xs
xsm
sm
md
lg

"คลัง"โอ่เศรษฐกิจปีหน้าโตถึง6% นักวิชาการจี้คุมเข้มวินัยสกัดประชานิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน : คลังโอ่จีดีพีปีหน้ามีโอกาสโตสูงถึง 6% แม้จะมีรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นรัฐบาลผสม หากการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวขึ้น การเบิกจ่าย-การลงทุนโครงการใหญ่เดินหน้าต่อเนื่อง ด้านม.รังสิตคาดเศรษฐกิจโต 4-5% แนะรัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพสูง การว่างงาน และความไม่ชัดเจนด้านนโยบาย ระบุรมว.คลังควรเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง และได้รับการยอมรับ ที่สำคัญต้องเคร่งครัดในวินัยทางการคลังในช่วงนโยบายประชานิยมเฟืองฟู

นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายระบบการเงินสำนักนโยบายระบบการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า มีโอกาสที่จีดีพีในปี 2551 จะสูงถึง 6% ได้ หากปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งหมด อาทิ การบริโภค การลงทุนของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากปีนี้มากการเบิกจ่ายและการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งออกไม่ชะลอตัวลงจากปีนี้อย่างรุนแรง ประกอบกับจากการที่ทั้งปี 2550 รัฐบาลมีการทยอยปรับขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการ พนักงานรัฐสาหกิจ ค่าแรงขั้นต่ำ และล่าสุดมีการอนุมัติงบประมาณกว่า 6,800 ล้านบาท อีกทั้งจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศในช่วงต้นปี 2551 จึงทำให้มั่นใจว่าจะกระตุ้นการบริโภคในปี 2551 ให้ฟื้นตัวขึ้นได้อย่างมากอย่างแน่นอน เพราะเป็นผลทางด้านจิตวิทยาให้กับประชาชนได้รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเพราะเงินเดือนปรับขึ้น

"อยากให้ความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2551 จะต้องดีกว่าปี 2550 แน่นอนแม้จะมีรัฐบาลผสมเข้ามาบริหารประเทศก็ตาม ซึ่งที่ผ่านมาข้าราชการประจำเองก็มีการทำงานอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว จึงมีความพร้อมในการงานร่วมกับฝ่ายการเมืองอย่างเต็มที่ แม้ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงไปบ้าง แต่ด้วยพื้นฐานที่ดีของเศรษฐกิจไทยหากเราคุมอุปสรรคที่เกิดขึ้นในปีนี้ได้ก็อาจทำให้จีดีพีสูงเกินคาด"นายโชติชัยกล่าว

แนะว่าที่รมว.คลังต้องเคร่งวินัย

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจภายหลังการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลว่า สถานะของรัฐบาลที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นรัฐบาลผสมนั้น ไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ หากเป็นรัฐบาลผสมที่มีเสถียรภาพ ก็จะสามารถจัดการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ เพราะถ้ารัฐบาลไม่มีเสถียรภาพก็จะมีความเสี่ยงต่อการผลักดันกับนโยบายต่างๆในการแก้ไขปัญหาได้ รวมทั้งการลงทุนก็จะชะลอตัวต่อไปอีกก็จะทำให้เศรษฐกิจปีหน้าชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

"รัฐบาลที่อายุสั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระยะยาวก็จะไม่เกิดขึ้น และการลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ก็จะไม่เกิด จะกระทบต่อเศรษฐกิจต่อไป"นายอนุสรณ์กล่าว

นอกจากนี้ ขอเสนอแนะทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่อยู่ระหว่างการจัดตั้งนั้น ควรเร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนก่อน เนื่องจากขณะนี้รายได้ที่แท้จริงของประชาชนลดลง แม้ว่าบางส่วนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังต่ำกว่าเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาคนว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ได้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และในด้านของกฎกติกาหรือพ.ร.บ.บางฉบับที่ยังไม่มีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.ค้าปลีก พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติมากที่สุด

แต่ในส่วนของมาตรการกันสำรอง 30% นั้น เห็นด้วยกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ยังให้คงมาตรการดังกล่าวไว้ก่อน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น ที่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในปีหน้า และมาตรการดังกล่าวก็ผ่อนผันไปมากแล้ว จังไม่น่าที่จะส่งผลต่อเงินทุนที่ไหลเข้าตามปกติมากนัก

"การจัดตั้งรัฐบาลควรเป็นการจัดตั้งที่มีแนวโน้มที่จะสามารถบริหารงานด้านเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งถ้าทำได้ปัญหาเศรษฐกิจก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างวิกฤตเศรษฐกิจค่อนข้างจะแน่ใจว่าไม่เกิดในปีหน้า แต่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า หากมีปัญหาทางการเมืองอยู่เรื่อยๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย”นายอนุสรณ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่พรรคที่อยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลจะต้องคำนึงถึง คือปัญหาทางการเมือง โดยผู้นำรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาไม่ควรมีแนวทางหรือท่าทีที่ก่อให้เกิดการเผชิญหน้าหรือเกิดความแตกแยก อาทิ การยุบคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.) เนื่องจากปัจจุบันก็ยังมีการคอรัปชั่นของนักการเมืองหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อยู่ และคตส.เองก็มีวาระที่ยุบในเดือนมิถุนายนปีหน้าอยู่แล้ว หรือกรณีการนริโทษกรรมอดีตผู้บริหารพรรคการเมืองพรรคไทยรักไทยจำนวน 111 คนนั้น ก็ยังไม่ใช่ภาระกิจเร่งด่วน ควรจะดูแลด้านเศรษฐกิจมากกว่า

สำหรับผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในช่วงประเทศยังมีปัญหานั้น ควรเป็นที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการเงิน-การคลัง ซื่อสัตย์ และมีผลงานเป็นที่ยอมรับจากชาวต่างชาติ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส.อาจจะเป็นบุคคลจากภายนอกก็ได้ และในภาวะที่รัฐบาลซึ่งแนวนโยบายที่เป็นประชานิยมมากๆนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มีความเคร่งครัดในวินัยทางการเงิน เพื่อไม่ให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมีปัญหาจากนโยบายดังกล่าวในระยะยาว

คาดเศรษฐกิจปีหน้าโต 4-5%

ส่วนการคาดการณ์ภาวเศรษฐกิจปีหน้านั้น กรณีที่ความเป็นไปได้มากที่สุดคือกรณีพื้นฐานคาดว่าเศรษฐกิจจะโตประมาณ 4-5% และช่วงที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุดคือ 4-4.5% โดยมีสมมติฐานภายนอกว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก 14 ประเทศอยู่ที่ 4% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีสมมติฐานด้านนโยบายที่อัตราอัตราลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปีอยู่ในระดับ 3% รายจ่ายภาคสาธารณะตามปีงบประมาณอยู่ที่ 2.28 ล้านล้านบาท และในกรณีที่มีรัฐบาลผสมที่ค่อนข้างอ่อนแอ และทีมเศรษฐกิจที่ไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก แต่ไม่มีวิกฤติทางการเมือง

ทั้งนี้ ภาพรวมของอัตรากาาขยายตัวของการลงทุนในปีหน้าจะอยู่ที่ 4% โดยการลงทุนภาคเอกชนเติบโตที่ระดับ 4% การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 4%(กรณีพื้นฐาน) แต่อัตราการขยายตัวอาจจะสูงถึง 7.2% (กรณีดี) หากเกิดสถานการณ์เศรษฐกิจเกิดกรณีเลวร้าย อัตiาการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนจะดีกว่าปีที่แล้วเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือ ขยายตัวเพียง 1% เท่านั้น โดยที่ปี 50 มีอัตราการขยายตัวเพียง 0.3% ขณะที่การลงทุนโดยรวมไม่ถึง 1% ซึ่งหากเป็นไปในลักษณะดังกล่าวเอกชนจะชะลอการลงทุนต่อไปอีก ดังนั้น รัฐบาลต้องเดินหน้าเป็นตัวนำในการลงทุน

"หากรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมากไปกว่านี้ ในสถานการณ์การส่งออกมีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้า รัฐบาลใหม่จึงควรมีการใช้จ่ายงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 2 ไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนล้าน โดยการขาดดุลเพิ่มเติมนี้ต้องใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ เพื่อชดเชยการชะลอตัวของการส่งออก"นายอนุสรณ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น