xs
xsm
sm
md
lg

มนุษย์เป็นผู้กำหนดชะตาของตนเอง

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ในทางพุทธศาสนาซึ่งยึดกฎแห่งกรรมอันเป็นกฎของเหตุและผล มีเหตุปัจจัยจึงนำไปสู่การเกิดผล และผลที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวพันโดยตรงกับเหตุ เช่น หว่านข้าวเข้าไปในนาก็จะได้ต้นข้าวจะไม่เป็นอย่างอื่น เมื่อมาปรับกับพฤติกรรมของมนุษย์ก็จะเข้าหลักที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ดังนั้น อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล ซึ่งเป็นตรรกที่เดินไปตามครรลอง เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน

สุภาษิตวิลันดาบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ปัจจุบันถูกกำหนดโดยอดีต และปัจจุบันจะกำหนดอนาคต” ซึ่งก็มีความหมายเดียวกันกับทางพุทธศาสนา ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ย่อมมาจากการกระทำของอดีต แต่อนาคตจะเป็นอย่างไรย่อมมาจากผลการกระทำในปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนี้มนุษย์ย่อมจะเป็นผู้กระทำ สามารถจะกำหนดอนาคตของสังคมได้ อะไรก็ตามที่จะดำเนินไปในทางลบมนุษย์จะขัดขวางได้ถ้าเป็นการกระทำที่เกิดจากมนุษย์ แต่ถ้าเป็นเรื่องภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว พายุ มนุษย์ไม่สามารถจะป้องกันได้ แต่ถ้าเป็นกรณีน้ำท่วมมนุษย์อาจจะสร้างเขื่อน สร้างทางระบาย ป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมได้ สรุปคือ อะไรก็ตามที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่จะเกิดในอนาคตนั้นมนุษย์สามารถจะขัดขวางไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นกฎแห่งกรรมคือการก่อกรรมใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งไม่ดีเกิดขึ้นในอนาคต และในกรณีที่มีคนคิดก่อกรรมไม่ดีจนสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม มนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งก็สามารถจะก่อกรรมใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้คนอีกกลุ่มหนึ่งก่อกรรมที่จะส่งผลในทางลบต่อสังคมได้

ในกรณีที่มนุษย์เห็นพ้องต้องกันว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอันเกิดขึ้นตามครรลองของระบบซึ่งไม่มีความสมบูรณ์ และจะนำไปสู่ความเสียหายโดยรวมด้วยการคาดการณ์ล่วงหน้า (a priori) มนุษย์ก็สามารถตกลงร่วมมือกันเพื่อไม่ให้กระบวนการที่นำไปสู่ความเสียหายนั้นเกิดขึ้น

ตัวอย่างเช่น ความเสียหายอันเกิดจากสงครามที่มีต่อกายภาพ อันได้แก่ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เช่น เคมีที่ทิ้งเพื่อทำลายล้างกันนั้นก่อให้เกิดปัญหามลภาวะ ต้นไม้แห้งตาย สะพานถูกหักโค่น ตึกรามบ้านช่องถูกทำลาย ถนนพังยับเยินเป็นสายๆ เกิดหลุมบ่อเป็นจำนวนมากจนเป็นที่ขังน้ำและแหล่งเพาะยุงเชื้อมาเลเรีย กระสุนฝังลงในต้นไม้ เมื่อมีการใช้เลื่อยตัด เลื่อยหักเป็นอันตรายต่อผู้ตัด ฯลฯ และจากประสบการณ์และความรู้เหล่านี้มนุษย์ย่อมสามารถจะคาดได้ล่วงหน้าว่า ถ้าสงครามเกิดขึ้นซ้ำอีกผลในทางลบก็จะเกิดขึ้นอย่างในอดีต การสามารถดักปัญหาล่วงหน้าด้วยการตั้งสมมติฐาน และการสามารถจะอธิบายความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยย้อนไปหาสาเหตุ เช่น หลังสงครามเวียดนามตกอยู่ในสภาพที่เสียหายอย่างหนัก ความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นโดยสองประการเท่านั้นคือ จากภัยธรรมชาติหรือภัยจากสงคราม การวิเคราะห์สาเหตุโดยพิจารณาจากผล (a posteriori) การพยายามดักปัญหาโดยการคาดการณ์ล่วงหน้า ย่อมทำให้เห็นแนวทางการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น (a priori)

นอกจากความเสียหายทางกายภาพแล้ว ความเสียหายทางชีวิตก็มีเป็นจำนวนมาก ในสงครามโลกครั้งที่สองคนตายเป็นสิบๆ ล้านคนทั้งยุโรปและเอเชีย นี่เป็นเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ความพยายามที่จะตั้งสหประชาชาติ เพราะเชื่อว่าสงครามเกิดขึ้นโดยมนุษย์ มนุษย์สามารถจะหาที่เจรจากันโดยใช้การทูตและการเมืองเป็นตัวนำ แทนที่จะใช้กำลัง แต่สงครามก็ยังเกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม สงครามขนาดใหญ่คือสงครามโลกนั้นก็ได้รับการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมาเป็นเวลาถึงกว่า 50 ปีแล้ว

ในทางการเมืองนั้น ความเสียหายที่เกิดจากการปฏิวัติวัฒนธรรมสมัยเหมา เจ๋อตุง และแก๊งทั้งสี่นั้นส่งผลมาถึงปัจจุบัน ในทางลบหลายครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวของหลิว เส้าฉี ถูกทารุณกรรมอย่างไม่ยุติธรรม คนจำนวนมากถูกฆ่าตาย ผู้นำที่มีบุญคุณต่อแผ่นดินจีนถูกกระบวนการยามแดงรังแกอย่างไร้เหตุผลในลักษณะบ้าคลั่ง เพราะความเขลาและเบาปัญญา ไร้ความคิด ถูกล้างสมองถูกจูงเหมือนสัตว์ต่าง แต่ผลในทางบวกก็ทำให้ได้บทเรียนจากประวัติศาสตร์ว่า การเมืองที่สุดโต่ง ใช้อุดมการณ์จนเกินเลย ใช้อารมณ์เป็นหลักในการวินิจฉัย และไม่เกิดผลดีต่อใครทั้งสิ้นไม่ว่าใครจะแพ้หรือชนะ

การเมืองที่ดีไม่ก่อปัญหาจึงต้องอยู่บนพื้นฐาน 3 ประการ คือ

ประการที่หนึ่ง กระบวนการทางการเมืองจะต้องมีความ ชอบธรรมทางการเมือง โดยกฎกติกาเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ และมั่นใจว่ากระบวนการทางการเมืองจะมีความยุติธรรม

ประการที่สอง จะต้องมี ศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อระบบ โดยต้องพยายามพยุงไว้ซึ่งความยุติธรรม ใช้จริยธรรมทางการเมืองในการผดุงไว้ซึ่งระบบและกระบวนการ ไม่ใช่มุ่งเอาชนะจนละเมิดหลักการอันสำคัญ

ประการที่สาม จะต้องมีความ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ถ้ามีแต่ความไม่ไว้วางใจ ระแวงสงสัย มีความคิดและการแสดงออกที่เป็นศัตรูกันอย่างรุนแรง เสมือนหนึ่งจะไม่เผาผีกัน เป็นฝักเป็นใฝ่จนกลายเป็นเกมที่มีผู้ชนะได้ทั้งหมดและผู้แพ้โดยแพ้โดยสิ้นเชิง (zero-sum game) ก็จะกลายเป็นการประจันหน้าและการต่อสู้อย่างรุนแรง และผู้แพ้อาจจะไม่ยอมรับผล ทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้จนต้องแตกหักไปข้างหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องมีกลไกและกลุ่มบุคคลที่สามารถจะสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เล่นไปตามกติกาแบบนักกีฬา ยอมรับในกฎกติกาที่กำหนดไว้ และทุกฝ่ายเห็นว่ากฎกติกาดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม (fair game) ผู้ชนะก็ทำหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจรัฐ ผู้แพ้ก็รอโอกาสต่อไปแต่จะทำหน้าที่คอยตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐอย่างดีที่สุด โดยทั้งหลายทั้งปวงนี้มีหลักที่สำคัญคือเพื่อประโยชน์ของประชาชน สังคมและประเทศชาติ เป็นข้อพิจารณาสูงสุด ขณะเดียวกันประเด็นความขัดแย้งต่างๆ อาจจะต้องมีการออมชอมและพบกันครึ่งทาง ระบบจึงสามารถจะอยู่ได้ ประเทศที่ประสบความสำเร็จในขณะนี้แม้จะไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย คือ เวียดนามและจีน ประเทศที่ไม่สามารถจะแก้ไขความขัดแย้งเลยจนมีแนวโน้มที่จะแตกหักและนองเลือดคือประเทศพม่า และประเทศที่มีความพยายามที่จะแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธี แต่เนื่องจากความขัดแย้งที่เข้มข้นและเนื่องจากอารมณ์ที่รุนแรง เป็นฝักเป็นฝ่ายกันอย่างมาก ไม่ยอมลดราวาศอกให้กัน จนมีแนวโน้มว่าอาจจะไม่สามารถลงเอยได้ด้วยสันติวิธี และระหว่างที่มีการแก้ไขความขัดแย้งนั้นอาจจะสูญเสียเลือดชีวิตและเลือดเนื้อ ประเทศนั้นได้แก่ประเทศปากีสถาน

เมื่อมองในรูปนี้ประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองและสามารถดำเนินการส่งทอดอำนาจอย่างสันติวิธี ขณะเดียวกันก็มีจุดมุ่งเน้นที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวทันโลกยุคโลกาภิวัตน์และการค้าเสรีจะอยู่ในสภาพได้เปรียบ นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้จีนและเวียดนามก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากการเมืองที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพในอินเดีย โอกาสที่อินเดียจะก้าวหน้ากว่าปากีสถานก็เป็นสิ่งที่เห็นอยู่แล้ว

การเมืองจะเป็นอย่างไรนั้นอยู่ที่มนุษย์ที่เกี่ยวข้องส่วนหนึ่ง และอยู่ที่ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอีกส่วนหนึ่ง แต่ถ้ามีแนวโน้มว่าการดำเนินการต่อไปข้างหน้าจะสะดุดและเจออุปสรรคอย่างมากเนื่องจากปัญหาความชอบธรรม ศรัทธาและความไว้ใจ ก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง การแก้ปัญหานั้นจะต้องเริ่มด้วยการตระหนักร่วมกันว่า การเมืองกำลังมีปัญหาในปัจจุบัน และการเมืองจะมีปัญหาต่อไปในอนาคตถ้ายังไม่แก้ที่แก่นเรื่องซึ่งเป็นพื้นฐานของปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้และจะเกิดขึ้นในอนาคต

บทความนี้เป็นบทความที่เกี่ยวกับประเทศอื่น ผู้วิพากษ์วิจารณ์โปรดพิจารณาที่เนื้อหาว่ามีข้อผิดพลาดประการใดบ้างในแง่ข้อมูลและการวิเคราะห์ การพยายามโยงเรื่องอื่น ประเทศอื่น ซึ่งไม่เกี่ยวกับบทความนี้ หรือโยงกับผู้เขียนด้วยการเสียดสีและถากถางเกี่ยวกับผู้เขียน จะเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์
กำลังโหลดความคิดเห็น