xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวโพด GMO โผล่พิษณุโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไบโอไทยแถลงพบข้าวโพดจีเอ็มโอปนเปื้อน 2 ตัวอย่าง ในพื้นที่เปิด ที่พิษณุโลกไม่ไกลจากมอนซานโต้ คาดอาจหลุดมาจากบริษัทดังกล่าว หวั่นกระทบต่อการส่งออก เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย ร้องนายกฯ ให้เร่งแก้ปัญหาโดยด่วน ก่อนที่จะอนุญาตให้มีการทดลองภาคสนาม

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) แถลงเมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.) เรื่องพบการปนเปื้อนของข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งนับเป็นพืชจีเอ็มโอชนิดที่ 3 แล้ว ที่พบการปนเปื้อนในประเทศไทย ขณะที่การปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ เมื่อหลายปีก่อนยังไม่คืบหน้า และยังจะมีการผลักดันให้ทดลองภาคสนามอีก วอนรัฐให้เร่งจัดการก่อนปัญหาบานปลายเหมือนที่ผ่านมา

นายวิฑูรย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25-26 พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิชีววิถี ร่วมกับอาจารย์และนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการเก็บตัวอย่างพืช 3 ชนิด จากพื้นที่เกษตรกรรมใน จ.นครสวรรค์ พิษณุโลก และ สุโขทัย ที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของจีเอ็มโอ มาทดสอบ ได้แก่ ฝ้าย ถั่วเหลือง และข้าวโพด

"เราพบว่า มีการปนเปื้อนของจีเอ็มโออยู่ในข้าวโพด 2 ตัวอย่าง จากทั้งสิ้น 19 ตัวอย่าง โดยเบื้องต้นพบว่า เป็นการปนเปื้อนของจีเอ็มโอในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ยังระบุไม่ได้ว่า เป็นข้าวโพดต้านทานสารปราบวัชพืช และข้าวโพดต้านทานหนอนเจาะลำต้นเช่นเดียวกับที่ บริษัทมอนซานโต้เคยขออนุญาตนำเข้ามาทดสอบในประเทศไทยเมื่อปี 41-42 หรือไม่ แต่มีความเป็นไปได้สูงมาก ที่จะเป็นชนิดเดียวกัน เพราะพบตัวอย่างนี้ในพื้นที่ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก และอยู่ห่างจากมอนซานโต้ไม่ถึง 1 กม."นายวิฑูรย์ กล่าว

ด้าน น.ส.น้ำทิพย์ เกตุสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่ประสานงานของมูลนิธิชีววิถี ซึ่งเป็นผู้ที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเอง ให้รายละเพิ่มเติมว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นแปลงข้าวโพดร้าง ที่พบระหว่างทาง จึงลงไปตรวจสอบ พบเห็นต้นข้าวโพดบางส่วนที่งอกจากเมล็ดที่ร่วงลงพื้นดิน

อย่างไรก็ดี ในตอนนั้นยังไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นเจ้าของพื้นที่ดังกล่าว จึงได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เพื่อดำเนินการเก็บตัวอย่างมาทดสอบที่ห้องปฏิบัติการวิจัย และทดสอบอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และก็พบว่ามีการปนเปื้อนของจีเอ็มโออยู่จริง

"การพบข้าวโพดจีเอ็มโอปนเปื้อนในพื้นที่เกษตรกรรมครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าการปนเปื้อนจีเอ็มโอในฝ้าย และมะละกอ เมื่อหลายปีก่อน เพราะข้าวโพดเป็นพืชอาหาร และเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากกว่า 8 ล้านไร่"

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ข้าวโพด 1 ต้น มีละอองเกสรตัวผู้อยู่ประมาณ 25 ล้านละอองเกสร ซึ่งสามารถปลิวไปได้ไกลถึง 1 กม. และผสมข้ามสายพันธุ์ได้ง่าย จึงมีโอกาสปนเปื้อนได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับฝ้าย หรือมะละกอ ฉะนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงต้องเร่งป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายสู่ข้าวโพดฝักอ่อน และข้าวโพดหวานที่เป็นพืชส่งออกสำคัญของไทย

ทั้งนี้ นายวิฑูรย์ ได้ยื่นหนังสือต่อ ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวอย่างเร่งด่วน หลังจากนั้น ได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อ พล.อ.สุรยุทธ จุลานาน์ นายกรัฐมนตรี และ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องการให้รัฐบาลรีบแก้ปัญหาและควบคุมการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอ ให้ได้เสียก่อนที่จะมีการอนุญาตให้นักวิจัยทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอภาคสนามได้

สาระสำคัญในเอกสารที่ทางมูลนิธิชีววิถี ยื่นต่อนายกรัฐมนตรีมีอยู่ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่ 1.เรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอโดยด่วน เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายจนเกินกว่าที่จะควบคุมได้

2.ให้มีการแต่งตั้งตณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบสาเหตุการปนเปื้อนทางพันธุกรรมโดยเร็ว โดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมด้วย

3.ให้ยุติการพิจารณาผลักดันการทดลองพืชจีเอ็มโอภาคสนามเอาไว้ก่อน เพราะปัญหาการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ เมื่อปี 47 ยังไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ แต่กลับเกิดกรณีปนเปื้อนจีเอ็มโอในพืชชนิดใหม่ขึ้นมาอีก รัฐบาลจึงควรเร่งตรวจสอบปัญหาทั้งเรื่องของมะละกอจีเอ็มโอ และข้าวโพดจีเอ็มโอ ให้กระจ่างเสียก่อน ก่อนที่จะอนุญาตให้ทดลองในไร่นาได้

อย่างไรก็ดี นายวิฑูรย์ กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ทางมูลนิธิชีววิถี กำลังดำเนินการเพื่อขอตัวอย่างพืชจีเอ็มโอที่มีการอนุญาตให้ปลูกได้ในประเทศไทย จากกรมวิชาการเกษตร เพื่อมาตรวจสอบเปรียบเทียบกับข้าวโพดจีเอ็มโอ ที่พบว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือไม่ ส่วนเรื่องการตรวจสอบเพื่อหาเจ้าของพื้นที่ดังกล่าว คงต้องให้ภาครัฐดำเนินการต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น