xs
xsm
sm
md
lg

ชาวรัสเซียจับตาปูติน-เมดเวเดฟ ขั้วอำนาจในเครมลินถึงจุดเปลี่ยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - นับตั้งแต่ระบอบซาร์สิ้นสุดลงไป ชาวรัสเซียต่างก็รู้ว่าอำนาจสูงสุดของประเทศอยู่ที่ทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งตั้งอยู่ในพระราชวังเครมลิน ทว่านับจากวันพุธ(7)เป็นต้นไป พวกเขาจะไม่มีความมั่นอกมั่นใจเช่นนี้อีกแล้ว
ในวันนั้น วลาดิเมียร์ ปูติน จะส่งมอบอำนาจสูงสุดที่เครมลินให้กับดมิทรี เมดเวเดฟ ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ก่อนที่ในวันรุ่งขึ้น(8) ปูตินจะผันตัวเองลงไปสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีที่ทำงานอยู่ใน "ตึกขาว" ห่างจากเครมลินไปราว 4 กิโลเมตร และเท่าที่ผ่านมามีอำนาจน้อยกว่าประธานาธิบดีเป็นอันมาก
ถึงแม้จะดูเหมือนว่าปูตินลดตำแหน่งลง แต่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเขาจะยังยึดกุมอำนาจส่วนใหญ่ไว้ในมือต่อไป และแม้นายกรัฐมนตรีของรัสเซียจะอยู่ใต้บังคับบัญชาของประธานาธิบดีเสมอมา อีกทั้งประธานาธิบดีมีอำนาจในการปลดนายกรัฐมนตรีออกได้ทุกเมื่อ แต่จากผลสำรวจความคิดเห็นที่เลวาดา เซ็นเตอร์ จัดทำขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ชาวรัสเซียราวสองในสามเชื่อว่านายกรัฐมนตรีปูดินและพันธมิตรของเขาจะเป็นฝ่ายควบคุมการทำงานของประธานาธิบดีเมดเวเดฟแทน ซึ่งจะเป็นการกลับทิศทางของโครงสร้างอำนาจที่เคยเป็นมาเสียฉิบ
"สิ่งที่เรามั่นใจมากก็คือ ปูตินจะมีอำนาจมากกว่านายกรัฐมนตรีคนก่อนๆ ทุกคน" มาชา ลิปมัน ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซีย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากคาร์เนกี เซ็นเตอร์ของสหรัฐฯ กล่าว "แต่ไม่มีใครรู้หรอกว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น มันเป็นเรื่องระหว่างเขาสองคน"
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปูตินได้กล่าวสุนทรพจน์อธิบายถึงสำนักงานของนายกรัฐมนตรีว่าเป็น "อำนาจบริหารสูงสุดในประเทศ" ส่วนตำแหน่งประธานาธิบดีจะเป็นตำแหน่งในเชิงสัญลักษณ์มากขึ้นในฐานะของ "ผู้รับประกันรัฐธรรมนูญ"
คำกล่าวของเขาถือเป็นการเตรียมการเปลี่ยนแปลงคำนิยามของตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งปูตินยึดครองอย่างต่อเนื่องมาถึงแปดปี และเมื่อเดือนที่แล้วปูตินได้เสริมฐานอำนาจของตนเองด้วยการเข้าไปเป็นผู้นำพรรคยูไนเต็ด รัสเซีย ซึ่งครองเสียงส่วนใหญ่ราวสองในสามของรัฐสภา เป็นจำนวนที่มากพอหากต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
เซอร์เก มาร์คอฟ สมาชิกรัฐสภาจากพรรคยูไนเต็ด รัสเซีย และนักวิเคราะห์การเมืองฝ่ายสนับสนุนปูตินกล่าวว่า ปูตินจะสามารถ "จัดโครงสร้างอำนาจใหม่และเปลี่ยนรัสเซียไปสู่การปกครองแบบสาธารณรัฐที่มีรัฐสภาได้" หากมีปัญหากับประธานาธิบดี
หลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ปูตินได้เปลี่ยนแปลงระบบภายในทำเนียบนายกรัฐมนตรีโดยสั่งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานราว 50 เปอร์เซ็นต์ ดึงตัวคนใกล้ชิดจากเครมลินเข้ามาทำงานด้วย และลดปัญหาด้านเทคนิคต่างๆ ที่จะฉุดรั้งการทำงานของคณะรัฐมนตรี
ผู้รู้ต่างเห็นพ้องกันว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทครั้งใหญ่ บางคนมองว่าระบบการมีผู้นำสองคนพร้อมกันนี้เป็นกลไกที่รอบคอบของปูตินในการควบคุมการส่งมอบอำนาจ ทว่าบางคนก็ไม่แน่ใจว่าปูตินจะยึดครองอำนาจไว้ในมือได้อย่างง่ายดาย
"สำหรับปูตินแล้ว อำนาจเป็นภาระหนัก" มาร์คอฟกล่าว "หากเมดเวเดฟทำตามนโยบายของปูตินได้ดีกว่าตัวปูตินเอง ปูตินก็จะหลบทางให้"
"แต่ถ้าเมดเดเวฟอ่อนแอ ตำแหน่งประธานาธิบดีก็จะถูกลดทอนบทบาทให้คล้ายกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และเขาอาจถูกกดดันให้ลงจากตำแหน่งในช่วงท้ายวาระการดำรงตำแหน่งในปี 2012"
รัฐธรรมนูญของรัสเซียห้ามมิให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเนื่องกันเกินสองครั้ง แต่ไม่ได้ระบุว่าหลังจากมีการเว้นวรรคแล้ว อดีตประธานาธิบดีจะกลับลงสมัครรับเลือกตั้งอีกไม่ได้ ดังนั้น ปูตินจึงอาจลงสมัครชิงตำแหน่งนี้ได้อีกครั้งในปี 2012
อย่างไรก็ตาม อเล็กซานเดอร์ โคโนวาลอฟ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ กล่าวเตือนว่า ทันทีที่เมดเวเดฟขึ้นครองอำนาจ ก็ไม่มีใครที่จะสามารถควบคุมเขาได้อีก
"ไม่เคยมีใครในรัสเซียซึ่งสามารถจะมัดมือของคนที่ได้ตำแหน่งที่มีอำนาจอันมหาศาลขนาดนั้นไว้ได้เลย" เขาบอกแล้วยกตัวอย่างอดีตประธานาธิบดีเลโอนิด เบรสเนฟ ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นผู้นำของอดีตสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1964 เพราะถูกมองว่าเป็นคู่แข่งที่อ่อนแอที่สุดในขณะนั้น
"แต่ปรากฏว่าเขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนานถึง 18 ปี" โคโนวาลอฟบอก
กำลังโหลดความคิดเห็น