xs
xsm
sm
md
lg

‘แฟลตตายายเสมือนจริง’ วิทยาการเพื่อบั้นปลายชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยุคนี้อาจเป็นยุคที่คนรุ่นลูกรุ่นหลานตกเป็นทาสของเทคโนโลยี โดยติดหนึบกับเว็บแคม อีเมล ไอพ็อด และเว็บไซต์เครือข่ายสังคม
แต่ในอีก 40 ปีข้างหน้า จะเป็นช่วงเวลาที่คนแก่นั่งๆ นอนๆ กดปุ่มต่างๆ เพื่อสั่งการจาก ‘แฟลตตายายเสมือนจริง’
สิ่งที่กล่าวมาคือวิสัยทัศน์ของกลุ่มวิจัยแห่งหนึ่งของอังกฤษที่ระบุว่า ในปี 2048 ผู้ปลดเกษียณจะสามารถอยู่บ้านตามลำพัง โดยใช้ระบบการประชุมผ่านจอภาพเพื่อดูภาพยนตร์และคุยกับลูกหลานและเพื่อน โดยที่บ้านพักคนชราจะถูกแทนที่ด้วย ‘บูติกโฮเต็ล’ เฉพาะสำหรับผู้ป่วยหนักเท่านั้น
รายงานชิ้นนี้ยังคาดการณ์ว่า อาจมีการฝังชิปคนชราเพื่อให้ลูกหลานหรือผู้เชี่ยวชาญสามารถสังเกตการณ์จากระยะไกลให้แน่ใจว่าไม่ได้หลงหายไปจากบ้านหรือหกล้มเป็นลมเป็นแล้ง
การศึกษาแนวทางในอนาคตในการดูแลผู้ชราให้ภาพของยุคสมัยที่ผู้สูงวัยจะไม่ต้องขายบ้านเพื่อนำเงินไปเป็นทุนรอนสำหรับการเข้าอยู่ในบ้านพักคนชราอีกต่อไป
มูลนิธิไลฟ์ ทรัสต์ในอังกฤษ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาผลกระทบทางการเงินจากการที่ประชากรมีแนวโน้มมีอายุยืนยาวขึ้น เป็นผู้มอบหมายให้จัดทำรายงานฉบับนี้ขึ้นมา
รายงานบรรยายถึงอนาคตที่คนชราจะมีบ้านของตัวเองที่มีจอภาพติดผนังพร้อมระบบสื่อสารที่ทำให้สามารถเห็นภาพของลูกหลานและเพื่อนฝูง อ่านนิทานก่อนนอนให้หลานฟังจาก ‘แฟลตตายายเสมือนจริง’
ระบบรักษาความปลอดภัยด้วยเซนเซอร์ที่ฝังอยู่ใต้พื้นและในอุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในบ้าน เช่น ตู้เย็น จะติดตามความเคลื่อนไหวและแจ้งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหรือญาติทราบหากเจ้าของบ้านหกล้มหรือเป็นลมหมดสติ
นอกจากนั้น ยังมีเซนเซอร์ส่งเสียงเตือน อาทิ เมื่อเจ้าของบ้านวางกะทะทิ้งไว้บนเตานานเกินไป
ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า เทคโนโลยีสำหรับแฟลตตายายเสมือนจริงจะพร้อมใช้งานอย่างเร็วที่สุดในปี 2028
ไมค์ เลค ผู้อำนวยการไลฟ์ ทรัสต์ กล่าวว่าด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้คนแก่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองตามลำพังได้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ทำให้บ้านพักคนชราอาจถูกแทนที่ด้วยบูติกโฮเต็ลที่ให้บริการพิเศษตามความต้องการของลูกค้าแต่ละรายโดยเฉพาะ
เอียน เพียร์สัน นักอนาคตวิทยาซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานฉบับนี้เสริมว่า พัฒนาการของทีวีจอยักษ์ และความแพร่หลายของระบบการประชุมผ่านจอภาพ จะทำให้ปู่ย่าตายายมีหน้าต่างไฮเทคของตัวเองไว้ติดต่อกับลูกหลานได้ทุกเมื่อที่ต้องการ
“ถึงจะอยู่ไม่ไกลกันเท่าไหร่ แต่คนชราจะสามารถเล่านิทานให้หลานที่อยู่คนละบ้านฟังได้จากการเชื่อมต่อผ่านวิดีโอ”
กำลังโหลดความคิดเห็น