xs
xsm
sm
md
lg

คตส.สรุปยุครัฐบาลแม้วทำชาติพัง1.8แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความ เสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ออกหนังสือที่ระลึก ในวาระ คตส.สิ้นสุดปฎิบัติหน้าที่ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ เพื่อเผยแพร่ผลงานการปฏิบัติหน้าที่ ขั้นตอนการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น พร้อมทั้งปัญหาอุปสรรในการทำงาน การดำเนินการแก้ไข เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา วิเคราะห์วิจัย ปรับปรุงระบบการตรวจสอบการทุจริต คอร์รัปชั่น ให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป โดยจะมีการเผยแพร่ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ในการส่งมอบงานต่อให้กับ ป.ป.ช.
โดยในช่วงแรกของหนังสือเป็นการสรุปผลงาน ตลอดระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน คตส. ที่ได้มีการตรวจสอบโครงการทุจริตคอร์รัปชั่น จำนวน 13 โครงการ รวมทั้งสิ้น 21 กรณี ตรวจพบความเสียหายจากการกระทำผิดประมาณ 1.8 แสนล้านบาท มีการอายัดเงินในสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งสิ้น 6.5 หมื่นล้านบาท โดยมีการแยก ความคืบหน้าเป็นรายคดี ประกอบด้วย คดีที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการ ได้แก่ 1.การตรวจสอบการก่อสร้างและจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์บริษัทห้องปฏิบัติกลาง ตรวจสอบผลิตภัณฑ์และอาหาร จำกัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยพบว่า บริษัทเอกชนที่ฮั้วประมูลได้ประโยชน์กว่า 300 ล้านบาท
2.คดีการตรวจสอบกรณีทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อรถ-เรือ ดับเพลิงของ กทม.ทำรัฐเสียหายกว่า 1,900 ล้านบาท อยู่ในระหว่างการไต่สวน และ 3.คดีตรวจสอบกรณีร่ำรวยผิดปกติ จัดซื้อสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี้ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
สำหรับ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของ คตส. ได้แก่ 1.การตรวจสอบโครงการ ก่อสร้างระบบจ่ายไฟฟ้า และเครือข่ายท่อร้อยสายของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีมติฟ้อง อดีต รมว.คมนาคม อดีตปลัด คมนาคม และกลุ่มบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายท่อ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท ก่อนที่จะส่งให้ อสส.ฟ้องต่อไปภายในสัปดาห์นี้
2.คดีกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพวกกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการระบบขนส่งทางรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศสุวรรณภูมิ ของการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย ฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำรัฐเสียหาย 1,200 ล้านบาท
3.การตรวจสอบโครงการบ้านเอื้ออาทร 3 คดี คือ 1.กรณีกล่าวหานายวัฒนา เมืองสุข และพวกการทุจริต หรือการทุจริตแบบโควตาและเงินล่วง ในโครงการร่มเกล้า-บางพลี 2. การกล่าวทุจริตโดย นางชวนพิศ ฉายเหมืองวงศ์ ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ กับ พวก ในโครงการเมืองใหม่บางพลี และโครงการร่มเกล้า และ 3. การทุจริตโดยเจ้าหน้าที่ของการเคหะแห่งชาติ กล่าวหานายพิทยา เจริญวรรณ กับพวก ในโครงการอรัญประเทศ
4.กล่าวหานายเจตวัฒน์ วิชิต กับพวก ร่วมกันกระทำผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อเอกชนในโครงการ กบินทร์บุรี และ5 การตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างเอกชน โดยการเคหะแห่งชาติ โครงการบ้านเอื้ออาทร คลอง 9 รวมทั้งหมด ทำรัฐเสียหายกว่า 1,400 ล้านบาท
คดีที่ อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด ได้แก่ 1.การตรวจสอบ โครงการจัดซื้อจัดจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารและเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 ในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยส่งฟ้องบุคคล ที่เป็นนักการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจ นิติบุคคล และนักธุรกิจรวม 26 ราย พร้อมทั้งให้ผู้กระทำผิดร่วมกันคืนทรัพย์สินความเสียหายประมาณ 6,937 ล้านบาท โดยส่งให้ อสส.เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2551
คดีที่ 2.การตรวจสอบการอนุมัติเงินกู้ของผู้บริหารธนาคารกรุงไทยให้แก่บริษัทในเครือกฤษดามหานคร โดยปล่อยเงินกู้เกินวงเงินที่ต้องใช้จิรงกว่า 3,500 ล้านบาท โดยมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 31 ราย
3.คดีการตรวจสอบอดีตนายกรัฐมนตรีกระทำการทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง รวม 4 กรณี คือ 1. การออกคำสั่งแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ทำให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เสียหาย 30,667 ล้านบาท 2.การแก้ไขสัญญาลดสัดส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid) เอื้อบริษัทเอกชน ทำ ทศท.สูญรายได้ 70,872.03 ล้านบาท 3.การแก้ไขสัญญาข้อตกลงปรับเกณฑ์การตัดส่วนแบ่งรายได้ให้ ทีโอที เพื่อเอื้อประโยชน์กับบริษัทเอกชน อนุญาตให้ บริษัท เอไอเอส ใช้เครือข่ายร่วม แต่ให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ ทำให้ ทศท.และ กสท.สูญรายได้กว่า 18,970,579,711 บาท ตลอดอายุสัมปทาน แต่เอไอเอส ได้ประโยชน์กว่า 18,970,579,711 บาท ผลประโยชน์ทั้งหมดตกแก่หุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ที่อดีตนายกรัฐมนตรีถือหุ้นในระหว่างการดำรงตำแหน่ง เป็นเหตุให้หุ้นมีมูลค่าสูงขึ้น ก่อนที่จะมีการขายหุ้นดังกล่าว
และ4.การละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียวสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์บริษัทชินคอร์ป เกี่ยวกับดาวเทียม IPSTRA
4.คดีกล่าวหานายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล กับพวก ร่วมกันกระทำความผิด ในการตอบข้อหาหรือในกรณีจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป
คดีอยู่ระหว่างการสรุปสำนวนคดีฟ้องเพื่อฟ้องคดีต่อศาล ได้แก่ 1.คดีการ ตรวจสอบ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ให้เงินกู้เพื่อื้อเครื่องจักรและพัฒนาประเทศแก่รัฐบาลสหภาพพม่า ทำให้ธนาคารส่งออกและนำเข้า เสียหาย 670,436,201.25 บาท กระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย 140,349,000 บาท ขณะที่บริษัทครอบครัวอดีตนายกรัฐมนตรีและพวกพ้องได้ประโยชน์ 593,492,815.96 บาท โ
2.การตรวจสอบโครงการจัดซื้อต้นกล้ายางพาราและดำเนินการโครงการ ปลูกยาง 90 ล้านต้น ของวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำรัฐเสียหาย 1,440 ล้านบาท โดยฟ้องผู้กระทำความผิดรวม 44 ราย
สำหรับอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ได้แก่ 1.กรณีหลีกเลี่ยงภาษีของ ภริยาอดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ใกล้ชิดรวม 3 คน ร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากร ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.1149/2550 เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2550 คดีที่ 2.คือ การตรวจสอบสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดินของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(ที่ดินรัชดาภิเษก) โดยอดีตนายกรัฐมนตรีกับ ภริยา ตกเป็นจำเลย 3.คดีการตรวจสอบโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยฟ้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 32 คน เจ้าหนาที่สำนักงานกองสลาก16 คน โดยอยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณารับคดีของศาลฎีกานักการเมือง เพื่อฟังผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในปัญหาที่ว่าประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหนังสือที่ระลึก คตส.ยังได้ระบุปัญหาและอุปสรรค ในการตรวจสอบ โดยมีหน่วยงานที่ไม่ให้ความร่วมมือในการส่งเอกสาร ให้ถ้อยค้ำ และการร้องทุกข์กล่าวโทษโดยอ้างว่าไม่ใช่หน่วยงานเสียหาย อาทิ กระทรวงมหาดไทย กรณีหวยบนดิน กระทรวงการคลัง กรณีของกองทุนฟื้นฟู ฯ โดยหน่วยงานต่างๆ ไม่กล้ากล่าวหาหัวหน้าหน่วยงาน หรือ ตัวเอง จึงมักบ่ายเบี่ยง ขอเลื่อน ขอผลัด ส่งเอกสารช้า ไม่ครบ ขณะเดียวกันพบว่าหลายหน่วยงานเกียร์ว่าง บางหน่วยงาน เถียงว่าไม่ใช้ผู้เสียหาย
ส่วนปัญหาอุปสรรคด้านกฎหมายตอนหนึ่งระบุว่า ในกรณีที่มีความเห็นว่า ประกาศ คตส.ฉบับที่ 30 เรื่องการแต่งตั้ง คตส.กับ พ.ร.บ.ต่ออายุการทำงานของ คตส.ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.หาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำมาต่อสู้ คดีทุจริตต่างที่ คตส.ตรวจสอบทั้งหมดจะมีผลเป็น โมฆะ ทันที ผลที่ตามมาก็คือ นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ จะชนะคดีโดยไม่ต้องออกแรงสู้ ในรายละเอียดของคดีต่างๆ แล้ว เงินจำนวน 7.3 หมื่นล้านบาท ที่ถูก คตส.อายัดย่อมจะถูกถ่ายโอนกลับคืนมา ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญดันดับต้นๆ ของการดำเนินการ ขณะที่บุคคลต่างๆ ที่ถูก คตส.ตั้งขอหา ก็จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินการครั้งนี้ด้วย โดยเฉพาะนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่ถูกดำเนินคดีการจัดซื้อรถ-เรือ ดับเพลิงของ กทม.ก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วยเช่นกัน
ตอนหนึ่งของหนังสือ ในหัวข้อ คตส.ฝากไว้ในแผ่นดิน ได้ระบุว่า เรามักจะได้รับคำถามเสมอว่าประเทศชาติได้อะไรจากการตรวจสอบของ คตส.ตลอด 21 เดือน ที่ผ่านมา คตส.ได้ทำหน้าที่ ตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ การการกระทำทุจริต 13 เรื่อง พบความเสียหายกว่า 1.8 แสนล้านบาท อายัดทรัพย์ไว้ได้ 6 หมื่นล้านบาท ในระหว่างการทำงาน คตส.พบอุปสรรคต่างๆ ที่มีผู้พยายามขัดขวาง รบกวนระบบการตรวจสอบ แต่ คตส.ก็มุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างเป็นธรรม และเที่ยงตรง เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของประชาชน ถึงแม้จะถูกฟ้องทั้งทางแพ่งและอาญา 16 คดี เรียกค่าเสียหายกว่า 1 แสนล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น