xs
xsm
sm
md
lg

หลักสูตรการศึกษาฉบับชุมชน ‘โรงเรียนวัดท่าสะท้อน’ สะท้อนภาคประชาชนก้าวหน้า-กระทรวงศึกษาฯล้าหลัง

เผยแพร่:   โดย: วันชัย พุทธทอง


เมื่อเร็วๆ นี้ชาวบ้านชุมชนท่าสะท้อน อ.ชะอวด จ .นครศรีธรรมราช ได้ร่วมกัน “ร่างหลักสูตรของโรงเรียนชุดสาระท้องถิ่น” เพื่อจัดการเรียนการสอนให้กับลูกหลาน โดยใช้ขนำซึ่งตั้งอยู่ในป่าพรุกุมแป ริมคลองบางกลม สายน้ำสำคัญของชุมชนที่เชื่อมต่อกับคลองชะอวดไหลไปลงแม่น้ำปากพนังและออกทะเลที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เป็นสถานที่ระดมความคิด

การใช้พื้นที่ป่าพรุเพื่อร่วมกันร่างหลักสูตรของชุมชนในครั้งนี้นั้น ก็เพื่อย้ำเตือนว่าพื้นฐานชีวิตของคนในชุมชนแห่งนี้แนบชิดกับป่าพรุ เนื่องจากชุมชนท่าสะท้อนตั้งอยู่บนพื้นที่ชุมน้ำ หรือที่รู้จักในชื่อป่าพรุ วิถีชีวิตของชาวชุมชนจึงแนบชิดอยู่กับป่าพรุตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งเป็นการให้เกียรติและแสดงความนอบน้อมแหล่งชุบเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชน

“หลักสูตรสาระท้องถิ่นโรงเรียนวัดท่าสะท้อน” อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เกิดขึ้นจากการที่โรงเรียนถูกปิดไปนาน 2 ปี สืบเนื่องจากไม่มีครูมาจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กนักเรียน ผู้ปกครองจำเป็นที่จะต้องกลับมาเปิดโรงเรียนอีกครั้งเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา การเปิดโรงเรียนครั้งนี้ชุมชนได้ร่วมกันร่างหลักสูตรการเรียนการสอน อันเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาปี 2542 โดยชุมชนกำหนดให้นักเรียนได้เรียนวิชาสาระท้องถิ่น 30% วิชาแกนหลัก 70%

“ครูเอียด” นายอรุณ สงค์แก้ว อายุ 39 ปี ครูผู้เชี่ยวชาญการทำประมงพื้นบ้านในป่าพรุ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่ร่วมกันร่างหลักสูตรครั้งนี้ กล่าวว่า การที่ชุมชนได้ลุกขึ้นมาจัดทำหลักสูตรเพื่อจัดการเรียนการสอนให้กับลูกหลานในโรงเรียนวัดท่าสะท้อนไม่ได้เกิดขึ้นเองอย่างไม่มีเหตุผล แต่มีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน เริ่มจากครูและผู้บริหารโรงเรียนวัดท่าสะท้อนไม่ยอมมาสอนเด็กเป็นเวลานานกว่า 2 ปี

ชุมชนพยายามเรียกร้องกับทางเขตการศึกษา 3 นครศรีธรรมราช เพื่อให้โรงเรียนกลับมาเปิดการเรียนการสอนเหมือนเดิม เพราะผู้ปกครองและนักเรียนเดือดร้อน ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากเด็กต้องเดินทางไปเรียนโรงเรียนนอกหมู่บ้าน ผู้ปกครองกังวลความปลอดภัยของเด็กเพราะต้องเดินทางผ่านป่าพรุในช่วงฤดูน้ำหลาก ตลอด 2 ปี ที่เกิดปัญหาทางเขตการศึกษาฯ ก็เมินเฉย

ครูผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความจำเป็นที่ชุมชนต้องตัดสินใจแก้ไขปัญหา เมื่อเป็นเช่นนั้นวันที่ 9 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา ชุมชนจำเป็นที่จะต้องเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง เนื่องจากจะรอเขตการศึกษาฯ ซึ่งไม่มีความรับผิดชอบต่ออนาคตของลูกหลานเราไม่ได้อีกต่อไป เพราะทางเขตการศึกษาฯ ไม่มีหลักประกันใดๆ ให้ชุมชนว่าจะจัดการแก้ไขปัญหาอย่างไร

การที่ชุมชนกลับมาเปิดโรงเรียนและจัดการเรียนการสอนครั้งนี้ ชุมชนได้ร่วมกันร่างหลักสูตรการเรียนการสอนกันเอง เพื่อต้องการให้ลูกหลานได้เรียนรู้เนื้อหาที่เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิต สามารถปฏิบัติได้จริง และได้เรียนวิชาแกนหลักอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาต่างประเทศและภาษาท้องถิ่น โดยคาดหวังว่าหลักสูตรที่คนธรรมดาช่วยกันร่างจะทำให้ลูกหลานมีคุณภาพ เข้าใจเพื่อนมนุษย์เข้าใจสิ่งแวดล้อม

ด้าน “ครูรุ่ง” นายรื่น เพชรล้าน อายุ 54 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่มีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตรฉบับชุมชน กล่าวว่า การที่ชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดการเรียนการสอนให้ลูกหลานกันเองครั้งนี้ นับเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะชาวบ้านธรรมดาที่ผ่านมายุ่งแต่เรื่องทำมาหากิน โดยฝากการเรียนการสอนไว้กับคนที่มีการศึกษา

“เมื่อถึงเวลาที่ชุมชนเองต้องลุกขึ้นมาจัดการศึกษา ต้องรวบรวมความกล้ากันพอสมควร เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ของชุมชนที่เข้ามาจัดการศึกษา ชาวบ้านธรรมดามีความเชื่อว่าการศึกษาต้องเป็นเรื่องของครู หรือนักการศึกษาเท่านั้น แต่ 2 ปีที่ผ่านมาชุมชนได้ข้อสรุปแล้วว่า จะฝากความหวังไว้กับครูหรือนักการศึกษาที่ไม่มีความรับผิดชอบต่ออนาคตของลูกหลานเราไม่ได้อีกต่อไป”

ครูรุ่งกล่าวด้วยว่า ตรงนี้เองที่เป็นแรงผลักดันให้ชุมชนลุกขึ้นมาและผ่านความกลัวว่าตัวเองเป็นคนไม่มีความรู้มาได้ หากไม่มีความเจ็บปวดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา อาจจะไม่สามารถเดินทางมาได้จนถึงวันนี้ ส่วนเนื้อหาที่จัดให้เด็กได้เรียน คิดว่ายังต้องปรับปรุงตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่ก็ภูมิใจที่ได้มีส่วนในการทำสิ่งที่ดีเพื่อชุมชนของเรา

พระอาจารย์ทวีศักดิ์ จิรธัมโม ซึ่งเป็นพระรูปหนึ่งที่ร่วมกันร่างหลักสูตรนี้ขึ้น อีกทั้งยังรับหน้าที่เป็นครูผู้เชี่ยวชาญสอนวิชาพุทธศาสนาด้วย กล่าวว่า การที่ชุมชนใช้วิชาความรู้ที่มีอยู่ในตัว ทำให้เป็นความรู้ร่วมของหมู่บ้าน เป็นแนวทางที่น่าสนใจ สิ่งเหล่านี้มิใช่หรือคือสิ่งที่ทำให้คนที่นี่อยู่ได้อย่างมีความสุข วันนี้เรากำลังยืนยันในความรู้ที่เรามี

“สิ่งเหล่านี้สำคัญกับลูกหลานของเรา เมื่อมีการจัดการหลักสูตรที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้ โดยเชื่อมโยงตัวเองกับพ่อแม่ ลูกหลาน คนเฒ่าคนแก่ วันก่อน อาตมาได้สอนทำนาโดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งเป็นองค์ความรู้เดิมของชุมชน ได้เหยียบลงไปในนาที่เป็นดินโคลน เท้าเด็กได้สัมผัสดินนุ่มๆ สอนร่วมกับครูชีพ” พระอาจารย์ทวีศักดิ์ บอกเล่าให้ฟังก่อนเสริมว่า

การทำนาทำให้มีรายได้ ได้เงินด้วย และเป็น การประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสัตว์และเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกละเลยมานาน วันนี้เด็กๆ ที่นี่ได้เรียนรู้ในวิชาทำนา เด็กได้เรียนรู้เรื่องสายพันธุ์ข้าวของชุมชน ได้ฝึกคำนวณว่าพื้นที่นาเท่านี้จะใช้ปริมาณข้าวกี่ถัง เด็กๆ ได้ฝึกไถนากันเอง เป็นการออกกำลังกายไปด้วย

พระอาจารย์ทวีศักดิ์เพิ่มเติมว่า ได้ฝึกสังเกตดินนาที่นี่เป็นดินเหนียวเป็นมันเนื่องจากดินไม่ผ่านการใช้สารเคมี ซึ่งเป็นการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ไปด้วย กระบวนการที่เราทำ เมื่อพวกเรามีปัญหาใดๆ เรามีความรู้อยู่แล้วก็สามารถจัดการแก้ปัญหาได้ ในชุมชนมีความรู้มากมาย การที่ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการความรู้ให้กับเด็ก จะเป็นความรู้แท้จริงของเด็ก

“และนี่ถือเป็นการสอนธรรมะที่จะเข้าถึงความรู้ได้จริง ไม่ต้องไปกังวล มันเพิ่งเริ่มต้น หวังว่าจะขยายไปเรื่อยๆ ขอให้เชื่อมั่นกับสิ่งที่ดีงามที่ทำกันมา เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ที่เด็กได้เรียนรู้จะทำให้หมู่บ้านยั่งยืนเข้มแข็ง ผลจากการเรียนรู้จะทำให้เขาสามารถอยู่ในพื้นที่ได้อย่างรู้สึกภาคภูมิใจ มีชีวิตรอดอยู่อย่างมีความสุข”

ด้านนายวัชระ เกตุชู ครูชาวบ้านอีกคน กล่าวว่า จากการที่ชุมชนได้เข้ามาจัดการเรียนการสอนผ่านมาเป็นเทอมที่ 2 ชุมชนมีบทเรียนอยู่ระดับหนึ่ง ซึ่งต้องการที่จะนำเสนอบทเรียนให้สาธารณะได้รับรู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่ชุมชนจะต้องลุกขึ้นมาจัดการศึกษากันเอง เพราะชุมชนมีองค์ความรู้มากมายที่สำคัญ

“อันเป็นไปท่ามกลางสถานการณ์โรงเรียนขนาดเล็กอย่างโรงเรียนวัดท่าสะท้อนกำลังถูกทยอยยุบ และมีเป้าหมายที่จะถูกยุบอีกนับหมื่นโรงเรียนทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอ้างว่าไม่คุ้มทุนในการจัดการศึกษา รูปธรรมที่ชุมชนเข้ามาจัดการศึกษาอย่างโรงเรียนวัดท่าสะท้อน พอจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาโรงเรียนถูกยุบได้ไหม” นายวัชระกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา ชาวชุมชนท่าสะท้อนได้ผนึกกำลังครูและนักเรียนโรงเรียนวัดท่าสะท้อนจัดเวทีนำเสนอ “หลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนวัดท่าสะท้อน ฉบับชุมชน” ขึ้นมา ณ โรงแรมทวินโลตัส อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งตัวแทนชุมชนได้นำเสนอรูปธรรมในการจัดการศึกษาต่อสาธารณะ

โดยมีการเชิญ “คุณหญิงอัมพร มีศุข” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าร่วมด้วย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิโดยตรง และได้เชิญ “ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา” เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาร่วมงานเช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 บุคคลก็ตอบตกลงรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะ อีกทั้งทางสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ยังแจ้งกลับมาว่า สพฐ.ขอร่วมจัดงานและขอออกค่าใช้จ่ายในการจัดงานด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาจัดงานกลับไม่มีแม้เงาของทั้ง 2 คุณหญิงดังกล่าว โดยมีการแจ้งเรื่องกลับมายังผู้จัดว่าไม่สามารถมาร่วมงานได้ ในขณะที่ชุมชนได้เตรียมงานทุกอย่างพร้อมแล้ว

“การศึกษาเป็นเรื่องของการจัดการความรู้ ต่อไปนี้กระทรวงศึกษาฯ จะล้าหลังมาก เพราะโลกไปไกลมากแล้ว อย่างกรณีตัวอย่างโรงเรียนวัดท่าสะท้อนชัดเจนว่า กระทรวงศึกษาธิการตามไม่ทันโลก ตามไม่ทันชุมชน และที่สำคัญกระทรวงศึกษาฯ ไม่เชื่อพลังประชาชน เป็นพวกศักดินาล้าหลัง ผูกขาดการจัดการศึกษา และสุดท้ายก็ทำไม่ได้ดี”

นายวัชระในฐานะครูชาวบ้านแห่งโรงเรียนวัดท่าสะท้อน สะท้อนความคิดของชุมชนให้ฟัง พร้อมกับกล่าวเสริมด้วยว่า

“เมื่อชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดการศึกษาเอง และชวนกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาร่วมพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน แต่กระทรวงศึกษาธิการก็กลับไม่ให้ความสำคัญ เมื่อกระทรวงไม่ให้ความสำคัญ ชุมชนก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่กระทรวงควรทบทวนตัวเองว่า ผลจากการที่กระทรวงศึกษาฯ ผู้ขาดการจัดการศึกษาอย่างยาวนานนั้น เกิดอะไรกับสังคมไทยเรา การที่โรงเรียนถูกยุบไปแล้วจำนวนมาก ซึ่งสื่อสะท้อนถึงความมีจิตสำนึกรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน”

นับเป็นความงดงามของคนธรรมดาแห่งชุมชนท่าสะท้อน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ที่มีความกล้าหาญลุกขึ้นมาจัดการศึกษาให้ลูกหลานด้วยตัวเอง ทว่าขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงความล้าหลังของพวกศักดินาล้าหลังในระบบการศึกษาของบ้านเมืองเรา

กำลังโหลดความคิดเห็น