xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอย ‘สนธิ’ (9) – จาก ‘ดี.ซี.’ ถึง ‘นิวยอร์ก’

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


เช้าวันที่ 22 สิงหาคม 2550 ที่สนามบินนานาชาติ Dulles กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. บรรยากาศในคณะของเราดูหงอยเหงาลงไปทันตาเมื่อถึงเวลาที่ ‘น้องมิ’ ซาโตมิ กิโนซ่า ลูกพี่ลูกน้องของผมที่เดินทางมาด้วยกันจะต้องแยกกับคณะเพื่อเดินทางไปตามหาความฝันของการเป็นนักการทูตที่ Wellesley College เมืองบอสตัน ... ขณะที่จุดหมายต่อไปของคณะใหญ่ ASTV และยามเฝ้าแผ่นดินนั้นอยู่ที่ ‘มหานครนิวยอร์ก’

กระนั้นการจากลาก็ไม่ได้เศร้าสร้อยจนเกินไปนักเพราะอย่างน้อย ‘น้องมิ’ ก็มีคุณลุงสนธิ และ ‘พี่วิน’ วินเนอร์ เดชเพียร ผู้จัดการโครงการ ASTV USA เดินทางไปส่งถึงบอสตัน

ก่อนออกเดินทางลุงธัช ป้าติ๋ว อาบรรจบ และลุงๆ อีกหลายคนช่วยเหลือพวกเราอย่างเต็มความสามารถ โดยนอกจากจะหารถมาช่วยขนกระเป๋าเดินทางนับสิบใบแล้วยังมีน้ำใจมอบ ขนมนมเนย ของฝาก-ของที่ระลึกให้มาอีกจำนวนไม่น้อย ทั้งยังตามมาส่งพวกเราจนถึงจุดตรวจเข้าเครื่องเอกซเรย์ร่างกายและสัมภาระก่อนขึ้นเครื่อง

อีกไม่กี่อึดใจให้หลัง เที่ยวบิน AA4740 ของสายการบิน American Airlines ก็ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ภาพของสนามบิน Dulles ตึกเพนตากอน และถนนหนทางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ค่อยๆ เลือนหายไปภายใต้ก้อนเมฆ

อย่างไรก็ตามคณะของเรามีเวลางีบกันเพียงชั่วโมงเศษ เพราะไม่นานนักเครื่องบินก็ลดระดับลงเพื่อลงจอดที่สนามบิน JFK

‘ป้าไพลิน’ ไพลิน คำศิริ พันธมิตรเหนียวแน่นของคุณสนธิ และ ASTV นำพรรคพวกมารับเราอย่างอบอุ่นถึงสายพานลำเลียงกระเป๋า โดยหนึ่งในนั้นก็คือพี่สาธิต เชฟใหญ่แห่งโรงแรม Waldorf Astoria ผู้จัดหาห้องพักเกรดเอให้คณะของเราได้ในราคาย่อมเยาอย่างเหลือเชื่อ

คณะของเราเข้าพักกันที่โรงแรม Hilton Millennium ที่ทำงานเก่าของพี่สาธิต ซึ่งตั้งประจันหน้าอยู่กับ Ground Zero หรือสถานที่ตั้งเดิมของตึกเวิลด์เทรดเซนเตอร์ ‘ตึกแฝด’ ที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของมหานครนิวยอร์ก และ สัญลักษณ์ของลัทธิทุนนิยมครอบโลกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันจุดที่เคยเป็นสถานที่ตั้งของตึกเวิลด์เทรดฯ ยังคงดูวุ่นวายกับเครนขนาดใหญ่ รถตัก รถไถ และคนงานก่อสร้าง พี่ๆ ชาวไทยในนิวยอร์กหลายคนเล่าให้ผมฟังว่า การก่อสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาทดแทนตึกเวิลด์เทรดฯ คืบหน้าไปไม่เร็วนัก เนื่องจากเมื่อคนงานยิ่งขุดลึกลงไปก็ยิ่งเจอกระดูกของผู้เสียชีวิต และ เศษซากข้าวของในตึกที่ยังตกค้างมาจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544

เมื่อมองไปรอบๆ พื้นที่ว่างเปล่าที่ตึก WTC เคยตั้งอยู่ อาคารข้างเคียงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้นหลายแห่งก็มีการรื้อถอนทีละชั้นๆ เพื่อสร้างขึ้นใหม่ให้ปลอดภัยกว่าเดิม

นับถึงปัจจุบันแม้เหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่หลายคนเชื่อว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจุดหนึ่งของความขัดแย้งของมนุษยชาติจะผ่านมาแล้วหลายปี แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็ยังติดตาตรึงใจชาวนิวยอร์ก คนอเมริกัน และชาวโลกอย่างยากที่จะลืมเลือน ...

มองลงจากหน้าต่างห้องของผม ข้างๆ โรงแรม Hilton Millenium มีโบสถ์เล็กๆ หลังหนึ่งแทรกตัวอยู่ท่ามกลางตึกรามอันสูงเสียดฟ้าของมหานครแห่งหนึ่งที่ได้ชื่อว่าราคาที่ดินแพงที่สุดในโลก

โบสถ์แห่งนี้มีชื่อว่า เซนต์พอล (St.Paul’s Chapel)

นับถึงวันนี้โบสถ์เซนต์พอลมีอายุ 240 กว่าปีแล้ว เพราะสร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ.1766 และถือเป็นอาคารสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดบนเกาะแมนฮัตตันที่ยังคงมีการใช้งาน นอกจากนี้ในปัจจุบันโบสถ์เซนต์พอลก็ยังคงเป็นศูนย์กลางในการประกอบกิจกรรมสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนบริเวณนี้อยู่

ระหว่างเหตุการณ์ที่ผู้ก่อการร้ายบังคับเครื่องบินโดยสารสองลำพุ่งเข้าชนตึกเวิลด์เทรดเซนเตอร์ ด้วยความที่อยู่ห่างจากตึกเวิลด์เทรดฯ เพียงถนนกั้น โบสถ์เซนต์พอลจึงกลายเป็นสถานที่พักผ่อนเอาแรงของบรรดาหน่วยกู้ภัยที่เข้าไปทำงาน ณ จุดเกิดเหตุ ทั้งยังเป็นจุดที่ให้บริการอาหาร ที่พักผ่อน ที่วางแผน และจุดสวดมนต์ภาวนาสำหรับบรรดานักผจญเพลิง หน่วยกู้ภัย ตำรวจ คนงานก่อสร้าง โดยมีอาสาสมัครจากทุกสาขาอาชีพยื่นมือเข้ามาเป็นแรงหนุน เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 8 เดือน

โศกนาฏกรรม 9/11 ที่เกิดขึ้น ณ มหานครนิวยอร์กไม่เพียงส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ของการเมืองในระดับโลก แต่สำหรับคนตัวเล็กๆ คนธรรมดาหลายคน เหตุการณ์นี้ยังถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตอีกด้วย

‘พี่วิน’ ผู้จัดการโครงการ ASTV USA ชายหนุ่มที่มีพ่อ-แม่เป็นคนไทยในสหรัฐอเมริกา เกิดในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เล่าให้ผมฟังว่า หลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 เขาที่ทำงานอยู่ไกลบ้านรีบโทร.ไปหาน้องชายให้รีบกลับบ้านไปหาพ่อแม่ ไปอยู่ใกล้ผู้มีพระคุณ และทำงานรับใช้ชุมชนที่เขาเกิดและเติบโตขึ้นมา

“9/11 เปลี่ยนแปลงชีวิตพี่ แล้วก็คนอเมริกันเยอะเลย มันทำให้เราเห็นคุณค่าของครอบครัวมากขึ้น” พี่วินบอก

ในภาพกว้าง คุณสนธิ ลิ้มทองกุลเคยอรรถาธิบายให้เราเห็น ‘ป่าทั้งป่า’ จากการพิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ‘เวิลด์เทรดเซนเตอร์’ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ไว้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนของ ‘สงครามเย็นยุคใหม่’

เป็นสงครามระหว่าง สหรัฐอเมริกา กับ ขบวนการก่อการร้าย ดังเช่นที่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แซมมวล พี. ฮันทิงตันเคยนำเสนอไว้ในหนังสือเรื่อง The Clash of Civilization (and the Remaking of World Order) เป็นความขัดแย้งระหว่าง ลัทธิคัมภีร์ 2 รูปแบบ คือ ‘ลัทธิเสรีนิยมใหม่’ กับ ‘มุสลิมเคร่งศาสนา’ ที่มุ่งสถาปนารัฐอิสลาม

นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็น ภาพความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมของระบบตลาด-ลัทธิบริโภคนิยม กับ วัฒนธรรมกินน้อย-ใช้น้อย, ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจที่มีกองทัพ กำลังทหารและอำนาจเงินคับโลก กับ กองทัพที่รบแบบจรยุทธ์ เป็นความขัดแย้งระหว่าง ‘ช้าง’ กับ ‘กองทัพมด’ ที่ไม่มีวันจบสิ้น ...

โดยส่วนตัว ผมอยากถามว่าเหตุการณ์ 9/11 ได้ทำให้รัฐบาลอเมริกันย้อนกลับทบทวนถึงสิ่งที่ตนเองได้ทำไว้กับผู้อื่นหรือไม่ นอกเหนือจากการยกกองทัพเข้ารุกรานอัฟกานิสถาน, อิรัก และกำลังจะรวมอิหร่านเข้าไปในอนาคตอันใกล้? นอกจากนี้ลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจแบบสุดขั้ว และ ระบบ ‘ทุนนิยมครอบโลก’ ได้เพลามือลงหรือไม่กับการรุกรานพื้นที่ของคนตัวเล็กๆ

เปล่าหรอก! ... “คนตัวเล็กๆ” ที่ว่าผมไม่ได้หมายความถึงเพียงแค่ชาวมุสลิมที่เคร่งศาสนา แต่ผมหมายถึงพวกเราด้วย ชนชั้นกลางชาวไทยจำนวนมหาศาลที่ต่อต้านปรากฏการณ์การทำลายร้านค้าปลีกขนาดเล็กของห้างค้าปลีกขนาดยักษ์, ผู้ที่ปฏิเสธการเอารัดเอาเปรียบของบริษัทพลังงานข้ามชาติ, ผู้ที่ปฏิเสธการนำเทคโนโลยีที่ละเมิดวิถีของธรรมชาติอย่างจีเอ็มโอมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อในชีวิตประจำวัน, ผู้ที่ปฏิเสธการค้าเสรีที่ปราศจากการไตร่ตรองอย่างรอบคอบและสร้างตาข่ายรองรับให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ฯลฯ

...............................

“บ่มาเบิ่งบ่ อยู่กับคณะ ASTV นี่แหละ งานมีพรุ่งนี้ตอนหัวค่ำ ... อยู่แคนาดาก็ได้ ลองมาเชิญคุณสนธิไปว่าวโลด” ป้าไพลินใช้ภาษาถิ่นคุยกับชาวลาวที่โทร.มาจากแคนาดา ชักชวนให้มาฟังการปราศรัยของคุณสนธิ ลิ้มทองกุลและคณะของเอเอสทีวีที่จะจัดขึ้นในคืนถัดไป (23 ส.ค.) ระหว่างพาพวกเราไปทานอาหารกลางวันที่ร้าน Bangkok House ร้านอาหารไทยที่อยู่บนถนน W 46th Street ระหว่าง 8th และ 9th Ave.

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า แม้แต่ชาวลาวที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาก็ยังดู ASTV และที่สำคัญไม่ใช่ดูแบบเอาสนุกแต่เป็นระดับแฟนพันธุ์แท้เลยทีเดียว!
กำลังโหลดความคิดเห็น