xs
xsm
sm
md
lg

มวลเอ๋ย...มวลชน

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ตอนที่สังคมการเมืองไทยถูกปกครองโดยเผด็จการทหารนานนับสิบปีนับแต่ทศวรรษ 2490 จนถึงกลางทศวรรษ 2510 นั้น การพูดอะไรที่อ้างถึงประชาชนในทางการเมืองนับเป็นเรื่องที่ล่อแหลมต่อคนพูดอยู่ไม่น้อย เพราะต่อให้พูดตามนัยปกติที่เป็นไปเพื่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในกรอบคิดแบบประชาธิปไตยก็ตาม คนพูดก็มีสิทธิ์ที่จะถูกจับติดคุกหัวโตได้ไม่ยาก โดยมีข้อหาคอมมิวนิสต์เป็นธงนำควบคู่ไปกับข้อหากบฏภายในราชอาณาจักร

ตอนที่สถานการณ์เป็นเช่นที่ว่านี้ ผมยังไม่ประสีประสาเรื่องการเมืองมากนัก จึงแยกไม่ออกว่า คนที่พูดถึงประชาชนแล้วถูกจับนั้น มันเกี่ยวอะไรกับความผิดในสองข้อหานั้น และด้วยความเป็นเด็ก จึงเข้าใจไปว่า พฤติกรรมของคนพูดแบบนั้นเช่นนั้นก็คือ ถ้าไม่เป็นคอมมิวนิสต์ก็ต้องเป็นกบฏ โดยเฉพาะคอมมิวนิสต์

คอมมิวนิสต์จึงเป็นอะไรที่น่ารังเกียจเอามากๆ ฉะนั้น ต่อให้ใครสักคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้ๆ โดยไม่เกี่ยวอะไรกับคอมมิวนิสต์ก็ตาม คนคนนั้นก็ถูกทำให้น่ารังเกียจไปอย่างช่วยไม่ได้

ผมจำได้ว่า ความน่ารังเกียจของคอมมิวนิสต์ในเวลานั้นไปไกลถึงขนาดที่ว่า มีอยู่ปีหนึ่งชั้นเรียนประถมของผมได้ทำกระทงส่งเข้าประกวดกับเขาบ้าง โดยกระทงที่ทำนั้นแสดงภาพพฤติกรรมที่ไม่ดีของคอมมิวนิสต์ นัยว่าหลังการประกวดแล้ว ก็จะนำกระทงนี้ไปลอยบนแม่น้ำเหมือนจะให้คอมมิวนิสต์ลอยไปไกลๆ จากเมืองไทยอย่าได้มาแผ้วพานเป็นอันขาด

แต่ใครจะไปนึกว่า เวลาผ่านไปไม่ถึงสิบปีหลังจากการเรียนในชั้นประถมไปแล้ว ทัศนะที่มีต่อคอมมิวนิสต์ในสังคมไทยก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ยิ่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาด้วยแล้ว ทัศนะที่ว่านี้ก็ไปไกลถึงขั้นนิยมชมชอบในลัทธินี้

ตอนนี้เองที่ผมเริ่มรู้ว่า เหตุใดพวกคอมมิวนิสต์จึงชอบใช้คำว่า “ประชาชน” อยู่เสมอ ที่สำคัญคือ มีคำอีกคำหนึ่งที่ถูกใช้ควบคู่กับคำว่า “ประชาชน” ขึ้นมาด้วย นั่นคือคำว่า “มวลชน” ที่ฟังดูแปลกหูดี และหลังจากนั้น ฝ่ายซ้ายไทยก็นิยมใช้คำว่า “มวลชน” พอๆ กับคำว่า “ประชาชน” ยิ่งอยู่ในวงสนทนาของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ด้วยแล้ว ดูเหมือนว่าคำว่า “มวลชน” จะถูกใช้มากเป็นพิเศษ

ผมไม่รู้ว่าคำว่ามวลชนที่ใช้กันอยู่ในเวลานั้น ใครเป็นผู้บัญญัติขึ้นมา ซึ่งต้องนับว่าบัญญัติได้ดีแท้ คือบัญญัติจากคำว่า “mass” ในภาษาอังกฤษ ตอนนั้นถ้าให้ผมบัญญัติเองแล้วก็คงได้แต่คิดวนเวียนอยู่แต่กับคำว่า “มวล” เท่านั้น ส่วนจะ “มวล...” อะไรต่อไป คิดไม่ออกหรอกครับ (ถึงเดี๋ยวนี้ก็เถอะ)

และในช่วงที่ฝ่ายซ้ายกำลังเฟื่องนี้เอง ที่ผมพบว่า หนังสือของฝ่ายซ้ายที่ส่วนใหญ่มักจะมาจากซ้ายจีนนั้น มีคำว่ามวลชนอยู่มากพอๆ กับคำว่าประชาชน และคนที่เอ่ยถึงคำนี้บ่อยมากคนหนึ่งก็คืออดีตผู้นำจีนที่ชื่อ เหมาเจ๋อตง หรือ “ประธานเหมา” ทั้งนี้เห็นได้จากงานนิพนธ์ของ “ขาใหญ่” คอมมิวนิสต์ท่านนี้ที่ปรากฏอยู่ในสรรนิพนธ์และคติพจน์ของท่านที่มีผู้รวบรวมขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เท่าที่ดูการใช้คำว่ามวลชนของ ประธานเหมา แล้ว พบว่า มวลชนของท่านมักจะหมายถึงชนชั้นล่างที่เป็นชาวนาหรือคนยากคนจนเสียมากกว่า ถึงแม้ท่านจะไม่ตัดชนชั้นอื่นออกไปก็ตาม

ที่เป็นเช่นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะสังคมจีนเวลานั้น (อย่างน้อยก็กึ่งแรกของศตวรรษที่ 20) เป็นชาวนามากกว่าร้อยละ 90 ซ้ำยังเป็นชาวนาที่ทุกข์ยากเข็ญใจ ประธานเหมา จึงเห็นชาวนาเป็นพลังสำคัญของการปฏิวัติประเทศจีน และเมื่อรวมเข้ากับพลังปฏิวัติจากชนชั้นอื่นๆ (ที่มีเป็นส่วนน้อย) ประธานเหมา จึงเรียกรวมๆ ว่า มวลชน

การที่ ประธานเหมา ศรัทธาและเชื่อมั่นในมวลชนจึงเป็นไปภายใต้เงื่อนไขที่เป็นจริงของสังคมจีนเองโดยแท้ แต่พอฝ่ายซ้ายไทยรับเอาทัศนะเกี่ยวกับมวลชนเข้ามา ไม่ว่าจะด้วยเชื่ออย่างจริงใจหรือด้วยความไร้เดียงสาก็ตาม มวลชนในทัศนะของฝ่ายซ้ายไทยก็เห็นว่า มวลชนเป็นอะไรที่ก้าวหน้า ห้ามดูหมิ่นเหยียดหยามเป็นอันขาด ยิ่งเป็นซ้ายด้วยแล้วก็ยิ่งต้องเคารพและเชื่อมั่นในพลังมวลชนอย่างมั่นคงไม่เสื่อมคลาย

ผมจำได้ว่า ในมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนอยู่นั้น องค์กรนักศึกษาถึงกับนำเอาถ้อยประโยคของ ประธานเหมา ในคติพจน์มาเขียนเป็นอักษรตัวโตๆ (ที่เลียนแบบมาจากจีนในขณะนั้น) เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของมวลชนว่า “มวลชนคือวีรชนที่แท้จริง ส่วนเราเองนั้นมักอ่อนหัดน่าขันเสมอ ถ้าไม่เข้าใจข้อนี้แล้ว ก็ไม่สามารถได้รับแม้กระทั่งความรู้เบื้องต้น”

เมื่อมวลชนยิ่งใหญ่ปานนั้น เวลาที่ฝ่ายซ้ายไทยจะทำอะไรเกี่ยวกับการเมืองก็ตาม ก็มักจะพกเอาความเชื่อมั่นในมวลชนเข้าไปด้วยเสมอ เพราะเชื่อว่า หากเชื่อมั่นแล้ว ชัยชนะก็ไม่ไกลเกินเอื้อม ทัศนะต่อมวลชนเช่นว่ายังคงมีอยู่แม้กระทั่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาไปแล้ว ยิ่งฝ่ายขวาจัดเล่นแรงเพียงใด ฝ่ายซ้ายก็ยิ่งเชื่อว่า ยังไงเสียมวลชนก็ไม่เอาด้วย

จนวันหนึ่ง การเลือกตั้งก็มาถึงในปี 2522 (หลังจากเว้นวรรคไปตั้งแต่ปี 2519) ตอนนั้น คุณสมัคร สุนทรเวช ได้ตั้งพรรคประชากรไทยขึ้นมาแข่งขันกับพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย แต่สำหรับฝ่ายซ้ายไทยหรือแม้แต่คนที่มีหัวเสรีนิยมทั่วๆ ไปแล้ว ไม่มีใครชอบ คุณสมัคร เพราะ คุณสมัคร นอกจากจะขวาจัดแล้ว ก็ยังมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลาอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

แถมหลังเหตุการณ์ก็ยังได้รับการปูนบำเหน็จให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยจากรัฐบาล คุณธานินทร์ กรัยวิเชียร อันเป็นรัฐบาลที่ได้ชื่อว่าขวาจัดที่สุดชุดหนึ่งเท่าที่สังคมการเมืองเคยมีมา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ เพราะขวาจัดด้วยกันทั้งคู่

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเชื่อมั่นในมวลชน คนที่ไม่ชอบ คุณสมัคร จึงเชื่อกันว่า คงไม่มีใครเลือก คุณสมัคร และพรรคประชากรไทยเป็นแน่ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ แต่ที่ไหนได้ ผลกลับปรากฏว่า คุณสมัคร และผู้สมัครพรรคประชากรไทยกวาดที่นั่งไปเกือบหมดกรุงเทพฯ โดยทิ้งให้คู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์สอยมาได้เพียงคนเดียวเหมือนเอาไว้ปลอบใจและดูเล่น

นี่นับเป็นฝีมือของมวลชนล้วนๆ ผมจำได้ว่า ผู้สมัครหัวเสรีนิยมคนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ถึงกับประกาศลั่นว่า “ต่อไปนี้ ผมไม่เชื่อประชาชนต่อไปอีกแล้ว” (ไม่ฮา) วาทะนี้นับว่ากระทบใจฝ่ายซ้ายไทยอยู่ไม่น้อย ทั้งที่ตนเองก็ยังงงๆ อยู่ว่า เหตุใดมวลชนที่ตนเชื่อมั่นจึงหันไปนิยมนักการเมืองขวาจัดได้หว่า?

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ฝ่ายซ้ายไทยเกิดความแตกแยกและอ่อนพลังไปจนแทบไม่เหลือแล้วนั้น ผมจึงค่อยๆ พบว่า มวลชนของสังคมการเมืองไทยเป็นคนละ “มวล” กับมวลชนของ ประธานเหมา เพราะหลายสิบปีที่ผ่านมา มวลชนในสังคมการเมืองไทยเป็นมวลชนที่ตกอยู่ในวงล้อมของทุนนิยมจนยากที่จะแหกออกไปได้

มวลชนที่ไม่ยอมให้กับทุนนิยมก็จะต่อสู้ในแบบที่สมัชชาคนจนสู้ ส่วนมวลชนที่ยอมก็จะปล่อยตัวให้ไหลไปตามกระแสถึงแม้จะเสียเปรียบเห็นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับมวลชนที่อยู่ในเมือง (ด้วยเหตุนี้ มวลชนในชนบทจำนวนมากจึงอพยพเข้ามาในเมืองกันเป็นแสนเป็นล้าน)

มวลชนในกลุ่มหลังจึงไม่ติดยึดคนที่จะมาเป็นผู้นำของตน ว่าจะต้องเป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ จะขวาหรือจะซ้าย หรืออะไรทั้งสิ้น ขอเพียงผู้นำคนนั้นสามารถสนองตอบในสิ่งที่ตนต้องการเท่านั้น ตนก็จะเลือก ที่สำคัญคือ ยังพร้อมที่จะชนกับมวลชนกลุ่มแรกอีกด้วย หากเห็นว่าเข้ามาขวางผลประโยชน์ในความคิดของตน

มวลชนในสังคมการเมืองไทยจึงเป็นมวลชนที่แตกกระจายหลากหลายความคิดและผลประโยชน์ที่สลับซับซ้อน ไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ เมืองใหญ่ หรือในชนบท และต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ตนไม่ใช่ควายที่ใครจะมาสนตะพายเอาได้ง่ายๆ หากเลือกใครเป็นผู้นำแล้ว ก็ย่อมเลือกบนวิจารณญาณของตน ไม่ใช่ด้วยเงินที่มาซื้อเสียงไม่กี่ร้อยกี่พันบาท

ตั้งแต่สัมผัสอยู่วงนอกการเมืองไทยมา ผมก็เพิ่งเห็นยุคนี้แหละที่จะพิสูจน์ได้ดีว่า มวลชนคือวีรชนที่แท้จริง (ดังที่ ประธานเหมา ท่านว่าเอาไว้) จริงหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น