xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นชีพสนามบิน‘หนองเต็ง’ร้างซ้ำซาก “ฟีนิกซ์”เปิดบิน กทม.-โคราช พ.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แอร์ฟีนิกซ์ เปิดเที่ยวบินรอบปฐมฤกษ์ เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยจะเปิดเที่ยวบินให้บริการตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นไป หลังท่าอากาศยานนครราชสีมา 500 ล้านร้างมานานกว่า 2 ปี
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “แอร์ ฟีนิกซ์”ฟื้นชีพสนามบินหนองเต็งโคราช 500 ล้านด้วยการเปิดเที่ยวบิน นครราชสีมา-กรุงเทพฯ แล้ว หลังโดนปล่อยทิ้งร้างกว่า 2 ปี เผยเปิดบินบริการเต็มรูปแบบ พ.ค.เป็นต้นไป ประเดิม 1 เที่ยวบิน/วัน ก่อนเพิ่มเป็น 2 เที่ยว/วัน พร้อมเตรียมขยายเส้นทางการบิน จากโคราชต่อไปยัง จ.เชียงราย คาดจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา นายชาญวิทย์ วสยางกูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายคำรณ ครบนพรัตน์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และนายประวัติ ดวงกัลยา ผู้อำนวยการท่าอากาศนครราชสีมา พร้อมด้วย นักธุรกิจ พ่อค้า ประชาชนชาวจ.นครราชสีมา ร่วมให้การต้อนรับเที่ยวบินพิเศษรอบปฐมฤกษ์เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ของสายการบิน แอร์ ฟีนิกซ์ โดยมี นายจิราทิตย์ อ่องอารีย์ CEO บริษัท แอร์ ฟีนิกซ์ จำกัด และคณะ เดินทางมากับเที่ยวบินปฐมฤกษ์ หลังจากท่าอากาศยานแห่งนี้ ไม่มีสายการบินพาณิชย์ให้บริการรับส่งผู้โดยสารมานานกว่า 2 ปีแล้ว

นายจิราทิตย์ อ่องอารีย์ CEO บริษัท แอร์ ฟีนิกซ์ จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์แล้ว สายการบิน แอร์ ฟีนิกซ์ จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ในเส้นทางนครราชสีมา-กรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป วันละ 1 เที่ยว ก่อนที่จะขยายเพิ่มเป็น 2 เที่ยวต่อวันในเดือนต่อไป โดยจะมีเครื่องบินมาจอดที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา 1 ลำ จากนั้นอีก 2-3 เดือน จะขยายเส้นทางการบิน กรุงเทพฯ- นครราชสีมาไปยัง จ. เชียงราย

สำหรับอัตราค่าโดยสาร สืบเนื่องจากแอร์ ฟีนิกซ์ เป็นLOCAL AIRLINE หรือสายการบินท้องถิ่น ไม่ใช่สายการบิน โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ หรือสายการบินต้นทุนต่ำ จึงคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมคือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา คิดราคารวมทั้งค่าประกัน และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เป็นอัตราค่าโดยสาร 1,500 บาท/ที่นั่ง ส่วน-นครราชสีมา-เชียงราย อัตราค่าโดยสาร 2,500 บาท/ที่นั่ง

นายจิราทิตย์ กล่าวต่อว่า สายการบินมั่นใจว่า การเปิดเส้นทางการบินมายัง จ.นครราชสีมา จะได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวโคราชรวมทั้งนักธุรกิจ และลูกค้าทุกกลุ่ม เนื่องจากเป็นทางเลือกใหม่ของการเดินทางที่สะดวกและรวดเร็วกว่า หลังจากท่าอากาศยานนครราชสีมาและชาวโคราชสูญเสียโอกาส ไม่มีสายการบินพาณิชย์ให้บริการประชาชนมานาน โดยบินจากโคราชไปกรุงเทพฯใช้เวลาเพียงแค่ 45 นาทีเท่านั้น และนครราชสีมา-เชียงราย ใช้เวลาประมาณ 1.45 ชั่วโมง

สำหรับเครื่องบินที่บริษัท แอร์ฟีนิกซ์ นำมาบินให้บริการในเส้นทางกรุงเทพฯ –นครราชสีมา-เชียงราย เป็นเครื่องบินรุ่น YS 11 A-500 ขนาด 60 ที่นั่ง นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ซึ่งบริษัท มีเครื่องบินรุ่นดังกล่าวทั้งหมด 3 ลำ บินในเส้นทาง กรุงเทพฯ –เพชรบูรณ์, กรุงเทพฯ-แม่สอด และ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยบริษัท มีแผนที่จะซื้อเครื่องบินเข้ามาเพิ่มอีก 1 ลำ เพื่อนำมาประจำอยู่ที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา

“บริษัท จะเปิดทดลองการบินเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-เชียงราย อย่างน้อย 1 ปี จากนั้นจะประเมินผลการดำเนินงานอีกครั้ง หากได้รับการตอบรับที่ดีก็จะเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น หรือขยายเส้นทางบินเชื่อมนครราชสีมากับจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสดีสำหรับโคราชทั้งด้านการเดินทางและการพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่องในด้านต่างๆ ” นายจิราทิตย์ กล่าว

ส่วนปัญหาสำคัญที่ทำให้สายการบินพาณิชย์ ยกเลิกบินเข้ามาที่จ.นครราชสีมา คือ ท่าอากาศยานนครราชสีมาตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองโคราชกว่า 28 กิโลเมตร จุดนี้ แอร์ฟีนิกซ์จะจัดรถให้บริการรับส่งผู้โดยสารระหว่างตัวเมืองนครราชสีมากับสนามบิน นอกจากนี้ บริษัทพร้อมที่จะร่วมมือกับผู้ประกอบการรถขนส่งผู้โดยสาร ในการดำเนินการรับส่งผู้โดยสารระหว่างตัวเมืองนครราชสีมากับสนามบินด้วย

ด้าน นายคำรณ นพรัตน์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ขอบคุณบริษัท แอร์ฟีนิกซ์ จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ทำให้ จ.นครราชสีมา กลับมามีสายการบินพาณิชย์อีกครั้ง หลังจากได้ว่างเว้นจากการมีสายการบินมาเปิดให้บริการมานานกว่า 2 ปี เนื่องจากประสบปัญหาหลายประการ ทั้งจำนวนผู้โดยสาร ต้นทุนเชื้อเพลิง ปัญหาการบริหารจัดการ รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น การเดินทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยทางรถยนต์มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น สนามบินอยู่ห่างตัวเมือง

อย่างไรก็ตามตลอดเวลาที่ผ่านมาหอการค้าจังหวัดฯ ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนพยายามหาช่องทางผลักดันให้เกิดสายการบินพาณิชย์ระหว่าง จ.นครราชสีมาไปยังภาคอื่นๆ นอกจากบินไปกรุงเทพฯ เส้นทางเดียวเหมือนที่ผ่านมาเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการการบิน รวมทั้งได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล สำรวจความต้องการและความเป็นไปได้ของตลาดการบินภายในประเทศ และกรมการขนส่งทางอากาศ ได้ยกเว้นภาษีขึ้นลง จอดเครื่องบินนานถึง 3 ปี และไม่ให้มีสายการบินคู่แข่งเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ทุกอย่างเกิดผลเป็นรูปธรรมในที่สุด

อนึ่ง ท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือ สนามบินหนองเต็ง เป็นสนามบินพาณิชย์แห่งเดียวของ จ.นครราชสีมา ก่อสร้างเมื่อปี 2537 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ บนพื้นที่ 4,625 ไร่ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวจังหวัด 26 กิโลเมตร ด้วยงบประมาณก่อสร้าง 476.95 ล้านบาท มีรันเวย์ขนาดกว้าง 45 เมตร ยาว 2,100 เมตร รองรับเครื่องบินขนาดโบอิ้ง 737 ขนาด 150 ที่นั่ง ได้ มีที่พักผู้โดยสารรองรับ 2 ห้อง ห้องละ 150 คน ทำให้สามารถรองรับเครื่องบินระหว่างประเทศได้ และมีระบบศุลกากรโดยไม่ต้องผ่านท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2540 สนามบินหนองเต็งเปิดบริการในเส้นทางการบินกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นครั้งแรก โดยมีสายการบินไทย แอร์อันดามัน สหกลแอร์ และ แอร์เอเชีย ผลัดเปลี่ยนมาเปิดให้บริการและประสบปัญหาต้องยกเลิกเส้นทางการบินกลายเป็นสนามร้างมาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องรวมกว่า 6 ปี โดยสายการบินล่าสุดคือ บริษัท แอร์เอเชีย ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำได้ยกเลิกเที่ยวบินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 ก่อนที่ล่าสุดแอร์ ฟีนิกซ์ จะมาเปิดเที่ยวบินให้บริการอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม

จิราทิตย์  อ่องอารีย์
คำรณ นพรัตน์
กำลังโหลดความคิดเห็น