xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจที่ท้าทายของสำนักงานอัยการสูงสุด (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ปฏิวัติ ธนากรรัฐ

(ต่อจากฉบับวันพุธ)

คดีการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร นั้น คตส.ได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องร้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวและออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่วนคุณหญิงพจมาน ชินวัตร นั้นได้เข้ารายงานตัวต่อศาลและศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวไปแล้ว

คดีการออกสลากพิเศษเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว นั้น คตส.ได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องร้องพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี ตลอดทั้งบอร์ดกองสลาก รวม 47 คน แล้ว ซึ่งคดีอยู่ระหว่างพิจารณาสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องของอัยการสูงสุด แต่หากอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง คตส.ก็มีอำนาจตามกฎหมายที่จะฟ้องคดีเองได้

สำหรับคดีอื่นๆ ได้แก่ คดีการจัดซื้อจัดจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารและเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ,คดีโครงการจัดซื้อจัดจ้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินสนามบินสุวรรณภูมิ, คดีโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่ง (แอร์พอร์ตลิงค์), คดีการปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐบาลพม่าของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (Exim Bank), คดีโครงการจัดซื้อต้นกล้ายาง 90 ล้านต้น ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, คดีโครงการก่อสร้างและจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ของบริษัทห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร (เซ็ลทรัลแล็บ), คดีการปล่อยเงินกู้ของธนาคารกรุง ไทยให้กับผู้บริหารในเครือกฤษดามหานคร, คดีการจัดซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร, คดีบ้านเอื้ออาทร และคดีกล่าวหาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการบริหารราชการแผ่นดินที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ธุรกิจของ ตนเองและพวกพ้อง ซึ่งแยกเป็น 3 เรื่องหลัก คือ 1. ในส่วนมาตรการเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจคมนาคม 2. คดีการซุกหุ้นชินคอร์ป ภาค 2 และ 3. คดีการได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบจากการดำรงตำแหน่งนั้น ยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ คตส. ซึ่งคาดว่า คตส.จะทยอยส่งคดีดังกล่าวให้อัยการสูงสุดพิจารณาและฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของ คตส.พอดี

เมื่อคดีทั้งหมดดังกล่าวเข้ามาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สายตาของสังคมไทยทุกคู่ที่สนใจในปัญหาของบ้านเมืองก็จะจับจ้องและเพ่งเล็งไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นหลัก ทั้งนี้เนื่องจากสังคมมองเห็นว่าศาลเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาว่าจำเลยที่ถูกฟ้องร้องมีความผิดหรือบริสุทธิ์

ทำให้สังคมละเลยและเพิกเฉยที่จะเหลือบแลไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งที่พนักงานอัยการของสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้รับภารกิจอันยิ่งใหญ่โดยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเคยเป็น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อศาลฎีกาฯ นอกจากนี้พนักงานอัยการยังต้องทำหน้าที่ว่าความในศาลโดยการนำพยานหลักฐานทั้งหลายทั้งปวงที่ คตส.รวบรวมมาเสนอต่อศาล เพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิดที่ได้กระทำลงไป

ในคดีอาญาโดยทั่วไป เปรียบพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นตำรวจเป็นต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรม พนักงานอัยการเป็นกลางธารแห่งกระบวนการยุติธรรม และศาลยุติธรรมเป็นปลายธารแห่งกระบวนการยุติธรรม.

หากคดีใดต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรมทำสำนวนการสอบสวนมาดี และกลางธารแห่งกระบวนการยุติธรรมว่าความในศาลดี ปลายธารแห่งกระบวนการยุติธรรมก็สามารถพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดได้

หากคดีใดต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรมทำสำนวนการสอบสวนมาไม่ดี กลางธารแห่งกระบวนการยุติธรรมก็ยังมีอำนาจสั่งให้ต้นธารฯทำสำนวนการสอบสวนให้ดีได้ และเมื่อคดีสู่ศาล หากกลางธารแห่งกระบวนการยุติธรรมว่าความดี ปลายธารแห่งกระบวนการยุติธรรมก็สามารถพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดได้

แต่ถ้าหากคดีใดต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรมทำสำนวนการสอบสวนมาดี แต่กลางธารแห่งกระบวนการยุติธรรมว่าความในศาลไม่ดี และไม่เต็มประสิทธิภาพของการเป็นทนายแผ่นดินไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ปลายธารแห่งกระบวนการยุติธรรมก็คงไม่สามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้ นั่นหมายถึงว่าศาลก็จำต้องปล่อยให้คนชั่วลอยนวลไป

ในการดำเนินคดีกับอดีตนายกรัฐมนตรีกับพวกในคดีดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นคดีทางการเมือง นอกจากต้องเป็นไปตามหลักการข้างต้นแล้ว การดำเนินคดีดังกล่าวยิ่งต้องเป็นพิเศษยิ่งกว่า เพราะผู้ที่ถูกฟ้องเป็นบุคคลที่ทรงพลานุภาพในทุกๆ ด้าน ทั้งเงินตรา ทั้งอำนาจ อีกทั้งยังมีทีมทนายความที่แข็งแกร่งและเขี้ยวลากดิน

ในการดำเนินคดีกับอดีตนายกรัฐมนตรีกับพวก การทำหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นั้น เปรียบเสมือนการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนซึ่งมีหน้าที่ทำการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงเสนอต่ออัยการสูงสุด เพื่อฟ้องร้องอดีตนายกรัฐมนตรีกับพวกต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ตลอดระยะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า สังคมไทยโดยส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ประกอบไปด้วยอดีตตุลาการ อดีตทนายความ อดีตอาจารย์สอนกฎหมาย และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ว่าท่านเหล่านั้นทำหน้าที่พนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าวได้ดีและมีประสิทธิภาพ นั่นหมายความว่า....ต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรมในคดีทางการเมืองเหล่านั้นซึ่งเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของรัฐ ได้มีการทำสำนวนการสอบสวนคดีมาดีแล้ว

เมื่อคดีเหล่านั้นมาถึงมืออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้ทีมงานของทนายแผ่นดินฟ้องร้องคดีดังกล่าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว เมื่อ นั้น......สังคมก็ควรที่จะจับจ้องสายตาทุกคู่ไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดอย่าให้กะพริบสายตาด้วยเช่นกัน

พร้อมกันนั้น สังคมจะต้องเป็นกำลังใจให้แก่ทีมทนายแผ่นดินที่ทำหน้าที่ว่าความในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นงานที่เหนื่อยยากและท้าทายความสามารถ อีกทั้งสังคมจะต้องคอยเป็นหูเป็นตาเป็นยามคอยปัดป้องไม่ให้มีผู้หนึ่งผู้ใดที่มีอำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของทนายแผ่นดินในการทำหน้าที่พิสูจน์ความผิดของเหล่าจำเลยและปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ

หากสังคมละเลยเพิกเฉยไม่ยอมเหลือบแลมายังสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วไซร้ หน่วยงานของรัฐแห่งนี้ก็อาจจะถูกแทรกแซงจากผู้ใช้อำนาจรัฐได้ และเพียงแค่สำนักงานอัยการสูงสุดปล่อยเกียร์ว่าง โดยที่ทีมทนายแผ่นดินทำหน้าที่ว่าความในศาลฎีกาฯ ไม่สมศักดิ์ศรีและไม่สมกับที่ประชา ชนตั้งความหวังไว้ไม่ว่าด้วยเหตุประการใดก็ตาม ไม่ว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะทรงความยุติธรรมสักเพียงใดก็ตาม ท่านก็คงไม่สามารถที่จะพิจารณาพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดได้ ก็ต้องปล่อยให้คนกระทำความผิดในคดีทางการเมืองเหล่านั้นลอยนวลไป

เมื่อสังคมหันมาจับจ้องอยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดเองก็ต้องทำหน้าที่ของตนเองให้เต็มประสิทธิภาพของการเป็นทนายแผ่นดิน และถึงเวลาแล้วที่สำนักงานอัยการสูงสุดจะต้องสร้างกำแพงและบรรทัดฐานแห่งหลักการให้สูงส่ง ไม่ให้มีอำนาจหนึ่งอำนาจใดเข้ามาแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการได้ เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้สังคมเกิดความเชื่อมั่น และศรัทธาองค์กรอัยการไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าศาลยุติธรรม ให้สมกับที่รัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้ให้เกียรติบัญญัติรับรองให้องค์กรอัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

นี่ช่างเป็นภารกิจที่ท้าทายจริงๆ ของสำนักงานอัยการสูงสุดในยุคใหม่นี้

กำลังโหลดความคิดเห็น