xs
xsm
sm
md
lg

ลาก่อนรัฐบาล ‘ศักดินาล้าหลัง’ หวังว่าเราจะไม่ได้พบกันอีก

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ในเดือนมหามงคล ปีมหามงคลเช่นนี้ หากไม่นับถึงเรื่องมงคลอย่าง พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 แล้วบรรยากาศบ้านเมือง ตั้งแต่หน้าตาของไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ ไปจนถึงหน้าตาของถนนหนทาง บ้านเมือง กลับดูหม่นหมองไปถนัดตา

หลังจากวันที่ 5 ธันวาคมเป็นต้นมา ถนนทุกสายดูเหมือนจะมุ่งหน้าไปสู่การเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 แต่เพียงอย่างเดียว ...

บรรดานักการเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าจะพรรคใด ต่างฉวยโอกาสที่ประชาชนกำลังตกระกำลำบากกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างฉับพลันจากปัจจัยทางด้านราคาน้ำมันและการที่สินค้าขึ้นราคาเพื่อหลอกล่อให้ประชาชนทั้งหลายต้องเคลิบเคลิ้มกับ นโยบายประชานิยม-รัฐสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการศึกษา การรักษาพยาบาล การตรึงราคาสาธารณูปโภค การขายฝันเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะราคาถูก การแจกงบประมาณลงไปตามท้องถิ่น ฯลฯ

กระนั้น ในสภาวะที่นักการเมืองทุกคนทุกพรรคต่างทุ่มเททั้งกำลังคน ทั้งกำลังทรัพย์สิน ทั้งเวลาไปกับการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างมากมายมหาศาลแต่ลึกๆ แล้วทุกคนต่างรู้แก่ใจดีว่าการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ที่จะถึงนี้จะไม่ใช่คำตอบของปัญหาในปัจจุบัน ไม่ใช่หนทางของการแก้วิกฤตของชาติ หรือแม้กระทั่งเป็นจุดเริ่มในการนำประเทศชาติกลับสู่หนทางของความปกติสุขแต่อย่างใด

ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชาชน หรือ พรรคการเมืองใดจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม หรือ พรรคพลังประชาชนจะถูกยุบหรือไม่ถูกยุบจากการละเมิดกฎหมายเลือกตั้งหลายๆ ประการ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มิอาจแก้วิกฤตการณ์ของประเทศไทยได้ทั้งสิ้น

... ถึงแม้พรรคประชาธิปัตย์จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็คงเป็นรัฐบาลผสมที่มีสถานะง่อนแง่นเต็มที

... หรือหากพรรคพลังประชาชนจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรในฐานะนายใหญ่ก็คงไม่ได้กลับมาประเทศไทยแบบสะดวกโยธิน และที่สำคัญนายกรัฐมนตรีที่ชื่อสมัคร สุนทรเวช ก็คงไม่ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น

... หรือหากพรรคพลังประชาชนจะถูกยุบพรรคจากการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ความวุ่นวายก็คงจะเกิดขึ้นเป็นระลอกคลื่นสึนามิ

ภายใต้สภาวะของการเมืองและบ้านเมืองเช่นนี้ ทำให้เซียนการเมืองระดับคุรุไม่ว่าจะสำนักใด ต่างฟันธงไปในทำนองเดียวกันว่ารัฐบาลต่อไปจะอยู่ได้ไม่ครบปี

ในสภาวะเช่นนี้ ใช่หรือไม่ว่าประเทศชาติและประชาชนไทยทั้งหลายได้เดินถอยหลังกลับไปสู่วิกฤตเช่นที่พวกเราเคยประสบมาแล้วในปี 2549 อีกครั้ง วิกฤตที่การเลือกตั้งมิใช่หนทางของการแก้ปัญหา ซ้ำร้ายจะเป็นตัวซ้ำเติมวิกฤตให้หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นที่น่าสะพรึงกลัวก็คือ วิกฤตที่พวกเราทั้งหลายจะประสบกันในอนาคตอันใกล้นี้ จะเป็นวิกฤตที่หนักหนาสาหัสกว่าวิกฤตในปี 2549 หลายเท่าด้วยกัน เพราะวิกฤตครั้งต่อไปนี้จะเป็นวิกฤตทางการเมืองที่ถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกประเทศ

ถามว่าแล้วผลลัพธ์การเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม ที่จะถึงนี้จะไปแตกต่างอะไรกับการเลือกตั้งครั้งอัปยศเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549?

ผมคิดว่าความแตกต่าง ประการแรก ก็คือ การเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 จะไม่นำไปสู่ “การรัฐประหารยึดอำนาจ” จากกองทัพเพื่อนำอำนาจการปกครองประเทศไปมอบให้กับ ชนชั้นศักดินาและระบอบอำมาตยาธิปไตย อีกแล้ว เพราะประสบการณ์ในช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า ‘การรัฐประหาร’ นั้นไม่ได้เป็นหนทางในการแก้ปัญหาของยุคสมัยนี้

ประชาชนทุกคนทราบดีว่าการรัฐประหาร โดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้นเกิดขึ้นบนต้นทุนที่สูงยิ่ง ทั้งในเชิงภาพลักษณ์ของประเทศในสังคมโลก การพัฒนาทางการเมือง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ-การค้า และที่สำคัญ ต้นทุนทางสถาบันหลักของชาติ เพราะฉะนั้น การรัฐประหารซ้อนในอนาคตอันใกล้นั้นยิ่งจะทำให้ต้นทุนและค่าเสียโอกาสของสังคมไทยพุ่งสูงขึ้นไปอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแรงกดดันทางสภาวะเศรษฐกิจในปี 2551

ประการที่สอง ผมคิดว่าการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 นั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนของระบอบศักดินา-อำมาตยาธิปไตยของประเทศไทย เพราะตลอดเวลาหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์และรัฐบาลของเขาได้พิสูจน์ให้ประชาชนประจักษ์แล้วว่า “ชนชั้นศักดินาล้าหลัง” นั้นมีอยู่จริงในสังคมไทยและอยู่ในสภาพที่สาหัสและน่าสมเพชเกินกว่าที่ประชาชน (โดยเฉพาะบรรดาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) คาดเอาไว้มาก

ในช่วงหนึ่งปีกว่าๆ ที่ผ่านมาชนชั้นศักดินาและระบอบอำมาตยาธิปไตยที่ได้รับโอกาสทองให้เข้ามาบริหารประเทศเพื่อแก้วิกฤตของชาติได้แสดงตนและแสดงสติปัญญาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า พวกเขาขาดความเข้าใจต่อสภาวะและวิกฤตของบ้านเมืองอย่างรุนแรง ทั้งยังแสดงตนให้เห็นว่าพวกเขาทำตัวลอยอยู่เหนือประชาชน ตัดขาดความเชื่อมโยงกับประชาชนโดยเฉพาะกับชนชั้นล่างอย่างสิ้นเชิง จนทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคพลังประชาชนยังคงสามารถรักษาคะแนนนิยมในหมู่ชนชั้นล่างไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

ประการที่สาม หลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ชนชั้นกลางส่วนหนึ่งที่รับไม่ได้ทั้ง ทุนนิยมสามานย์และศักดินาล้าหลัง จะถูกผลักให้ตกอยู่ในสภาวะที่หลังชนฝากลายเป็นหมาจนตรอก เนื่องจากทางเลือกของประชาชนกลุ่มนี้มีไม่มากนัก ถ้าหากไม่มีกลุ่มก้อนทางการเมืองใหม่ที่เสนอทางออกที่เป็นรูปธรรม มีกำลังและแรงสนับสนุนมากเพียงพอ คนกลุ่มนี้อาจจะต้องชั่งน้ำหนักเพื่อเลือก “ผู้ปกครอง” ที่บริหารประเทศโดยใช้ต้นทุนต่ำที่สุด

ทั้งนี้เชื่อแน่ได้เลยว่าชนชั้นกลางกลุ่มนี้จะโอนอ่อนผ่อนตามไปทางกลุ่มผู้ปกครองที่สามารถดำเนินการปฏิรูปและบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า มิใช่กลุ่มผู้ปกครองที่ทั้งตีนไม่ติดดินและไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคโลกาภิวัตน์
กำลังโหลดความคิดเห็น