xs
xsm
sm
md
lg

เอดีบีจับตานโยบายศก.รัฐบาลใหม่ เน้นความชัดเจน-แนะนำร่องลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - เอดีบีประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งรับผลดีจากการเร่งโครงการเมกะโปรเจกต์และเร่งอัดฉีดเงินสู่รากหญ้า แต่ยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอจะกระทบส่งออกไทย แนะรัฐบาลใหม่นำร่องลงทุน ประกาศนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนเพื่อเรียกความมั่นใจ

นายฌอง-ปิแอร์ เอ. เวอร์บีสท์ ผู้อำนวยการ สำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยภายหลังการเลือกตั้งนั้น หากมองจากนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆแล้ว จะเห็นได้ว่ามีแนวนโยบายที่คล้ายคลึงกัน โดยจะมีการเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ และการอัดฉีดเงินลงไปสู่ชนบท ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับวิธีการว่าจะกระจายไปอย่างไร อาจจะเป็นรูปของกองทุน หรือโครงการต่างๆ ทั้งนี้ ส่วนของนโยบายตรงนี้ก็จะช่วยในด้านของการบริโภคที่เพิ่มขึ้น

"นโยบายทางด้านเศรษฐกิจของทุกพรรคเท่าที่ดูก็จะอยู่ในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน คือจะเร่งรัดดำเนินการเรื่องโครงการขนาดใหญ่ แล้วก็อีกเรื่องเป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่ภาคชนบท ซึ่งอันนี้แต่ละพรรคก็มีวิธีการกระจายเงินที่แตกต่างกัน แต่โดยทิศทางแล้วจะต้องมีการอัดฉีดเงินลงไป และคงจะไม่ใช่วิธีเดียวกันกับรัฐบาลก่อน"

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมถึงเศรษฐกิจของจีนก็จะชะลอด้วย ทำให้ส่งออกซึ่งเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบ คือ ภาคการส่งออกของไทยจะขยายตัวไม่ดีเท่าปีนี้ และหากภาคการบริโภคยังฟื้นตัวได้ไม่ดี ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ยากลำบากขึ้น โดยเอดีบีประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ระดับ 5% และจะมีการทบทวนอีกครั้งในเดือนมีนาคมปี 2551

ดังนั้น หากมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแล้ว สิ่งที่หลายๆฝ่ายต้องการเห็นคือการตัดสินใจรวดเร็ว เห็นผลงานชัดเจน นอกจากนี้ควรเร่งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าที่เริ่มมีความคืบหน้าไปบ้างแล้ว หรือโครงการอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนต่อไป โดยผ่านทางธุรกิจอัสงหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจแรก และการประกาศนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดความมั่นใจของนักลงทุน

"ตอนนี้ใครๆคงอยากเห็นการตัดสินใจที่รวดเร็ว ฉับไวเพื่อให้เห็นถึงผลงานหลังจากที่เราไม่ค่อยมีอะไรคืบหน้ามาระยะหนึ่ง อีกเรื่องคือการประกาศนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน ควรประกาศออกมาโดยเร็วเพื่อที่คนจะได้หันมาพูดกันเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ต้องคุยกันแต่เรื่องการเมืองอย่างเดียว"

สำหรับการดำเนินงานของรัฐบาลเฉพาะกิจชุดนี้นั้น ถือว่าเป็นรัฐบาลชุดที่ดำเนินการทุกอย่างอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งในส่วนนี้อาจจะทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆล่าช้าออกไปบ้าง แต่ก็ยังมีในบางโครงการที่รัฐบาลชุดนี้ได้เตรียมการไว้เพื่อให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาสามารถต่อยอดได้ทันที อาทิ โครงการรถไฟฟ้า

นายฌอง-ปิแอร์ เอ. เวอร์บีสท์ กล่าวอีกว่า คงต้องเน้นย้ำสำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะต้องมีความรอบคอบในการตัดสินในเชิงนโยบายต่างๆ เพราะหากตัดสินใจผิด ความเสียหายจะเกิดขึ้นสูง ต่างจากสมัยก่อนแม้จะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้างแต่ความเสียหายจะไม่มากเท่า

“ถ้าย้อนไปสักเมื่อ 10-20 ปีก่อน พัฒนาการด้านต่างๆหรือสถานการณ์ของโลกยังไม่ก้าวหน้าขนาดนี้ รัฐบาลมีโอกาสตัดสินใจผิด แต่ผลที่เกิดขึ้นจะไม่ทำให้เสียต้นทุนมากนัก แต่มาถึงปัจจุบันที่สถานการณ์โลกเปลี่ยนไป หากรัฐบาลตัดสินใจผิด ต้นทุนที่เสียจะสูงมาก จึงต้องระมัดระวังด้วย”

มั่นใจต่างชาติยังสนลงทุนไทย

สำหรับภาคการลงทุนนั้น เชื่อว่ายังคงมีต่างประเทศสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการที่ต่างประเทศจะเข้าไปลงทุนที่ไหนนั้นมักจะมองในภาพระยะยาว และยังเห็นว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดี อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวผู้ประกอบการไทยเองควรมีปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจต่างๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะถ้าเราหยุดอยู่กับที่ก็จะถูกแซงไปได้

"ยกตัวอย่าง ในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งไทยยังมีศักยภาพในการด้านผลิตอยู่มาก ซึ่งในธุรกิจนี้ทางจีนก็มีความสนใจที่จะพัฒนาการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์โดยจะยกให้เมืองกวางตุ้งเป็นดีทรอย์แห่งยานยนต์เช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการและรัฐบาลก็จะต้องมีการศึกษาและพัฒนาขีดความสามารถให้ทันต่อการแข่งขันด้วย ขณะที่เวียดนามที่ถือเป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญก็เร่งพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีต่างๆเพิ่มขึ้น ทั้งๆที่เวียดนามก็จะมีความได้เปรียบไทยอยู่ในด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก และในด้านการเกษตรที่มีผลผลิตดีและมีความหลากหลาย เป็นต้น ดังนั้น เราจึงต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา มิฉะนั้นก็จะถูกแซงไปได้"

ส่วนนโยบายต่างๆของภาครัฐที่ออกมาในช่วงที่ผ่านมานั้น ในส่วนของนโยบายกันสำรอง 30%นั้น ขณะนี้มาตรการดังกล่าวได้ผ่อนคลายลงมามากแล้ว จนแทบไม่มีผลอะไรต่อการหมุนเวียนของเงินทุน แต่จะยังมีผลทางด้านจิตวิทยาอยู่ ดังนั้น การยกเลิกหรือไม่ก็จะไม่ค่อยมีผลอะไร ส่วนพ.ร.บ.อีก 2 ฉบับคือพ.ร.บ.การทำธุรกิจต่างด้าว และพ.ร.บ.ค้าปลีกก็เช่นกัน ทางสนช.ก็ยังไม่ได้นำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา จึงคาดว่าไม่น่าจะมีการนำมาใช้

ด้านโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับเอดีบีนั้น ก็ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการลงทุนภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งโครงการด้านสังคม โดยล่าสุดได้ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)และสคร. ศึกษาโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งได้ดำเนินการมาถึงเฟส 3 คือศึกษาแนวทางการใช้ตั๋วร่วมระหว่างรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟใต้ดิน เพื่อให้เกิดความสะดวกและลดต้นทุนให้กับผู้ใช้บริการ

นอกจากนี้ ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ศึกษาแนวทางการพัฒนาตลาดทุนว่าควรจะเป็นในทิศทางใด เป็นต้น รวมถึงการเสนอแนะในกรณีการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ว่าจะควรจะมีแนวทางหรือรูปอย่างไร และแนวทางในเรื่องของภาษีสิ่งแวดล้อม ซึ่งในส่วนนนี้หากรัฐบาลเห็นชอบก็จะสามารถดำเนินได้ทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น