xs
xsm
sm
md
lg

โยธาฯเข้มค่าตรวจอาคาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชาย ชุ่มรัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการตรวจสอบอาคารว่า หลังจากที่ก่อนหน้านี้กรมโยธาฯ ได้ประกาศใช้กฎกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการตรวจสอบอาคารนับจากปี2548 ที่ผ่านมาและมีการขยายเวลาให้ผู้ประกอบการอาคาร หรือเจ้าของอาคารเพื่อให้เข้ามาลงทะเบียนการตรวจสอบอาคารประจำปี ล่าสุดเมื่อวันที่29 ธ.ค.2550 กรมโยธาฯได้ปิดการขยายเวลาลงทะเบียนดังกล่าว พร้อมด้วยการออกประกาศราคามาตรฐานในการตรวจสอบอาคารตารางเมตร(ตร.ม.)ละ2-4 บาท ซึ่งแบ่งตามประเภทอาคารออกไป ซึ่งหากยังมีอาคารใดที่ไม่เข้ามาลงทะเบียนตรวจสอบอาคารจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายทันที
ทั้งนี้ หลังจากที่มีการประกาศราคามาตรฐานในการตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า การร้องเรียนเกี่ยวกับการคิดราคาการตรวจสอบอาคาร จากผู้ประกอบการอาคารหรือเจ้าของก็หมดไป จากที่ก่อนนั้นมีผู้ประกอบการหรือเจ้าของอาคาร โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนเกี่ยวกับการคิดค่าตรวจสอบอาคาร จากบริษัทที่ได้รับการรับรองจากกรมโยธาฯว่าคิดราคาค่าตรวจสอบอาคารแพงเกินควร
โดยกรมโยธาฯได้กำหนดประมาณการราคาค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบอาคาร เพื่อให้เจ้าของใช้เป็นบรรทัดฐานในการว่าจ้างผู้ตรวจสอบอาคาร โดยค่าตรวจสอบประจำปีของอาคารทั่วไป พื้นที่ไม่เกิน 50,000 ตร.ม. จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 25,000 บาทต่อปี ส่วนอาคารทั่วไปที่มีพื้นที่เกิน 50,000 ตร.ม. จะมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบประมาณ 45,000 บาทต่อปี สำหรับป้ายสูง 15 เมตรขึ้นไป จะมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบประมาณ 20,000 บาทต่อป้าย
สำหรับการตรวจสอบใหญ่ทุก 5 ปี ในอาคารทั่วไปพื้นที่ที่น้อยกว่า 10,000 ตร.ม.และไม่เกิน 20,000 ตร.ม. เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 4 บาทต่อตร.ม. ส่วนพื้นที่ 20,000 -50,000 ตร.ม. เสียค่าใช้จ่ายตร.ม.ละ 3 บาท และอาคารเนื้อที่ 50,000 ตร.ม.ขึ้นไป เสียค่าใช้จ่ายตร.ม.ละ 2 บาท ส่วนป้ายสูงเกิน 15 เมตร เสียค่าใช้จ่าย 20,000 บาทต่อป้าย
“ที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดราคาค่าตรวจสอบที่เป็นมาตรฐานชัดเจน ทำให้เจ้าของอาคารถูกเอาเปรียบจากผู้ตรวจสอบอาคารที่โก่งราคา บางรายเสียค่าตรวจสอบแพงเกินความเป็นจริง ”นายสมชายกล่าว
อธิบดีกรมโยธาฯกล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ได้รับใบประกอบวิชาชีพการตรวจสอบอาคาร ทั้งในส่วนที่เป็นบุคคลและบริษัทมีจำนวน2,000 รายทั่วประเทศ และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกนับจากนี้ ทั้งนี้หลังจากที่กรมโยธาฯมีการประกาศราคามาตรฐานในการตรวจสอบอาคารออกไปแล้ว หากยังมีผู้ตรวจสอบอาคารหรือบริษัทตรวจสอบอาคารรายใด คิดค่าดำเนินการในการตรวจสอบสูงเกินกว่าที่กำหนด กรมโยธาฯจะดำเนินการยึดใบประกอบวิชาชีพในทันที
ทั้งนี้ อาคารที่ต้องตรวจสอบ ทั้ง 9 ประเภท ได้แก่ 1. อาคารสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป 2. อาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตร.ม.ขึ้นไป 3. อาคารชุมนุมคนที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตร.ม. หรือมีจำนวนคนตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป 4. โรงมหรสพ 5. โรงแรมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป 6. สถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตร.ม.ขึ้นไป 7. อาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป 8. โรงงานที่สูงมากกว่า 1 ชั้น และ มีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตร.ม.ขึ้นไป 9. ป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตร.ม.ขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าที่มีพื้นที่ 25 ตร.ม.ขึ้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น