“เล่ห์, ราคะ” จาก จางอ้ายหลิง ถึง หลี่อัน
จางอ้ายหลิง ได้จบ “เล่ห์, ราคะ” ของเธอในรูปแบบของเรื่องสั้นอย่างที่ควรจะเป็น โดยในวรรณกรรมชิ้นนี้ของเธอนั้น ไม่ได้แสดงบทรักระหว่าง หวังเจียจือ กับ คุณอี้ ดังที่ หลี่อัน ได้ฉายให้เราเห็น ดังนั้น การขยายความในรูปแบบของหนังจึงถือเป็นหน้าที่ของ หลี่อัน โดยตรง ว่าจะรับผิดชอบต่อโครงสร้างทั้งหมดของหนังได้อย่างเข้าถึงตัววรรณกรรมมากน้อยเพียงใด
หน้าที่ในลักษณ์นี้ถือเป็นเรื่องปกติของผู้สร้างหนังโดยทั่วไป ส่วนที่ว่าใครจะทำได้อย่างเข้าถึงหรือไม่อย่างไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับฝีมือล้วนๆ กล่าวเฉพาะ “เล่ห์, ราคะ” ในฉบับที่เป็นหนังของ หลี่อัน แล้ว ต้องถือว่าเขาทำได้อย่างเข้าถึงจริงๆ
แน่นอนว่า บทที่เข้าถึงนี้ในด้านหนึ่งย่อมต้องเป็นฝีมือการเขียนของมือเขียนบทคู่บุญของ หลี่อัน ด้วย นั่นคือ เจมส์ ชามุส (James Schamus) ผู้เคยฝากฝีมือไว้กับหนังหลายเรื่องของ หลี่อัน มาแล้ว ทั้งนี้โดยมีผู้ร่วมเขียนด้วยอีกคนหนึ่งคือ หวังฮุ่ยหลิง (Wang Huiling)
ที่ว่าเข้าถึงนั้นหมายความว่า เป็นบทที่เขียนโดยอาศัยงานวรรณกรรมเป็นพื้นฐาน จากนั้นก็เพิ่มในส่วนที่จะขยายความออกไป ในส่วนที่ขยายนี้เองที่ถ้าหากทำได้ไม่ดีแล้ว ตัวหนังที่ออกมาทั้งเรื่องก็จะล้มเหลว ดังที่หนังหลายเรื่องเคยประสบมาแล้ว
ดังนั้น ในส่วนที่ขยายออกไปนี้เองที่ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะผู้ที่จะทำได้ดีหรือไม่นั้น ในด้านหนึ่งย่อมขึ้นอยู่ความเข้าใจที่มีต่อตัวงานวรรณกรรมว่าเข้าใจดีเพียงใด และเมื่อเข้าใจ (ดี) แล้วการขยายที่เกิดขึ้นจะต้องอิงตัวงานวรรณกรรมไม่ให้หลุดออกไปจากเจตนารมณ์ของเจ้าของงาน ที่เหลือนอกนั้นจึงคือ ฝีมือของผู้สร้างล้วนๆ ว่าจะทำในส่วนที่ขยายให้ออกมาดีในฐานะงานศิลปะได้อย่างไร
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า ถึงจะเข้าใจตัวงานวรรณกรรมดี และได้ขยายตัวงานออกไปในรูปของบทหนังโดยไม่หลุดจากตัวงานแล้วก็จริง แต่ถ้าหากตัวหนังทั้งหมดที่ออกมากลับทำได้ไม่ดี ความเข้าใจที่ว่านั้นก็ไม่นับเป็นความสำเร็จเช่นกัน ตัวหนังทั้งหมดที่ว่านี้ประกอบไปด้วยรายละเอียดมากมายดังที่หนังแต่ละเรื่องพึงมีโดยพื้นฐาน เช่น การแสดงของนักแสดงทุกคน งานด้านภาพ งานกำกับศิลป์ บทพูดที่มีสำเนียงพูดของภาษาที่แตกต่างกัน เป็นต้น กล่าวสำหรับ “เล่ห์, ราคะ” แล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง และนั่นก็คือความสำเร็จอีกครั้งหนึ่งของ หลี่อัน
องค์ประกอบที่ “เล่ห์, ราคะ” ประสบความสำเร็จนั้น ส่วนสำคัญที่สุดน่าจะได้แก่การเข้าถึงตัวงานวรรณกรรม (โลกมายา) และชีวิตของ จางอ้ายหลิง (โลกที่เป็นจริง) ของ หลี่อัน นั่นเอง
ตั้งแต่เล็กจนโต ชีวิตของ จางอ้ายหลิง วนเวียนหรือผูกพันกับเมืองซ่างไห่และฮ่องกงภายใต้ภูมิหลังครอบครัวที่มีฐานะดี แต่ล้มเหลวในเรื่องของความอบอุ่น ฉะนั้น เราจึงพบว่า “เล่ห์, ราคะ” ที่นำเสนอชีวิตของ หวังเจียจือ นับว่ามีส่วนที่สอดคล้องกับชีวิตจริงของ จางอ้ายหลิง อยู่ด้วย คือมีชีวิตอยู่ที่เมืองซ่างไห่และฮ่องกง นอกจากนี้ หนังยังทำให้เราเห็นอยู่ในตอนหนึ่งด้วยว่า หวังเจียจือ ได้เขียนจดหมายถึงพ่อของเธอที่อยู่ในอังกฤษที่กำลังจะแต่งงานใหม่
และที่โดดเด่นอย่างมากก็คือ การสร้างภาพความเป็นเมืองของฮ่องกงและซ่างไห่ให้เหมาะกับยุคสมัยที่ทำได้ดีกว่าหนังหลายเรื่อง โดยเฉพาะซ่างไห่นั้น หากใครเคยไปในช่วงที่เพิ่งเปิดประเทศใหม่ๆ ซึ่งยังไม่ถูกเปลี่ยนแปลงมากดังทุกวันนี้แล้ว จะพบว่า หลี่อัน มีมุมมองต่อความเป็นเมืองที่ไม่เพียงจะสอดคล้องกับยุคสมัยเท่านั้น หากมุมมองนั้นยังเป็นมุมมองที่สวยงามไม่น้อย เช่น ในมุมหนึ่งของเมืองที่เรียงรายด้วยตึกแบบตะวันตกสองข้างทางนั้น เมื่อมองจากถนนออกไปแล้วจะเห็นท้องฟ้าใสเป็นฉากหลัง มุมมองแบบนี้หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน
ในหนังเราจะเห็นบรรดาตัวประกอบเดินขวักไขว่กันภายใต้เครื่องแต่งกายในยุคนั้น โดยเฉพาะชุดกี่เพ้าของบรรดาสาวๆ ไม่ว่าจะตัวเอกหรือตัวประกอบก็ตาม ต่างดูเป็นธรรมชาติทั้งชุดที่ตัดโดยเน้นลายผ้าที่สวยงามหรือชุดสีพื้นเรียบๆ ธรรมดาๆ ไม่ใช่กี่เผ้าที่ถูกปรุงแต่งจนดู “ใหม่” และ “เนี้ยบ” ที่ตัดเย็บขึ้นมาเพื่อถ่ายหนังโดยเฉพาะ ดังที่หนังย้อนยุคหลายเรื่องมักจะทำให้เห็น (รวมทั้งหนังไทยด้วย)
แต่จะอย่างไรก็ตาม ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ เนื้อหาของหนังที่เน้นความสัมพันธ์ของ หวังเจียจือ กับ คุณอี้ ที่ในวรรณกรรมไม่ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางเพศดังที่ในหนังได้ทำให้เห็น ในประเด็นนี้ถ้าหากมองในเบื้องต้นแล้วสิ่งที่คนดูสามารถเข้าใจร่วมกันก็คือ ฉากกามกรีฑาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสุดท้ายในการสังหาร คุณอี้ โดยเฉพาะ และในขณะที่วรรณกรรมไม่มีบทเช่นนี้ คำถามจึงมีว่า เหตุใด หลี่อัน จึงเลือกที่จะขยายบทในส่วนนี้ออกมา
เกี่ยวกับประเด็นนี้นับว่าลึกซึ้งอย่างมาก เพราะหากทำได้ไม่ดีแล้ว หนังเรื่องนี้จะถูกลดค่าลงไปไม่ต่างกับหนังเอกซ์ที่มีฉากกามกรีฑาจนคาวคุ้ง และพลอยทำให้วรรณกรรมถูกลดค่าลงไม่ต่างกับหนังสือ “ปกขาว” ไปด้วย แต่ความจริงก็คือว่า หลี่อัน จงใจเลือกที่จะขยายบทนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนดูเข้าถึงก้นบึ้งจิตใจของตัวละครทั้งสอง โดยใช้ “ราคะ” เป็น “เล่ห์” ในเบื้องต้น แล้วหวังว่ามันจะนำไปสู่เป้าหมายสุดท้ายในที่สุด ซึ่งก็คือการสังหาร คุณอี้
แต่การณ์กลับปรากฏว่า ระหว่างที่ “เล่ห์, ราคะ” กำลังดำเนินไปอยู่นั้น ทั้ง “ราคะ” และ “เล่ห์” ก็ค่อยๆ เปลี่ยนความรู้สึกของตัวละครทั้งสองให้มีความผูกพันกันมากกว่าที่จะวนเวียนอยู่แต่กับ “เล่ห์” และ “ราคะ” ที่เป็นจุดเริ่มต้น ก่อนที่หนังจะจบลงด้วยโศกนาฏกรรมอย่างที่คาดไม่ถึง การตีความตรงนี้ของ หลี่อัน จึงนับว่าสุ่มเสี่ยงอย่างมาก เพราะมันอาจจะทำให้คนดูเข้าใจชีวิตของ จางอ้ายหลิง ผิดไปจากความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะในความสัมพันธ์ระหว่าง หวังเจียจือ กับ คุณอี้ นั้น ในด้านหนึ่งก็คือ รักครั้งแรกของ จางอ้ายหลิง ที่มีกับ หูหลานเฉิง สามีคนแรกในชีวิตจริงของเธอ
ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่า จางอ้ายหลิง นั้นรักและเทิดทูนรักครั้งแรกของเธออย่างมาก ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่า หูหลานเฉิง เป็น “ผู้ทรยศต่อชาติ” ด้วยการไปให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่น ชีวิตในแง่มุมนี้ของเธอจึงมิอาจหลีกเลี่ยงความสับสนไปได้ อันเป็นความสับสนระหว่างความรักที่มีต่อชาติในฐานะที่เป็นคนจีนคนหนึ่ง กับความรักที่มีต่อ หูหลานเฉิง ในฐานะผู้ทรยศต่อชาติ และความจริงก็คือว่า เธอเลือกเอาอย่างหลัง และเป็นการเลือกที่เราไม่มีทางรู้ถึงเหตุผลที่แท้จริงได้เป็นอันขาด (นอกจากคนทั้งสอง)
แต่ หลี่อัน ปล่อยให้ หวังเจียจือ แสดงเหตุผลของเธอผ่านกามกรีฑากับ คุณอี้ จากนั้นก็พัฒนาความสัมพันธ์ในระดับจิตใจและความรู้สึกของคนทั้งสอง และพอไปถึงจุดท้ายของเรื่องแล้ว หนังก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการทำให้ หวังเจียจือ แสดงทางเลือกของเธอด้วยการเลือกเอาความรู้สึกที่มีต่อ คุณอี้ แทนความรักชาติ
จากชีวิตจริงของ จางอ้ายหลิง ดังกล่าว เมื่อมาพิจารณาถึงงานวรรณกรรมและหนัง “เล่ห์, ราคะ” ที่ดูคล้ายๆ กันแล้ว เราจะพบว่า จางอ้ายหลิง ยังคงมีความผูกพันกับรักแรกของเธอ ถึงแม้รักนั้นจะถูกทรยศไปแล้วก็ตาม แต่ในหนัง “เล่ห์, ราคะ” ภายหลังการตัดสินใจในชั่วเวลาไม่กี่วินาทีผ่านไปแล้ว หวังเจียจือ เองก็ไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เธอทำไปนั้น จริงๆ แล้วมันคือความผูกพันจริงๆ หรือเรื่องโง่ๆ เรื่องหนึ่งที่เธอจมปลักดักดานอยู่กับมันเพียงคนเดียวกันแน่ เพราะถึงที่สุดแล้ว คุณอี้ ก็ไม่ได้ละเว้นชีวิตเธอให้สมกับความรู้สึกของเธอที่มีต่อเขา
กล่าวกันว่า ผู้กำกับหนังเวลาคิดที่จะสร้างหนังแต่ละเรื่องนั้น ด้านหนึ่ง จะสร้างจากความรู้สึกชอบต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือพลอตใดพลอตหนึ่ง อีกด้านหนึ่ง จะสร้างจากความรู้สึกส่วนลึกเพื่อให้หนังบอกความในใจของตนออกมา สำหรับ หลี่อัน แล้วด้านแรกน่าจะมีอยู่จริง แต่ในด้านหลังแล้วนับว่าช่างสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ดำรงอยู่จริงในปัจจุบัน ที่เราจะพบว่า ไต้หวัน (หลี่อัน เป็นคนไต้หวัน) พยายามที่จะแยก “ชาติ” ของตนให้อิสระจาก “ชาติ” จีนแผ่นดินใหญ่ และวิธีหนึ่งที่ไต้หวันใช้ก็คือ การหันไปคบค้ากับญี่ปุ่นอย่างสนิทสนม
บนความรักชาติที่ต่างกันเช่นนี้ แม้อิสรภาพจะเป็นเรื่องใหญ่ก็จริงอยู่ แต่บ่อยครั้งเราก็แยกไม่ได้ว่าความรักชาตินั้น รักอย่างไรคือรักที่ทรยศ และรักอย่างไรคือรักที่จะไม่ถูกทรยศ และในกรณี “เล่ห์, ราคะ” ก็ได้ตั้งคำถามสำคัญที่ว่านี้เอาไว้ให้ปรากฏแล้ว
จางอ้ายหลิง ได้จบ “เล่ห์, ราคะ” ของเธอในรูปแบบของเรื่องสั้นอย่างที่ควรจะเป็น โดยในวรรณกรรมชิ้นนี้ของเธอนั้น ไม่ได้แสดงบทรักระหว่าง หวังเจียจือ กับ คุณอี้ ดังที่ หลี่อัน ได้ฉายให้เราเห็น ดังนั้น การขยายความในรูปแบบของหนังจึงถือเป็นหน้าที่ของ หลี่อัน โดยตรง ว่าจะรับผิดชอบต่อโครงสร้างทั้งหมดของหนังได้อย่างเข้าถึงตัววรรณกรรมมากน้อยเพียงใด
หน้าที่ในลักษณ์นี้ถือเป็นเรื่องปกติของผู้สร้างหนังโดยทั่วไป ส่วนที่ว่าใครจะทำได้อย่างเข้าถึงหรือไม่อย่างไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับฝีมือล้วนๆ กล่าวเฉพาะ “เล่ห์, ราคะ” ในฉบับที่เป็นหนังของ หลี่อัน แล้ว ต้องถือว่าเขาทำได้อย่างเข้าถึงจริงๆ
แน่นอนว่า บทที่เข้าถึงนี้ในด้านหนึ่งย่อมต้องเป็นฝีมือการเขียนของมือเขียนบทคู่บุญของ หลี่อัน ด้วย นั่นคือ เจมส์ ชามุส (James Schamus) ผู้เคยฝากฝีมือไว้กับหนังหลายเรื่องของ หลี่อัน มาแล้ว ทั้งนี้โดยมีผู้ร่วมเขียนด้วยอีกคนหนึ่งคือ หวังฮุ่ยหลิง (Wang Huiling)
ที่ว่าเข้าถึงนั้นหมายความว่า เป็นบทที่เขียนโดยอาศัยงานวรรณกรรมเป็นพื้นฐาน จากนั้นก็เพิ่มในส่วนที่จะขยายความออกไป ในส่วนที่ขยายนี้เองที่ถ้าหากทำได้ไม่ดีแล้ว ตัวหนังที่ออกมาทั้งเรื่องก็จะล้มเหลว ดังที่หนังหลายเรื่องเคยประสบมาแล้ว
ดังนั้น ในส่วนที่ขยายออกไปนี้เองที่ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะผู้ที่จะทำได้ดีหรือไม่นั้น ในด้านหนึ่งย่อมขึ้นอยู่ความเข้าใจที่มีต่อตัวงานวรรณกรรมว่าเข้าใจดีเพียงใด และเมื่อเข้าใจ (ดี) แล้วการขยายที่เกิดขึ้นจะต้องอิงตัวงานวรรณกรรมไม่ให้หลุดออกไปจากเจตนารมณ์ของเจ้าของงาน ที่เหลือนอกนั้นจึงคือ ฝีมือของผู้สร้างล้วนๆ ว่าจะทำในส่วนที่ขยายให้ออกมาดีในฐานะงานศิลปะได้อย่างไร
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า ถึงจะเข้าใจตัวงานวรรณกรรมดี และได้ขยายตัวงานออกไปในรูปของบทหนังโดยไม่หลุดจากตัวงานแล้วก็จริง แต่ถ้าหากตัวหนังทั้งหมดที่ออกมากลับทำได้ไม่ดี ความเข้าใจที่ว่านั้นก็ไม่นับเป็นความสำเร็จเช่นกัน ตัวหนังทั้งหมดที่ว่านี้ประกอบไปด้วยรายละเอียดมากมายดังที่หนังแต่ละเรื่องพึงมีโดยพื้นฐาน เช่น การแสดงของนักแสดงทุกคน งานด้านภาพ งานกำกับศิลป์ บทพูดที่มีสำเนียงพูดของภาษาที่แตกต่างกัน เป็นต้น กล่าวสำหรับ “เล่ห์, ราคะ” แล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง และนั่นก็คือความสำเร็จอีกครั้งหนึ่งของ หลี่อัน
องค์ประกอบที่ “เล่ห์, ราคะ” ประสบความสำเร็จนั้น ส่วนสำคัญที่สุดน่าจะได้แก่การเข้าถึงตัวงานวรรณกรรม (โลกมายา) และชีวิตของ จางอ้ายหลิง (โลกที่เป็นจริง) ของ หลี่อัน นั่นเอง
ตั้งแต่เล็กจนโต ชีวิตของ จางอ้ายหลิง วนเวียนหรือผูกพันกับเมืองซ่างไห่และฮ่องกงภายใต้ภูมิหลังครอบครัวที่มีฐานะดี แต่ล้มเหลวในเรื่องของความอบอุ่น ฉะนั้น เราจึงพบว่า “เล่ห์, ราคะ” ที่นำเสนอชีวิตของ หวังเจียจือ นับว่ามีส่วนที่สอดคล้องกับชีวิตจริงของ จางอ้ายหลิง อยู่ด้วย คือมีชีวิตอยู่ที่เมืองซ่างไห่และฮ่องกง นอกจากนี้ หนังยังทำให้เราเห็นอยู่ในตอนหนึ่งด้วยว่า หวังเจียจือ ได้เขียนจดหมายถึงพ่อของเธอที่อยู่ในอังกฤษที่กำลังจะแต่งงานใหม่
และที่โดดเด่นอย่างมากก็คือ การสร้างภาพความเป็นเมืองของฮ่องกงและซ่างไห่ให้เหมาะกับยุคสมัยที่ทำได้ดีกว่าหนังหลายเรื่อง โดยเฉพาะซ่างไห่นั้น หากใครเคยไปในช่วงที่เพิ่งเปิดประเทศใหม่ๆ ซึ่งยังไม่ถูกเปลี่ยนแปลงมากดังทุกวันนี้แล้ว จะพบว่า หลี่อัน มีมุมมองต่อความเป็นเมืองที่ไม่เพียงจะสอดคล้องกับยุคสมัยเท่านั้น หากมุมมองนั้นยังเป็นมุมมองที่สวยงามไม่น้อย เช่น ในมุมหนึ่งของเมืองที่เรียงรายด้วยตึกแบบตะวันตกสองข้างทางนั้น เมื่อมองจากถนนออกไปแล้วจะเห็นท้องฟ้าใสเป็นฉากหลัง มุมมองแบบนี้หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน
ในหนังเราจะเห็นบรรดาตัวประกอบเดินขวักไขว่กันภายใต้เครื่องแต่งกายในยุคนั้น โดยเฉพาะชุดกี่เพ้าของบรรดาสาวๆ ไม่ว่าจะตัวเอกหรือตัวประกอบก็ตาม ต่างดูเป็นธรรมชาติทั้งชุดที่ตัดโดยเน้นลายผ้าที่สวยงามหรือชุดสีพื้นเรียบๆ ธรรมดาๆ ไม่ใช่กี่เผ้าที่ถูกปรุงแต่งจนดู “ใหม่” และ “เนี้ยบ” ที่ตัดเย็บขึ้นมาเพื่อถ่ายหนังโดยเฉพาะ ดังที่หนังย้อนยุคหลายเรื่องมักจะทำให้เห็น (รวมทั้งหนังไทยด้วย)
แต่จะอย่างไรก็ตาม ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ เนื้อหาของหนังที่เน้นความสัมพันธ์ของ หวังเจียจือ กับ คุณอี้ ที่ในวรรณกรรมไม่ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางเพศดังที่ในหนังได้ทำให้เห็น ในประเด็นนี้ถ้าหากมองในเบื้องต้นแล้วสิ่งที่คนดูสามารถเข้าใจร่วมกันก็คือ ฉากกามกรีฑาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสุดท้ายในการสังหาร คุณอี้ โดยเฉพาะ และในขณะที่วรรณกรรมไม่มีบทเช่นนี้ คำถามจึงมีว่า เหตุใด หลี่อัน จึงเลือกที่จะขยายบทในส่วนนี้ออกมา
เกี่ยวกับประเด็นนี้นับว่าลึกซึ้งอย่างมาก เพราะหากทำได้ไม่ดีแล้ว หนังเรื่องนี้จะถูกลดค่าลงไปไม่ต่างกับหนังเอกซ์ที่มีฉากกามกรีฑาจนคาวคุ้ง และพลอยทำให้วรรณกรรมถูกลดค่าลงไม่ต่างกับหนังสือ “ปกขาว” ไปด้วย แต่ความจริงก็คือว่า หลี่อัน จงใจเลือกที่จะขยายบทนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนดูเข้าถึงก้นบึ้งจิตใจของตัวละครทั้งสอง โดยใช้ “ราคะ” เป็น “เล่ห์” ในเบื้องต้น แล้วหวังว่ามันจะนำไปสู่เป้าหมายสุดท้ายในที่สุด ซึ่งก็คือการสังหาร คุณอี้
แต่การณ์กลับปรากฏว่า ระหว่างที่ “เล่ห์, ราคะ” กำลังดำเนินไปอยู่นั้น ทั้ง “ราคะ” และ “เล่ห์” ก็ค่อยๆ เปลี่ยนความรู้สึกของตัวละครทั้งสองให้มีความผูกพันกันมากกว่าที่จะวนเวียนอยู่แต่กับ “เล่ห์” และ “ราคะ” ที่เป็นจุดเริ่มต้น ก่อนที่หนังจะจบลงด้วยโศกนาฏกรรมอย่างที่คาดไม่ถึง การตีความตรงนี้ของ หลี่อัน จึงนับว่าสุ่มเสี่ยงอย่างมาก เพราะมันอาจจะทำให้คนดูเข้าใจชีวิตของ จางอ้ายหลิง ผิดไปจากความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะในความสัมพันธ์ระหว่าง หวังเจียจือ กับ คุณอี้ นั้น ในด้านหนึ่งก็คือ รักครั้งแรกของ จางอ้ายหลิง ที่มีกับ หูหลานเฉิง สามีคนแรกในชีวิตจริงของเธอ
ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่า จางอ้ายหลิง นั้นรักและเทิดทูนรักครั้งแรกของเธออย่างมาก ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่า หูหลานเฉิง เป็น “ผู้ทรยศต่อชาติ” ด้วยการไปให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่น ชีวิตในแง่มุมนี้ของเธอจึงมิอาจหลีกเลี่ยงความสับสนไปได้ อันเป็นความสับสนระหว่างความรักที่มีต่อชาติในฐานะที่เป็นคนจีนคนหนึ่ง กับความรักที่มีต่อ หูหลานเฉิง ในฐานะผู้ทรยศต่อชาติ และความจริงก็คือว่า เธอเลือกเอาอย่างหลัง และเป็นการเลือกที่เราไม่มีทางรู้ถึงเหตุผลที่แท้จริงได้เป็นอันขาด (นอกจากคนทั้งสอง)
แต่ หลี่อัน ปล่อยให้ หวังเจียจือ แสดงเหตุผลของเธอผ่านกามกรีฑากับ คุณอี้ จากนั้นก็พัฒนาความสัมพันธ์ในระดับจิตใจและความรู้สึกของคนทั้งสอง และพอไปถึงจุดท้ายของเรื่องแล้ว หนังก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการทำให้ หวังเจียจือ แสดงทางเลือกของเธอด้วยการเลือกเอาความรู้สึกที่มีต่อ คุณอี้ แทนความรักชาติ
จากชีวิตจริงของ จางอ้ายหลิง ดังกล่าว เมื่อมาพิจารณาถึงงานวรรณกรรมและหนัง “เล่ห์, ราคะ” ที่ดูคล้ายๆ กันแล้ว เราจะพบว่า จางอ้ายหลิง ยังคงมีความผูกพันกับรักแรกของเธอ ถึงแม้รักนั้นจะถูกทรยศไปแล้วก็ตาม แต่ในหนัง “เล่ห์, ราคะ” ภายหลังการตัดสินใจในชั่วเวลาไม่กี่วินาทีผ่านไปแล้ว หวังเจียจือ เองก็ไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เธอทำไปนั้น จริงๆ แล้วมันคือความผูกพันจริงๆ หรือเรื่องโง่ๆ เรื่องหนึ่งที่เธอจมปลักดักดานอยู่กับมันเพียงคนเดียวกันแน่ เพราะถึงที่สุดแล้ว คุณอี้ ก็ไม่ได้ละเว้นชีวิตเธอให้สมกับความรู้สึกของเธอที่มีต่อเขา
กล่าวกันว่า ผู้กำกับหนังเวลาคิดที่จะสร้างหนังแต่ละเรื่องนั้น ด้านหนึ่ง จะสร้างจากความรู้สึกชอบต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือพลอตใดพลอตหนึ่ง อีกด้านหนึ่ง จะสร้างจากความรู้สึกส่วนลึกเพื่อให้หนังบอกความในใจของตนออกมา สำหรับ หลี่อัน แล้วด้านแรกน่าจะมีอยู่จริง แต่ในด้านหลังแล้วนับว่าช่างสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ดำรงอยู่จริงในปัจจุบัน ที่เราจะพบว่า ไต้หวัน (หลี่อัน เป็นคนไต้หวัน) พยายามที่จะแยก “ชาติ” ของตนให้อิสระจาก “ชาติ” จีนแผ่นดินใหญ่ และวิธีหนึ่งที่ไต้หวันใช้ก็คือ การหันไปคบค้ากับญี่ปุ่นอย่างสนิทสนม
บนความรักชาติที่ต่างกันเช่นนี้ แม้อิสรภาพจะเป็นเรื่องใหญ่ก็จริงอยู่ แต่บ่อยครั้งเราก็แยกไม่ได้ว่าความรักชาตินั้น รักอย่างไรคือรักที่ทรยศ และรักอย่างไรคือรักที่จะไม่ถูกทรยศ และในกรณี “เล่ห์, ราคะ” ก็ได้ตั้งคำถามสำคัญที่ว่านี้เอาไว้ให้ปรากฏแล้ว