xs
xsm
sm
md
lg

คลิกเดียวอิ่มอร่อย-ลูกเล่นใหม่ภัตตาคารเทรนดี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปรากฏการณ์ใหม่วงการภัตตาคาร ขณะนี้ ผู้ประกอบการหลายแห่งในยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น กำลังทดสอบเทคโนโลยีที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารโดยตรงจากหน้าจอบนโต๊ะอาหาร แทนที่จะรอพนักงานเสิร์ฟที่บางครั้งเชื่องช้าน่ารำคาญ หรือบ่อยครั้งผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย

นอกจากจะลดต้นทุนแล้ว บริษัทผู้จำหน่าย ‘อี-เมนู’ ยังอวดอ้างว่าการเข้าถึงลูกค้าแบบไบต์ต่อไบต์เป็นช่องทางแปลกใหม่ที่จะดึงดูดหนุ่มสาว และกระตุ้นรายได้จากภาพอาหารยั่วน้ำลายบนหน้าจอ
ไอเดียนี้อาจเป็นเพียงลูกเล่นใหม่ล่าสุดของวงการ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ธุรกิจคึกคักขึ้นมาทันตาเห็น

ที่อิสราเอล คอนเซ็ปติกติดตั้งเทคโนโลยีอี-เมนูให้กับภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น ผับ และร้านอาหารที่เป็นกิจการของครอบครัวหลายแห่ง โดยระบบนี้อิงกับเทคโนโลยีทัชสกรีนที่แพร่หลายอยู่แล้วตามโรงอาหารแบบบริการตัวเอง หรือการซื้อตั๋วตามสนามบินและโรงภาพยนตร์

คอนเซ็ปติกยังติดตั้งระบบนี้ให้ภัตตาคารในฝรั่งเศส แอฟริกาใต้ และเบลเยี่ยม

เฟรม ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นแนวเทรนดี้ในเทล อาวีฟ เผยว่ายอดขายขยับขึ้น 11% และบ่อยครั้งลูกค้าโทรจองโต๊ะที่มีหน้าจออี-เมนูล่วงหน้า

“เราช่วยกันดู ช่วยกันเลือก การที่คุณเห็นทุกอย่างทำให้อะไรๆ ง่ายขึ้นมาก” กิล ยูริล พนักงานไอที บอกขณะที่ลูกๆ คลิกเล่นเกมจากหน้าจอบนโต๊ะระหว่างรออาหาร

ที่ญี่ปุ่น บริษัทแอสกา ที3 คิดค้นพัฒนาระบบที่คล้ายคลึงกันนี้ขึ้นมาเช่นกัน แต่ที่น่าจับตามากที่สุดเห็นจะเป็นการที่ยักษ์ใหญ่กระโดดลงสนามมาเล่นด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ ไมโครซอฟท์เผยว่า ระบบไมโครซอฟท์ เซอร์เฟซ ที่จะเปลี่ยนโต๊ะอาหารเป็นหน้าจอสัมผัสขนาดใหญ่ จะออกมาชิมลางฤดูใบไม้ผลิปีนี้ในโรงแรมและกาสิโนบางแห่งของสหรัฐฯ โดยระบบนี้จะอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารได้โดยตรงจากโต๊ะ ตลอดจนถึงฟังเพลงและเล่นเกม

ยักษ์ใหญ่วงการซอฟต์แวร์คุยว่า “ไมโครซอฟท์ เซอร์เฟซจะเปลี่ยนแปลงวิธีการชอปปิ้ง กินข้าวนอกบ้าน ความบันเทิงและการดำเนินชีวิตของผู้คน”

ทั้งไมโครซอฟท์และคอนเซ็ปติกต่างเชื่อมั่นว่า เทคโนโลยีสื่อสารและโต้ตอบนี้นำเสนออนาคตสำหรับคนยุคใหม่

เอดี ชิตาแยต ประธานบริหารคอนเซ็ปติก เสริมว่าการนำคอมพิวเตอร์เข้าสู่ภัตตาคารเป็นขั้นตอนต่อไปหลังจากเทคโนโลยีไอทีปฏิวัติที่ทำงานอย่างมโหฬารมาแล้ว แม้ว่าภัตตาคารที่ติดตั้งระบบอี-เมนูบางแห่ง ยังต้องใช้พนักงานทำหน้าที่เสิร์ฟอาหารอยู่ก็ตาม

นอกจากนั้น คอนเซ็ปติกยังกำลังนำร่องเวอร์ชันที่ทำงานบนเว็บ เพื่อให้ลูกค้าล็อกออนเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตไวไฟของภัตตาคาร และสั่งอาหารจากแล็ปท็อปพกพา หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ

กระนั้น ลูกค้าหลายคนยังสงสัยว่าอี-เมนูจะแจ้งเกิดได้จริงหรือไม่
“ผมไม่เชื่อมั่นหน้าจอ แต่ผมเชื่อมั่นในมนุษย์” ยอร์ช ทอร์กแมน นักธุรกิจในอิสราเอล กล่าวระหว่างกินมื้อเที่ยงที่เฟรม “ผมยินดีรอพนักงานเสิร์ฟ 15 นาทีมากกว่าจะใช้อี-เมนู ที่เป็นแค่ลูกเล่นใหม่ และลูกเล่นส่วนใหญ่ก็มีอายุสั้นมาก”

ในยุโรป ซึ่งการกินอาหารนอกบ้านเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการสนทนาพาทีอย่างรื่นรมย์ มารยาทบนโต๊ะอาหาร รวมถึงการเติมเต็มท้องที่ว่างอยู่ ดังนั้น การรอคอยพนักงานเสิร์ฟจึงเป็นเรื่องของความตั้งใจ ไม่ใช่บังเอิญ

“เห็นผู้ชายคนนั้นไหม เขามาที่นี่ 25 ปีแล้ว” พนักงานเสิร์ฟหญิงคนหนึ่งของร้านอาหารอิตาลีที่ชื่อ รอสติซีเรีย ฟิออเรนตินาในบรัสเซลส์ เล่าและว่า “ฉันรู้จักภรรยาและลูกสาวของเขา คุณคิดว่าจะดีกว่าหรือถ้าเราใช้คอมพิวเตอร์ต้อนรับขับสู้เขาแทน?”

นักวิเคราะห์บางคนสงสัยว่า เสน่ห์ของอี-เมนูจะสามารถวิวัฒนาการจนกลายเป็นเครื่องมือที่เปลี่ยนแปลงวิธีการกินข้าวนอกบ้านของผู้คนได้หรือไม่

“บางคนพร้อมอ้าแขนรับเทคโนโลยีใหม่ แต่ก็มีอีกหลายคนพยายามหลีกเลี่ยงเท่าที่จะทำได้” แจ็คกี้ เฟนน์ นักวิเคราะห์เทคโนโลยีใหม่ของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา การ์ตเนอร์ สรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น