเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย เขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีในพม่า ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลางของไทย และทะเลสาบ โตนเลสาบ ของกัมพูชา น่าจเมีสารหนูปนเปื้อนอยู่ในน้ำในปริมาณสูง รายงานการศึกษาซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อวานนี้(10)ระบุ
การศึกษาดังกล่าวนี้ นักวิจัยได้ใช้เทคนิคดิจิตอลในการประสมประสานข้อมูลทางธรณีวิทยา สภาพทางภูมิศาสตร์และสภาพทางเคมีของดินเข้าด้วยกัน เพื่อจัดทำ “แผนที่ความน่าจะเป็น” ของการสะสมสารหนูที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ในพื้นที่ 5 ประเทศเอเชียอาคเนย์และบังกลาเทศ
“แผนที่ความน่าจะเป็น” ดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นดัชนีประกอบการทำงานของหน่วยงานด้านสาธารณสุข การผังเมือง และวิศวกรรมด้านน้ำ ที่จะต้องให้ความสำคัญกับการสะสมของสารหนู ซึ่งเป็นสารพิษชนิดหนึ่งในน้ำใต้ดิน แต่ขาดแคลนเงินทุนในการศึกษาวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำอย่างครอบคลุม
คณะนักวิจัยชาวสวิสซึ่งได้ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานการศึกษาฉบับนี้ผ่าน วารสาร เนเจอร์ นิวโรไซแอนซ์ (Nature Neuroscience) ฉบับออนไลน์ระบุว่า การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำ “แผนที่ความน่าจะเป็น” ครั้งนี้ ใช้หลากหลายวิธี อาทิ สภาพทางเคมีและชีววิทยาของตะกอนที่อาจก่อให้เกิดสารหนูขึ้นโดยธรรมชาติ นอกจากนั้น คณะนักวิจัยยังได้ให้ความสำคัญกับสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำด้วย เนื่องสภาพพื้นที่ลาดชันส่วนใหญ่พบการสะสมของสารหนูน้อยมาก
เกณฑ์มาตรฐานความเสี่ยงที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งกำหนดไว้ที่ 0.01 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร
รายงานการศึกษาระบุว่า ในบังกลาเทศ ซึ่งพบการปนเปื้อนสารหนูมากที่สุดในโลก มีความเสี่ยงสูงที่จะมีปริมาณสารหนูสะสมในน้ำสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานในพื้นที่ตอนใต้ติดต่อกับภาคกลางของประเทศ และในพื้นที่ราบลุ่มซิลเฮท ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
นอกจากนั้น ยังพบว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่จะมีปริมาณสารหนูสะสมในน้ำสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานในเขตพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดีของพม่าและลุ่มแม่น้ำเรด ริเวอร์ของบังกลาเทศ รวมทั้งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของไทยและในพื้นที่ราบลุ่มรอบทะเลสาบ โตนเลสาบ ของกัมพูชา
การทำแบบจำลองด้วยระบบคอมพิวเตอร์ยังพบด้วยว่า พื้นที่ประมาณ 1 แสนตารางกิโลเมตรบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการสะสมของสารหนูสูงเกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกเช่นเดียวกัน
จากนั้นก็ได้มีการพิสูจน์คำทำนายจากแบบจำลองนี้ ด้วยการทดสอบตัวอย่างต่างๆ จากเขตๆ หนึ่งในสุมาตรา ซึ่งแผนที่บ่งบอกว่าน่าจะมีทั้งชั้นหินใต้ดินที่มีความเสี่ยงสูง และชั้นหินที่มีความเสี่ยงต่ำ
อย่างไรก็ตาม รายงานการศึกษาบอกว่า ในทางเป็นจริงแล้ว บ่อน้ำในพื้นที่นี้มีจำนวนมากเป็นบ่อลึก ซึ่งนำเอาน้ำใต้ดินที่อยู่ข้างใต้ชั้นหินที่มีปัญหาสารหนูลงไปอีกขึ้นมาใช้
ดังนั้น ไมเคิล เบิร์ก นักวิจัยจากสถาบันอุทกวิทยาและเทคโนโลยีของรัฐบาลกลางสวิตเซอร์แลนด์ในเมือง ดูเบนดอร์ฟ ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้จัดทำรายงานการศึกษาฉบับนี้ กล่าวเตือนว่า แผนที่ความน่าจะเป็นนี้ จะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการบ่งชี้ถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงในการปนเปื้อนสารหนู แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมทางด้านธรณีวิทยาในแต่ละพื้นที่ประกอบกันไปด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น