xs
xsm
sm
md
lg

‘โครงการหลวง’หล่อเลี้ยงชุมชน ธุรกิจแบบอย่างความพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – ด้วยปณิธานที่มุ่งมั่นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ต้องการพลิกฟื้นพื้นที่ปลูกฝิ่นของชาวเขา ให้กลายเป็นแผ่นดินทอง ที่สร้างรายได้ และหล่อเลี้ยงครอบครัวของชาวเขาได้อย่างยั่งยืน โดยที่ชาวเขาไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน ซึ่งการย้ายถิ่นฐานจะนำมาซึ่งปัญหาการแผ้วถางป่าไปไม่หยุดหย่อน

เป็นเวลากว่า 38 ปีแล้ว ของการดำเนินงานบนพื้นที่สูงของโครงการหลวง ที่นำไปสู่มาตรฐาน โดยชักชวนชาวเขาให้เข้ามาร่วมดำเนินการ และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรแก่ชาวเขา ทำให้ปัญหายาเสพติดของชาวเขาได้รับการแก้ไขด้วยความรวดเร็ว และชาวเขามีอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้อย่างมั่นคง

ทั้งนี้การจัดตั้งโครงการหลวงเพื่อพัฒนาชาวเขา โดยเป็นการส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชผักชนิดต่างๆ แทนการปลูกฝิ่นจนประสบความสำเร็จ ทำให้ชาวเขามีอาชีพที่มั่นคง และมีรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว ซึ่งหนึ่งในพื้นที่ปลูกผักของโครงการหลวง ได้แก่ ศูนย์หนองหอย จ.เชียงใหม่ ที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมกับการปลูกผักเมืองหนาว ได้หลากหลายชนิด เช่น โอ๊คลีฟแดง-เขียว, เรดโครอล, บัตเตอร์เฮด, พริกหวาน และมะเขือเทศดอยคำ ซึ่งคุณภาพของการปลูกปักเหล่านี้ เป็นผลงานของชาวเขาที่มีความตั้งใจจริง และเชื่อมั่นในโครงการหลวงที่จะนำพารายได้มาสู่ครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

หน้าที่การปลูกผักให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตามที่กำหนด ถือเป็นภารกิจหลักของชาวเขา ส่วนขั้นตอนหลังจากนั้น จะเป็นทีมงานของเจ้าหน้าที่โครงการหลวง ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อการเก็บรักษาผักให้คงความสดใหม่ได้ยาวนานที่สุด รวมถึงขั้นตอนการบรรจุ และการจัดจำหน่ายทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ทางโครงการหลวงได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากโครงการวิจัยแบบบูรณาการโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยให้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยนำร่องเพื่อพัฒนาตัวแบบระบบการผลิตพืชผักให้ได้มาตรฐานคุณภาพอาหาร สำหรับส่งออก โดยเป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่มุ่งสร้างฐานการผลิตและการจัดการให้ได้มาตรฐาน Eurepgap เพื่อส่งออกผลิตผลสู่ตลาดสหภาพยุโรป

เมื่อโครงการหลวงได้พัฒนาคุณภาพผักให้ได้ตามมาตรฐานแล้ว ก็ถือเป็นการเปิดตลาดในต่างประเทศไปในตัว ซึ่งจากการศึกษาศักยภาพของตลาดส่งออกสำหรับผักบางชนิด โดยตลาดที่คาดว่าน่าจะมีศักยภาพสำหรับสินค้าประเภทผัก ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น ทั้งนี้จะเน้นผักที่อยู่ในโครงการนำร่อง และเน้นตลาดยุโรปเป็นหลัก โดยการศึกษาจะร่วมมือกับการบินไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของโครงการหลวงในแง่ทั้งเป็นลูกค้าหลักและช่วยเป็นช่องการในการกระจายสินค้าไปยังประเทศเป้าหมายได้อีกด้วย

หลังจากที่ผักของโครงการหลวงสามารถได้ตามมาตรฐานที่กำหนดแล้ว ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความรู้ไปใช้ในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ รวมถึงยังมีการนำองค์ความรู้ไปพัฒนาการบริหารให้เกิดการพึ่งพาระหว่างเกษตรภายในกลุ่มเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และต่อยอดไปสู่การจัดตั้งกองทุนเกษตรกร ส่วนในด้านการตลาด ทางโครงการหลวงก็ได้พันธมิตรรายใหญ่ที่อุดหนุนผักของโครงการหลวง อย่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ทำให้ผักสดเมืองหนาวของไทย ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพในเรื่องรสชาติ ให้แก่ชาวต่างชาติได้ลิ้มลอง รวมถึงได้คลอดผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร ภายใต้แบรนด์ “ดอยคำ” ซึ่งปัจจุบันได้แปรรูปอาหารกระป๋องที่หลากหลาย เช่น แยมสตรอเบอรี่ แยมพลับ แยมท้อ แป้งสาลี น้ำกระเจี๊ยบบรรจุกระป๋อง และน้ำเสาวรส เป็นต้น

แม้ว่าธุรกิจของโครงการหลวงจะดำเนินงานมายาวนานกว่า 38 ปี แล้ว ที่ทำให้ชาวเขามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ แต่สำหรับเจ้าหน้าในโครงการฯ ยังไม่หยุดที่จะพัฒนาผลิตผลให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าโครงการดังกล่าว ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือชาวเขาให้มีที่ดินทำกิน และมีรายได้แล้ว ยังสามารถสร้างเป็นแบบแผนให้กับภาคเกษตรของไทย ได้นำองค์ความรู้ไปพัฒนาธุรกิจของตนเองต่อไป

******************

---- โครงการหลวงเปลี่ยนตามสินค้าจาก “ดอยคำ” เป็น “โครงการหลวง”---

เดิมมูลนิธิโครงการหลวงใช้ชื่อตรา “ดอยคำ” เป็นชื่อผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิฯ เพื่อให้เกิดความเข้าใจง่าย และไม่สับสันแก่ผู้บริโภค จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อตรา “โครงการหลวง” แทน เนื่องจากที่ผ่านมามีการจัดงานราชพฤกษ์ พบว่ามีร้านค้า กิจกรรม ผลผลิต ผลิตภัณฑ์ ของภาคเอกชน ที่ใช้ชื่อดอยคำ ทำให้เกิดความสุบสนแก่บุคคลทั่วไป
กำลังโหลดความคิดเห็น