xs
xsm
sm
md
lg

“เล่ห์, ราคะ” ของ จางอ้ายหลิง กับ หลี่อัน (2)

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ถึงกระนั้นก็ตาม ชีวิตการเรียนของ จางอ้ายหลิง ก็ราบรื่นอยู่เพียงไม่กี่ปี ด้วยในวันคริสต์มาสเดือนธันวาคม 1941 นั้นเอง ญี่ปุ่นก็สามารถยึดครองฮ่องกงได้สำเร็จ ถึงตอนนี้ จางอ้ายหลิง ก็ย้ายกลับไปยังซ่างไห่บ้านเกิดของเธอ จากนั้นก็เริ่มผลิตงานเขียนออกมาเป็นระยะๆ จำนวนหนึ่ง ครั้นพอถึง ค.ศ. 1944 จางอ้ายหลิง ก็ตัดสินใจสละโสดด้วยการแต่งงานกับ หูหลานเฉิง

จะด้วยภูมิหลังชีวิตครอบครัวที่ล้มเหลวของเธอหรือไม่ก็ตาม จางอ้ายหลิง ได้แสดงให้เห็นถึงความรักที่มีต่อ หูหลานเฉิง เป็นอย่างสูงจนดูคล้ายกับกลัวเขาจะหลุดลอยไป ดังที่แม่ของเธอเคยประสบ กล่าวคือว่า เธอรัก หู ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าเขาถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ทรยศต่อชาติ อันเนื่องมาจากไปให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม

ส่วน หูหลานเฉิง นั้นนับว่าทำได้เหมาะสมกับที่ถูกตราหน้าเสียด้วย ทั้งนี้เพราะในปีรุ่งขึ้น (ค.ศ. 1945) ที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามนั้น หู ได้หลบหนีความเป็นผู้ทรยศต่อชาติไปยังเมืองเวินโจว และที่เมืองนี้เขาก็ไปตกหลุมรักกับหญิงอีกคนหนึ่ง แต่การหลบหนีและทรยศต่อความรักของ หู ก็ไม่อาจหลุดพ้นการตามหาของ จางอ้ายหลิง ไปได้ เธอตามหาเขาจนพบ และเมื่อพบแล้ว เธอก็รู้เต็มอกว่าเธอมิอาจกอบกู้ชีวิตสมรสของเธอได้อีกต่อไป จางอ้ายหลิง หย่าขาดกับ หู ในปี ค.ศ. 1947 ในที่สุด

วิกฤตชีวิตรักของ จางอ้ายหลิง เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองควบคู่กันไป เพราะ ค.ศ. 1947 ที่เธอหย่าขาดกับ หู นั้น ในจีนได้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับกว๋อหมินตั่ง (ก๊กมินตั๋ง) ขึ้นมา สงครามที่จบลงด้วยชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนับว่าส่งผลสะเทือนต่อ จางอ้ายหลิง อยู่ไม่น้อย ด้วยว่าเมื่อพิจารณาในแง่อุดมการณ์กับภูมิหลังชีวิตและฐานะที่ค่อนข้างดีของเธอแล้ว ไม่น่าจะไปด้วยกันได้ แต่กระนั้น จางอ้ายหลิง ก็รอดูสถานการณ์อยู่จนถึง ค.ศ. 1952 อันเป็นปีที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทำการปฏิรูปที่ดินและยึดที่ดินทั่วประเทศมาเป็นของรัฐสำเร็จนั้น เธอก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่ฮ่องกง และทำงานเป็นนักแปลให้กับสำนักข่าวสารอเมริกัน (American News Agency)

จนถึง ค.ศ.1955 หรือ 3 ปีหลังจากนั้น จางอ้ายหลิง ก็อพยพไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ช่วงที่เธอจากแผ่นดินจีนไปนั้นตรงกับฤดูใบไม้ร่วง และนับจากนั้น เธอไม่เคยหวนกลับคืนสู่จีนแผ่นดินใหญ่อันเป็นแผ่นดินแม่ของเธออีกเลย

ที่สหรัฐฯ จางอ้ายหลิง ได้พบรักอีกครั้งหนึ่งกับ เฟอร์ดินันด์ รีเยอร์ (Ferdinand Reyer) มือเขียนบทชาวอเมริกัน เธอแต่งงานกับเขาใน ค.ศ. 1956 แต่ชีวิตรักของเธอก็เหมือนถูกสาป เพราะพอถึงวันหนึ่งของ ค.ศ. 1961 สามีของเธอก็เกิดหมดสติขึ้นมา และเมื่อฟื้นอีกครั้งหนึ่งเขาก็กลายเป็นอัมพาตไปแล้ว และในระหว่างที่ จางอ้ายหลิง อยู่ในระหว่างการเยือนไต้หวันปี ค.ศ. 1967 นั้นเอง เขาก็จากเธอไป

จากนั้น จางอ้ายหลิง ก็ใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ที่สหรัฐฯ มีผลงานแปลออกมาเป็นระยะๆ แต่เรารู้น้อยมากเกี่ยวกับบั้นปลายชีวิตของเธอ รู้แต่เพียงว่า มีผู้พบศพของเธอในบ้านพักเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1995 พิธีศพถูกจัดขึ้นอย่างเงียบๆ ตามคำขอของเธอ เช่นเดียวกับที่อัฐิธาตุของเธอที่ถูกนำไปโรยปลิวเหนือท้องน้ำแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก เหมือนหนึ่งจะบอกถึงสายสัมพันธ์ที่เธอยังมีต่อแผ่นดินเกิดของเธอ ถึงแม้ในสายสัมพันธ์นั้นจะมากด้วยวิบากกรรมเท่าที่สตรีคนหนึ่งพึงจะได้รับ

ห้วงเวลาที่ จางอ้ายหลิง จากไปนั้น แผ่นดินแม่ของเธอกำลังอยู่ในห้วงของการปฏิรูปประเทศอย่างขนานใหญ่ บุคคลที่มีอุดมการณ์ต่างไปจากแผ่นดินแม่อย่างเธอไม่ใช่ศัตรูทางชนชั้นของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกต่อไป เหตุนี้เอง ผลงานของเธอจึงถูกทยอยตีพิมพ์ออกมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ชาวจีนที่เป็นพี่น้องร่วมชาติของเธอได้สัมผัสและร่วมรู้สึกไปกับยุคสมัยของเธอ

จางอ้ายหลิง ได้รังสรรค์ผลงานมากกว่า 20 ชิ้น ทั้งนี้ยังไม่นับผลงานแปลอีกจำนวนหนึ่ง แต่ที่น่าทึ่งก็คือ ผลงานของเธอจำนวนไม่น้อยได้ถูกนำมาสร้างเป็นหนัง ในขณะที่เธอเองก็มีผลงานการเขียนบทหนังอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง สำหรับชาวไทยแล้ว ผลงานหนังที่สร้างจากวรรณกรรมของเธอที่เป็นที่รู้จักกันดีเรื่องหนึ่งก็คือ ปู้เหลี่ยวฉิง (ค.ศ.1947) อันเป็นหนังที่หากว่ากันตามสำนวนในยุคนั้น ก็กล่าวได้ว่าเป็นหนัง “รักโศกซึ้งสะเทือนใจ” ที่ยังคงตราตรึงใจผู้ชมมาตราบจนทุกวันนี้ เท่าๆ กับเพลงประกอบหนังชื่อเดียวกันที่สร้างแรงสะเทือนทางอารมณ์ไม่แพ้กัน

แต่ใครเลยจะรู้ว่า พอถึง ค.ศ. 2007 หลี่อัน ผู้กำกับมากฝีมือจากไต้หวันก็ได้หยิบยกเอาวรรณกรรมเรื่อง “เล่ห์, ราคะ” ของเธอมาสร้างเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่ง การสร้างครั้งนี้ทำให้งานวรรณกรรมของ จางอ้ายหลิง ที่ถูกสร้างเป็นหนังเพิ่มสถิติขึ้นมาเป็นเรื่องที่ 20 พอดี

ถึงกระนั้นก็ตาม อันดับที่ว่าก็คงไม่สำคัญเท่ากับตัวหนังที่ถูกสร้างออกมา ซึ่ง หลี่อัน ได้ประกาศฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์อีกครั้งหนึ่ง โดยที่หากเขาไม่เข้าใจชีวิตจริงของ จางอ้ายหลิง ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์จีน และไม่เข้าใจโลกมายากับโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ก็ยากนักที่ หลี่อัน จะทำได้ดี คือดีในระดับที่สามารถทำให้เราตระหนักถึงความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่เรียกว่า “เล่ห์, ราคะ” ได้อย่างลึกซึ้ง ลึกซึ้งขนาดที่มิอาจตอบตัวเองได้ว่า หากแม้นห้วงหนึ่งของชีวิตต้องตกอยู่ในวงล้อมของ “เสน่ห์, ราคะ” แล้ว จะสามารถที่จะนำตนให้หลุดพ้นวงล้อมที่ว่าได้หรือไม่ ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่ามันคือ “เสน่ห์, ราคะ”

โลกที่เป็นจริงกับโลกมายาของ "เล่ห์, ราคะ"

หนังเรื่อง “เล่ห์, ราคะ” ที่สร้างจากวรรณกรรมของ จางอ้ายหลิง เรื่องนี้ยังคงอิงกับเนื้อหาหลักในงานวรรณกรรม โดยหนังได้เปิดเรื่องขึ้นที่ซ่างไห่ใน ค.ศ.1942 ผ่าน หวังเจียจือ (ทังเหวย) หญิงสาวสวยที่แต่งตัวดีมีรสนิยมไปในทางทันสมัย การเปิดเรื่องช่วงนี้ใช้เวลาไม่นาน แล้วหนังก็ให้ตัวละครนี้พาเราย้อนกลับไปที่ยังเหตุการณ์เมื่อ 4 ปีก่อนหน้านั้นที่ฮ่องกง ซึ่งจะตรงกับ ค.ศ. 1938

ถึงตรงนี้ ความเข้าใจโลกที่เป็นจริง (ประวัติศาสตร์) ที่อยู่เบื้องหลังโลกมายา (หนัง) จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะนั่นเป็นหนทางที่จะทำให้เรากระจ่างชัดถึงฉากหลังของเรื่องที่เต็มไปด้วยรายละเอียดอันมากมาย และความกระจ่างชัดนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจต่อบทบาทของตัวละครต่างๆ ที่จะปรากฏตัวภายหลังจากนี้ได้ดีขึ้น

ซ่างไห่ ค.ศ. 1942 เป็นช่วงที่พื้นที่ทางชายฝั่งตะวันออกของจีนได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่ สภาพบ้านเมืองของซ่างไห่จึงมี 2 ภาพปะปนคละเคล้ากันไป ภาพหนึ่ง เป็นภาพการใช้ชีวิตที่ดูจากภายนอกแล้วก็เป็นชีวิตตามปกติทั่วๆ ไป อีกภาพหนึ่ง เป็นภาพบรรยากาศของเมืองที่ถูก “ต่างชาติ” ยึดครอง ที่ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ภาพนี้จะให้เห็นถึงชีวิตที่ไม่ปกติต่างกับภาพแรก

เราจะไม่รู้หรอกว่า ทั้งสองภาพนี้ภาพไหนสามารถบอกเราได้ว่า บนชีวิตที่ปกติของชาวจีนในซ่างไห่นั้น มีใครบ้าง “ปกติ” เพราะยอมรับได้การยึดครองของญี่ปุ่นโดยดุษณีหรือด้วยความเต็มใจ หรือใครบ้างที่ “ปกติ” แต่ภายนอก แต่ภายในใจอาจคุกรุ่นไปด้วยเลือดรักชาติที่พร้อมจะทำลายญี่ปุ่นหรือสมุนบริวารทุกเมื่อหากมีโอกาส

บนฐานของภาพทั้งสองนี้เอง ที่ทำให้เราเห็นตั้งแต่ตอนเปิดเรื่องใหม่ๆ นั้น นอกจากจะเห็นภาพการใช้ชีวิตที่ “ปกติ” ของชาวซ่างไห่แล้ว เราก็ยังเห็นภาพชายแต่งกายดีคนหนึ่งนอนตายเพราะถูกยิงอยู่กลางถนนที่มีผู้คนเดินขวักไขว่เป็น “ปกติ” เช่นกัน

จากภาพรวมข้างต้น พอหนังตัดย้อนกลับไปใน ค.ศ. 1938 ที่ฮ่องกง เราก็จะไม่แปลกใจอีกว่า เหตุใดชาวจีนที่แผ่นดินใหญ่หรือที่ฮ่องกงต่างก็กำลังตกอยู่ในห้วงอารมณ์ของความรักชาติ เพราะก่อนหน้านั้น 1 ปีคือ ค.ศ. 1937 ญี่ปุ่นได้กรีธาทัพเข้าบุกประเทศจีน การบุกเริ่มจากเป่ยจิง (ปักกิ่ง) ก่อน จากนั้นจึงค่อยรุกคืบลงมาทางใต้โดยเลียบชายฝั่งตะวันออกของจีนตลอดแนว
กำลังโหลดความคิดเห็น