นายนิตินัย นาครทรรพ
สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดหนองคาย
เกิด
วันที่ 10 มกราคม 2486
ที่อยู่
856/1 ถนนประจักษ์ ตำบลในเมือง
อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย 43000
โทร. 042-411420
การศึกษา
นิติศาสตรบัณฑิต (ม.ธรรมศาสตร์)
อาชีพ
นักการเมือง
ประสบการณ์
ปลัดอำเภอ
อักษรเลขจังหวัด
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2518, 2526และ 2531
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2534
สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2539
เลขที่ ส.ว.052
sen052@parliament.go.th
ท่านผู้อ่านที่เคารพ บรรดาวิกฤตต่างๆ ที่ผมปรารภให้ท่านผู้อ่านฟัง บัดนี้อย่างหนึ่งได้ยุติลงแล้ว ผมขอรบกวนเวลาของท่านผู้อ่านกล่าวถึงนักการเมืองอาชีพคนหนึ่ง ตามข้อมูลของวุฒิสภา ปี 2543-2549 ดังปรากฏข้างบนนี้
เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ปัจจุบันนี้องค์กรหรือสถาบันต่างๆ จะต้องดำเนินการหรือบริหารโดยมืออาชีพ การเมืองก็เหมือนกัน และดูเหมือนจะจำเป็นยิ่งกว่าองค์กรลักษณะอื่นๆ ด้วยซ้ำ เพราะการเมืองต้องมีวินัยยิ่งกว่าทหาร และมีความสามารถยิ่งกว่าบริษัท เพราะการเมืองจะต้องคุมทั้งสองอย่าง
แต่การเมืองไทยกลับถูกสองอย่างนั้นคุม จนกระทั่งเราไม่มีเวลาหรือความต่อเนื่องพอที่จะสร้างนักการเมืองอาชีพ
ยิ่งซ้ำร้าย สังคมไทยไม่มีความเข้าใจ ไม่ยอมรับ และไม่ต้องการให้มีนักการเมืองอาชีพ ทั้งนี้เพราะคนไทยเข้าใจว่า เสือ สิงห์ กระทิง แรด ที่วิ่งซื้อเสียงขายเสียง และขายตัว แลกกับการทำมาหากินด้วยอิทธิพลของรัฐบาลและงบประมาณแผ่นดิน คือ นักการเมืองอาชีพ
นักวิชาการหรือชนชั้นนำของประเทศไทย แม้แต่ผู้ที่รักประชาธิปไตยและสนใจการเมือง ตัวอย่างเช่น พลเอกสายหยุด เกิดผล ยังมีความเห็นว่าไม่อยากให้มีนักการเมืองอาชีพ ผู้ที่จะมาเล่นการเมืองควรไปทำงานหรือหากินให้มีเงินมากๆ ตั้งตัวให้ได้เสียก่อนจึงค่อยมาเล่นการเมือง
ทั้งนี้เป็นความเข้าใจผิด เพราะเห็นภาพลักษณ์ของนักการเมืองเลวที่มีอาชีพค้าการเมือง แล้วไปเหมาเอาว่าเป็นนักการเมืองอาชีพ และเข้าใจผิดอีกว่านักการเมืองต้องร่ำรวยเสียก่อน
นายกรัฐมนตรีของอังกฤษโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Lord Wilson อดีตผู้นำพรรคแรงงาน และนายกฯ สองสมัย ไม่นานมานี้ เมื่อเกษียณจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วต้องเดินงกๆ ไปประชุมสภาขุนนางมิได้ขาด เหตุผลข้อหนึ่งก็เพื่อเอาเบี้ยประชุมไปเสริมการรักษาพยาบาลตนเอง
นักการเมืองของไทยคนหนึ่งที่ผมรู้จัก ถึงจะไม่ใหญ่โตเหมือนวิลสัน แต่ก็ยึดการเมืองเป็นอาชีพ ใช้เงินเดือนและเบี้ยประชุมที่ได้รับเพื่อการยังชีพและเลี้ยงดูครอบครัว บางครั้งสอบตกก็อาศัยผักหญ้าปลาปูจากสวนของตนเอง และว่าความเล็กๆ น้อยๆ พอประทังไปจนกว่าจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่ในการเลือกตั้งทุกครั้ง ก็เดือดร้อนประชาชนและเพื่อนฝูงที่จะต้องเรี่ยไรเงินกันมาต่อสู้กับพวกนักการเมืองที่ใช้เงินซื้อเสียง
สาเหตุที่นักการเมืองแบบนี้มีไม่มากในเมืองไทยก็เพราะการซื้อเสียง การบังคับให้สังกัดพรรคการเมือง และการที่มีระบบพรรคการเมืองด้อยพัฒนา เดี๋ยวตั้งเดี๋ยวล้ม ไม่มีความยั่งยืน และประเทศไทยเองก็ตกอยู่ในวังวนของวงจรอุบาทว์และวัฏจักรน้ำเน่าสลับสับเปลี่ยนกันไปมาอยู่อย่างยาวนาน
นิตินัยเล่นการเมืองครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2518 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประเทศไทยกำลังตื่นตัวทางการเมือง และนิสิตนักศึกษาต้องการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน พรรคพลังใหม่ที่เขาสังกัดให้เงินผู้สมัครคนละไม่กี่หมื่น และผู้สมัครส่วนใหญ่ก็เป็นหนุ่มสาวในวัยต้นๆ ของชีวิตราชการในยุคนั้น ถึงจะมีการซื้อเสียงมาในยุคก่อนๆ แต่ก็ยังไม่เป็นระบบและร้ายแรงเหมือนทุกวันนี้ นิตินัยได้เป็นผู้แทนด้วยคะแนนเสียงที่ท่วมท้นมากกว่าคะแนนของคู่แข่งขันที่สองถึงที่เก้ารวมกัน
หลังจากนั้นก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หาพรรคสังกัดที่ถูกใจลำบาก คู่แข่งขันใช้เงินทุ่มอย่างมหาศาลและเป็นระบบมีอิทธิพลและอำนาจรัฐหนุนหลัง จึงตัดสินใจเลิกการเมืองแบบ ส.ส.หันมาสมัครวุฒิสภา ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งตนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการร่างในฐานะ ส.ส.ร.จากจังหวัดหนองคาย
นิตินัยคะแนนเป็นที่หนึ่ง น่าอนาถใจที่คู่ต่อสู้และ กกต.ร่วมมือกันให้ใบเหลือง ทั้งๆ ที่เขามีเกียรติประวัติต่อสู้การซื้อเสียงมาตลอดชีวิต เมื่อลงคะแนนใหม่นิตินัยชนะที่หนึ่งอีก คราวนี้ได้คะแนนเพิ่มอีกหลายแสนทิ้งที่ 2 จนไม่เห็นฝุ่น
นิตินัยเกิด เรียน อยู่ และทำงานที่หนองคายตลอดชีวิต นอกจากเวลาที่มาเรียนธรรมศาสตร์เป็นศิลปศาสตร์ รุ่น 1 มีอาจารย์ดีๆ ที่ประทับใจที่สุดคือ ดร.ธวัช มกรพงศ์ เพื่อนร่วมรุ่นของนิตินัยเริ่มเล่นการเมืองพร้อมๆ กันหลายคน คือ สุทัศน์ เงินหมื่น บัญญัติ บรรทัดฐาน ประจวบ ไชยสาส์น และไตรรงค์ สุวรรณคีรี
เมื่อเทียบกับความสำเร็จและโด่งดังของเพื่อนๆ นิตินัยอาจจะเป็นคนมักน้อย เป็นแค่ผู้แทนธรรมดาๆ ทำงานออกกฎหมาย ไปเยี่ยมเยียนและคลุกคลีอยู่กับราษฎรตามความรักและหน้าที่ ไม่เคยทะเยอทะยานที่จะเป็นใหญ่เป็นโต ฯลฯ แต่นิตินัยเป็นศูนย์รวมของเพื่อนฝูง ที่เพื่อนๆ ให้ความรัก สนิทสนม เมตตา และนับถือเป็นอย่างมาก
ตอนเป็น ส.ว. นิตินัย เข้าโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ เป็นครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พอดีแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง หลังจากให้คีโมได้ 2 หน นิตินัยก็ไม่ยอมรักษาต่อ ไปนั่งทำสมาธิภาวนาและกินว่านที่มีชื่อว่า “เครือเขาแกรบ” ปรากฏว่าแข็งแรงสบายดีมาตลอดเวลา 10 ปี
ประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่าอาการกลับมาอีก เพราะนิตินัยไปช่วยหลานสาวหาเสียง ต้องสูบบุหรี่มวนใบตองและดื่มเหล้าขาวกับเพื่อนฝูงตามประเพณี และค่านิยมของสังคมชนบทไทยที่หลีกเลี่ยงยาก
แต่เจ้าตัวก็ปกปิด ห้ามลูกเมียบอกใคร เข้าไปอยู่ในสวนนั่งสมาธิภาวนา จนกระทั่งอาการกำเริบ พี่ชายทราบจึงขอร้องให้เข้ากรุงเทพฯ ก่อนวันเกิดครบรอบ 65 ปีในวันที่ 10 มกราคม ได้ 2 วัน
กัลยาณมิตรของพี่ชาย 3 คนต่างก็ลุ่มลึกในพุทธศาสนาด้วยกัน มีความเห็นต่างๆ กัน
เพื่อนผู้น้องคือไพศาล พืชมงคล หรือ “เรืองวิทยาคม” เวลาเขียนเรื่องพุทธศาสนา เป็นผู้มีความรู้เรื่องจิตรักษาและแพทย์ทางเลือก อุตส่าห์ไปบดยาจีนราคาแพงมาให้ ยืนยันเด็ดขาดว่าอย่าเข้าโรงพยาบาล ถ้าเข้าไม่เกินเดือนต้องไปแน่ๆ ถ้าเราสู้รักษาแบบทางเลือกเกิน 45 วัน ก็จะหมดวงจรชีวิตของมะเร็ง
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสาน ต่างใจ ยอดพยาธิแพทย์และบรมครูจิตวิวัฒน์มีความโน้มเอียงไปทางแพทย์ทางเลือก ได้เชิญแพทย์ทางเลือกมาวินิจฉัย เพื่อจะเพิ่มความเข้มแข็งด้วยการรักษาทางจิตด้วย เห็นว่าถ้าหลีกเลี่ยงได้ไม่ควรไปรักษาที่โรงพยาบาล เพราะยิ่งโรงพยาบาลใหญ่ก็จะเสี่ยงด้วยการติดเชื้อสารพัด อย่างที่หมอเองก็เคยโดนมาแล้วแทบเอาชีวิตไม่รอด แต่เมื่อเห็นน้องชายเจ็บปวดทรมาน หมอก็ช่วยน้องตัดสินใจว่าไปเถิด เป็นไรเป็นกัน
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้รับการขอร้องให้ช่วยฝากแพทย์และโรงพยาบาล ไม่ใช่ขอความเห็น แต่ก็ให้กำลังใจว่าเดี๋ยวนี้มียาตัวใหม่สรรพคุณเลิศ ไม่แพ้เหมือนคีโมแบบเดิม น่าจะลอง และจะจัดลูกศิษย์ที่เก่งๆ ให้ดูแล เคยคุยกันมานานแล้ว หมอประเวศเห็นว่าการแพทย์และโรงพยาบาลไทยยังบูรณาการไม่พอ คนเราจะเจ็บจะตายจริงๆ ควรจะอยู่ที่บ้านท่ามกลางลูกหลานและญาติมิตรจะดีกว่า
บทเรียนจากการรักษานิตินัยพบว่า ยาดี คนไข้ตอบสนองดี วันที่ 24 จะกลับบ้านได้ แต่วันที่ 23 กลับต้องเข้าฟอกไตติดต่อกัน 3 วัน เพราะไตวายเฉียบพลัน เพราะรับสารมะเร็งที่ขับออกมามากไม่ไหว เมื่อจัดการกับไตดีแล้ว ก็เกิดโรคติดเชื้ออีโคไล ซึ่งมีอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทุกแห่ง
ประเทศของเราและวงการแพทย์ของเราจะต้องตื่นตัว วางนโยบายให้ถูกต้อง มีเจตจำนงที่แน่วแน่ทางการเมือง และมีการวิจัยให้ถูกต้องถึงขั้นว่าเราจะจัดขนาด ระบบ และโรงพยาบาลของเราอย่างไรดี
เมื่อนิตินัยทราบว่าจะต้องฉีดยาถึง 6 เข็มๆ ละ 1 แสนบาท เขาสะอึก เพราะไม่มีเงินและไม่ต้องการรบกวนพี่น้องเพื่อนฝูง ในขณะที่พี่สาวยืนยันว่าอย่าว่าแต่ 6 แสนเลย 6 ล้านก็มีปัญญาหา อย่าได้วิตกเลย
ในเวลาที่สติมั่นคงนิตินัยอ้อนวอนลูกเมียว่าให้พ่อไปเถิด อย่าอยู่ให้คนอื่นเดือดร้อนเลย เขาหยิบกระดาษมาเขียนว่า “ไม่ต้องขอโกฐ” และ “นี่คือการเดินทางข้ามวัฏสงสารเท่านั้น”
ในวันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ หมอประสานกับพี่สาวและน้องสาวที่เดินทางจากอเมริกามาเยี่ยม นิตินัยอาการดีขึ้นมาก พูดคุยหยอกเย้ายิ้มหัว จนหมอประสานเริ่มมั่นใจ ลับหลังคนอื่น นิตินัยบอกน้องว่าอีก 3 วันจะไป
พอตอน 3 ทุ่ม นิตินัยก็แอบถอดสายออกซิเจนออกจากจมูก และดิ้นจนสายต่างๆ ที่สอดไว้หลุดหมด ลูกกับเมียและพยาบาล 3-4 คน ต้องช่วยกันจับแต่ก็แทบไม่อยู่ ตอนรุ่งเช้าตี 5 ระดับออกซิเจนลดต่ำถึงขั้นอันตราย นิตินัยถูกย้ายเข้าห้องอาร์ซียูที่ตึกอัษฎางค์
07.14 น. วันอาทิตย์ นิตินัยได้เดินทางข้ามวัฏสงสารหนึ่งของเขาโดยสงบสมใจ
ที่น่าสลดใจที่สุด คือนิตินัยไม่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลและเขาไม่มีบำเหน็จบำนาญเลยทั้งๆ ที่เขารับใช้บ้านเมืองมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตลอดชีวิต เขาพูดกับหมอเหมือนกับเพ้อว่า “ผมเป็นลูกผู้ชาย ผมไม่เคยโกงกินประเทศชาติเลยแม้แต่บาทเดียว” หมอฟังแล้วหัวเราะ แต่ผมหัวเราะไม่ออก
ผมเข้าใจว่านิตินัยต้องการบอกหมอว่าทำไมเขาจึงไม่มีเงิน ปัญหาของนิตินัยคือปัญหาของชาติ ชาติที่ไม่ยอมรับนักการเมืองอาชีพ และสถาบันการเมืองสำคัญคือรัฐสภายังด้อยพัฒนา จนกระทั่งมีนักการเมืองอาชีพไม่กี่คนไม่สามารถออกกฎหมายให้สวัสดิการแก่สมาชิกของตนได้ ปล่อยให้คนที่ใจอ่อนออกไปเพ่นพ่านเป็นทาสของนายเงินหรือเอาความเป็นสมาชิกของตนไปค้าขายหาความร่ำรวยและอิทธิพล จนไม่ง้อและไม่คิดที่พัฒนาสถาบันของตนเอง
ท่านผู้อ่านที่เคารพ นี่คือเรื่องของนักการเมืองอาชีพเล็กๆ คนหนึ่ง ผมสารภาพว่าผมต้องเขียนเรื่องนี้ด้วยน้ำตา และด้วยความภูมิใจว่านิตินัย นาครทรรพ คือน้องชายคนสุดท้องของผมเอง
นิตินัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานน้ำหลวงอาบศพสมเกียรติที่เขาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สายสะพายมหาวชิรมงกุฎ แต่เขาสั่งลูกเมียไว้ว่าอยากไปอย่างคนธรรมดา ไม่ต้องมีโกฐ
นิตินัยพักอยู่ที่ศาลา 1 วัดชลประทานฯ หลวงพ่อปัญญา เพื่อฟังการสวดอภิธรรมและอำลาญาติมิตร เวลา 1 ทุ่มตรงจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551
ไปดีเถิด น้องรัก