xs
xsm
sm
md
lg

ปริญญาแห่งผู้กล้า

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยรังสิตจัดพิธีประสาทปริญญาบัตรประจำปี 2550 ขึ้น ณ อาคารนันทนาการ ทั้งนี้ในวันดังกล่าวนอกจากจะเป็นการแสดงความยินดีแก่บัณฑิต ญาติพี่น้อง และเป็นพิธีการมอบปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิตที่จบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี-โท-เอกจำนวนมากกว่า 3,000 คนแล้ว ยังมีวาระพิเศษด้วยนั่นคือการถวาย/มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่านที่ผ่านการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์จากสภามหาวิทยาลัยรังสิต

โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่านนั้นประกอบไปด้วย หนึ่ง หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการภาพยนตร์และวิดีทัศน์ สอง หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์ รองประธานศาลฎีกาและตุลาการรัฐธรรมนูญ ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง และ สาม คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ การเมือง

ในวันดังกล่าวในฐานะผู้ติดตามของคุณสนธิ ผมได้รับโอกาสให้ไปนั่งอยู่แถวหน้าสุดของเวทีเพื่อชมพิธีการอันทรงเกียรติอย่างใกล้ชิดกว่า 3 ชั่วโมง

ก่อนพิธีการถวาย/มอบปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับ ม.จ.ชาตรีเฉลิม, คุณสนธิ และ ม.ล.ไกรฤกษ์ โดยพลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ องคมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัยรังสิต ทางพิธีกรบนเวทีได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของการคัดเลือก เหตุและผลของการมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ครั้งนี้ให้กับผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 3 ท่าน

ทั้งนี้ใจความสำคัญตอนหนึ่งของคำสดุดีคุณสนธิ และ ม.ล.ไกรฤกษ์นั้น ทางมหาวิทยาลัยรังสิตระบุอย่างชัดว่าทั้งสองท่านเป็น “ผู้กล้า” ที่มาจากต่างวิชาชีพคือสื่อมวลชนและผู้พิพากษา

ในส่วนของคุณสนธินั้น มหาวิทยาลัยรังสิตระบุว่าเป็น “สื่อมวลชนผู้ยึดมั่นในปฏิญญาวิชาชีพ กล้าเปิดโปงการทุจริตฉ้อฉลของนักการเมือง ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชน อย่างไม่สะทกสะท้านหวั่นเกรงต่ออิทธิพลใดๆ เป็นผู้จุดเทียนส่องสว่างให้สังคมได้รับรู้ความจริง ยังผลให้เกิดเครือข่ายพันธมิตรจากนักวิชาการ นักวิชาชีพ และประชาชนวงการต่างๆ อย่างกว้างขวาง”

ขณะที่ในส่วนของ ม.ล.ไกรฤกษ์ คำสดุดีระบุว่าเป็น “ปูชนียบุคคลผู้ทรงเกียรติ ทรงคุณธรรม ผู้ล้ำค่ายิ่งในกระบวนการยุติธรรม มีผลงานดีเด่นเห็นปรากฏทั้งในด้านการพิจารณาพิพากษาคดี การบริหารงานในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งผลงานทางวิชาการทางด้านกฎหมายอันหลากหลาย เป็นคุณูปการอันสูงส่งแก่การศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ของประเทศไทย สมควรที่จะได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างแก่นักวิชาการนิติศาสตร์ และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน”

นอกจากนี้ คำสดุดีดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงความกล้าหาญของ ม.ล.ไกรฤกษ์ ในการดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญผู้ตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 111 รายในเดือนพฤษภาคม 2550 และการออกมาเปิดโปงความฉ้อฉลจากกรณีสินบนตุลาการในเวลาต่อมาอีกด้วย

ในคำกล่าวแสดงความขอบคุณต่อสภามหาวิทยาลัยรังสิตที่มอบปริญญาฯ ให้นั้น คุณสนธิให้ทัศนะว่า การมอบปริญญาครั้งนี้ของมหาวิทยาลัยรังสิต ได้สร้างความประหลาดใจและแปลกใจให้กับคนในแวดวงการศึกษา ซึ่งโดยส่วนตัวผมเอง ผมเชื่อว่าการมอบปริญญาฯ ดังกล่าวให้กับคุณสนธิยังสร้างความฉงนสนเท่ห์ให้กับคนในแวดวงสื่อสารมวลชนด้วย

มองจากมุมของผู้ให้ การที่มหาวิทยาลัยรังสิตมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับคุณสนธิ ลิ้มทองกุล โดยส่วนตัวผมเชื่ออย่างสนิทใจว่า มิใช่เป็นการมอบปริญญาให้กับบุคคลมีชื่อเสียงที่เกี่ยวข้องกับแวดวงสื่อสารมวลชนเพื่อก่อให้เกิดกระแสของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมภาพลักษณ์ ส่งเสริมชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยรังสิตอย่างแน่นอน เพราะการมอบปริญญาฯ ให้กับคุณสนธิในสภาวการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่ประชาชนในบ้านเมืองกำลังมีความขัดแย้งกันอย่างสูงนั้น หากผู้ที่รับทราบข่าวนี้เป็นผู้ที่ชื่นชอบในตัวคุณสนธิก็คงจะดีไป แต่หากผู้ที่ทราบเรื่องราวเป็นผู้ที่โกรธเกลียดตัวคุณสนธิ และ/หรือ ปฏิเสธสิ่งที่สื่อในเครือผู้จัดการและเอเอสทีวีนำเสนอมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ย่อมจะไม่เป็นการดีต่อมหาวิทยาลัยรังสิตแต่อย่างใด

ดังนั้น การมอบปริญญาฯ ให้กับคุณสนธิ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยนัยลึกๆ แล้วจึงแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารและเหล่าคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยรังสิตโดยแท้ เพราะ การมอบปริญญาฯ ครั้งนี้นั้นโดยเนื้อหาแล้วก็ คือ การประกาศยอมรับถึงสิ่งที่คุณสนธิพยายามทำมาตลอดในฐานะของสื่อมวลชนและผู้นำทางสังคมว่าเป็นสิ่งที่สร้างคุณประโยชน์แก่สังคม ...

เป็นการยอมรับจากสถาบันการศึกษาระดับสูงของประเทศ โดยอาศัย พิธีการ ใบปริญญาบัตรและเสื้อครุยเป็นเครื่องมือยืนยันเท่านั้น

สำหรับผมแล้ว การมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสามท่านในพิธีประสาทปริญญาบัตร 2550 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมาถือเป็นการจดบันทึกครั้งสำคัญลงไปในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการเมือง วงการศึกษาและวงการสื่อสารมวลชน

เป็นการจดบันทึกที่แสดงถึงยอมรับการเกิดขึ้นของกระบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเพื่อล้มระบอบเผด็จการในคราบประชาธิปไตยที่ฉ้อฉลและโกงกินบ้านเมือง, ยอมรับคำตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคไทยรักไทยว่าเกิดขึ้นอย่างถูกต้อง ชอบธรรม และที่สำคัญที่สุดยอมรับถึงความกล้าหาญของผู้ที่เข้าร่วมในกระบวนการดังกล่าวข้างต้น

เป็นการจารึกว่าไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ก็มิอาจลบเลือนประวัติศาสตร์หน้านี้ออกไปได้ตลอดกาล ...
กำลังโหลดความคิดเห็น