xs
xsm
sm
md
lg

บจ.โชว์กำไรQ1กว่า1.5แสนล. ต่างชาติซื้อหุ้นเพิ่ม3.4พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - บริษัทจดทะเบียนโชว์ไตรมาส 1/51 กำไรรวมกว่า 1.52 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 33% จากยอดขายรวมทั้งหมด 1.78 ล้านบาท โต 32% บวกกับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน นำโดย 5 บริษัทที่กำไรสูงสุด "PTT,PTTEP,SCC,SCB, PTTCH" ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยผันผวนอยู่ในแดนบวก หลังได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันช่วยหนุนหุ้นพลังงาน และต่างชาติซื้อสุทธิกว่า 3.4 พันล้านบาท ดันดัชนีปิดบวก 3.49 จุด
นางนงราม วงษ์วานิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประจำไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 51 ว่า บริษัทจดทะเบียน 455 บริษัท จาก 494 บริษัท รวมกองทุนอสังหาริมทรัพย์ บริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน (Non-Compliance: NC) และบริษัทในกลุ่มที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด (Non-Performing Group: NPG) กำไรสุทธิรวม 152,382 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 33% โดยมีบริษัทที่มีกำไรสุทธิ 384 บริษัท และขาดทุนสุทธิ 71 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 85 ต่อ 15 ขณะที่ยอดขายรวมเท่ากับ 1,777,957 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32%
ทั้งนี้ ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 1 ปี 2551 เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน ทั้งกำไรสุทธิและยอดขาย เนื่องจากยอดขายรวมที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งกำไรที่มาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับบริษัทในกลุ่ม SET100 กำไรสุทธิ 128,785 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% เนื่องจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น 54% ขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้น 37% บริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET50 กำไรสุทธิ 118,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 40%
ขณะที่ บริษัทที่มีมูลค่ากำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.ปตท. (PTT) ที่ 26,133 ล้านบาท บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ที่ 8,905 ล้านบาท บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ที่ 7,116 ล้านบาท บมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ 6,787 ล้านบาท และบมจ. ปตท.เคมิคอล (PTTCH) ที่ 5,715 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group) ที่ไม่รวมบริษัทในกลุ่ม NC และกลุ่ม NPG จำนวน 465 บริษัท มีกำไรสุทธิรวม 152,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% โดยผลการดำเนินงานเรียงตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิสูงสุด ดังนี้ 1. กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วย หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดเหมืองแร่ กำไรสุทธิ 52,859ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 10%
2. กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วย หมวดธนาคาร หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต กำไรสุทธิ 28,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% 3. กลุ่มบริการ ประกอบด้วย หมวดการแพทย์ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ หมวดบริการเฉพาะกิจ หมวดพาณิชย์ และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ กำไรสุทธิ 17,383 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14%
4. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วย หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดวัสดุก่อสร้าง และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กำไรสุทธิ 17,249 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% 5.กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วย หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กำไรสุทธิ 16,683 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 155% 6.กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วย หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร หมวดบรรจุภัณฑ์ หมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ และหมวดยานยนต์ กำไรสุทธิ 13,146 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 145%
7.กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วย หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดธุรกิจการเกษตร กำไรสุทธิ 4,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 430% หรือ 4.3 เท่า และ 8. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบด้วยหมวดของใช้ในครัวเรือน หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หมวดแฟชั่น กำไรสุทธิ 1,901 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34%
***ต่างชาติซื้อทะลัก 3.4 พันล้าน
ด้านบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (20 พ.ค.) ดัชนีปรับตัวผันผวนอยู่ในแดนบวก โดยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 879.69 จุด ต่ำสุด 870.82 จุด ก่อนจะปิดที่ 873.82 จุด เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 3.49 จุด คิดเป็น 0.40% มูลค่าการซื้อขาย 26,079.33 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 3,417.62 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1,222.92 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 2,194.70 ล้านบาท
นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวานนี้ปรับตัวในแดนบวกท่ามกลางตลาดหุ้นภูมิภาคผันผวน โดยมีปัจจัยกดดันสำคัญจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่ยังมีแรงซื้อเข้ามาตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น
สำหรับประเด็นการการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันนี้ คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในช่วง 4 เดือนแรกที่ผ่านมายังอยู่ในระดับสูง ดังนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย
ส่วนทิศทางในวันนี้ดัชนีน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยมีปัจจัยเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อค่อยกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ ประเมินกรอบแนวรับที่ 868 จุด และแนวต้านที่ 876 จุด ในส่วนกลยุทธ์การลงทุน เนื่องจากมองว่าดัชนีได้ปรับขึ้นมาพอสมควร แนะนำขายทำกำไรออกมาบ้าง
นายอภิสิทธิ์ ลิมศุภนาค ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.บีฟิท กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยถูกกดดันจากปัจจัยภายในเกี่ยวกับปัญหาการเมือง ซึ่งวันนี้จะมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบกับปัจจัยลบจากต่างประเทศ อาทิ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น ตามความกังวลหลังเกิดเหตุท่อส่งก๊าซระเบิดในไนจีเรียเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยวันนี้คาดว่าดัชนีจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ แต่การปรับตัวเพิ่มของดัชนีจะเป็นการแกว่งตัวผันผวน เนื่องจากตลาดยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาการเมืองในประเทศ โดยประเมินกรอบแนวรับที่ 870 จุด และแนวต้านที่ 880 จุด
กำลังโหลดความคิดเห็น