xs
xsm
sm
md
lg

มีเดียมอนิเตอร์ซัด TITV มั่วจี้แก้ข่าวให้ตรงความเป็นจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มีเดียมอนิเตอร์ เรียกร้องสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี รับผิดชอบต่อการออกแถลงการณ์ผ่านข่าวภาคค่ำนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมาโจมตีมีเดียมอนิเตอร์ที่ระบุว่า ทีไอทีวีนำเสนอข่าวเลือกตั้งไม่เป็นกลาง โดยขอให้นำเสนอความจริง และสืบหาผู้ที่นำข้อมูลที่ผิดพลาดมานำเสนอเป็นข่าว และแก้ไขข่าวให้ถูกต้อง โดยให้ ผอ.สถานี และผอ.ฝ่านยข่าวทีไอทีวีออกมาชี้แจงความรับผิดชอบเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงมีเดียมอนิเตอร์

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการ ศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือมีเดียมอนิเตอร์ แถลงว่ากรณี เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ได้ออกแถลงการณ์ช่วงข่าวภาคค่ำของกลุ่มพนักงานฝ่ายข่าว ทีไอทีวี เพื่อตอบโต้ แถลงการณ์ของสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. โดยมีเนื้อหา พาดพิงถึงมีเดียมอนิเตอร์ 2 ส่วนคือ 1.พนักงานฝ่ายข่าวทีไอทีวีเห็นว่า การออกแถลงการณ์ของสมาคมฯเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ในลักษณะกล่าวหาพนักงานฝ่ายข่าวไอทีวี เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในฐานะสื่อมวลชนในช่วงสุดท้าย การเลือกตั้ง โดยอ้างอิงข้อมูล จากกลุ่มมีเดียมอนิเตอร์ ที่ระบุในเชิงว่า สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี มีอคติต่อการรายงานข่าว ปกป้องและแก้ตัวให้นักการเมือง ซึ่งข้อมูล ทำให้รู้สึกได้ว่า พยายามจะกล่าวหาว่าการทำงานของฝ่ายข่าวไอทีวี ขาดความเป็นกลาง

2.อีกทั้งหากมองลึกลงไปในกระบวนการจัดหาข้อมูลของกลุ่มมีเดียมอนิเตอร์ ซึ่งศึกษาจากเทปรายการโทรทัศน์ฟรีทีวีในช่วงเวลา 16.00 -18.00 น. 7 วัน ระหว่างวันที่ 21-22 และ 24-28 พ.ย. 2550 นั้นจะพบว่าช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ใช่ช่วงเวลาหลักที่สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีนำเสนอข่าว (ข่าวหลักช่วงค่ำ 19.00 - 2.30 น. ตัวจริงชัดเจนช่วง 20.30 - 21.10 น. Hot News ช่วง 21.10 น.) โดย กลุ่มพนักงานฝ่ายข่าวเห็นว่า ข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณาตัดสินคนทำข่าวโดยเฉพาะในไอทีวี จึงมีความคลาดเคลื่อนที่อาจจะทำให้การสรุปผลการศึกษามีความเบี่ยงเบนสูง

ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าวว่า โครงการฯได้ทำจดหมาย ส่งถึง อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี และ ส่งถึงนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.การศึกษาที่ถูกอ้างถึง คือ งานรอบที่ 16 ของโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม(มีเดียมอนิเตอร์) หัวเรื่อง “สื่อมวลชนกับบทบาทในการนำเสนอเนื้อหาการเลือกตั้ง” โดยศึกษาในฟรีทีวีทั้ง 6 ช่อง คือ ช่อง 3,5,7,9,11 และ ทีไอทีวี ช่วงเวลาที่ทำการศึกษา คือ วันที่ 21-22 และ 24-28 พ.ย. 2550 ของการออกอากาศรายการระหว่างเวลา 16.00 - 24.00 น. จุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาภาพรวมของการนำเสนอเนื้อหาการเลือกตั้ง ของฟรีทีวีทั้ง 6 ช่อง เพื่อศึกษามาตรฐานการทำงานอย่างมีจรรยาบรรณวิชาชีพ และเพื่อศึกษาบทบาทของสื่อมวลชนในการเสริมสร้างความรู้ และ ค่านิยมประชาธิปไตย

2. ทั้งนี้ มีกรอบความคิดที่ใช้อ้างอิงในการศึกษา ที่สำคัญ คือ แนวทางในการ แพร่ภาพกระจายเสียงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ( Guidelines for Election Broadcasting in Transitional Democracies ึ Article 19) กรอบปฏิบัติและจรรยาบรรณวิชาชีพของบีบีซี (The BBCัs Editorial Values) ซึ่งสื่อมวลชนวิชาชีพที่มีจรรยาบรรณ ยึดถือปฏิบัติกันในหลายประเทศทั่วโลก

3.โครงการฯ ได้จัดแถลงผลการศึกษาครั้งนี้ ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยหวังว่า ผลการศึกษาจะช่วยสร้างความตื่นตัว ความสนใจของสังคม และ ยกระดับคุณค่าและคุณภาพการนำเสนอข่าวและรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค. 2550 ต่อมาในวันรุ่งขึ้น คือ 18 ธ.ค. โครงการฯ ได้จัดส่งเอกสาร สรุปสาระสำคัญผลการศึกษา และ สาระสรุปจากการอภิปรายแสดงความคิดเห็น เพิ่มเติมของวิทยาการต่อผลการศึกษา ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องหลังการแถลงผลการ ศึกษา ไปยัง ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ และจนถึงวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา ก็มิได้รับการทักท้วงกลับมา จากสถานีใด

4.โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 ตลอดระยะเวลาการทำงาน โครงการฯได้ปฏิบัติภารกิจตามสาระที่ระบุในการขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คือ ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ เนื้อหาที่สื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ นำเสนอ ตามโจทย์หรือจุดมุ่งหมายการศึกษาแต่ละครั้งที่กำหนดขึ้นโดยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการวิชาการ ที่ติดตามกำกับดูแลคุณภาพการทำงานของโครงการฯ ตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การกำหนดประเด็นและจุดมุ่งหมายของการศึกษา การออกแบบวิธีการศึกษา การวิเคราะห์ การสรุปและนำเสนอผลการศึกษา

5.จุดมุ่งหมายหลักของโครงการ ฯ คือ การพัฒนาองค์ความรู้ เทคนิค วิธีการ การศึกษาและเฝ้าระวังสื่อ การเผยแพร่ผลการศึกษาสู่สาธารณะ การขยายเครือข่ายงานการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อ การพัฒนาศักยภาพผู้รับสื่อ และ การยกระดับคุณภาพเนื้อหาที่สื่อนำเสนอ โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

6.จุดยืนสำคัญของโครงการฯ คือ การปฏิบัติตามภารกิจ อย่างให้ความสำคัญกับคุณภาพงาน และ ประโยชน์ต่อสาธารณะ นอกจากนั้นโครงการฯยังให้ความสำคัญกับการสร้างและการขยายพันธมิตรโดยเฉพาะ เครือข่ายองค์กรนักวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชนฯลฯ แต่โครงการฯ ไม่ทำงานเพื่อสนองตอบต่อประโยชน์เฉพาะของกลุ่มใด ทั้งนี้ ผลการศึกษาของโครงการฯที่นำเสนอต่อสาธารณะ ถือเป็นข้อมูล ความรู้ของสังคมที่ผู้นำไปอ้างอิงถึง ต้องเป็นผู้พิจารณาเอง ด้วยความรับผิดชอบ

ขอให้ฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี แสดงความรับผิดชอบ 1.ข่าวภาคค่ำของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ได้นำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง คือ กล่าวว่า โครงการฯทำการศึกษาในช่วงเวลา 16.00-18.00น. ทั้งในความจริง โครงการทำการศึกษารายการที่ออกอากาศระหว่างเวลา 16.00-24.00 น. ในสถานีฟรีทีวี 6 ช่อง ตลอดระยะเวลา 7 วันที่ทำการศึกษา

2.การที่ข่าวทีไอทีวีและแถลงการณ์ อ้างถึงช่วงเวลาการศึกษา และระบุว่า มิใช่ช่วงเวลารายการข่าว รายการตัวจริงชัดเจน รายการ Hot News ทั้งที่ในความเป็นจริง โครงการฯได้ทำการศึกษา วิเคราะห์ รายการดังระบุ ตลอด 7 วันที่ทำการศึกษา ทั้งนี้ผลการศึกษา ก็ได้มาจากการวิเคราะห์เนื้อหารายการที่กล่าวมา

จึงอาจกล่าวได้ว่า แถลงการณ์ของกลุ่มพนักงานฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เป็นการกระทำอย่างจงใจให้สาธารณะเข้าใจว่า โครงการฯ ทำงานบนฐานข้อมูลลม หรือ ไม่มีข้อมูลจริง นับเป็นการทำลายเกียรติภูมิ และ ความน่าเชื่อถือในการทำงานของ โครงการฯ ซึ่งโครงการฯให้ความสำคัญมากที่สุด

3.ด้วยปัจจุบัน สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ถือเป็นสมบัติของชาติ โดยมีกรมประชาสัมพันธ์ รับผิดชอบ ดูแล การที่ฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ใช้สมบัติชาติ ในการสื่อสารสิ่งที่เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มตนกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แล้วพาดพิงทั้งกล่าวหาโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม อย่างขาดความถูกต้องของข้อมูล ด้วยวิธีการนำเสนอที่สร้างความเสียหาย ต่อโครงการฯ จึงถือเป็นความบกพร่องทางจรรยาบรรณวิชาชีพ ทั้งยังกระทำอย่างถืออำนาจที่ทำงานกับสื่อซึ่งเป็นสมบัติของประชาชน ดำเนินการสื่อสาร สิ่งที่มิได้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่เพื่อประโยชน์ของกลุ่มตน ทำลายชื่อเสียง โครงการฯ โดยที่โครงการฯ ไม่ได้ได้ใช้สื่อและการสื่อสาร อย่างเท่าเทียมกัน

โครงการฯ จึงขอให้ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี และ ผู้อำนวยการ ฝ่ายข่าวทีไอทีวี ดำเนินการ ดังนี้ 1.ขอให้โครงการฯ ได้สื่อสารความเป็นจริง ในช่องทางและเวลา ที่เท่าเทียมกับที่ฝ่ายข่าวของสถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี ได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ฝ่ายเดียว

2.ขอให้สืบสวนความเป็นจริง โดยเฉพาะความผิดพลาดของข้อมูลเรื่องเวลา ที่ทำการศึกษา 3.ขอให้มีการแก้ข่าว โดยนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการฯ ทางสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีโดยเร็ว 4. ขอให้ผู้รับผิดชอบโดยตรง คือ ผู้อำนวยการสถานี และ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ได้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริง และ กอบกู้ชื่อเสียงของโครงการฯ อย่างมีความรับผิดชอบ ทางสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี และทางสื่อมวลชนอื่น

ทั้งนี้ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม ขอยืนยันว่า ข้อเรียกร้องที่ขอให้ดำเนินการในครั้งนี้ มิได้เพื่อประโยชน์โครงการฯ แต่เพื่อปกป้อง ความถูกต้องของข้อมูล และ รักษามาตรฐานที่ดีงามแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน ที่โครงการฯ ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญ ตลอดการทำงานของโครงการฯ เสมอมา
กำลังโหลดความคิดเห็น