xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้"เชื้อปฏิวัติ"ยังไม่ตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการชี้ ปฏิวัติยังเกิดขึ้นได้เสมอถ้ารัฐบาลทำให้สังคมเกิดความขัดแย้ง ถึงขั้นเผชิญหน้า ส่วนการเมืองไทยยุคนี้ เป็นระบอบธนาธิปไตย เงินซื้ออำนาจได้ ทำให้ประชาธิปไตยไทยอยู่ในสภาพอ่อนแอ ถดถอย "พัลลภ"ระบุ รมว.กลาโหมพลเรือน มักแทรกแซงกองทัพ

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒบริหารศาสตร์ กล่าวระหว่างการสัมมนาทางวิชาการ หัวข้อ "ก้าวต่อไปของการเมืองและการทหารเพื่อความมั่นคงของชาติ" จัดโดยวิทยาลัยการทัพสัมพันธ์ ว่า การรัฐประหารไม่ใช่ว่านึกจะทำก็ทำได้ ต้องมีเงื่อนไขพอที่กองทัพจะตัดสินใจ หากรัฐบาลแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้ดี ประชาชนพอใจ มีความโปร่งใสในการบริหารประเทศ ก็คงไม่มีใครคิดที่จะปฏิวัติ แต่หากรัฐบาลทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือเผชิญหน้ากัน จนนำไปสูเหตุการณ์จลาจล ทหารก็ต้องออกมารักษาความมั่นคงของประเทศ ตามภาระหน้าที่ อย่างไรก็ตาม แม้ปฏิวัติสำเร็จ แต่หากใช้อำนาจที่ทำให้ประชาชนไม่สมหวังก็ถือว่าเสียเปล่า เสียของ

เมื่อมีรัฐบาลจากการปฏิวัติเข้าบริหารประเทศ ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญปี 50 เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องทางการเมืองในหลายประเด็น มีการเพิ่มเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชนมากขึ้น แต่การเพิ่มเสรีภาพให้ ส.ส. มาก ก็อาจทำให้เกิดการเมืองมีปัญหาได้ เพราะส.ส.ก็จะมีช่องในการหาประโยชน์มากขึ้น เช่น ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองภายใน 90 วันในกรณีที่อยู่ครบเทอม และหากมีการยุบสภาให้ ส.ส. สังกัดพรรคได้ไม่เกิน 30วัน ส.ส.ก็จะสบายมากกว่าเดิม ถ้าไม่เห็นด้วยกับนายกฯ หรือหัวหน้าพรรค ก็ทำอะไรได้ง่ายขึ้น ทำให้หัวหน้าพรรค หรือรัฐมนตรี จึงต้องมีหน้าที่เลี้ยงดู ส.ส.ให้ดี หากทอดทิ้ง อาจถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ เพราะ รธน. เอื้อเรื่องจำนวน ส.ส.ที่ยื่นเปิดอภิปรายฯ ใครเป็นรัฐมนตรีจึงต้องเลี้ยงดูส.ส.ให้อิ่มหมีพีมัน ซึ่งก็ต้องหาเงินให้มากขึ้น

"แต่ที่ยังดำรงอยู่คือ เรื่องอามิสสินจ้างที่ยังทรงอิทธิพลอยู่มาก ทำให้การเมืองไทยเป็น ระบอบธนาธิปไตย มีเงินก็สามารถซื้ออำนาจได้ แต่ยิ่งหนักกว่าเดิม คือ คนไม่มีเงินก็ประสบความสำเร็จได้ อย่างคุณสมัคร ไม่ใช้เงินทุน ออกแรงน้อย แต่มีคนทำให้ได้เป็นนายกฯ เพียงแต่ประกาศว่าจะดูแลท่านให้ดีเท่านั้นเอง แสดงให้เห็นว่า เหนือกว่านั้นมีคนที่เงินไม่กี่หมื่นล้านบาท ก็ซื้อประเทศไทย และตั้งรัฐบาลได้ อย่างไรก็คาม ภาคประชาชนจะมีบทบาทมากขึ้น รัฐบาลทำอะไรไม่ถูกต้อง ก็จะถูกตรวจสอบมากขึ้น อย่างที่ผ่านมา แค่คนๆ เดียวก็ทำให้นักการเมืองใหญ่ตกสวรรค์มาแล้ว" นายสมบัติ กล่าว

นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การเมืองไทยช่วงนี้เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านจากระบบเผด็จการทหาร มาสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยไม่เกิดวิกฤติ มีแต่ความเรียบร้อย เพราะไทยเกิดจากการปฏิวัติ 17 ครั้ง เฉลี่ย 5 ปีต่อครั้ง ระยะหลังห่างกัน 15 ปี ถือว่าคนไทยคุ้นเคยกับการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ แม้ระยะหลังจะมีการตั้งข้อสังเกตว่า ปฏิวัติเป็นหรือเปล่า

"การเปลี่ยนผ่านอาจทำให้เกิดการเปิดกว้างทางด้านการเมือง แต่ จะไปสู่ประชาธิปไตยหรือไม่ ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งคิดว่ามีอยู่ 3 แนวทาง คือ แนวทางแรกนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า ซึ่งมีไม่กี่ประเทศที่ทำได้ เมื่อระบอบอำนาจนิยม อำนาจเผด็จการล่มสลายไป ก็เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือเสรีนิยม แนวทางที่สอง การเปลี่ยนผ่านไปสู่รอบประชาธิปไตยที่อ่อนแอ เมื่อเปลี่ยนไปแล้วจะไม่มีหลักประกันว่าจะเปลี่ยนจากเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตยที่ดีได้หรือไม่ หรืออาจเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยที่อ่อนแอ ซึ่งหลายประเทศในเอเชียจะเป็นลักษณะนี้ แนวทางที่สาม เปลี่ยนผ่านมาสู่ประชาธิปไตยที่ถดถอย หรือวิกฤต เมื่อเปลี่ยนผ่านแล้วจะทำให้อำนาจดิ่งลงไป เช่น อิหร่าน และเปรู เพราะฉะนั้น เราต้องตัดสินใจว่าจะอยู่กลุ่มไหน"

นายปณิธาน กล่าวว่า เมื่อดูโครงสร้างประชาธิปไตยแบบก้าวหน้าแล้ว เราคงไปไม่ได้ตรงนั้น แต่อาจจะอยู่ในระดับ อ่อนแอ หรือถดถอย ซึ่งแบบถดถอยนั้นทางนักวิชาการ มองว่าเป็น ประชาธิปไตยแบบเผด็จการรัฐสภา และเผด็จการทุนนิยม ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่มีกลุ่มอำนาจ และกลุ่มผลประโยชน์ยึดระบบการเลือกตั้ง ทำให้เกิดความถดถอย ก็อาจก่อให้เกิดวิกฤตตามมาอีกมาก เมื่อเกิดวิกฤต ก็จะเกิดการปฏิวัติอีก

การเมืองไทยในช่วงการเปลี่ยนผ่านแม้จะราบเรียบ ไม่มีความรุนแรง แต่แนวโน้มไม่ดีเลย เพราะดูแล้วอาจไม่สามารถทนต่อแรงกระแทก หรือความสับสน ที่เกิดจากการเผชิญหน้าของกลุ่มต่างๆ ได้ ซึ่งการจะพัฒนาไปได้ต่อไปหรือไม่ อยู่ที่ปัจจัยเรื่องความชอบธรรม ซึ่ง มีอยู่3 ตัวคือ ตัวที่หนึ่ง ความชอบธรรมทางการเมือง ซึ่งต้องมาจากการเลือกตั้งที่ยุติธรรม โปร่งใส ในเบื้องต้น เห็นว่ามีความโปร่งใส ยุติธรรม แต่ไม่รู้ว่าอยู่ในระดับไหน เมื่อมีความชอบธรรมทางการเมือง ก็จะนำไปสู่การเมืองที่เป็นระบบ เข้มแข็ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งรัฐบาลนี้กล้อมแกล้ม ผ่านไปได้ เพราะพรรคการเมืองเป็นที่ยอมรับใน และต่างประเทศ

"ตัวที่สอง รัฐบาลมีความชอบธรรมในการจัดปกครองหรือไม่ เมื่อคนอีก 12 ล้านเสียงคน ไม่ได้เลือกเขา ทั้งนี้รัฐบาล รัฐสภา ตุลาการ องค์กรอิสระ องค์กรปกครองท้องถิ่น รวมถึง กอ.รมน. มีความชอบธรรมแค่ไหนในการปกครองประเทศ 12 ล้านคน ตั้งป้อมว่าไม่เอา ซึ่งเรื่องความชอบธรรมในการปกครองเป็นเรื่องใหญ่มากกว่า เขาจะอยู่ได้หรือเปล่า ถ้ารัฐบาลมีปัญหา นายกฯ มีคดีความ หรือตัวประธานรัฐสภาฯ ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติสูงสุด มีคดีติดตัว ความชอบธรรมมีไม่มากในการปกครอง ถ้าฝ่ายตุลาการถูกกล่าวหาว่าติดสินบน โกงกิน คอร์รัปชั่น องค์กรอิสระถูกแทรกแซง องค์กรปกครองท้องถิ่นถูกซื้อ กองทัพไม่เป็นประชาธิปไตย มันก็คงไม่มีความชอบธรรม รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ เพราะตอนนี้เป็นการเมืองสมัยใหม่ ที่มีความซับซ้อนวุ่นวายมาก ถ้าไม่มีความชอบธรรม รัฐบาลก็จะมีอายุสั้น ถ้าหัวหน้ารัฐบาล ไม่สามารถหาคนดีมาบริหารประเทศได้ เขาก็ไม่ฟังคุณ และอาจถูกฟ้องกลับได้"

ข้อที่สาม คือ ความชอบธรรมในการบริหาร ซึ่งหมายถึงธรรมาภิบาล และการเปิดโอกาสให้กลไกของภาคประชาชนทำงาน รวมถึง การลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน หรือการทำให้เศรษฐกิจโตทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน ที่ตนห่วงคือ ธรรมาภิบาลทางด้านความมั่นคง ซึ่งในส่วนกองทัพ ว่ายังไม่ได้ทำ ตนเรียน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในฐานะที่ ตนเป็นที่ปรึกษานายกฯว่า ถ้าทหารซื้ออาวุธ ทั้งเครื่องบิน รถถัง เรือรบ ชาวบ้านก็จะโกรธ ควันออกหู อย่าง 200 เก้าอี้ ของพรรคพลังประชาชนก็มาเลย ชาวบ้านเขาไม่ฟัง เรื่องแบบนี้ มีคนด่าตนว่าเป็นขี้ข้ารับใช้ทหาร ชอบมาพูดเรื่องความมั่นคง ซึ่งประชาชนไม่เอาด้วย

"ถ้ากองทัพสามารถบริหารงานชายแดน และ แก้ไขปัญหาจังหวัด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ความชอบธรรมก็จะตามมา คะแนนก็จะตามมาด้วย ภัยคุกคามเฉพาะหน้าจึงเป็นเรื่องการเมืองแบบเปลี่ยนผ่าน หากอยู่ไม่ได้และล้มไป แนวร่วมประชาธิปไตยก็มาอยู่บนถนนอีก มีการ เผชิญหน้าในสังคมอีก ทุนเก่าและทุนใหม่ รวมตัวกันยึดอำนาจอีก ทหารก็จะกลับมาอีก และยิ่งปฏิวัติไปใหม่ๆ ไม่เกิน 2 ปีนี้ จะทำได้ดีกว่าเก่าอีก ตอนนี้เขายังไม่ลืม เพราะเขาอยากจะแก้ตัว การที่ทหารจะกลับมาปฏิวัติ หรือไม่นั้นไม่มีใครรู้ แต่พรรคพลังประชาชน ต้องป้องกัน โดยส่งคนเข้ามา จะตกลงกับคุณสมัครได้หรือไม่ได้ ก็ต้องยึดกระทรวงกลาโหมไว้ก่อน ก็ต้องป้องกันทหารกลับเข้ามา ลดอำนาจของทหาร เพื่อมั่นใจว่า ทหารต้องอยู่ในกรอบ และไม่ให้ออกมาปฏิวัติอีก ไม่อย่างนั้นก็ยุ่งแน่ เพราะแค่นี้เขาก็ยุ่ง น้ำตาไหลหลายรอบ ให้สัมภาษณ์หลายหน ต้องไปกดปุ่มอยู่ต่างประเทศ"

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ผู้นี้ กล่าวว่า พ.ร.บ. ความมั่นคงในราชอาณาจักรไทย และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมปี 51 จะเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดประตูไปสู่ธรรมาภิบาลสมัยใหม่ แต่จะเปิดได้ยากมาก ซึ่ง กอ.รมน. มีการจัดโครงสร้างโดยมีที่ปรึกษาจากภาคประชาชน สามารถฟ้องร้องได้ มีการตั้งหน่วยงานเป็นอิสระ มีกฎหมายคุ้มครอง ดังนั้น กองทัพต้องไปออกกฎเกณฑ์ในการรองรับพระราชบัญญัติฯฉบับนี้ให้ดี เพราะรองรับการทำงาน ถ้าทำได้ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรม

"ส่วนการแก้ไขปัญหาความแตกแยกให้เกิดเป็นรูปธรรม เราต้องทำใจ เพราะเมื่อสังคมไทยมาถึงจุดที่ความแตกแยก เป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย จะมีคนไม่เห็นด้วยเยอะ แฟนพันธ์แท้ของแต่ละกลุ่มจะออกมาเรียกร้องขอให้ความขัดแย้งแตกแยกไปสู่ความรุนแรง ดังนั้นเราจะต้องทำใจ และสิ่งที่เกิดขึ้นจะอยู่กับเราอีกนาน และ คนจะออกมาบนท้องถนนอีกเยอะ และจะมีสื่อเข้ามาเกี่ยวข้องอีกมาก ที่สำคัญ เราต้องอาศัยกฎหมายแก้ปัญหา ยุบเป็นยุบ เลิกเป็นเลิก ฟ้องเป็นฟ้อง ผมว่ายุบไปเถอะพรรคที่ทำผิด เพราะส.ส.ก็จดทะเบียนพรรคใหม่ได้ แต่การตัดสินโดยใช้กฎหมาย ต้องอาศัยพลังอำนาจของรัฐ โดยเฉพาะทหารต้องตั้งหลักให้ดี และต้องยึดมั่นไม่ว่าจะเกิดความขัดแย้งอะไรก็แล้วแต่ แต่อย่าให้เกิดความรุนแรง หรือปะทะ จนเกิดสงครามกลางเมือง เพราะสงครามกลางเมืองสมัยใหม่กำลังเกิดขึ้นในภาคใต้ ดังนั้นทหารจึงต้องห้ามทัพ และทำงานด้านการเมืองและการทหารด้วย ดังนั้นจะต้องไม่ทำให้บานปลาย และจะเอาไม่อยู่" นาย ปณิธาน กล่าว

รมว.กลาโหมพลเรือนชอบแทรกแซงกองทัพ

พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรองผู้อำนวยรักษาความมั่นคงภายใน กล่าวว่า เห็นด้วยที่นายสมัคร เป็นรมว.กลาโหม เพราะดูจากวิสัยทัศน์ เห็นว่า ท่านเป็นคนเข้าใจทหาร เพราะที่ผ่านมาเมื่อลงสมัครเขตดุสิต ซึ่งเป็นเขตทหารก็ได้รับการยอมรับจากทหารมาแล้ว ที่ผ่านมาเราเคยมี รมว.กลาโหมที่เป็นพลเรือนมาแล้ว ในปี 40 เราถูกตัดงบฯ ด้านการทหารไปจำนวนมาก ในสมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ และ ควบรมว.กลาโหม ก็เข้ามาแทรกแซงกองทัพ ในการโยกย้ายก็ไม่ได้แต่งตั้งคนจาก 5 เสือ ทบ. มาเป็น ผบ.ทบ.แต่ไปเอามาจากผุ้ทรงคุณวุฒิพิเศษ นอกจากนั้นยังตัดเรื่องสิทธิกำลังพล ดังนั้น การที่ทหารจะเข้าไปมีบทบาททางการเมือง จึงเป็นเรื่องจำเป็น ที่ผ่านมาตนจึงได้พยายามลงเลือกตั้ง หรือให้คำปรึกษาต่างๆ แต่รมว.กลาโหม จากพลเรือนที่ผ่านมาไม่ค่อยรับฟัง ซึ่งต้องดูต่อไปว่า รมว.กลาโหม คนนี้จะบริหารอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น