xs
xsm
sm
md
lg

พระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้สร้างความ “เศร้าโศก” และ “โทมนัส” แก่พสกนิกรชาวไทยถ้วนหน้า จนพี่น้องประชาชนจำนวนมากทั่วทุกสารทิศต่าง “ถวายสักการะพระศพ” ในภูมิลำเนาของตนเอง ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลไหนต่อ “พระฉายาลักษณ์” ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในสถานที่ราชการต่างๆ ทั่วประเทศ หรือประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ต่างก็เดินทางไปที่ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวังอย่างเนืองแน่น และแต่งกาย “ไว้ทุกข์” กันทุกคน

จากข้อมูลที่ได้มานั้น ประชาชนได้หลั่งไหลไปร่วมไว้อาลัยและถวายสักการะพระศพ พร้อมลงนามสมุดถวายอาลัยอย่างเนืองแน่น ปัจจุบันจำนวนน่าจะสูงถึงหลักหลายแสน ตลอดจนบริจาคเงินส่วนตัวเพื่ออุทิศให้แก่มูลนิธิต่างๆ ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเป็นประธาน ซึ่งมีจำนวนมูลนิธิมากมายทีเดียว

วันเวลาถึงแม้ว่า จะผ่านพ้นไปแล้วถึง 8 วัน แต่การแสดงความไว้อาลัยในสื่อสารมวลชนทุกแขนง ก็ยังมีการเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ความรู้สึกของประชาชนชาวไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ยังเศร้าสลด พร้อมแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านไม่เว้นแต่วันเดียว

ตลอดระยะเวลา 15 วัน ของการ “ลดธงครึ่งเสา” และ “แต่งกายไว้ทุกข์” ของเหล่าบรรดาข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาต่างก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปจนถึงสัปดาห์หน้า ส่วนคณะรัฐมนตรีนั้นและสำนักพระราชวังจะได้มีพระพิธีสวดพระอภิธรรมพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เป็นเวลา 100 วัน

อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ภาคประชาชน ต่างร่วมไว้อาลัยด้วยการลดธงครึ่งเสาและไว้ทุกข์อย่างล้นหลาม โดยมิต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของทั้งสำนักพระราชวังและสำนักนายกรัฐมนตรี

“ความเต็มใจ” ของชาวไทยทุกภาคส่วน ต่างน้อมรำลึกถึง “พระกรุณาธิคุณ” ของพระองค์ท่านที่ทรงมีอย่างใหญ่หลวงแก่ชาวไทยทุกคน ไม่ว่าในเมืองหลวง เมืองใหญ่ ชนบท และถิ่นทุรกันดาร ที่พระองค์ท่านทรงปฏิบัติ “พระกรณียกิจ” อย่างต่อเนื่อง มิได้เหนื่อยล้า ย่อท้อ มายาวนานนับ 50 ปี เกือบ 60 ปีก็ว่าได้

จากความรำลึกใน “พระกรุณาธิคุณ” ที่มีต่อพระองค์ท่านนั้น ชาวไทยทุกภาคส่วน “สมควรจะ” และ “น่าจะ” ดำเนินการอย่างพร้อมเพรียง แน่นอนในการแต่งกาย “ไว้ทุกข์” ไปจนกว่าจะครบกำหนด 100 วัน หรือมากกว่านั้น

ทั้งนี้ “พระพิธีพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์” น่าจะเกิน 100 วัน นับจากนี้ ซึ่งไม่มีใครทราบได้ว่า “หมายกำหนดการ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงโปรดเกล้าพระบรมราชานุญาตในพระพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ เมื่อใด ซึ่งก็หมายความว่า น่าจะเกิน 100 วัน โดยพี่น้องประชาชนชาวไทยก็คงจะร่วมไว้อาลัย ถวายสักการะ และไว้ทุกข์ ไปจนถึงวันนั้นอย่างแน่นอน

การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้ นำความโศกเศร้าสู่คนไทยอย่างถ้วนหน้า แม้กระทั่งคนไทยในต่างแดนต่างร่วมไว้อาลัยถวายสักการะพระฉายาลักษณ์ทุกแห่งหน แต่ที่น่าประทับใจที่สุดคือ ชาวต่างชาติทั่วโลกต่างร่วมไว้อาลัยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะราชวงศ์ต่างๆ ทั่วโลก 27 ราชวงศ์ พร้อมผู้นำประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศได้ส่งสาส์น แสดงความไว้อาลัยร่วมกับเหตุการณ์สำคัญในครั้งนี้ นำความ “ปลื้มปีติ-ประทับใจ” แก่ชาวไทยทุกคน

วันนี้วันพุธที่ 9 มกราคม 2551 เป็นวันสุดท้าย ที่พี่น้องประชาชนชาวไทยจะได้เข้าถวายสักการะหน้าพระฉายาลักษณ์ และลงนามในสมุดถวายสักการะด้วยที่ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่วันพรุ่งนี้ วันที่ 10 มกราคม เป็นต้นไป ประชาชนสามารถเข้าถวายสักการะพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ได้ในเวลา 09.00-16.00 น. เป็นต้นไป ดังนั้น เราชาวไทยทุกคนยังได้สบโอกาสที่จะร่วมถวายสักการะไว้อาลัยต่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ไปจนครบ 100 วันหรือมากกว่านั้น

ความเศร้าโศกและโทมนัสของการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ เนื่องด้วยพระองค์ท่านทรงเป็นพระเชษฐ์ภคินีที่รักยิ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตลอดจนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้เป็น พระเชษฐ์ภคินี (พี่สาวของพระมหากษัตริย์ไทยถึงสองพระองค์ กล่าวคือ รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9)

ทั้งสามพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปใช้ชีวิตในวัยเด็กยังต่างประเทศ และได้รับการศึกษาในต่างประเทศเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ถ้าจะเอ่ยกล่าวเป็นภาษาชาวบ้านปกติธรรมดา ก็ต้องกล่าวว่า “ร่วมทุกข์ร่วมสุข” ด้วยกันมากับ “สมเด็จย่า : สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ตั้งแต่เยาว์วัย ตลอดจนมิได้มีชีวิตในวัยเยาว์อย่างหรูหราฟุ่มเฟือยแต่ประการใด ว่าไปแล้ว “สมเด็จย่า” และ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ” กับ “พระอนุชาทั้งสองพระองค์” ได้ดำเนินชีวิตอย่างสมถะเรียบง่าย “พอเพียง” ตามสถานะเมื่อทรงประทับอยู่ต่างแดน

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ทรงมีพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถทางด้าน “อักษรศาสตร์” และ/หรือ “ภาษา” ถึง 5 ภาษา กล่าวคือ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาไทย และภาษาสวิส

พระองค์ท่านได้ทรงเป็นพระอาจารย์ เริ่มที่เป็นพระอาจารย์พิเศษที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงเป็นพระอาจารย์ประจำที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ได้ทรงลาออกในเวลาต่อมา แต่ก็ทรงเป็นพระอาจารย์บรรยายพิเศษในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นต้น

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ทรงมี “พระกรณียกิจ” และ “พระดำริ” มากมาย แต่คนไทยมักได้รับรู้ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การทรงงาน” ของพระองค์ท่านตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

มูลนิธิ “แพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี” หรือมักเรียกย่อๆ ว่า “พอ.สว.” ซึ่งเริ่มก่อตั้งเป็นหน่วยแพทย์ขึ้นโดย “สมเด็จย่า” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 ซึ่งประกอบไปด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งทั้งหมดเป็น “อาสาสมัคร” ทั้งสิ้น ที่ให้การสนับสนุนออกไปให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดาร

แต่มาเริ่มก่อตั้งเป็น “มูลนิธิ” จริงๆ จังๆ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2517 โดยหลังจากที่ “สมเด็จย่า” ทรงสวรรคตแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

นอกเหนือจาก “มูลนิธิ พอ.สว.” แล้ว ยังมีมูลนิธิอีกมากมาย อาทิ มูลนิธิโรคไตฯ มูลนิธิขาเทียมฯ เป็นต้น ที่พระองค์ท่านได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ยากไร้มายาวนาน เช่นเดียวกันซึ่งยังมีอีกหลากหลายโครงการ และกองทุนต่างๆ มากมาย ทั้งด้านการศึกษา สาธารณประโยชน์ ไม่ว่าในกรุงเทพฯ ชนบทและท้องถิ่นทุรกันดาร เรียกว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ทรงอุทิศพระกรณียกิจ และพระจริยวัตรทุกอย่างเพื่อประชาชนของพระองค์ท่านจริงๆ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่ห่วงใยราษฎรทุกหย่อมหญ้า โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ตลอดจนพระทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อคนไทยถ้วนหน้า พระกรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านทรงยึดถือปฏิบัติแก่เราชาวไทยมาอย่างยาวนานตลอดเกือบ 60 ปีนี้ หวังว่า “คนไทยต้องมิรู้ลืม!”

แม้กระทั่ง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 วัน เราชาวไทยทุกคนยังได้เรียนรู้ ศึกษาถึงพระกรณียกิจของพระองค์ท่านภายในประเทศและเสด็จพระดำเนินต่างประเทศ ด้วยการนำเสนอของสถานีโทรทัศน์แทบทุกช่อง โดยเฉพาะช่อง 9 ช่อง 11 และสถานีโทรทัศน์ TITV

เราคนไทยต่างได้เรียนรู้ทั้งในเชิงสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี ของแต่ละประเทศที่พระองค์ท่านได้เสด็จไป โดยสามารถเรียนรู้ได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง นับเป็น “การศึกษานอกระบบ” ที่เราได้รับคุณูปการอย่างใหญ่หลวง

นอกจากนั้น ยังเป็นโอกาสที่คนไทยไม่ว่าเพศใด วัยใด น่าจะได้ถือโอกาสนี้เรียนรู้ ประวัติศาสตร์ และขนบธรรมเนียม แบบแผนประเพณี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ราชาศัพท์” ที่คนไทยยุคใหม่อาจไม่เคยได้ยินได้ใช้มาก่อน

พระประวัติและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ท่านในครั้งนี้ ยังคงตราตรึงไว้ในความทรงจำของเราพสกนิกรชาวไทยตลอดกาล

...........................
กำลังโหลดความคิดเห็น