xs
xsm
sm
md
lg

จาก “งิ้วธรรมศาสตร์” ถึง “ตือโป๊ยก่าย”

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

28 มีนาคม 2551 จะเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งภายหลังจากการแถลงการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 3/2551 ฉบับลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2551 ที่มีมติให้มีเคลื่อนไหวครั้งที่ 1” โดยมอบหมายให้มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินดำเนินการจัดการสัมมนารายการ “ยามเฝ้าแผ่นดินภาคพิเศษ” ในวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2551 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ตั้งแต่เวลา 16.00 – 22.00 น.

การจัดสัมมนาในครั้งนี้ถือเป็นการเคลื่อนไหวในรูปแบบที่เต็มไปด้วยความสงบ อหิงสา และปราศจากอาวุธเหมือนเช่นเคย โดยมีตัวละครเก่าๆ ที่ต้องออกมาข่มขู่ คุกคาม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาเป็นตัวผู้ร้ายหรือตัวโกงมาแสดงให้ประชาชนเกิดความสงสาร เห็นใจ และนำมาแปลงเป็นแรงบันดาลใจที่จะร่วมแสดงพลังในการเคลื่อนไหวครั้งที่ 1 กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยให้เพิ่มมากขึ้นเป็นหลายเท่าทวีคูณ

ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงได้โชคดีมี “มาร” มาคอยช่วยเรียกแขกอยู่ทุกครั้งร่ำไป

แค่ “การเคลื่อนไหวครั้งที่ 1” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น ก็ประเดิมเปิดฉากด้วย “งิ้วธรรมศาสตร์” ที่มีการกล่าวขานกันว่า “งิ้วธรรมศาสตร์หรืองิ้วการเมือง ออกโรงทีไร รัฐบาลเป็นอันต้องเจ๊งทุกที”

หลายคนยังคงคิดถึงบรรยากาศเก่าๆ ที่ “งิ้วธรรมศาสตร์” แสดงล้อเลียนการเมืองในช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณได้อย่างสนุกสนาน ก่อนที่รัฐบาลทักษิณจะล่มสลายไปในที่สุด

งิ้วธรรมศาสตร์ หรืองิ้วการเมือง เปรียบได้ว่าเป็นอาวุธทางวัฒนธรรมที่มีชีวิต ก่อตั้งโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ พ.ศ. 2500 งิ้วธรรมศาสตร์หรืองิ้วการเมือง เกิดขึ้นเนื่องจากช่วงปี 2501 ขณะที่เมืองไทยเข้าสู่ระบบเผด็จการเต็มขั้น ครั้งนั้นไม่เพียงแต่จะลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนทั่วไปเท่านั้น

นักศึกษาเองก็ถูกจำกัดความคิดเห็นและการแสดงออก จึงทำให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ในยุคนั้นจัดตั้งชุมนุมศิลปะและการแสดงขึ้น เพื่อเป็นช่องทางการเมือง และถ่ายเทความเคร่งเครียดจากเหตุการณ์บ้านเมือง

งิ้วเกิดขึ้นครั้งแรกด้วยการรวมตัวของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ โดยใช้ชื่อว่า งิ้วการเมือง นำทีมโดยนายชวน หลีกภัย นายพีระพงศ์ อิศรภักดี นายวิทยา สุขดำรงค์ โดยใช้เรื่อง สามก๊ก เป็นเรื่องในการแสดง เพราะสามก๊กเป็นเรื่องที่มากด้วยแม่ทัพนายกอง และค่อนข้างจะตรงกับเหตุการณ์บ้านเมืองขณะนั้น

งิ้วการเมือง หรืองิ้วธรรมศาสตร์ ในช่วงแรกมีนายชวน หลีกภัยเป็นผู้เขียนบท ส่วนใหญ่เรื่องที่แสดงจะเป็นประเด็นผู้มีอำนาจขณะนั้นใช้สิทธิและอำนาจเกินขอบเขต งิ้วธรรมศาสตร์มีการแสดงหลายครั้ง และคนทั่วไปก็จดจ่อแต่จะรอชม จนกระทั่งกลายเป็นงิ้วล้อการเมืองที่ได้รับความสนใจจนกระทั่งมีรายการทางจอโทรทัศน์ที่ช่อง 4 บางขุนพรหม และจากนั้นก็ได้เพิ่มช่องออกอากาศไปเรื่อยๆ ตามความนิยมของผู้ชม

ต่อมา ด้วยเนื้อหา ที่เสียดสีการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ทำให้บางตอนของการแสดงไม่ได้ออกอากาศ ทำให้คณะผู้แสดงและผู้เขียนบทงดการแสดงออกสื่อโทรทัศน์ บทบาทของงิ้วธรรมศาสตร์เงียบหายไปพักใหญ่

“งิ้วธรรมศาสตร์” เป็นรูปแบบหนึ่งของศิลปะการแสดงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาอย่างยาวนาน โดยสะท้อนภาพการเมืองไทยผ่านการแสดงละครที่สนุกสนานและเสียดสีได้อย่างแสบร้อน ทั้งดึงดูดความสนใจด้วยการนำผู้ที่เป็นที่รู้จักในวงสังคมมาเป็นตัวแสดง หรือการแสดงในแบบจรยุทธ์ โดยเล่นตามม็อบหรือความเคลื่อนไหวบนสถานการณ์การเมืองที่สำคัญ นับตั้งแต่เหตุการณ์เดือนตุลาคม, พฤษภาทมิฬ และครั้งหลังสุดคือเหตุการณ์การขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ต้องใช้จำนวนการแสดงหลายตอนต่อเนื่องยาวนานมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

การนำพล็อต “เปาบุ้นจิ้น” มาเล่นเพราะมีเนื้อหาและตัวละครที่ชัดเจน ที่มีความดีมีความชั่ว มีการตัดสินยุติธรรม ตัวละครหลักมีไม่มากตัวละครฝ่ายดี-ตัวละครฝ่ายชั่วส่วนใหญ่เป็นขุนนางกังฉิน เป็นพล็อตที่ไม่เชยจะกี่ยุคกี่สมัยสังคมยังประกอบไปด้วยฝ่ายธรรมะและอธรรมที่กำลังต่อสู้กันเสมอ

การที่ “งิ้วธรรมศาสตร์” ได้ตัดสินใจออกโรงตั้งแต่การเคลื่อนไหวครั้งที่ 1 ภายหลังจากการฟื้นฟูโครงสร้างของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ได้แสดงพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นถึงการสืบทอดอำนาจและเป็นตัวแทนของระบอบทักษิณเพื่อตัดตอนให้พ้นจากการพิสูจน์ความจริงในชั้นศาลในหลายต่อหลายกรณี อธรรมที่มีความสลับซับซ้อนแปลงร่างหลายชั้นเช่นนี้จึงต้องถูกถอดหน้ากากเพื่อให้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงโดย “งิ้วธรรมศาสตร์”

เพราะความสลับซับซ้อนในสังคมทุกวันนี้มีมากขึ้น เราได้เห็นเผด็จการที่ใส่เสื้อคลุมประชาธิปไตย หรือรัฐประหารที่อยากทำตัวเป็นประชาธิปไตย ล้วนแล้วแต่เป็นความยุ่งยากในการแบ่งแยกธรรมะและอธรรม จนหลายครั้งทำให้ประชาชนอาจจะเกิดความงุนงงได้ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายธรรมะ และฝ่ายใดเป็นฝ่ายอธรรม แม้แต่นายสมัคร สุนทรเวช ก็ไม่มีใครแน่ใจว่าจะยอมเป็นทาสเป็นนอมินีเพื่อระบอบทักษิณ หรือพร้อมที่จะทำตัวให้เป็นความหวังต่อประชาชนชาวไทยทั้ง 63 ล้านคนกันแน่?

ทำให้นึกถึงตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องไซอิ๋วที่มีชื่อว่า “ตือโป๊ยก่าย” ที่มีความสลับซับซ้อนที่หลายคนอาจจะไม่แน่ใจว่าเป็นตัวละครที่มีพฤติกรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของธรรมะหรืออธรรม

“ตือโป๊ยก่าย” เดิมเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์มียศเป็นถึงผู้บัญชาการทหารเรือในแม่น้ำทงทีฮ้อ แต่ได้กระทำทุศีลจึงถูกสวรรค์ลงโทษให้จุติในท้องแม่สุกร ตอนคลอดก็เอาเท้าออกมาก่อน และถูกสาปให้เป็นปีศาจอยู่ในภูเขาฮกลิ่นซัว ถ้ำหุ้นจางต๋อง

การที่ให้ “ตือโป๊ยก่าย” มีรูปร่างเป็นหมูนั้น เพราะว่าหมูเป็นสัตว์ที่มีปากยาว มีไว้สำหรับบริโภคและนินทาผู้อื่น หูยาวในการฟังหาเหตุที่จะทุศีล หมูรวมไว้ซึ่งความตะกละ ละโมบ และโสโครก ถ้าเปรียบเป็นนักการเมืองก็ประเภทมีประวัติด่างพร้อยไม่มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป พูดจาสามหาวโกหกหลอกลวงประชาชน และทุจริตคอร์รัปชัน

“ตือโป๊ยก่าย” มักจะถูกเห้งเจียซึ่งเป็นลิงเป็นตัวแทนของ “ปัญญา” บังคับให้หุบปาก และหุบหู เพียงเท่านี้ ศีลก็จะมีมา “ตือโป๊ยก่าย” จึงเป็นตัวแทนของ “ศีล”

“ตือโป๊ยก่าย” มีคราด 9 ซี่ เปรียบเป็นเหมือนสังฆคุณ 9 เป็นอาวุธประจำกาย อีกทั้งแปลงกายได้ 36 อย่าง เมื่อปีศาจหมู “ตือโป๊ยก่าย” พบพระกวนอิมตัวแทนความเมตตา ได้สัญญาว่าจะรอพบพระถังซำจั๋ง และกลายเป็นศิษย์ร่วมอาสาเดินทางร่วมกับ “เห้งเจีย” ตัวแทน “ปัญญา” และซัวเจ๋งตัวแทน “สมาธิ” เพื่อติดตามไปไซทีเพื่อค้นหาพระไตรปิฎกเพื่อนำกลับมาถวายพระเจ้าถังไทยจง โดย “ตือโป๊ยก่าย” ได้ชื่อใหม่จากกวนอิมว่า “ตือหงอเหนง”

แม้ว่าเนื้อแท้ของปริศนาธรรมของ ไซอิ๋ว นั้นต้องการนำเสนอเรื่องของจิตที่มุ่งสู่พระนิพพานโดยอาศัย ปัญญา ศีล และสมาธิ ก็ตาม แต่หากพิจารณาตัวละครอย่าง “ตือโป๊ยก่าย” ในมิติของการเดินทางร่วมกับพระถังซำจั๋งแล้วถือได้ว่ามีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

“ตือโป๊ยก่าย” เป็นตัวละครที่ดูน่าตาน่าเกลียด ทำความผิดมาก็ไม่น้อย และมักจะทุศีลอยู่เป็นประจำ แต่ก็ยังมีความตั้งใจดีเดินทางเป็นศิษย์เพื่อปกป้องพระถังซำจั๋งด้วยชีวิต จึงได้เพื่อนร่วมเดินทางอย่างเห้งเจียที่คอยเตือนทำให้การทุศีลของ ตือโป๊ยก่ายนั้นลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ

แม้จะเป็นตัวละครที่ทำความผิดมากมาย แต่ก็ยังสร้างสมคุณงามความดีเอาไว้ด้วยการคุ้มครองปกปักรักษาพระถังซำจั๋งที่มุ่งสู่การเอาธรรมนำหน้า

“พระถังซำจั๋ง” จึงเป็นตัวแทนของ “ศรัทธา และขันติ” ที่ “ตือโป๊ยก่าย” มีความจงรักภักดีอย่างยิ่งที่พร้อมจะทำงานให้อย่างสุดชีวิต

เพราะถ้า “ตือโป๊ยก่าย” หักหลังหรือตระบัดสัตย์ต่อพระถังซำจั๋งเมื่อใด ก็เชื่อได้ว่า “ตือโป๊ยก่าย” คงไม่ได้เป็นตัวแทนของศีลเป็นแน่

และถ้าเป็นอย่างนั้น “ตือโป๊ยก่าย” ก็จะกลายเป็นตัวแทนความชั่วที่ไม่ได้สร้างคุณงามความดีอะไร และไม่ได้มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น สมควรจะต้องนำไปชดใช้กรรมที่เคยก่อเอาไว้ทั้งหมด โดยอาจนำไปทำอาหารเป็นเบคอนในรายการชิมไปบ่นไป อาจจะเกิดประโยชน์กว่าก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น