xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อนาร์กีสเข้าไทย-จีนอาฟเตอร์ช็อกอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน/รอยเตอร์/เอเยนซี-ผลพวงความใจดำรัฐบาลทหารพม่าผลักผู้ประสบภัยจากอิระวดีมุ่งหน้าสู่ชายแดนไทย หลังเจอชะตากรรมซัดซ้ำที่ต้องจ่าย 7 จั๊ตก่อนรับของบริจาค ขณะที่เอ็นจีโอไทยประเมินจะมีผู้ลี้ภัยความอดยากจำนวนมากแนะรัฐไทยเตรียมรับมือผู้อพยพโดยเร็ว "นพดล" ยังโม้ไม่เลิก อ้างเลขาฯยูเอ็นโทรหาตั้งไทยเป็นศูนย์ช่วยเหลือ แนะ"สุรินทร์""ตรวจความเสียหาย ส่วนแผ่นดินไหวจีนช่วยผู้รอดชีวิตเพิ่มอีกกว่า 60 คน ขณะที่เกิดอาฟเตอร์ช๊อคอีกขนาด 6.1 ริกเตอร์ห่างจากเมืองกว่างหยวนไปทางตะวันออก 80 กิโลเมตร

สถานการณ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยไซโคลนนาร์กีส ยังน่าเป็นห่วง ล่าสุดรายงานข่าวจากแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่องค์กรเอกชนที่ติดตามสถานการณ์ในพม่าระบุว่า ขณะนี้มีชาวบ้านบางส่วนที่มีภูมิลำเนาจากพื้นที่สามเหลี่ยมอิระวดี ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุไซโคลนนาร์กิส กำลังเดินเท้าจากเมืองย่างกุ้งมายังชายแดนไทย-พม่า ในแถบเมืองเมียวดี ตรงกันข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อรอรับการช่วยเหลือจากนานาประเทศ หลังจากที่พวกเขาอพยพหนีความอดยากและโรคภัยไข้เจ็บจากแถบอิระวดีมายังเมืองย่างกุ้งเมื่อเร็วๆนี้ เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่มีรายงานว่าผู้อพยพหนีตายเหล่านี้จะต้องเสียเงินคนละ 7 จั๊ต เพื่อให้มีสิทธิรับของช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ทหารพม่า

"แม้ว่าเป็นเงินเพียงจำนวนน้อยนิด แต่สำหรับประเทศพม่าที่ข้าราชการชั้นผู้น้อยยังได้รับเงินเดือนๆ ละ 400- 600 จั๊ต ก็ถือว่าเงินเพียง 7 จั๊ตก็เป็นภาระที่สูงมากๆ โดยเฉพาะคนที่เพิ่งประสบภัยมา" แหล่งข่าวระบุ และอย่างไรก็ตาม ขณะที่จำนวนตัวเลขของผู้อพยพในลักษณะดังกล่าวและภูมิลำเนาเดิมของพวกเขายังไม่มีการยืนยันชัดเจน

ขณะที่นายนัสเซอร์ อาจวาริน อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความและผู้ประสานงานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) กล่าวว่า ตนยังไม่ได้รับการยืนยันข้อมูลดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่การอพยพเข้ามาของผู้ได้รับผลกระทบจากไซโคลนนาร์กิสได้มีการประเมินสถานการณ์ร่วมกันภายในเครือข่ายองค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับพม่าอยู่ก่อนหน้านี้แล้วว่าหากผู้รอดชีวิตสามารถรวมกลุ่มได้เมื่อไหร่จะต้องเกิดการอพยพขึ้นอย่างแน่นอน

"ยิ่งหากทางการพม่าไม่สามารถที่จะดูแลและฟื้นฟูชีวิตของผู้ประสบภัยได้ด้วยแล้ว โอกาสที่จะมีการอพยพมายังประเทศไทยจะมีมากขึ้น" นายนัสเซอร์ กล่าว

***แนะไทยเตรียมรับมือผู้อพยพ

นายนัสเซอร์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่สามารถที่จะดูแลประชาชนที่ประสบภัยได้ ซ้ำร้ายยังไม่มีการอนุญาตให้องค์กรช่วยเหลือและนานาชาติซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้เดินทางเข้าไป จึงเป็นไปได้ที่ผู้ที่รอดชีวิตซึ่งจะต้องประสบกับปัญหาความอดยาก โรคภัยไข้เจ็บ และไร้ที่อยู่อาศัยจะเดินทางเพื่อมารับความช่วยเหลือโดยมีประเทศไทยเป็นเป้าหมายหลัก

นายนัสเซอร์ กล่าวต่อว่า การรับมือกับปัญหาผู้อพยพดังกล่าวคงต้องเริ่มต้นที่ประเทศต้นทางเป็นอันดับแรก ทางการพม่าต้องยอมรับว่าตนเองไม่สามารถรับมือกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้เพียงลำพัง แต่ต้องเปิดให้อาสาสมัครองค์กรเอกชนและนานาชาติที่มีความเป็นมืออาชีพเข้าช่วยเหลือ เหมือนกรณีภัยพิบัติสึนามิในประเทศไทยที่จำต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญและการช่วยเหลือจากต่างประเทศ

"จนถึงวันนี้ผมไม่รู้ว่าการเก็บศพผู้เสียชีวิตทำไปได้มากน้อยเพียงใดแล้ว" นายนัสเซอร์ กล่าวและว่า หากทางการพม่าไม่เปิดให้มีการรับความช่วยเหลือ ประเทศปลายทางอย่างประเทศไทยจะต้องเตรียมรับมือกับการอพยพของผู้คนในพื้นที่ประสบภัยให้พร้อม โดยเฉพาะบริเวณชายแดนที่ประเมินว่าจะมีผู้อพยพมารอรับการช่วยเหลือซึ่งจะต้องเตรียมอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และโภคภัณฑ์ให้พร้อม อีกทั้งยังหน่วยงานด้านสาธารณสุขจะต้องจัดเตรียมแพทย์ให้พร้อมรับมือกับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้อพยพกลุ่มนี้ด้วย

***"นพดล"โวยูเอ็นขอไทยเป็นศูนย์ช่วยพม่า

นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ แถลงวานนี้ (18 พ.ค.) ว่า นายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้โทรมาคุยกับตน โดยขอให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและลำเลียงความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กีสในพม่า โดยทางโครงการอาหารโลกได้เดินทางมาตรวจสนามบินดอนเมืองที่มีคลังสินค้ายังว่างอยู่ เพื่อใช้เป็นศูนย์ลำเลียงฯ ซึ่งเขาก็พอใจ คาดว่าในอนาคตประเทศไทยจะเป็นศูนย์ถาวรเพื่อช่วงเหลือประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตามต้องดูท่าทีของสหประชาชาติก่อน

นายนพดล กล่าวว่า ในวันที่19 พ.ค.นี้ตนจะร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ อาเซียน 10 ประเทศ เป็นการประชุมสมัยพิเศษว่าด้วยการให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูพม่า โดยจะเสนอให้ประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนและยูเอ็นในการช่วยเหลือพม่า พร้อมทั้งเสนอให้นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เดินทางเข้าประเทศพม่าเพื่อประเมินความเสียหาย นอกจากนี้ประเทศไทยจะเสนอแนะให้ปรับปรุงกลไกการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน

"วันนี้พม่าขอความช่วยเหลือเพิ่มเติม คือเขาต้องการแพทย์ สิ่งแวดล้อม ด้านอนามัย ที่รู้เรื่องการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งเราก็จะส่งไปเพิ่มในส่วนนี้จำนวน 2 คน" นายนพดล กล่าว

ด้าน นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดเผยว่า หน่วยแพทย์พระราชทานฯจำนวน 30 คน ได้เดินทางถึงประเทศประเทศพม่าเรียบร้อยแล้ว โดยได้รับมอบหมายจากทางการพม่าให้เดินทางไปให้บริการผู้ประสบภัยที่เมืองโมเมี้ยและเมืองลาโบทาซึ่งเป็นจุดที่ประสบภัยพิบัติอย่างรุนแรง มีผู้ได้รับผลกระทบอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวเป็นจำนวนมาก โดยในวันนี้ (19) หน่วยแพทย์จะแบ่งทีมออกเป็น 4 ทีม ออกให้บริการต่อจากนี้ไปเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ทุกคน มีขวัญกำลังใจดีพร้อมที่จะให้บริการผู้ป่วยอย่างเต็มที่และได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากทางการพม่าและสถานทูตไทยในประเทศพม่า โดยมีการเปิดสายด่วนระหว่างท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศพม่าและหน่วยแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง

***จีนพบเหยื่อแผ่นดินไหวอีก 60

ด้านสถานการณ์กู้ภัยหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวนของประเทศจีนยังคงดำเนินการด้วยความรีบเร่งแข่งกับเวลา ล่าสุดกรมสิ่งพิมพ์และข่าวสารแห่งชาติจีนได้แถลงว่า ได้ค้นพบผู้เสียชีวิตแล้วทั้งสิ้น 32,477 คน มีผู้บาดเจ็บ 220,109 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากจำนวน 22,069 ในวันก่อนหน้าถึง 10,408 คน ล่าสุดมีการรายงานว่าสามารถช่วยผู้รอดชีวิตออกมาจากซากปรักหักพังเพิ่มอีก 60 กว่าคน หลังจากที่คนเหล่านี้ต้องอยู่ใต้ซากปรักหักพังมานานกว่า 100 ชั่วโมงแล้ว

โดยรายงานล่าสุดแจ้งว่า ในเวลา 09.00 น.ของเช้าวานนี้ (18 พ.ค.) ในบริเวณซากปรักหักพังของโรงพยาบาลในอำเภอเป่ยชวน มีผู้ประสบภัยรายหนึ่งได้รับการช่วยชีวิตจากหน่วยกู้ภัยมาได้หลังติดอยู่เป็นเวลานานถึง 139 ชั่วโมง โดยผู้ประสบภัยคนดังกล่าวยังมีสติครบถ้วนและมีบาดแผลภายนอกระดับหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาของของสหรัฐฯ (USGS) ได้รายงานว่าในช่วงเช้าวันอาทิตย์ (18) ได้เกิดอาฟเตอร์ช๊อคที่มีความรุนแรงขนาด 6.1 ริกเตอร์ห่างจากเมืองกว่างหยวนไปทางตะวันออก 80 กิโลเมตร

ในขณะที่สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ยังไม่ได้รับการรายงานความเสียหายจากพื้นที่ดังกล่าว แต่หลังจากเกิดอาฟเตอร์ช๊อคในครั้งนั้นได้ทำให้อาคาร และสิ่งก่อสร้างบริเวณที่ห่างออกไปทางใต้ 200 กิโลเมตรอย่างเมืองเฉิงตูเกิดการสั่นไหวจนผู้คนรีบวิ่งออกมาจากตัวอาคาร ทั้งๆที่ฝนยังตกอยู่ ขณะที่พื้นที่เกิดภัยพิบัติกำลังประสบกับปัญหาสภาพอากาศที่เลวร้ายการเกิดอาฟเตอร์ช๊อคยังมีขึ้นไม่หยุด โดยทางการจีนคาดว่าน่าจะยังมีคนที่อยู่ใต้ซากปรักหักพังอีกมากกว่า 10,000 คน ซึ่งเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงบัดนี้ โอกาสที่จะพบผู้รอดชีวิตก็เริ่มจะริบหรี่ลงทุกที

ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาที่ได้เดินทางมาร่วมบัญชาการในการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้มีคำสั่งให้เร่งช่วยชีวิตแบบแข่งกับเวลา อีกทั้งมีคำสั่งให้ฝ่ายวิจัยทำการศึกษาถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ที่รอดชีวิตในลำดับต่อไป โดยขณะนี้ได้มีการกางเต็นท์ที่พักชั่วคราวไว้ 50,000 เต็นท์ ผ้าห่ม 67,000 ชุด ข้าวสาร 150 ตัน น้ำดื่ม 100,000 ขวด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 20,000 ลัง เครื่องปั่นกระแสไฟ 232 เครื่องเพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ที่รอดชีวิตในขณะนี้

ขณะที่ประธานาธิบดีหู จิ่นเทายังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยอย่าเพิ่งละทิ้งความหวังและให้พยายามต่อไปอย่างสุดความสามารถ ส่วนทีมกู้ภัยจากญี่ปุ่น รัสเซีย ไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ได้เข้าไปถึงพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว ในขณะที่ยอดเงินบริจาคจากทั้งในและต่างประเทศในขณะนี้ก็มีมากถึง 6,000 ล้านหยวน

ทางการจีนรายงานว่า ตัวเลขคาดการณ์ของผู้ประสบภัยน่าจะมากกว่า 50,000 คน และจะมีคนประมาณ 4.8 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่าได้ระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นครั้งที่มีการทำลายล้างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่มีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ค.ศ.1949 และเราก็จะต้องพยายามเพื่อลดตัวเลขผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตให้น้อยที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น