xs
xsm
sm
md
lg

สายการบินงดเข้าเชียงราย รถเมล์สองแควใกล้เจ๊ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประเทือง ศรขำ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงราย
เชียงราย/พิษณุโลก – “น้ำมันแพง-โลว์ซีซัน”พ่นพิษ สารพัดสายการบินประกาศลด-เลิกบินเข้าเมืองพ่อขุนฯ คาดอาจต้องปรับค่าบริการเร็ววันนี้ ขณะที่ “รถเมล์บ้านเรา” กิจการเก่าแก่อายุกว่า 40 ปีของเมืองสองแคว ใกล้เจ๊ง หลังขาดทุนต่อเนื่องทุกเดือนมานานกว่า 1 ปี วอนรัฐยื่นมือช่วยหลายครั้งแต่ไร้ผล

สายการบินลด-เลิกบินเข้าเชียงราย

นายประเทือง ศรขำ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงราย เปิดเผยว่า หลังจากน้ำมันมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงทำให้สายการบินนกแอร์ เส้นทางเชียงราย-กรุงเทพฯ ซึ่งเดิมมีวันละ 2 เที่ยวบิน ได้ยกเลิกเส้นทางดังกล่าวจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ส่วนในเดือนกรกฎาคม ยังไม่แน่ใจว่าจะบินตามปกติหรือไม่ แต่เส้นทางเชียงราย-เชียงใหม่ ยงคงบินตามปกติ

นอกจากนี้ในส่วนของสายการบินแอร์เอเชีย ก็เตรียมลดเที่ยวบินเชียงราย-กรุงเทพฯ จากเดิมวันละ 3 เที่ยวต่อวัน เหลือ 2 เที่ยวต่อวัน ไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2551 ,สายการบินวันทูโก ลดเที่ยวบินเส้นทาง เชียงราย-กรุงเทพฯ เหลือเพียงวันศุกร์ และวันอาทิตย์ วันละ 1 เที่ยวบินเท่านั้น

ขณะที่การบินไทย เตรียมลดเที่ยวบินระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม -31 กรกฎาคม 2551 โดยวันธรรมดาจะมีเที่ยวบิน เส้นทางเชียงราย-กรุงเทพฯ 2 เที่ยวบิน แต่ในวันศุกร์ และ วันอาทิตย์ ปรับเป็น 3 เที่ยวบินต่อวัน ส่วนราคาขายตั๋วจะอยู่ที่ 2,510-2,670 บาท ต่อที่นั่งในชั้นปกติ

นายประเทือง กล่าวต่ออีกว่า การลดเที่ยวบินของสายการบิน ในช่วงโลว์ซีซันของทุกปี มาจากเหตุผลเรื่องปริมาณผู้โดยสารที่ไม่มาก ซึ่งในปี 2550 ในช่วงโลว์ซีซัน สมาคมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย และสมาคมท่องเที่ยวภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้จัดแพกเกจท่องเที่ยว สักการะพระธาตุเก้าจอม ทำให้ปริมาณเที่ยวบินในช่วงในช่วงโลว์ซีซัน ปี 2550 ไม่ลดลง แต่ในปี 2551 ทราบว่า สมาคมท่องเที่ยวฯ ไม่สามารถจัดแพกเกจท่องเที่ยวแบบเดิมได้ เพราะราคาต้นทุนสูงขึ้น

“สายการบินจะอยู่ได้ อนาคตคาดว่าน่าจะมีการปรับราคาค่าตั๋วขึ้นเพื่อความอยู่รอด แต่อาจจะรอดูท่าทีและปริมาณนักท่องเที่ยว ที่จะมากขึ้นในช่วงไฮซีซันฤดูหนาวปลายปีนี้ แต่ขณะนี้การงดเที่ยวบินยังไม่มีผลกระทบต่อพนักงานของสายการบินโดยตรง และท่าอากาศยานเชียงราย ยังคงพร้อมให้การบริการประชาชนอย่างเต็มที่” นายประเทือง กล่าว
รถเมล์บ้านเรา กิจการเก่าแก่อายุ 42 ปี ของจังหวัดพิษณุโลก ที่วันนี้กำลังง่อนแง่นรอวันปิดกิจการเต็มที หลังต้องแบกภาระขาดทุนต่อเนื่องมานานกว่า 1 ปี เพราะวิกฤตน้ำมันแพง
รถเมล์สองแควใกล้ปิดกิจการ

นางสุมาลี อุ่นเรือน ผู้จัดการบริษัทพิษณุโลกบริการจำกัด ในฐานะเจ้าของ “รถเมล์บ้านเรา” เปิดเผยว่า การให้บริการรถเมล์ทั่วเมืองพิษณุโลกตลอดระยะเวลา 42 ปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ยอมรับว่าอาจจะต้องปิดบริการ เพราะไม่สามารถแบกรับราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในแต่ละเดือนจะขาดทุนประมาณ 100,000 บาท จากที่ต้องซื้อน้ำมันดีเซลเติมรถเมล์กว่า 40 คันจำนวน 2,000 ลิตรต่อวัน ยอดซื้อน้ำมันเฉลี่ยเดือนละ 2.5 ล้านบาท ทั้งยังมีค่าแรงพนักงาน 100 กว่าคน ขณะที่ราคาคงเดิมทำให้ประสบปัญหาการขาดทุนทุกเดือนเป็นเวลาเกือบ 1 ปี หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ คงอยู่ได้ไม่นาน จนอาจจะหยุดให้บริการรถเมล์รอบเมืองพิษณุโลกจำนวนทั้งหมด 15 สายในเร็วๆนี้

“ที่ทนอยู่ก็เพราะเห็นใจพนักงานที่ขับรถและดูแลกันมานาน ที่สำคัญบริษัทยังไม่มีเงินก้อนใหญ่ที่จะปลดพนักงานออก เพราะต้องจ่ายเงินชดเชยจำนวนมาก สิ่งที่อยากเรียกร้องภาครัฐและจังหวัดพิษณุโลก คือ ขอความเห็นใจและสนับสนุนน้ำมันดีเซล เพื่อขอให้ธุรกิจอยู่รอดได้เท่านั้นก็พอ แม้รู้ดีว่า การขอน้ำมันดีเซลราคาต่ำกว่าท้องตลาดลิตรละ 3 บาทเหมือนกับรถร่วมบริการในกรุงเทพฯจะเป็นไปได้ยากก็ตาม”

ด้านนายกล้าณรงค์ ภักดิ์ประไพ ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทพิษณุโลกบริการจำกัด เปิดเผยว่า อยากให้ภาครัฐช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันหรือช่วยหาแหล่งกู้เงินดอกเบี้ยต่ำ ในการปรับปรุงสภาพรถเมล์ให้สามารถติดตั้งก๊าซเอ็นจีวีได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนได้

นอกจากนี้ บริษัทยังถูกกลุ่มรถกระบะสองแถววิ่งทับเส้นทาง รวมทั้งกล่าวหาว่ารถเมล์กีดขวางการจราจรเพราะมีขนาดใหญ่ แต่กลุ่มรถกระบะส่วนใหญ่ไม่ให้บริการตลอดสายตามที่ขออนุญาตจากขนส่ง วิ่งเฉพาะในเมืองทำให้รถเมล์บ้านเราได้รับผลกระทบ ขณะที่เส้นทางพิษณุโลก-อำเภอบางกระทุ่ม ของรถร่วมเอกชนรายหนึ่งหยุดวิ่ง เพราะวิ่งแล้วขาดทุน ขนส่งจังหวัดพิษณุโลกก็ขอความร่วมมือรถเมล์บ้านเราวิ่งแทน ซึ่งบริษัท ก็วิ่งแทนแม้จะต้องขาดทุนก็ตาม แต่กรณีรถเมล์บ้านเราจะขอรับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐ กลับนิ่งเฉยไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยเหลือสักราย

“สถานการณ์เช่นนี้ รถเมล์บ้านเราแทบอยู่ไม่ได้ ประคองให้อยู่ก็เพราะเป็นธุรกิจต้นตระกูล และให้บริการคนรุ่นเก่าๆ เพราะปัจจุบันจะหวังคนรุ่นใหม่มาขึ้นรถเมล์คงลำบาก หันไปขับขี่มอเตอร์ไซค์เป็นส่วนใหญ่ ที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นราคารถเมล์จาก 8.50 บาท (สำหรับรถร้อน)เป็น10 บาทตลอดสาย และปรับราคารถแอร์ จาก 11 บาทเป็น 13 บาทตามลำดับ ก็ไม่ช่วยอะไรมาก เพราะเป็นการคำนวณราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ระดับ 34-35 บาท แต่ปัจจุบันไม่ใช่”นายกล้าณรงค์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น