xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ทหารUSในอิรักขอหยุดถอนกำลัง อ้างเหตุรุนแรงคุกรุ่น-อิหร่านอาจแทรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ในอิรัก พร้อมเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำกรุงแบกแดด เข้ารายงานสถานการณ์ในอิรักต่อคองเกรส ขอพักการถอนกำลังพลอย่างน้อย 45 วันหลังเดือนกรกฎาคม อ้างดอกผลทางทหารที่ต่อสู้ได้มายังอยู่ในภาวะล่อแหลม แถมอิหร่านมีทีท่าจะจุดชนวนเหตุรุนแรง

พลเอก เดวิด เพเทรอัส ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ในอิรัก และไรอัน คร็อกเกอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอิรัก ได้เข้ารายงานต่อคณะกรรมาธิการด้านการทหารและคณะกรรมธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาเมื่อวันอังคาร(8) ซึ่งเป็นการให้ปากคำเป็นครั้งแรกในรอบเจ็ดเดือน และเป็นการพูดถึงจัดวางนโยบายของสหรัฐฯ ต่อกรณีอิรัก ในช่วงเวลาอีกไม่กี่เดือนที่ประธานาธิบดี จอร์จ ดัลเบิลยู บุช ยังดำรงตำแหน่งอยู่

ทั้งนี้ เพเทรอัสได้เสนอความเห็นต่อวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่า ในเดือนกรกฎาคมนี้ เมื่อมีการถอนกำลังพลจำนวน 30,000 คน ที่ได้เพิ่มเข้าไปในอิรักตามยุทธศาสตร์ "การโหมเพิ่มทหาร" (surge)เมื่อปีที่แล้ว ก็จะขอหยุดการถอนกำลังทหารหลังจากนั้น

"เราจะใช้เวลา 45 วันในการรวมศูนย์กำลังให้เข้มแข็งและประเมินสถานการณ์ใหม่"

เพเทรอัส ซึ่งแต่งเครื่องแบบประดับเหรียญตราอย่างเต็มยศ กล่าวว่า แม้ว่าเวลานี้ในแง่ความมั่นคงจะดีขึ้นกว่าเดิม "แต่เรายังไม่ได้คืบหน้าไปถึงไหน และเรายังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แม้แต่น้อย"

"เราผลักขวดแชมเปญเข้าไปอยู่ตรงส่วนในของตู้เย็น เรื่องความก้าวหน้าของเรานั้นถึงแม้จะเป็นของจริง แต่ก็ยังเปราะบางและอยู่ในภาวะผันผวน"

อย่างไรก็ตาม วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตก็ได้กล่าวหาว่า เพเทรอัสกำลังร้องขอมากเกินไปในเรื่องกำลังทหาร สำหรับสงครามที่ยืดเยื้อมาถึง 6 ปีแล้ว และทำลายชีวิตชาวอเมริกันไปแล้วกว่า 4,000 คน

คาร์ล เลวิน ประธานกรรมาธิการด้านการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ กล่าวว่า

"ดูเหมือนว่าสิ่งที่คุณดำเนินการตามสายการบังคับบัญชาของคุณนั้น คือแผนการที่ไม่มีที่กำหนดเวลาสิ้นสุด"

ส่วนเพเทรอัสให้ปากคำว่า "ในขณะที่ความมั่นคงในหลายๆ พื้นที่ดีขึ้นกว่าเดิม และกองกำลังเพื่อความมั่นคงของอิรักได้เข้ามาร่วมปฏิบัติภารกิจเคียงบ่าเคียงไหล่กันมากขึ้น แต่สถานการณ์ในอิรักก็ยังคงสลับซับซ้อนอย่างยิ่งและยังเป็นงานที่ท้าทายอยู่มาก"

ทั้งนี้ เขาอ้างเหตุผลในการคงกำลังพลของสหรัฐฯ ในอิรักต่อไปว่า สหรัฐฯ อาจจะเผชิญกับการตอบโต้จากอัลกออิดะห์ในอิรัก หรือการสู้รบกับกองกำลังกลุ่มชีอะห์ อย่างเช่นกลุ่มหัวรุนแรงภายใต้การนำของม็อกตาดา อัล-ซาดร์ และยังเสริมว่า

"ผู้เล่นภายนอกอย่างเช่นอิหร่าน อาจจะจุดชนวนความรุนแรงขึ้นในอิรักและอาจมีปฏิบัติการอื่นๆ จากประเทศเพื่อนบ้านที่จะทำลายความมั่นคงด้วยเช่นกัน"

แต่ในคำแถลงของเพเทรอัส เขาไม่สามารถระบุได้ว่าจะต้องหยุดถอนกำลังทหารเป็นเวลานานเท่าไร และสหรัฐฯ จำเป็นต้องคงจำนวนกำลังพลไว้ที่ราว 140,000 นาย ซึ่งเป็นกำลังพลเท่ากับที่ประจำการอยู่ในอิรัก ก่อนที่จะมีปฏิบัติการโหมเพิ่มกำลังพลตามแผนยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีบุช หรือไม่

เพเทรอัสกล่าวหาอิหร่านว่าว่า ในระหว่างที่ยังมีการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลแบกแดดกับกลุ่มชีอะห์ อิหร่านกลับเป็นผู้ให้การสนับสนุนกองกำลังพิเศษต่างๆ ทั้งในด้านเงินทุน การฝึกกำลังพล การฝึกอาวุธ จนเป็นเหตุให้ผู้นำอิรักกังวลใจกับท่าทีดังกล่าว

ส่วนคร็อกเกอร์กล่าวปฏิเสธความคิดเห็นที่ว่าสหรัฐฯ กำลังพยายามจัดตั้งฐานทัพถาวรในอิรัก โดยทางวอชิงตันและแบกแดดกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาทำความตกลงกันในเรื่องการคงกองกำลังสหรัฐฯ ในอิรักต่อไปหลังจากปี 2008 ถึงแม้สหประชาชาติให้อำนาจสหรัฐฯและพันธมิตรมีกองทหารอยู่ในอิรักจนถึงช่วงดังกล่าวเท่านั้น

"ข้อตกลงดังกล่าว จะไม่เป็นการจัดตั้งฐานทัพถาวรขึ้นในอิรัก และ ... มันจะไม่เป็นการมัดมือคณะรัฐบาลชุดต่อไป" คร็อกเกอร์บอก แต่ก็ยอมรับว่ามีบางพื้นที่ในอิรัก เช่น บาสรา ซึ่งยังมีเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ยากที่จะบอกได้ว่ามีความคืบหน้าในเรื่องความมั่นคงในอิรัก

ภายหลังการให้ปากคำต่อกรรมธิการของวุฒิสภาดังกล่าว บารัค โอบามา ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ได้เรียกร้องให้มีการ "โหมกำลังเชิงการทูต" ซึ่งรวมถึงการเจรจากับอิหร่านซึ่งเป็นศัตรูคู่แค้นของสหรัฐฯ เพื่อหาทางสร้างเสถียรภาพในอิรัก ขณะที่คร็อกเกอร์ก็ได้ให้สัมภาษณ์ในวันอังคารในทำนองเดียวกันว่าสหรัฐฯ พร้อมแล้วที่จะเปิดการเจรจารอบที่สี่กับอิหร่านในประเด็นความมั่นคงในอิรัก
กำลังโหลดความคิดเห็น