xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจระบบทุนนิยม

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ในยุคโลกาภิวัตน์นี้มีการกล่าวเน้นถึงเศรษฐกิจทุนนิยม การค้าเสรี และการปกครองระบอบประชาธิปไตย สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้นั้นดูประหนึ่งว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่งหมายถึงการค้าเสรีด้วยและระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นหลักการและค่านิยมของโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ไม่มีใครจะถกเถียงหรือคัดค้าน จะมีอยู่บ้างเช่นพวกต่อต้านกระบวนการโลกาภิวัตน์แต่ก็เป็นส่วนน้อย ผลจากสภาวะดังกล่าวนั้นจนนำไปสู่การสรุปของ ฟรานซิส ฟูกูยาม่า ที่ว่า ประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติที่จะวิวัฒนาการไปแบบที่คาร์ล มาร์กซ์ ได้กล่าวไว้ว่าจะก้าวจากทุนนิยมไปสู่สังคมนิยมนั้นคงจะสิ้นสุดที่ทุนนิยมและประชาธิปไตย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทุนนิยมและประชาธิปไตยน่าจะเป็นวิวัฒนาการสูงสุดที่มนุษยชาติพึงประสงค์ และคงจะไม่เปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่น

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นการวิเคราะห์ถึงสภาวะทางการเมือง เศรษฐกิจ พ่วงมาถึงเรื่องหลักการและอุดมการณ์ รวมตลอดทั้งแนวโน้มของโลก แต่สิ่งซึ่งจะต้องนำมาพินิจพิเคราะห์ก็คือ

ประการแรก ประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาตินั้นยังอีกยาวไกล คงจะไม่มีใครสามารถจะกล่าวได้ว่าสังคมมนุษย์อีกหมื่นๆ ปีข้างหน้าหรือยาวกว่านั้นจะอยู่คงที่โดยมีเศรษฐกิจทุนนิยมและระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยปักหลักอย่างถาวร ไม่มีการแปรเปลี่ยนเป็นอื่น ความจริงสรรพสิ่งทั้งหลายย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะระบบทุนนิยมหรือระบบใดก็ตามคงไม่มีใครสามารถประกันได้ว่าจะคงอยู่ถาวรตลอดไป

ประการที่สอง เมื่อมีการพูดถึงระบบทุนนิยมมักมีการพูดในลักษณะที่ว่าระบบนี้เป็นระบบที่เหมาะสมที่สุด ดีที่สุด สามารถใช้ได้กับทุกๆ สังคม และส่วนใหญ่ก็จะมุ่งเน้นในส่วนที่เป็นข้อดีของระบบทุนนิยมว่าเป็นระบบที่สามารถจะสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ มีการผลิตอย่างมหาศาล ทำให้สะดวกสบายในการดำเนินชีวิต ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นความจริง แม้ใน Communist Manifesto ของคาร์ล มาร์กซ์ เองก็กล่าวยอมรับถึงความสำเร็จและสัมฤทธิผลของระบบทุนนิยมที่มีการพัฒนาการผลิตอย่างมหาศาลจนสร้างความร่ำรวยให้กับเจ้าของปัจจัยการผลิต แต่ส่วนที่เป็นทางลบของเศรษฐกิจทุนนิยมหรือเศรษฐกิจกลไกตลาดนั้น แม้จะมีการกล่าวถึงในทางวิชาการแต่ก็มิได้มีการพินิจพิเคราะห์ให้ละเอียดนัก ระบบทุนนิยมนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล แต่ขณะเดียวกันข้อดีต่างๆ ที่กล่าวมาควรจะมองอย่างมีดุลยภาพ เพราะถ้ามองทุกอย่างในด้านเดียวภาพที่ออกมาจะกลายเป็นภาพที่บิดเบือน จึงจะขอยกให้เห็นเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

1) ที่บอกว่าเศรษฐกิจทุนนิยมเป็นเศรษฐกิจที่มีกลไกของตลาดเป็นตัวกำหนดราคาของสินค้า โดยมีหลักอุปสงค์อุปทาน ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งมือที่มองไม่เห็น ซึ่งจะได้ราคาที่ยุติธรรมและถูกต้องคือผู้ประกอบการได้กำไรส่วนหนึ่ง ผู้ซื้อสินค้าก็จะได้ราคาที่ยุติธรรมไม่ถูกเอาเปรียบ แต่ปัญหาที่สำคัญคือระบบทุนนิยมที่ใช้กลไกตลาดนั้นมักจะมีกลไกตลาดที่ไม่สมบูรณ์ จะมีอยู่ก็เพียงแต่ในตำราเท่านั้นเพื่อการศึกษาทางทฤษฎี ส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะผูกขาดโดยผู้ผลิตคนเดียว หรือผู้ผลิตจำนวนหนึ่งซึ่งสามารถจะตกลงกันเพื่อพยุงราคาไว้ได้ ในส่วนของผู้รับซื้อจากผู้ผลิตเพื่อนำมาจำหน่ายต่อก็มักจะมีผู้ซื้อรายเดียวหรือจำนวนหนึ่งทำให้กลไกของตลาดเกิดความยุติธรรมต่อผู้ผลิตและผู้ซื้อนั้นถูกบิดเบือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากระบบและกลไกไม่เอื้ออำนวยทำให้คนกลุ่มหนึ่งได้เปรียบตลอดเวลา ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งต้องถูกเอารัดเอาเปรียบ ตัวอย่างเช่นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ราคาข้าวจะสูงเท่าไร ประโยชน์ก็มักไม่ได้ตกแก่เกษตรกรผู้ปลูก

นอกเหนือจากนั้น ในเรื่องอุปสงค์อุปทานบางครั้งมิได้มีอุปสงค์แต่มีการผลิตสินค้าขึ้นมา จากนั้นก็ใช้วิธีการโฆษณาเพื่อให้ขายสินค้านั้นได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ใช้กระบวนการตลาดเพื่อสร้างอุปสงค์ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ผู้หนึ่งชื่อ Say ได้กล่าวไว้ว่า อุปทานจะสร้างอุปสงค์

2) ความเชื่อที่ว่าจะต้องมีการรวมทุนโดยคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและเป็นผู้ประกอบการ คนกลุ่มนี้จะทำการผลิตสินค้าและให้การบริการ สร้างความร่ำรวยให้กับตนเองเป็นอย่างมาก และจากความร่ำรวยของคนกลุ่มเล็กๆ นั้นจะนำไปสู่ประโยชน์ที่จะตกแก่คนยากจนหรือคนชั้นล่าง (trickle-down effect) กล่าวง่ายๆ คือ เมื่อมีคนร่ำรวยขึ้นจากการทำอุตสาหกรรมประมาณ 5-6 ครอบครัว คนอื่นที่ยากจนกว่าก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย เช่น ได้มีโอกาสว่าจ้างแรงงาน ซึ่งจะได้มีโอกาสมีรายได้ที่สูงขึ้น ซื้อสินค้าที่ถูกลง เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้ก็เป็นความจริงในระดับหนึ่ง แต่สัดส่วนที่ได้รับต่างกันอย่างมหาศาล จนเกิดการผูกขาดความร่ำรวยโดยกลุ่มครอบครัวหรือตระกูลไม่กี่ตระกูลที่มักจะสามารถคุมทรัพยากรประมาณ 60-70% ของประเทศไว้ในมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการถือครองที่ดิน

3) เมื่ออำนาจเศรษฐกิจตกอยู่ในกลุ่มตระกูลไม่กี่ตระกูล บุคคลเหล่านี้ก็มักจะมีอำนาจทางการเมืองทางอ้อมเนื่องจากมีความโยงใยกับอำนาจรัฐ ผลสุดท้ายก็จะมีบทบาทอย่างยิ่งในการวางนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายทางเศรษฐกิจ รวมตลอดทั้งนโยบายต่างประเทศ เช่น ในกรณีของสหรัฐฯ มีการกล่าวว่าเศรษฐกิจนั้นถูกกำหนดโดยทหารและนักอุตสาหกรรม (military-industrial complex) ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศ สงครามเวียดนาม สงครามอิรัก สงครามอัฟกานิสถาน ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจขายอาวุธ หาประโยชน์จากน้ำมัน อุตสาหกรรมเคมี เมื่อเป็นเช่นนี้ยังนำไปสู่โอกาสของการเกิดระบอบการปกครองเผด็จการแบบฟาสซิสต์ เช่น เยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ญี่ปุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งรัฐบาลอยู่ภายใต้บงการของกลุ่มการเงิน (Zaibatzu) ความร่ำรวยที่กระจุกตัวจึงเป็นสิ่งที่อันตราย

4) ในสังคมที่กำลังพัฒนานั้น เริ่มแรกกลุ่มธุรกิจจะพยายามเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศอยู่ โดยต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน แต่เมื่อประเทศเปิดระบบการเมืองกว้างขึ้น มีการนำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ กลุ่มนักธุรกิจเหล่านี้ก็จะสนับสนุนนักการเมือง จึงทำให้เกิดการโยงใยกับกระบวนการอำนาจและการกำหนดนโยบาย และถึงจุดๆ หนึ่งก็อาจจะเป็นผู้ซึ่งเข้าเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเลือกตั้ง การตั้งพรรคการเมือง เป็นสมาชิกรัฐสภา และเป็นผู้ซึ่งบริหารประเทศในฐานะรัฐบาล กลุ่มธนาธิปัตย์จึงอยู่ในฐานะที่จะกำหนดนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศ ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมตลอดทั้งการวางนโยบายที่ใช้งบประมาณที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อตนและพรรคพวกในการดำเนินธุรกิจ ระบบทุนนิยมจึงมีส่วนอย่างมากในการนำไปสู่ระบบธนาธิปไตยถ้ากลไกที่ควบคุมนั้นไม่สามารถทำงานได้ และถ้าประชาชนขาดข้อมูลความรู้และอำนาจต่อรอง

5) ถึงแม้ระบบทุนนิยมจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ นำไปสู่ความหลากหลายของสินค้าอุปโภคบริโภค และในแง่หนึ่งก็มีส่วนทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของการดำรงชีวิตที่อยู่อย่างสมถะ ยึดถือคุณงามความดี ในระบบทุนนิยมการตัดสินประเมินคุณความดี ความสำเร็จ มักใช้กฎเกณฑ์ของความร่ำรวย การมีฐานะเป็นเครื่องวัด นอกจากนั้น การดำรงชีวิตมักจะอยู่ที่การโอ้อวดความมั่งคั่ง ส่วนใหญ่จมปรักอยู่ในบริโภคนิยม วัตถุนิยม เงินตรานิยม หลักการศีลธรรมและจริยธรรมกลายเป็นเรื่องรอง มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง มีการดำรงชีวิตอย่างเร่งรีบ ดังนั้น ถึงแม้จะมีการพัฒนาในหลายส่วน แต่ส่วนที่เป็นลบก็ไม่สามารถปฏิเสธได้

แต่กระแสของทุนนิยมและประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะหยุดยั้งได้ แม้ระบบการเมืองเองก็ต้องพยายามจะจรรโลงเศรษฐกิจดังกล่าว เช่น เมื่อใดก็ตามที่กลไกตลาดทำท่าจะไร้ผล หน่วยงานของรัฐก็ต้องใช้นโยบายการเงินการคลังแก้ไขความบกพร่องที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อเศรษฐกิจซบเซาก็ต้องกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยนโยบายการคลังโดยใช้โครงการของรัฐ หรืออาจจะใช้นโยบายการเงินด้วยการใช้อัตราดอกเบี้ยในการสร้างเงินทุนและเงินออม นอกจากนั้นยังมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น การคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค สาธารณูปการทั้งหลายเพื่อเป็นตัวเสริมให้เกิดความจำเริญทางเศรษฐกิจ พร้อมๆ กันนั้นก็อาจจะปิดตาต่อผลในทางลบที่เกิดขึ้น เช่น มลพิษ อากาศเป็นพิษ น้ำเสีย ที่สำคัญบ่อยครั้งก็ต้องจำทนต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปล่อยให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนโดยเห็นว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ประเทศซึ่งเคยเป็นสังคมนิยมมาแล้วอย่างจีนและเวียดนามก็ต้องยอมสยบต่อข้อเท็จจริงดังกล่าว

กล่าวโดยสรุปก็คือ ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แม้จะเป็นระบบที่มีส่วนเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ชีวิตแต่ก็ทำลายคุณภาพความเป็นคนไปในตัว ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม อย่างไรก็ตาม ระบบทุนนิยมก็เป็นระบบที่ไม่มีประเทศใดจะสามารถหลีกเลี่ยงได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ ยกเว้นเกาหลีเหนือและคิวบา
กำลังโหลดความคิดเห็น