xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน การเงิน : ราคาสินค้าเกษตรจะแพงขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความฉบับนี้ผมขอเปลี่ยนแนวการเขียนจากเรื่องการเงินและอัตราดอกเบี้ยมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับราคาสินค้าเกษตรที่กำลังสูงขึ้นและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกอย่างมากในอนาคต ขณะที่ราคาสินค้าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะคงที่และบางประเภทอาจจะลดลง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างราคาสินค้านี้จะส่งผลดีกับไทยซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรหลักของโลก

การที่ประเทศในกลุ่ม BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดใหญ่เข้ามามีบทบาทในตลาดโลกมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อราคาสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมในตลาดโลกอย่างเห็นได้ชัด

ผลทางตรง ประการแรก ความต้องการอาหารหรือสินค้าเกษตรจากกลุ่ม BRIC ทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะจีนซึ่งไม่มีที่ดินผลิตสินค้าเกษตรอย่างเพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศจึงจำเป็นต้องนำเข้า ความต้องการสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นมากนี้ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกหลายประเภทปรับตัวสูงขึ้น เช่น มันสัมปะหลัง และยาง ที่ราคาพุ่งขึ้นอย่างมากในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

ผลประการที่สอง คือ การเข้ามาค้าขายในตลาดโลกของกลุ่ม BRIC ทำให้ราคาสินค้าอุตสาหกรรมในตลาดโลกคงที่หรือลดลง ซึ่งเป็นผลจากการที่ผลผลิตจากอุตสาหกรรมของกลุ่ม BRIC หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดโลกจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะจีนที่มีแรงงานจำนวนมากได้กลายเป็นศูนย์กลางการประกอบสินค้าอุตสาหกรรมของโลก อีกทั้งการที่มีเงินทุนไหลเข้าจีนมูลค่ามหาศาลทำให้เกิดกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมาก นอกจากนี้การที่จีนเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมราคาถูกเป็นอันดับต้นของโลก ทำให้ราคาสินค้าอุตสาหกรรมในตลาดโลกส่วนใหญ่มีราคาต่ำและบางครั้งก็ลดลง เราจะสังเกตได้ว่าสินค้าหลายประเภท เช่น เครื่องเล่น DVD เครื่องรับโทรทัศน์ประเภทต่างๆ มีราคาลดลงอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากผลผลิตจำนวนมากจากจีน และเป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราเงินเฟ้อของจีนที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น เกิดจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ขณะที่ราคาสินค้าอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำ

สำหรับ ผลทางอ้อม นั้น จะมีต่อราคาสินค้าเกษตรเป็นหลัก การที่กลุ่ม BRIC เข้ามามีบทบาทในตลาดโลกทำให้อุปสงค์ที่มีต่อน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจีนและอินเดียซึ่งมีขนาดความต้องการบริโภคน้ำมันสูงมากเป็นอันดับต้นๆของโลก จึงมีผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากอุปทานที่เพิ่มไม่ทันต่อการขยายตัวของของอุปสงค์ (แม้ว่าจะมีการลงทุนผลิตเพิ่มจำนวนมากก็ตาม) คาดว่าในอีกหลายปีข้างหน้าราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ทั่วโลกจะให้ความสนใจกับพลังงานทดแทนมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกพืชที่ใช้ผลิตพลังงานทดแทน เช่น ปาล์มน้ำมันและสบู่ดำ และจะทำให้พื้นที่เพาะปลูกพืชเพื่อการบริโภคลดลง จากการศึกษาของสหภาพยุโรปพบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะรุนแรงขึ้น และนอกจากจะทำให้พื้นที่สำหรับเพาะปลูกพืชเพื่อการบริโภคลดลงแล้ว ยังทำให้มีการใช้น้ำจำนวนมากจนอาจจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำสำหรับเพาะปลูกพืชเพื่อการบริโภคได้

จากสถานการณ์ทั้งหมด ผมเห็นว่า ในอนาคตราคาสินค้าเกษตรจะปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกประเภท และอาจจะนำไปสู่การขาดแคลนอาหารในโลกได้ โชคดีที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรได้จำนวนมากจึงอาจจะไม่ถูกกระทบมากนัก แต่ต้องมีการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรให้ดี และรักษาสมดุลของการเพาะปลูกพืชทั้งเพื่อการบริโภคและเพื่อผลิตพลังงานอย่างเหมาะสม จึงจะสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ขาดแคลนอาหารและราคาสินค้าเกษตรพุ่งตัวขึ้นได้ สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมนั้น อาจจะประสบปัญหาอัตรากำไรลดลงจากการแข่งขันที่สูงขึ้นของประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนในการสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือผลิตสินค้าใหม่ๆเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น