xs
xsm
sm
md
lg

คมช.ร้อง กกต.ทบทวนมติ ระบุมีการตัดต่อเอกสารลับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กกต.ซื้อเวลาเลื่อนชี้เอกสารลับ คมช.ใครผิดเป็นวันที่ 4 ธ.ค. ด้าน คมช.ร่อนหนังสือขอให้ทบทวน ชี้การปฏิบัติของ คมช. เป็นภารกิจต่อเนื่องจากรัฐประหาร ที่ต้องป้องกันมิให้เกิดการทำลายความสงบเรียบร้อย จึงย่อมได้รับการคุ้มครองตามรธน.ไม่ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ระบุ มีการปลอมแปลงเอกสาร เพื่อจงใจให้เกิดความเข้าใจผิด คมช. เตรียมดำเนินการตาม กม.อาญา พร้อมนำเอกสารฉบับจริงให้ กกต.ตรวจ ขณะที่ ปธ.กกต. รับอาจสั่งสอบเพิ่มหากที่ประชุม กกต.เห็นว่าเอกสารใครจริง เท็จ เป็นข้อเท็จจริงสำคัญ เผยแม้กกต.ชุดนี้มาจากคมช. แต่งตั้ง แต่ก็แทรกแซง หรือกดดันให้ กกต.วินิจฉัยเข้าข้างไม่ได้ "สนธิ"ไม่ห่วงถูกปลด เชื่อนายกฯ เข้าใจดี

วานนี้ (30 พ.ย.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้มีการประชุม และได้มีการพิจารณากรณีเอกสารลับของพรรคพลังประชาชน ที่คณะกรรมการสืบสวนชุดที่มี นายสุพล ยุติธาดา เป็นประธานได้สรุปผลการสอบสวนแล้วว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) กระทำการ ไม่เป็นกลางเข้าข่าย ตาม มาตรา 57 ของ พ.ร.บ เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยก่อนการประชุมนางสดศรี สัตยธรรม กกต. เปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ทางสำนักงานเลขาธิการ คมช. ได้มีหนังสือถึงประธาน กกต. เลขที่ คมช. 0002/1770 เพื่อขอให้ทบทวนการพิจารณาของคณะกรรมการสืบสวน ที่มีนายสุพล เป็นประธาน โดยระบุว่า การปฏิบัติงานของ คมช.ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 49 มาตรา 34 วรรค 1 มาตรา 37 และ มาตรา 298 มาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ ปี 50 ที่ระบุว่าบรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณา (ฉบับชั่วคราว 2549) ว่า เป็นการชอบด้วยกฏหมาย รัฐธรรมนูญ ร่วมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงถือว่า การดำเนินการตามแผนของ คมช.จึงไม่ผิด และมีการนำเอกสารดังกล่าวไปปลอมแปลง มีการเปลี่ยน เพิ่มเติมถ้อยคำ เพื่อให้เห็นว่า คมช. กระทำการกลั่นแกล้งพรรคการเมืองใด จึงขอที่จะนำเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการในชั้นศาลยุติธรรมเอง ซึ่งที่ประชุม กกต.จะได้พิจารณากัน

ทั้งนี้ นางสดศรี ยังกล่าวอีกว่า ส่วนตัวคิดว่า ก่อนที่จะพิจารณาว่า การกระทำตามเอกสารผิดหรือไม่ ควรต้องมีการส่งให้ศาลวินิจฉัยก่อนว่า เอกสารที่มีการนำเสนอกันอยู่นี้ ฉบับไหนจริง และฉบับไหนปลอม

เมื่อถามว่า การพิจารณาของ กกต. จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ กกต.หรือไม่ นางสดศรี กล่าว่า กกต.ไม่เข้าข้างใคร จะทำด้วยความเป็นกลาง ไม่ว่าสังคมจะมองอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เหมือนกับการที่ศาลพิพากษา ก็ต้องมีคนได้ และคนเสีย แต่ขณะนี้ภาพลักษณ์ของ กกต.ก็ถูกกระทบอย่างมากอยู่แล้ว

สำหรับหนังสือของสำนักเลขาธิการ คมช. ที่มีถึงมีกกต.นั้น ลงนามโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่งคงแห่งชาติ ขอให้มีการทบทวน การพิจารณาของคณะกรรมการสืบสวน โดยให้เหตุผลว่า

1. คมช. มีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการรัฐประหาร และแก้ไขปัญหาความมั่นคงของชาติ เพื่อให้เหตุแห่งการยึดอำนาจ สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ และเป็นที่ทราบกันอยู่ ทั้งจากการรายงานของสื่อ และการแถลงของหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคคนสำคัญพรรคหนึ่งว่า พรรคการเมืองนั้น ก่อตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของอดีตนายกฯ ซึ่งถูกยึดอำนาจ และมีการกระทำอีกหลายประการ ที่แสดงให้เห็นว่า อดีตนายกฯ คนดังกล่าวอยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองนั้น เช่น การที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคนั้น ถ่ายภาพคู่กับอดีตนายกฯ มาหาเสียงเลือกตั้ง การประกาศโดยหัวหน้าพรรคการเมืองนั้นว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาล จะยกเลิก คตส. และตนพร้อมที่จะสืบทอดเจตนารมย์ของอดีตนายกฯ ที่สำคัญที่สุด คนใกล้ชิดของอดีตนายกฯ ที่เป็นสมาชิกพรรคคนสำคัญ ประกาศชัดเจนว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลก็พร้อมที่จะกลับมา ”คิดบัญชี” กับผู้เกี่ยวข้อง อันเป็นการแสดงความอาฆาตมาตร้าย และสร้างความแตกสามัคคีให้สืบเนื่องต่อไป

"การกระทำทั้งหมดนี้ เป็นการขัดอย่างชัดแจ้งต่อเจตนารมย์แห่งการยึดอำนาจ ดังที่ปรากฏอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว )พ.ศ. 2549 และขัดต่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นกฏหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นคมช. จึงมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในการรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมกับคณะรัฐมนตรี จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการป้องปรามมิให้มีการดำเนินการ ในลักษณะที่เป็นการทำลายความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของประเทศโดยการ ดำเนินการดังกล่าว เพื่อให้เกิดความมั่นคงของชาตินั้น ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 มาตรา 34 วรรค 1 และมาตรา 37 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 298 และมาตรา 309 ให้ถือว่าการกระทำที่เกี่ยวเนื่องไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 50 เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ"

2. ข้อกล่าวหาที่ว่า หนังสือ สปค. สปส. คมช. ลับ-ด่วนมาก ที่ คมช.0003.5/480 ลงวันที่ 14 ก.ย. 50 มีเนื้อที่น่าจะเข้าข่ายเจ้าหน้าที่รัฐวางตัวไม่เป็นกลางในการเลือกตั้งนั้น หากพิจารณาจากต้นฉบับแล้วจะพบว่า เป็นการนำเอาข้อความ หรือข้อเท็จจริงที่สังคมได้รับทราบโดยทั่วไป ที่ผ่านมาวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ และสื่อมวลชนอื่น ที่แพร่หลายอยู่แล้วมากล่าวถึงเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อเป็นคุณ หรือเป็นโทษ แก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ตามมาตรา 57 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. โดย คมช.พร้อมที่จะให้ กกต.ตรวจสอบเอกสารฉบับนี้ได้

3. เอกสารที่หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมืองพรรคหนึ่งนำมากล่าวอ้างนั้น มีการเพิ่มเติมข้อความในสาระสำคัญหลายที่ เพื่อแสดงให้เห็นว่า คมช. จงใจทำลายพรรคการเมืองของตน โดยหวังผลประโยชน์ทางการเมือง อันเป็นการปลอมเอกสาร หรือ ใช้เอกสารปลอม อันเป็นความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา จากเหตุผลดังกล่าว คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน จึงน่าจะนำประเด็นที่มาของเอกสาร มาพิจารณาก่อนว่า เอกสารที่ผู้ร้องนำมาใช้ เป็นการทำ หรือใช้เอกสารปลอมหรือไม่ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ครบถ้วน และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ประชุมอีกครั้ง 4 ธ.ค.

ภายหลังการประชุมที่ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต. กล่าวว่า ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการสอบสวนได้มาสรุปผลการสอบสวนด้วยวาจาให้กับ กกต. ได้ทราบ และได้นำเอกสารสรุปมาแจกจ่าย ซึ่ง กกต.ทั้ง 5 คนได้รับ และจะนำไปศึกษา โดยในการประชุมวันที่ 4 ธ.ค. ก็จะได้มีการพิจารณากัน รวมไปถึงหนังสือที่ คมช. ส่งมาขอให้ทบทวนมติของคณะกรรมการฯ ด้วย

นายอภิชาต กล่าวด้วยว่า จากที่ฟังการสรุปของผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการฯ ทราบว่า ไม่ได้มีการพิจารณาว่าเอกสารของฝ่ายใดจริง หรือปลอม ซึ่งในการพิจารณาของ กกต.วันที่ 4 ธ.ค. ก็จะดูว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องให้ได้ข้อเท็จจริงนี้ หากเห็นว่าจำเป็น ก็อาจจะให้สอบ

" จริงๆ เราไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนคณะกรรมการสอบสวนฯ เพราะเราก็เหมือนศาล ที่จะวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ได้มา ซึ่งก็ไม่หมายความว่า เราจะไปเบี่ยงเบนไม่ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรุป โดยการพิจารณาก็จะมีการชี้ว่า มีใครถูก ผิด มีการกระทำตามที่ร้องมาไหม และ จะเกิดผลอย่างไร" นายอภิชาต กล่าว และว่า หนังสือของ คมช.ที่ขอให้ทบทวน ไม่ได้ถือว่าเป็นการแทรกแซง หรือกดดันอะไร กกต. แม้ว่า กกต.จะมาจากการแต่งตั้งของ คมช. แต่อีกข้อเท็จจริงหนึ่งคือ กกต.ชุดนี้มาจากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 40

**สมเจตน์แจงทำหนังสือถึง กกต.

ด้าน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ผู้อำนวนการสำนักงานเลขาธิการ คมช. กล่าวว่า ตนเป็นผู้ลงนามในหนังสือที่ส่งถึง ประธาน กกต.จริง ซึ่งหนังสือที่ส่งไปเราเห็นว่า การพิจารณาของคณะกรรมการฯ ที่เห็นว่าเราไม่เป็นกลาง เราก็ต้องชี้แจงว่า เป็นภารกิจที่ต่อเนื่องมาจาก คณะปฏิรูปการปกครองฯ โดยตนเพิ่งทราบว่าทาง กกต.จะประชุมในเวลา 14.00 น. เราเกรงว่าเรื่องไม่ทัน ก็เลยต้องรีบดำเนินการไป โดยเพียงขั้นต้นได้เรียนท่านประธาน คมช. และ เลขาธิการ คมช.ไปคร่าวๆ และเห็นว่าต้องทำหนังสือชี้แจงไปก่อน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสับสน ประชาชนจะเกิดความเข้าใจว่าเราไม่เป็นกลาง ซึ่งหากรอให้มีการประชุมคงไม่ทัน คงรอไม่ได้ เพราะ กกต.ประชุมตอนบ่ายสองโมง เมื่อทำหนังสือเสร็จแล้วก็ส่งเรื่องเหล่านี้ให้บอร์ด คมช.ทุกคน ได้ช่วยพิจารณาในภายหลัง

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า จุดประสงค์ของเราคือต้องการให้มีการทบทวนเท่านั้นเอง ไม่ได้ไปตำหนิ ว่ากล่าวอะไรใคร ไม่ใช่ว่าเราไม่เคารพ กกต. แต่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นการดำเนินการสืบเนื่องจากการปฏิรูปการปกครองฯ วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความมั่นคงแห่งชาติขึ้น การดำเนินการของ คมช. มี ม.298- 309 ของ รธน. 50 รองรับและคุ้มครองอยู่ ให้คมช.ทำหน้าที่ต่อไป และหมดอายุเมื่อมีรัฐบาลใหม่

“ผมว่าคณะกรรมการฯ ทุกท่านมีเจตนาดี แต่ท่านอาจไม่ได้มองประเด็นที่มาจากสาเหตุเบื้องต้นของเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ว่ามีความสืบเนื่องอย่างไร ทำไมเราถึงมาทำแบบนี้ขึ้น ก็คิดดูว่า พรรคการเมืองก็มีการแสดงออกมาว่าต้องการสืบทอดเจตนารมณ์ ของอดีตนายกฯ นอกจากนี้ ก็มีการแสดงอะไรหลายๆ ประการ หรือรวมถึงว่าเมื่อมาเป็นรัฐบาลจะยกเลิก คตส. และจะมาคิดบัญชี สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะก่อให้เกิดความแตกสามัคคีของคนในชาติ แม้จะมีการเลือกตั้งก็ตามประเทศชาติก็ไม่สงบ

เราไม่ใช่มาดูตรงปลายเหตุ มันต้องดูความสืบเนื่องกันมา ว่าทำไม คมช.ทำอย่างนี้ขึ้น ถามว่าคำว่าวางตัวเป็นกลางหมายความว่าอย่างไร เราจะไปเข้าข้างโน่น ข้างนี้หรืออย่างไร ซึ่งมันไม่ใช่ แต่เป็นภารกิจที่มันต่อเนื่องมา ทั้งนี้หากเปรียบเทียบว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมา เราก็เคารพในคำพิพากษา หากเรามีความเห็นที่ขัดแย้งและไม่ตรงกับท่านเราก็สามารถจะอุทรณ์ได้ ไม่ใช่เราตัดสินและไม่เคารพศาล แต่เมื่อเห็นไม่ตรงกัน และมีข้อโต้แย้งอะไร เราก็จะอุทรณ์ได้ มีอุทรณ์ และก็ยังมีฎีกา ได้ ดังนั้น จึงมิใช่ว่าเราไม่ให้ความเคารพในดุลยพินิจของคณะกรรมการฯ แต่มันยังไม่ใช่ข้อยุติ ซึ่งข้อยุติในขั้นต้นต้องเป็นของกกต. หรือหาก กกต.ยังไม่สามารถดำเนินการได้ กกต.ก็อาจส่งเรื่องขึ้นศาล รธน.ก็ได้ "

เมื่อถามว่า การทำอย่างนี้เหมือนกับว่า คมช.ดิ้น เพื่อช่วย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ไม่ใช่ดิ้นเพื่อช่วยใคร แต่ คมช.มีหน้าที่ต้องทำงาน ขณะนี้ท่านพ้นหน้าที่ไปแล้ว แต่ตอนนี้ คมช.มีภาระ ความรับผิดชอบ ตาม รธน. ที่ต้องทำงานอยู่

ด้านนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน กล่าวถึง กรณี พล.อ.สมเจตน์ ยื่นหนังสือถึง กกต. ขอให้ทบทวนมติ อนุกรรมการสอบสวนเอกสารลับ ว่า ขออนุญาตไม่ออกความเห็น เพราะพอใจในคำวินิจฉัยทุกอย่างก็จบ ตนขีดเส้นใต้สองเส้น ขอบคุณกรรมการ และปล่อยให้กกต.ดูแล เขาก็มีหางว่าถ้าจะเอาเรื่องก็ไปฟ้องร้อง แต่ตนก็ไม่ฟ้องร้องอะไร เพราะว่าพอใจแล้ว

**"สนธิ"ไม่ห่วงถูกปลกพ้น ครส.

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ต้องให้กกต.ตัดสินขั้นสุดท้ายก่อน ตอนนี้อยู่ระหว่างทาง ยังไม่เรียบร้อย เมื่อถามว่าพร้อมที่จะชี้แจงหรือไม่ หากมีการตัดสินออกมาแล้ว พล.อ.สนธิ กล่าวว่า งานในหน้าที่ของเรา เราทำตามหน้าที่ของเรา เรื่องความมั่นคง อยู่ตรงไหนก็เป็นอย่างนี้ เหมือนกันหมด

เมื่อถามว่า ได้มีการตรวจสอบเอกสารหรือไม่ ระหว่างเอกสารที่กองทัพส่งมา กับเอกสารที่ทางพรรคพลังประชาชน นำออกมาเปิดเผย พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ไม่รู้ ตนเห็นเฉพาะเอกสารที่ส่งมา ก็ไม่เห็นมีอะไร เมื่อถามว่า ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลานั้น ใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ถูกต้อง หน้าที่ของเรา เราทำของเรามาตั้งนานแล้ว ก็ปกติ เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าผลของการพิจารณาอาจมีผลต่อตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการดำเนินการตามวาระแห่งชาติว่าด้วยการรณรงค์และแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง (ครส.) พล.อ.สนธิ กล่าวว่า อันนี้อยู่ที่นายกรัฐมนตรี เราทำหน้าที่ของเราด้วยความเป็นกลางจริงๆ เราไม่มีการเอนเอียงทั้งสิ้น ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจกับการนำพาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นเอง อย่างอื่นไม่มี

เมื่อถามว่าได้มีโอกาสคุยกับนายกฯ บ้างหรือยังในเรื่องนี้ รองนายฯ กล่าวว่า ก็คุยกันมาตลอด ไม่มีปัญหาหรอก นายกฯ เข้าใจปัญหาอยู่แล้ว เรารับราชการมา รู้ปัญหาพวกนี้ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกอย่างไรบ้าง หากจะถูกมองว่ามีความเอนเอียงไม่เป็นกลาง พล.อ.สนธิ กล่าวว่า เรารู้ตัวเราว่าเราเอียงหรือไม่เอียง พวกเราก็ลองดูแล้วกันว่า มีใครตำหนิตรงนั้นหรือไม่ เราทำอย่างตรงไปตรงมา เมื่อถามว่ามีการจับประเด็นว่า กลายเป็นว่าเราไปตั้งป้อมกับพรรคใดพรรคหนึ่ง รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่หรอก ตนพูดตั้งแต่ต้นแล้วว่า มันเป็นกระบวนการทางการเมือง การหาเสียงอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดความสงสาร อันนี้ทุกคนเข้าใจอยู่แล้ว อยู่ที่วิจารณญาณของประชาชน คนไทยทั้งประเทศต้องคิดเอาเอง

**ยังอุบเรื่องรับตำแหน่งในรัฐบาลใหม่

ผู้สื่อข่าวถามถึง 111 อดีตกรรมการบริห่ารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ออกมาระบุอยากให้ท่านสัญญาว่าหลังตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ไม่รู้ มาถามอะไร ไม่เกี่ยวอะไร เมื่อถามว่า หลังการตั้งรัฐบาล ถ้ามีคนทาบทามให้ท่านเข้าร่วมรัฐบาล จะรับหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ผู้ที่มาเป็นส.ส. คือผู้แทนประชาชน เขาตัดสินใจเอง แทนประชาชน ไม่ใช่ใครคนใด คนหนึ่ง เมื่อถามว่า หมายถึงตัวท่านเองจะรับตำแหน่งหรือไม่ พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับประชาชนจะเป็นผู้กำหนดมาอีกที เมื่อถามว่าหมายถึงผู้แทน ถ้าเชิญมาก็จะรับใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ก็ไม่รู้ อันนั้นต้องว่ากันอีกทีหนึ่ง

**นายกฯ ยึดหลักสุ จิ ปุ ลิ ตัดสิน

ด้านพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ต้องรอให้ กกต.ชี้มาก่อน และจะได้มีการปรึกษาหารือกัน ขณะนี้ยังไม่มีเรื่องที่ชี้มา ก็ยังไม่ต้องทำอะไร เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ.สนธิ หรือยัง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ายังไม่ได้คุย เมื่อถามว่า หลายปัญหาที่พุ่งเป้าตรงมายังรัฐบาล และคมช. ในเรื่องความไม่เป็นกลาง จะทำอย่างไร พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ก็เรียนอย่างเต็มที่แล้วว่ารัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลให้เกิดความเป็นกลาง อาจจะมีบางส่วนซึ่งทุกครั้งอาจจะมีที่ เราจำเป็นจะต้องคอยสอดส่องดูแล เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น นั่นเป็นเรื่องที่จะต้องขอความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย

เมื่อถามว่า จุดอ่อนที่เกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไร โดยเฉพาะตัว พล.อ.สนธิ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่ได้เป็นจุดอ่อน คงเป็นเรื่องที่ตนคิดว่า เป็นเรื่องทางการเมืองที่คงจะต้องยกประเด็นในส่วนหนึ่งส่วนใดขึ้นมา เพื่อเป็นเรื่องที่จะได้พูดจาทำความเข้าใจกันในทางการเมืองอย่างที่ตนพูดว่า สุ จิ ปุ ลิ ก็คงต้องฟัง คิด ถาม และเขียน นั่นเป็นส่วนที่ถือว่า เราจำเป็นจะต้องดำเนินการกันตามนั้น

เมื่อถามว่า ที่นายกฯ บอกว่าอาจมีบางส่วนทำให้ถูกมองว่าไม่เป็นกลาง จะบอกได้หรือไม่ว่าเป็นส่วนใด พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ทุกครั้งในการาเลือกตั้ง จะมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่เป็นข้าราชการ ก็มีผู้ทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งเสมอ นั่นเป็นเรื่องที่เราทุกคนซึ่งต้องช่วยกันสอดส่อง รัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะช่วย กกต.ให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส นั่นเป็นสิ่งที่จะต้องช่วยกัน คงไม่ใช่เรื่องของคนหนึ่งคนใด หากเราอยากเห็นการเลือกตั้งที่ออกมาเป็นที่พอใจ เราก็ต้องช่วยกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น