xs
xsm
sm
md
lg

'ส่งออก-ใช้จ่ายรัฐ'ดันศก.ฟื้น จับตาน้ำมันพุ่งความเชื่อมั่นผู้บริโภคสะดุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - คลังเผยภาวะเศรษฐกิจเดือนตุลาคมมีสัญญาณของการฟื้นตัวชัดเจนโดยรับแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี เช่นเดียวกับการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนที่เริ่มขยับเพิ่ม แจงการใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ยันแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยทั้งภายในและภายนอกยังอยู่ในเกณฑ์ดี

นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2550 ยังคงขยายตัวในระดับสูง โดยรายจ่ายงบประมาณในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2551 สามารถเบิกจ่ายได้รวมทั้งสิ้น 155.4 พันล้านบาท ขยายตัวถึง 73.5% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวของการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำและลงทุนถึง 60.3% และ 367.3% ต่อปีตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทของรัฐบาลในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และฐานการเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2550 ในระดับที่ต่ำมาก จากการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 ที่ล่าช้า

ด้านรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในเดือนตุลาคม จัดเก็บได้รวม 116.1 พันล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 8.0% ต่อปี โดยเมื่อพิจารณาภาษีที่จัดเก็บจากฐานรายได้และฐานการบริโภคในเดือนตุลาคมจะเห็นได้ว่า ยังคงขยายตัวได้ที่ 8.1% ต่อปี และ 6.8% ต่อปี ตามลำดับ สะท้อนถึงภาวะการจ้างงานของประเทศที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่การบริโภคมีทิศทางฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน

สำหรับภาคการส่งออกในเดือนตุลาคมมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 14.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวที่ 26.7% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี โดยเป็นการขยายตัวของการส่งออกในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ และอัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่การนำเข้าในเดือนตุลาคมปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 13.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัว 20.2% ส่งผลให้มียอดเกินดุลต่อเนื่องที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุลที่ 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนในเดือนตุลาคมส่งสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเครื่องชี้การบริโภคจากภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนตุลาคม ขยายตัวที่ 4.5% ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ 2.4% ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคสินค้าคงทนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวที่ 3.0% จากที่เคยหดตัว -2.1% ในเดือนก่อนหน้า และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนตุลาคม 2550 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 68.6 จุด ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 69.2 จุด โดยมีปัจจัยหลัก ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนตุลาคม ขยายตัวสูงขึ้นถึง 22.0% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 10.9%ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการขยายตัวในเครื่องจักรไฟฟ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนด้านการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนตุลาคม ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ที่ 11.8% นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 81.9 จุดในเดือนตุลาคม 2550 โดยมีสาเหตุหลักมาจากยอดคำสั่งซื้อจากภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น

ด้านเสถียรภาพทั้งภายในและภายนอกยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 2.1% ต่อปีในเดือนกันยายนเป็นอยู่ที่ 2.5% ในเดือนตุลาคม อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และเครื่องชี้เสถียรภาพภายนอกประเทศอยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากอยู่ที่ 82.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดือนก่อนหน้าที่ 80.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นหลายเท่าตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น