xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีระบบโลกกับแนวคิดฟิสิกส์ใหม่ (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

วัตถุนิยม หรือ จิตนิยม

เพื่อนคนหนึ่งคงกลัวว่าผมจะพูดเรื่องปรัชญาธรรมชาติ จนลืมที่จะตอบว่า ผมเป็นจิตนิยม หรือ เป็นวัตถุนิยม ท่านจึงสวนขึ้นว่า

“แล้ว คุณยุค เชื่อแบบจิตนิยม หรือ วัตถุนิยม”

ผมตอบว่า
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องทางปรัชญาที่ถกเถียงกันมายาวนาน

นักคิดบางท่านก็เป็นนักคิดแบบวัตถุนิยม เชื่อว่าโลกวัตถุมาก่อนโลกของจิต หรือมนุษย์ที่มีจิตใจ และเชื่อว่าสภาวะแวดล้อมกำหนดเหนือพฤติกรรมของมนุษย์

นักคิดบางคนก็เป็นนักจิตนิยม อย่างเช่นเชื่อว่า โลกนี้คือจิต หรือมีพระเจ้า ซึ่งเป็นพระจิต หรือเชื่อว่า ทั้งหมดคือจิตจักรวาล

ผมคิดว่า ผิดทั้งคู่

ดังที่ผมกล่าวมาแล้ว ฟิสิกส์ใหม่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างชีวิต และไม่มีชีวิต เลือนลางลงไป เพราะเราไม่สามารถแยกชีวิต กับไม่มีชีวิตออกจากกันได้

เต๋า กล่าวว่า ใจก็คือกาย กายก็คือใจ ตีความอีกแบบหนึ่งได้ว่า โลกวัตถุน่าจะมีความรับรู้ได้ เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น ปัจจุบัน Masaru Emoto ได้ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่าง สภาวะจิตมนุษย์ที่เปลี่ยนไป กับผลึกของ“น้ำ” โดยการถ่ายภาพโมเลกุลของน้ำ

สิ่งที่ค้นพบคือ จิตที่งดงาม หรือหงุดหงิด สามารถส่งผลสะเทือนต่อคุณภาพน้ำได้ โดยภาพถ่ายเกล็ดโมเลกุลน้ำจะแปรเปลี่ยนไป เมื่อจิตเราดี ส่งผลให้เกล็ดน้ำมีรูปร่างสวยงาม

ถ้าเป็นพวกจิตนิยมก็คงอธิบายว่า จิตนี้มีพลังอำนาจมหาศาล สามารถดลบันดาลสิ่งต่างๆได้ตามใจปรารถนา

แต่ผมกลับคิด นี่สะท้อนว่า น้ำอาจจะมีความสามารถในการรับรู้เช่นกัน และส่วนแห่งความรับรู้ของน้ำนั้นสามารถเชื่อมตรงกับสภาวะจิตมนุษย์ได้โดยตรง

ผมจึงเชื่อว่า โลกที่เราเห็นทั้งหมดคือ โลกแห่งชีวิตที่มีความสามารถในการรับรู้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าวิถีแห่งการรับรู้ของแต่ละสิ่งจะแตกต่างกันออกไป

ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่า จิตกับวัตถุ หรือ ใจกับกาย ไม่ได้มีอะไรเกิดก่อนกัน แต่ดำรงอยู่ด้วยกัน และพัฒนาแปรเปลี่ยนไปด้วยกัน

ในกรณีของมนุษย์ ผมเองเชื่อว่า จิตเป็นประธานในการตัดสินใจ และการเคลื่อนไหวของมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกัน สภาพแวดล้อมก็มีส่วนกำหนดจิตใจด้วย ในเวลาเดียวกัน

แต่สภาพแวดล้อมไม่ได้กำหนดทั้งหมดแบบสมบูรณ์ เพราะมิติของจิตมีความซับซ้อนมาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากสมองมีความสามารถบันทึกเรื่องราว มีความเชื่อ และสามารถค้นคิดสิ่งต่างๆ

ดังนั้น คนที่เผชิญสภาพแวดล้อมเดียวกัน และมีจุดยืนอยู่ในชนชั้นเดียวกัน จึงสามารถตัดสินใจไม่เหมือนกันได้

จนมีคำกล่าวว่า จิตมนุษย์ยากแท้ หยั่งถึง

บางคนก่อนตัดสินใจทำอะไร ก็ต้องถามเพื่อนๆ ก่อน ถ้าถามว่าเพื่อนๆที่เราถามเป็นตัวกาย หรือ ตัวใจกันแน่ คงตอบยาก

นอกจากนี้ โลกของจิตยังดำรงอยู่ และเชื่อมโยงกัน เป็นสนามพลังจิตที่กว้างไกล

นั้นคือ สนามพลังจิต และความรับรู้

ถ้าเราคิดให้ดี ระบบสื่อสาร การติดต่อ อย่างเช่นคอมพิวเตอร์ ทีวี และอื่นๆ คือระบบเครือข่ายที่ช่วยก่อให้เกิด สนามพลังแห่งจิต และความรับรู้ที่เชื่อมการรับรู้ ความเชื่อ ทฤษฎี และความนึกคิดของผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกัน มองในแง่นี้ ระบบสื่อสารที่เชื่อมโลกทั้งใบ น่าจะดูเป็น “กาย” แต่ด้านวัฒนธรรม (ความรู้ ค่านิยม ความเชื่อ ความเขลา และภูมิปัญญา) น่าจะดูราวเป็น “ใจ หรือจิตใจ”

สนามพลังจิต และความรับรู้นี้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเราด้วยเช่นกัน อย่างเช่นปัจจุบัน ทีวีมีอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างมากๆ หรือเวลาเราจะค้นคว้าเรื่องอะไร เราจะหาข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ก่อนเสมอ

ผมขอกล่าวอย่างสรุปว่า

“จิต” กับ “วัตถุ” กำเนิดขึ้นพร้อมกัน และกำหนดซึ่งกันและกัน ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ปรัชญาวัตถุนิยมกลไก และวัตถุนิยมวิภาค ถือว่าโลกโดยพื้นฐานคือ โลกวัตถุ ซึ่งสามารถรับรู้ได้ (น่าสงสัยว่า ไม่จริง)

ส่วนปรัชญาวัตถุนิยมวิภาคของ Marx ที่บอกว่า ทุกหน่วยมีความขัดแย้งซ่อนอยู่ภายใน ความขัดแย้งที่สะสมนี้จะเพิ่มทวีขึ้น จนนำสู่การเปลี่ยนแปลงทางปริมาณ แต่ในที่สุดก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพ

อย่างเช่น เหล็กกลายเป็นสนิม หรือ น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง แต่ทั้งหมดล้วนมีขั้นตอน และกฎเกณฑ์
ที่แน่นอน

แม้ว่า ปรัชญานี้ดูว่าเหนือกว่าปรัชญาวัตถุนิยมกลไก และมองโลกอย่างมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็มีข้ออ่อนตรงที่ให้ความสำคัญต่อปัจจัยภายในอย่างมาก ราวกับมีพรมแดนที่สามารถแยกสิ่งต่างๆออกจากกันได้อย่างแน่ชัด

ข้ออ่อนอีกด้านหนึ่งคือ ความเชื่อว่ามีกฎที่ตายตัว และใช้ได้ในทุกที่

ฟิสิกส์ยุคใหม่ (ควอนตัม) ได้ท้าทายความเชื่อเรื่อง พรมแดนที่ตายตัว และกฎเกณฑ์ที่แน่นอนชัดเจน รวมทั้งความเชื่อที่ว่า จิตกำหนด หรือโลกวัตถุกำหนดจิต เพราะทุกอย่างกำหนดซึ่งกันและกันไปมา อย่างซับซ้อนยิ่ง

ระบบชีวิตจึงพลิกผันได้ง่ายมาก จนเราไม่สามารถบอกว่า อะไรเป็นอะไรได้อย่างแน่ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์

ตัวอย่างง่ายๆ คือเรื่องน้ำ โดยทั่วไปนักวิทยาศาสตร์จะบอกว่า น้ำประกอบด้วย ไฮโดรเจน ๒ ตัว ออกซิเจน 1 ตัว

แต่ที่จริงแล้ว น้ำที่ประกอบเพียง 2 สิ่งนี้ กลับไม่ใช่น้ำที่เรากินได้ แต่เป็นน้ำที่เราไม่สามารถกินได้

แล้วน้ำที่กินได้คืออะไร

คำตอบคือ น้ำที่มีองค์ประกอบของสสารอื่นๆอยู่ด้วย อย่างเช่น มีแร่ธาตุมากมาย รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า มีชีวิตเล็กๆ จำนวนมหาศาล

นี่หมายความว่า น้ำที่เรากินได้ มีองค์ประกอบที่ไม่แน่นอนอยู่ ขึ้นกับสถานที่ และสภาวะแวดล้อม

แต่ในช่วงเวลาเรากินน้ำ ถ้าจิตใจเรางดงาม สนามพลังจิตก็จะส่งผลโดยตรงต่อการประกอบกันของอนุภาคของน้ำ จนสามารถทำให้อนุภาคของน้ำงดงาม แต่ถ้าจิตใจเราขุ่นมัว อนุภาคของน้ำ ก็จะน่าเกลียด เป็นไปในทางตรงข้าม

นี่หมายความอีกว่า เราไม่สามารถบอกว่า อะไรเป็นอะไรแน่นอนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกจังหวะคือการผันเปลี่ยน

ความจริงก็คือ อะไรบางอย่างที่ลื่นไหลได้ตลอดเวลา

บางคนอาจจะสงสัยว่า เวลาที่เราศึกษาพลวัตรของโลกขนาดใหญ่ อย่างเช่น จักรวาล หรือเอกภพดวงดาว เรามักจะพบว่า เอกภพ และดวงดาวนั้นดูราวว่าไม่พลิกผัน และดูราวว่ามีกฎแน่นอน

แต่ถ้าเราลองย่อเวลาของจักรวาล ของเอกภพ และของโลกลง เราก็จะพบกฎแห่งความพลิกผัน และความไม่แน่นอน ปรากฏขึ้นมากมายทุกช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป เช่นกัน

กล่าวอย่างสรุปคือ ผมเชื่อว่า จิต และวัตถุ คือ 2 ด้านของความจริงเดียวกัน ที่ต้องประกอบกัน และแยกจากกันไม่ได้ มีสิ่งหนึ่ง ก็ต้องมีอีกสิ่งหนึ่ง

ไอน์สไตน์ พบหลักธรรมชาติว่า E เท่ากับ Mc ยกกำลังสอง หรือ พลังงานสามารถแปรสภาพเป็นวัตถุได้ และพบว่า วัตถุเพียงก้อนเล็กๆ จะมีพลังงานมหาศาลซ่อนอยู่ได้ และสามารถแปรเปลี่ยนกลับเป็นพลังงานได้

ผมเชื่อว่า กฎของไอน์สไตน์ข้อนี้เป็นกฎที่สำคัญยิ่ง และยืนอยู่เบื้องหลังการเกิดก่อโลกธรรมชาติที่เรามองเห็น

พอล ดิเรก นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงของโลกคนหนึ่งกล่าวว่า กฎที่ไอน์สไตน์ค้นพบข้อนี้ยังจำกัด เพราะที่แท้ต้องเติมเครื่องหมายบวกลบหน้า Mc ยกกำลังสอง เนื่องจากสสารต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ปฏิสสาร หรือ Antimatter ดำรงอยู่ประกอบกัน

แต่ พอล ดิเรก คิดไปกว้างไกลอย่างมากๆ จนคิดว่าน่าจะมีโลกคู่ขนาน หรือ จักรวาลคู่ขนาน ซึ่งมีคุณลักษณะแบบปฏิสสารดำรงอยู่ด้วย

แต่ผมคิดแตกต่างจาก ดิเรก ผมคิดว่า Antimatter ที่แท้ก็คือ “จิตใจ” ซึ่งมีคุณสมบัติตรงข้ามกับวัตถุ

ผมคิดแบบง่ายๆ โดยพิจารณาจากระบบร่างกาย

ร่างกายมนุษย์ย่อยอาหาร เปลี่ยนอาหารเป็นพลังงาน พลังงานที่ถูกผลิตขึ้นจะถูกนำไปใช้เสริมสร้างทั้ง M (กาย) ในการผลิตเซลล์ใหม่ รวมทั้งเสริมสร้างสมอง และ M (จิตใจ) ซึ่งมีคุณสมบัติที่ตรงกันข้ามกับกาย ซึ่งมีสภาวะเป็น Antimatter นั่นเอง

ดังนั้น กฎพื้นฐานของชีวิต และจักรวาล ที่แท้คือขบวนการในการแปรสภาพกลับไป และกลับมาระหว่างโลกพลังงานกับ M ที่มี 2 ด้าน ทั้งด้านกาย และด้านใจ

นักฟิสิกส์ปัจจุบันไปคิดว่า Antimatter คือจักรวาลคู่ขนาน จึงพยายามสร้างทฤษฎีที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น ทฤษฎี Super string เพื่อให้สามารถอธิบายการดำรงอยู่ของจักรวาลแบบคู่ขนานนี้

ผมคิดว่า นักฟิสิกส์ปัจจุบันกำลังหลงทาง เนื่องจากพวกเขามองข้ามความจริงว่า Antimatter อาจจะเป็นเรื่องของจิตใจ ซึ่งมีสภาวะที่ตรงข้ามกับสสาร

ดังที่กล่าวข้างต้นว่า จิตเองก็มีชีวิตอยู่กับสนามพลังแห่งจิต และความรับรู้

สนามพลังแห่งจิต และความรับรู้นี้ สามารถดำรงอยู่คู่ขนานกับโลกทางสสาร หรือทางกายได้เช่นกัน

แต่ต้องกล่าวว่า สนามพลังจิตนี้ยากแก่การเรียนรู้ เพราะเป็นสนามพลังที่เรามองไม่เห็น

เพื่อนคนหนึ่งถามขึ้นว่า

“ถ้ามีสนามพลังจิต และความรับรู้ที่มองไม่เห็น จริง ก็น่าจะเป็นไปได้ที่จะมี นรก สวรรค์ นางฟ้า และเทวดา”

ผมตอบว่า “ผมไม่รู้”

ผมขยายต่อว่า

เท่าที่ผมรู้ ถ้ามีสนามพลังจิตนี้ เชื่อมความเป็นมนุษย์ในแง่ความรับรู้ให้เป็นหนึ่งเดียว ดังนั้น เราก็คือเขา เขาก็คือเรา หรือกล่าวว่า มนุษยชาติทุกคนมีจิตที่ร่วมกัน และที่แท้คือ พี่น้องกัน

และเท่าที่รู้ ถ้ามีสนามที่เชื่อมจิตมนุษย์เข้ากับโลกธรรมชาติ และเอกภพ จิตเราก็คือส่วนหนึ่งของจักรวาล และเอกภพ

ดังนั้น เราก็คือส่วนหนึ่งของจักรวาล และจักรวาลก็คือส่วนหนึ่งของตัวเรา

และที่รู้อีกอย่างหนึ่งคือ แนวคิดของไอน์สไตน์เรื่องการรวมพลังพื้นฐานของจักรวาล น่าจะทำได้ยากมากขึ้น เพราะพลังพื้นฐานไม่ได้มีเพียง 4 อย่าง อย่างที่ไอน์สไตน์เข้าใจ แต่มีถึง 5 อย่าง

พลังที่ 5 นี้ยากจะทำความเข้าใจที่สุด เพราะเรามอง “สนามพลังจิต และความรับรู้” ไม่เห็น

ถ้าถามว่า อะไรคือจิต

ผมก็ตอบได้แบบพุทธเซ็นว่า จิตเดิมก็คือ ความรัก และความเอื้ออาทรต่อกัน

แต่ผมไม่มั่นใจว่า ความรักนี้คือสิ่งที่ทำหน้าที่ประสานธรรมชาติทั้งมวลให้เป็นหนึ่งเดียวกัน หรือไม่

อาจจะจริง หรือไม่จริง

ถ้าจริง นี่คือคำตอบว่า ทำไมโลกและจักรวาลนี้จึงช่างประกอบกันอย่างสวยสดงดงามยิ่งนัก

ลองคิดเล่นๆว่า โลกใบนี้ คือแม่ที่ให้กำเนิดลูกๆ อย่างเช่น มนุษย์ และสัตว์ แม่ก็น่าจะรัก และผูกพันกับบรรดาลูกๆ แต่เราตอบไม่ได้ว่า ความผูกพันดังกล่าวจะมีลักษณะอย่างไร เพราะเราไม่รู้ว่า แม่ หรือโลก มีความรับรู้แบบไหน แค่ไหน และอย่างไร

ถ้าศูนย์ของสนามพลังจิต คือ ความรัก คำว่า “ความรัก” อาจจะทำให้เราตอบได้ว่า ทำไมโลกธรรมชาตินี้จึงมีพลังในการสร้างสรรค์ และก่อเกิดที่ยิ่งใหญ่ เพราะความรักคือ พลังที่สร้างโลกนี้ได้

คิดดูง่ายๆ ชายกับหญิง หรือ หยางกับหยิน จะเคลื่อนตัวเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็เพราะความรักที่มีต่อกัน และความรักนี้เองจึงเป็นที่มาของครอบครัว และเป็นที่มาของการเกิดก่อชุมชน และชนชาติต่างๆ

ถ้าปรัชญาเต๋าเรื่องหยางและหยินถูกต้อง พลังที่เชื่อมโยง “พลังหยาง” และ “พลังหยิน” ในโลกธรรมชาติก็อาจจะเป็น “พลังแห่งความรัก”

จะจริงหรือไม่ แค่ไหน วันนี้คงไม่มีใครสามารถตอบได้

แต่ถ้าถามผมว่า พลังจิตนี้มี หรือไม่มี

ผมมั่นใจว่า มี และเชื่อว่าพลังนี้คือ พลังที่ละเอียดอ่อนที่สุด และน่าจะเคลื่อนไหวได้ไวกว่าความเร็วของแสง หรืออาจจะเคลื่อนไหวได้ไวที่สุด (จนตาเรามองไม่เห็น)

ถึงอย่างไร ถ้าสนามพลังจิต และความรับรู้นี้มีจริง สนามพลังนี้จะมีอิทธิพลต่อการไหวเปลี่ยนของธรรมชาติอย่างมาก เพราะสนามพลังนี้น่าจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของโลกธรรมชาติ ไม่ต่างจากที่สมอง และจิตใจซึ่งทำหน้าที่เป็นใจกลางของการตัดสินใจในการเคลื่อนไหวของมนุษย์

ดังนั้นถ้านักฟิสิกส์ปัจจุบันไม่สามารถไขปัญหาเรื่องสนามพลังจิต และความรับรู้ได้ ก็ไม่มีทางที่จะสร้างทฤษฎีที่อธิบายโลกที่สมบูรณ์แบบได้

แต่ต้องระวังอย่าไปคิดว่า พลังจิตใจนั้นคือ สิ่งสูงสุด เพราะจะทำให้เรามองข้ามความสำคัญของกาย หรือโลกที่เรามองเห็น

ผมชอบหลักพุทธที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ที่เชื่อว่า ทุกอย่างเป็นเพียงองค์ประกอบของกันและกันเท่านั้น จนกล่าวได้ว่า ไม่มีสิ่งใดที่สมบูรณ์ในตัวเอง หรือกล่าวว่า “สูงสุด” ได้เลย

ผมคงต้องขอจบแบบไม่จบ เพราะโลกนี้มีเรื่องที่เรายังต้องศึกษา และทำความเข้าใจอีกมาก

ผิดบ้าง ถูกบ้าง ก็ต้องขออภัย

บทสรุป

งานนี้ถือกำเนิดจากการคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างสหายต่อสหาย บทสนทนาตัวจริงจะแตกต่างออกไป ส่วนหนึ่งเป็นงานปรัชญาที่ยุ่งๆหน่อย อีกส่วนหนึ่งเป็นงานทางทฤษฎี

วันนี้ คนทั่วไป ตีค่าวิชาปรัชญาไว้ต่ำมาก จนไม่มีใครสนใจ แต่ผมคิดว่า ถ้าเราจะอยากเข้าใจตัวเรา เข้าใจโลกธรรมชาติ วิชาปรัชญามีค่าสูงสุด

สำหรับผม วิชาฟิสิกส์ก็คือ วิชาปรัชญาในยุคปัจจุบัน เพราะคำถามทางฟิสิกส์ กับคำถามทางปรัชญาคือ คำถามเดียวกัน

อะไรคือ ชีวิต
อะไรคือโลก
อะไรคือ เอกภพ


ทฤษฎีระบบโลกซึ่งเป็นทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ ก็มีฐานกำเนิดมาจากความเข้าใจชีวิต และโลกทางปรัชญา และทางฟิสิกส์แบบหนึ่ง

ทฤษฎีนี้อธิบายโลกแบบไหวเปลี่ยนไปตามจังหวะชีวิตที่พลิกผันไป ราวกับชีวิตผู้คนที่มีเกิด เติบโต มีวิกฤติใหญ่ วิกฤติเล็ก และมีตาย

บางช่วง อย่างเช่น ยุคแรกของระบบโลก ทฤษฎีนี้ได้ใช้วิธีอธิบายมาจากแนวคิดแบบ Neo-Marxism ค่อนข้างมาก กล่าวแบบง่ายๆ ระบบโลกก่อกำเนิดขึ้นมาจากการปล้นชิง ล่าอาณานิคม และการกดขี่แรงงาน จึงนำมาซึ่งการต่อสู้ทางชนชั้น และการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของบรรดาประเทศเมืองขึ้น

พอโลกก้าวสู่ช่วงยุคโลกาภิวัตน์ ระบบโลกเริ่มพลิกผันใหญ่ และก้าวสู่วิกฤติใหญ่แบบรอบด้าน ชาวระบบโลกจึงหันมาใช้ทฤษฎีฟิสิกส์ที่ชื่อว่า Chaos มาช่วยอธิบายการเคลื่อนตัวในช่วงนี้

ผมเองจะต่างจากอาจารย์บ้างตรงที่ ผมจะใช้ทฤษฎี Chaos ประสานกับแนวคิดแบบเต๋า และพุทธ

ผมชอบหลักหยางกับหยิน รวมทั้งหลักเรื่องดุลยภาพ และการเสียดุล ผมชอบหลักพุทธเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท (ปัจจัยกำหนดที่หลากหลายในเวลาเดียวกัน)

แต่คงต้องบอกผู้อ่านว่า ทั้งหมดที่ผมเสนอ น่าจะถือว่าเป็นเพียงภาพสเกตช์ หรือ สมมติฐานเท่านั้น ผมเองก็ยังไม่มีเวลาค้นคว้าประวัติศาสตร์โลกเชิงลึกจริง

งานนี้ผมเสนอภาพทางปรัชญาว่า จิตกับกาย คือ ด้านสองด้านของสิ่งเดียวกัน

เรื่องจิตใจ หรือจิตวิญญาณ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัจเจก หรือเป็นตัวตนอย่างเป็นเอกเทศ อย่างที่คนไทยเข้าใจ แต่เป็นเรื่องที่เป็นองค์รวมอย่างหนึ่ง

ผมจึงเสนอว่า มีสนามพลังจิต และความรับรู้ดำรงอยู่ด้วย แต่เป็นเรื่องที่ต้องค้นหา และทำความเข้าใจอีกมาก

เรามองไม่เห็นสนามพลังนี้ ก็น่าจะเรียกว่าเป็นเรื่องของผีๆ ซึ่งไม่มีตัวตน

งานนี้บอกว่า วันนี้ “ผีๆ” นี้ กำลังหลอกหลอนมนุษย์

จนทุกวันนี้ นักวิชาการตะวันตก ได้หันมาสนใจเรื่อง จิตใจ และพลังจิตกันอย่างมากๆ

นอกจากนี้ ผมยังเสนอว่า ชีวิตเรา รวมทั้งโลก และจักรวาล ล้วนมีชีวิตเต้นรำไปตามจังหวะชีวิตที่พลิกผันอย่างยิ่ง ดังนั้น กฎที่เป็นพื้นฐานของทุกอย่างคือ กฎแห่งอนิจจัฒง

การพลิกไป ผันมา และการเปลี่ยนไปจึงเป็นความจริงที่ยากจะปฏิเสธ

เมื่อโลกเปลี่ยนไปตลอดเวลา เราก็ต้องแสวงหาใหม่ และเรียนรู้ใหม่

การแสวงหาทุกครั้งมีค่ายิ่ง เพราะทำให้เราเข้าใจตัวเรา และชีวิตจักรวาลมากขึ้น ในที่สุด จิต(เรา) กับธรรม(ชาติ) ก็จะเป็นหนึ่งเดียวกัน

ผมเชื่อว่า คำตอบมักชอบซ่อนตัวอยู่ที่มุมเล็กๆ ซึ่งเรามักมองข้ามไปเสมอ

ถ้าเพื่อนๆ ถามผมว่า เราจะเผชิญหน้าวิกฤติใหญ่ทางธรรมชาติ และทางสังคมที่หนักหน่วงได้อย่างไร

ผมขอตอบแบบง่ายๆว่า ถ้าเราตระหนักรู้ว่า เราก็คือโลกใบนี้ และ โลกใบนี้ก็คือเรา ตระหนักรู้ว่า เขาก็คือเรา และ เราก็คือเขา

เราจะพบคำตอบที่แอบซ่อนตัวอยู่ที่กลางใจของเราเอง

นั่นคือ ความรัก และความเมตตาต่อธรรมชาติ และต่อผู้อื่น

ถ้าเรารักธรรมชาติ เราต้องออกมาช่วยกันปกป้อง และดูแลธรรมชาติ

ถ้าเรารักเพื่อมนุษย์ที่ถูกรังแก และถูกเอาเปรียบ เราก็ต้องออกมาช่วยกันขัดขวางการกดขี่ และการเอารัดเอาเปรียบ

ถ้าเราเข้าถึงความรัก ความเมตตา เราก็จะพบและเข้าใจตัวเราเอง และรู้ว่าชีวิตเราเกิดมาเพื่ออะไร


จนกว่าจะพบกันอีก
ยุค ศรีอาริยะ
กำลังโหลดความคิดเห็น