xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์หวั่นศก.สหรัฐทรุด ฉุดส่งออกไทย-เงินไหลเข้าทะลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - "ประสาร"ชี้แนวโน้มดอกเบี้ยเฟดปีหน้ายังลงอีก หลังจากปรับลดแค่ 0.25%ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ห่วงหากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอผลกระทบต่อการส่งออกไทยแน่ ยกปี 44 เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอ 1% จีดีพีไทยหด 0.8% แนะคงมาตรการ 30% รับมือเงินไหลเข้าอีกระลอก รอความเชื่อมั่นกลับ-ปัจจัยเอื้อค่อยยกเลิกในปลายปีหน้า ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยกนง.ทรงตัว

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ที่ระดับ 0.25% นั้นถือว่าเป็นการปรับลดลงน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ซึ่งมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นของเอเชียทำให้มีการปรับตัวลดลง เนื่องจากตลาดเงินของสหรัฐฯถือเป็นตลาดที่ใหญ่ ส่วนแนวโน้มของการประชุมในเดือนมกราคมปี 2551 นั้นเชื่อว่า เฟดน่าจะจะยังมีการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้น เป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาซับไพรม์ ที่คาดว่าจะยังไม่จบและมีความกังวลว่าจะเกิดปัญหาอะไรตามมาอีก เนื่องจากปัญหาดังกล่าวได้เริ่มลุกลามไปยังในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิต แต่เชื่อว่าจะไม่มีความรุนแรงเท่ากับที่เกิดกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ปัญหาซับไพร์มที่เกิดขึ้นในสหรัฐขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะมีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย(จีดีพี)มากน้อยเพียงใด แต่ในส่วนของภาคการส่งออกอาจจะชะลอตัวลงบ้างตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เช่นเดียวกับในส่วนของจีดีพีในปี 2544 เศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤติ ซึ่งในครั้งนั้นมีผลทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย โดยเศรษฐกิจของสหรัฐลดลง 1% ส่งผลให้จีดีพีของไทยลดลง 0.8%

"ถ้าตลาดคาดว่าเฟดจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในเดือนม.ค.ปีหน้า ก็จะส่งผลต่อค่าเงินของสหรัฐฯทำให้มีการอ่อนค่าลงอีก และจะมีผลต่อเงินไหลเข้าเอเชีย ซึ่งจะทำให้มีผลต่อค่าเงินในภูมิภาคมีการแข็งค่าขึ้น โดยในปีนี้ก็ได้เห็นการไหลเข้าของเงินบ้างแล้ว"นายประสารกล่าว

นายประสาร กล่าวว่า ในส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ แล้วจะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศคงไม่มีการปรับลดลงไปมากกว่านี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเริ่มมีการขยับสูงขึ้น รวมถึงการที่ทางรัฐจะมีการออกพันธบัตรรัฐบาลซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะลดลงได้อีก คงจะมีการปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า และคาดว่าดอกเบี้ยอาร์/พี จะทรงตัวต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกปีหน้า โดยปัจจุบันอาร์/พี 1 วันอยู่ที่ 3.25%

ทั้งนี้ ในส่วนของธนาคารพาณิชย์จะมีการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นหรือไม่จะขึ้นอยู่กับภาวะการแข่งขัน โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีธนาคารพาณิชย์บางแห่งเริ่มมีแข่งขันในเรื่องของการระดมเงินฝาก ส่วนสภาพคล่องของแต่ละสถาบันการเงินนั้นยังคงมีอยู่แต่มีในระดับที่ไม่เท่ากัน ซึ่งจะเห็นได้จากพฤติกรรมของผู้ฝากเงินที่ยังนิยมฝากเงินในระยะสั้น เพราะคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอีก ขณะที่สถาบันการเงินจะมุ่งให้ผู้ฝากฝากระยาวเนื่องจากจะเป็นส่วนที่ล็อคต้นทุนทางการเงินได้

"yiled curve ระยะยาวมีการขยับเป็นระยะๆ ซึ่งหากดูดอกเบี้ยระยะยาวก็ต้องดูดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวในตลาดรอง ซึ่งในช่วงสั้น 3-4 เดือนที่ผ่านมา yiled curve พันธบัตรค่อนข้างสูงขึ้น เช่น ดอกเบี้ย 5 ปี 10 ปี ก็สูงขึ้น ซึ่งสัญญาณที่มีให้เห็นค่อนข้างชัดก็เห็นไว้ว่าดอกเบี้ยเริ่มสูงขึ้น" นายประสารกล่าว

สำหรับการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)นั้น สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของจังหวะเวลาที่เหมาะสม แต่หากจะให้มีการยกเลิกในช่วงต้นปีหน้านั้นถือว่าเป็นจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสม โดยมองว่าจังหวะที่เหมาะควรจะเป็นช่วงปลายปี 2551 ซึ่งสถานการณ์ต่างๆจะมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งในเรื่องของดุลบัญชีเดินสะพัดที่ในช่วงต้นปีจะยังมีการเกินดุลอยู่บ้าง แต่ช่วงปลายปีมองว่าจะไม่มีแรงกดดันจากปัจจัยดังกล่าว และเป็นช่วงที่ไม่มีความผันผวนในปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย

ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนักลงทุนกลับมาได้ เพราะจะมีการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน มีการนำในส่วนเข้าเงินทุนและเครื่องจักรเพิ่มขึ้น

ส่วนในกรณีที่เฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงนั้นมองว่าน่าจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯให้ดีขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยด้านการส่งออก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อไปก็คือเงินทุนจะไหลออกจากสหรัฐฯแล้วไปลงทุนในประเทศอื่นอันจะมีผลกระทบทำให้ค่าเงินบาทของไทยปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้ในระยะสั้นเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น