xs
xsm
sm
md
lg

ม้าสง่างามเยียวยาพฤติกรรม-บำบัดใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม้าไม่ได้มีไว้แค่ขี่เล่นเท่านั้น แต่ยังช่วยสอนทักษะด้านความสัมพันธ์ รวมถึงช่วยผู้ทุพพลภาพทางร่างกายหรือจิตใจ
“ม้าเป็นกระจกสะท้อนความรู้สึกที่เราพยายามซ่อนเร้น พวกมันสอนทักษะความสัมพันธ์ให้กับคน” ลินดา โคฮานอฟ ผู้บุกเบิกวงการขี่ม้าบำบัด และผู้บริหารศูนย์เอโปนาในแอริโซนา สหรัฐฯ บอก
หลักการสำคัญสองประการของการขี่ม้าบำบัดคือ การใช้ม้าช่วยบำบัดจิตใจ และช่วยพัฒนาการด้านบุคลิกภาพ
บริจิตต์ มาร์แตง ประธานร่วมเอควิน-แอสสิต เทอราปี เฟเดอเรชันของฝรั่งเศส เสริมว่าการบำบัดด้วยม้าไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการขี่ม้าเสมอไป แต่ม้าจะทำหน้าที่คนกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้บำบัดกับผู้ป่วย
มาร์แตงทำงานกับเด็กๆ ที่ป่วยเป็นโรคออทิสซึม ตาบอด และหูหนวก โดยสอนให้เด็กเหล่านี้สื่อสารกับลูกม้า
“เด็กจะลุกลี้ลุกลนน้อยลงและผ่อนคลายมากขึ้น”
โจเซ่-ลอรา เดอลากูซ์ จากเฟรนช์ เนชันแนล เอควิเทอราปี โซไซตี้ ขานรับว่าการขี่ม้าบำบัดสามารถปรับปรุงบุคลิกภาพและภาวะที่เป็นสุขได้
“คุณจะเห็นว่าผู้ที่เข้ารับการบำบัดเปิดใจและยิ้มมากขึ้น ม้ามีประสาทสัมผัสไวมาก พวกมันจับอารมณ์คนเก่งแต่ไม่มีการตัดสินเหมือนกับคนด้วยกัน ทำให้เรากล้าที่จะเปิดเผยตัวเองกับม้ามากขึ้น”
แคลร์ มอแรง จากเชวาล กองตั๊กของฝรั่งเศส รับลูกว่าชีวิตของผู้เข้ารับการบำบัดเปลี่ยนไปจากการคลุกคลีกับม้า
“พวกเขาจะเห็นว่าคนด้วยกันสื่อสารกันอย่างไร เห็นในสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เรียนรู้ที่จะปฏิเสธและขีดเส้นจำกัดในวิถีทางที่เป็นธรรมชาติ ไม่ได้ถูกบีบบังคับจากใครหรือสิ่งใด”
มอแรงบอกว่า เธอทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ส่วนม้ารับบทบาทในการบำบัด
“มีการสื่อสารที่เกิดขึ้นโดยสัญชาติญาณระหว่างคนกับม้า”
อีฟส์ ริเวต์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนขี่ม้าในชารองต์-มาริทีม ที่รับคนพิการเป็นคนเลี้ยงม้าและผู้ช่วยครูฝึก สำทับว่าสัญชาติญาณดังกล่าวทำให้คนเรามองตัวเองต่างออกไป
ริเวต์เล่าว่า การขี่ม้าบำบัดริเริ่มขึ้นในฝรั่งเศสเมื่อทศวรรษ 1970 และได้ช่วยเหลือผู้ทุพพลภาพทางสมองมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980
“แรกเริ่มเดิมทีแพทย์นำวิธีนี้มาใช้รักษาเด็กที่มีปัญหาสังคมหรือปัญหาในครอบครัว หรือปัญหาพฤติกรรม หรือกระทั่งความผิดปกติด้านบุคลิกภาพ
“เด็กเหล่านั้นเป็นเด็กที่ปฏิเสธกฎเกณฑ์ของสังคม แต่เมื่อคุณขี่ม้าคุณต้องยอมรับกฎกติกาของสัตว์ และการฝ่าฝืนกฎนั้นจะทำให้เกิดผลที่ไม่น่าพอใจอย่างยิ่ง”
ริเวต์เล่าถึงเด็กออทิสติกคนหนึ่งที่ถูกแม่ทิ้งว่า
“เขามักก้มหน้าซบม้าและลูบไล้แผงคอของมัน วันหนึ่งเขาซุกหน้าลงที่แผงคอม้า น้ำตาเอ่อ เขาตะโกนร้องหาแม่ ผมคิดว่าจากจิตใต้สำนึก แผงคอม้าอาจทำให้เด็กคนนั้นนึกถึงผมยาวดกดำของแม่ และนับจากวันนั้น เขาก็หายจากโรคออทิสซึมโดยปริยาย”
แวงซองต์ โฟลาตร์ จากอาร์ชิเปล เชวาล กองฟิญองซ์ เห็นด้วยว่าม้าเป็นสัญลักษณ์ที่มีพลัง และให้ความรู้สึกของการปลอบโยนเหมือนตอนทารกอยู่ในครรภ์หรือในอ้อมกอดแม่
นอกจากนี้ การขี่ม้าบำบัดยังถูกนำไปใช้ในการบำบัดผู้ติดยาและมีความผิดปกติในพฤติกรรมการกิน หรือกระทั่งฟื้นฟูนักโทษ
“ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยที่ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของโลกหลายคนเป็นนักขี่ม้าชั้นยอด เพราะม้าจะทำให้จิตใจคุณกระปรี้กระเปร่า และช่วยให้คุณสัมผัสถึงความงามและพลังที่แท้จริงของชีวิต” โคฮานอฟทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น