xs
xsm
sm
md
lg

“คุณหญิงจารุวรรณ”นำทัพค้านจุฬาฯ ออกนอกระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน -“คุณหญิงจารุวรรณ” ในฐานะศิษย์เก่า ลงชื่อค้านนำ “จุฬาฯ” ออกระบบ “สุนทราพงศ์” เผย “วิจิตร” บอกเองว่าปักธงไว้แล้วว่า จุฬาฯ จะต้องแปรรูป เผย กมธ.ตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาฟังความเห็น แต่ก็ไม่เปิดเผยและไม่ใช้ผลประชาพิจารณ์ชี้ขาด แต่โยนกลับให้สภาจุฬาฯ พิจารณาโดยใช้ผลแสดงความเห็นแค่เป็นส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น ระบุ แค่เกมลดความตึงเครียดในรั้วจามจุรี ด้านประธานสภาคณาจารย์ เสนอถอนร่าง พ.ร.บ.กลับมาพิจารณาใหม่ให้รอบคอบก่อนดีกว่า

รศ.ทพ.สุนทราพงศ์ ระพีสุวรรณ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ....เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมาธิการ เพื่อให้ไปรับฟังความเห็นและประชาพิจารณ์การนำจุฬาฯ ออกนอกระบบ ได้นำความคิดเห็นของกลุ่มผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร นิสิต และนิสิตเก่าของจุฬาฯ เสนอต่อ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ

โดยผลการประชาพิจารณ์ดังกล่าวนั้น ร้อยละ 70 เห็นว่า ยังไม่ควรนำจุฬาฯ ออกนอกระบบ โดยมีประเด็นที่ไม่เห็นด้วย 23 ประเด็น

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วยคณาจารย์ บุคลากรและนิสิตจุฬาฯ จำนวนหนึ่งได้ ยื่นหนังสือคัดค้านการนำจุฬาฯ ออกนอกระบบ โดยขอให้ยุติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ

“ในการยื่นหนังสือคัดค้านต่อ ศ.ดร.วิจิตร เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น ได้แนบรายชื่อชาวประชาคมจุฬาฯ ที่คัดค้านการนำจุฬาฯ ออกนอกระบบไปด้วย จำนวน 620 ชื่อ ซึ่งหนึ่งในรายชื่อที่คัดค้านมีชื่อของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ รวมอยู่ด้วย”

รศ.ทพ.สุนทราพงศ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม กมธ.มีมติให้ส่งร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ พร้อมด้วยเหตุผลของคณะอนุกรรมาธิการ ที่ไปรับฟังความคิดเห็นมาทั้ง 23 ข้อกลับมาให้สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพิจารณาประกอบอีกครั้งว่า จะส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อพิจารณาต่อไปหรือจะถอนกลับมา ซึ่งตนเห็นว่าการที่ กมธ.ตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อรับฟังความเห็นจากประชาคมจุฬาฯ เป็นเพียงลดความตึงเครียดภายในมหาวิทยาลัยลงเท่านั้น เพราะที่สุดแล้วผลการประชาพิจารณ์ก็ไม่ได้รับการเปิดเผยว่ามีผู้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ บอกแต่เพียงเหตุผลของทั้งสองฝ่ายว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร นอกจากนี้ ผลของการประชาพิจารณ์ก็ไม่ถูกนำมาชี้ขาดว่าจะนำจุฬาฯ ออกนอกระบบหรือไม่ กมธ.ให้สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เป็นเพียงส่วนประกอบในการพิจารณาเท่านั้น

“ผมได้ถาม ศ.ดร.วิจิตร ในที่ประชุม กมธ.ว่า ทำแบบนี้ แสดงว่า ท่านประธานปักธงไว้อยู่ในใจอยู่แล้วใช่ไหมว่าจุฬาฯ จะต้องออกนอกระบบ ซึ่ง ศ.ดร.วิจิตร ก็ตอบผมกลับมาว่าใช่ ซึ่งผมคิดว่าการประชุมสภาจุฬาฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 พ.ย.ที่จะถึงนี้นั้น เรื่องร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ คงไม่ใช่วาระเพื่อพิจารณา แต่คงเป็นวาระแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น เพราะหากให้สภาจุฬาฯ ชี้ขาดก็เป็นที่แน่นอนว่า จุฬาฯ ต้องออกนอกระบบอย่างแน่นอน”

รศ.สุนทราพงศ์ กล่าวอีกว่า ตนขอเรียกร้องให้สภาจุฬาฯ ทบทวนเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบรัดกุมอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงให้คำนึงถึงกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงต้องการให้มีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องในร่างกฎหมายประกอบทั้งหมดก่อน ในรูปแบบของการประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางรวมทั้งประชาชนทั่วไปด้วย นอกจากนี้ ประชาคมจุฬาฯ ควรจะตื่นตัวและมีความใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น

ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ พ.ศ....นั้น รศ.สุนทราพงศ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างกฎหมายมาตรา 1-17 โดยมีประเด็นที่สำคัญ คือ มาตรา 13 ที่ให้สิทธิมหาวิทยาลัยมีอำนาจในการซื้อ ขาย เช่า หรือร่วมทุนกับเอกชนได้นั้น ตนเห็นว่าควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจในการกระทำเรื่องต่างๆ ดังกล่าว และจะมีการตรวจสอบอย่างไร นอกจากจากนี้ในมาตรา 7(1) ซึ่งกำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องเปิดโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันนั้น ตนเสนอว่าควรระบุว่าต้องจัดให้ทุกสถานะ อาชีพด้วย ซึ่งในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีหลายมาตราที่ยังไม่ผ่านและถูกแขวนไว้ก่อน โดยเฉพาะมาตรา 13 ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาเช่นกัน

ด้าน รศ.ดร.พอพันธ์ วัชจิตพันธ์ ประธานสภาคณาจารย์ กล่าวว่า ข้อคิดเห็นต่างๆ ที่คณะอนุกรรมาธิการดำเนินการนั้น ยังไม่ได้รับการเปิดเผย ซึ่งตนเห็นว่า สภาจุฬาฯ ควรนำมาเปิดเผยให้ประชาคมได้รู้ เพราะหากไม่ได้รับการเปิดเผยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็จะรู้สึกเหมือนกับถูกมัดมือ เสนอไปแล้วก็ไม่รู้ว่าจะถูกนำไปใช้หรือไม่

“เวลาที่มีอยู่ก็น้อย กฎ ระเบียบต่างๆ ก็ยังไม่ชัดเจนสมบูรณ์พอ สภาคณาจารย์จุฬาฯ ก็อยากจะเอาปัญหาที่มีมาคุยกันให้กระจ่าง เพื่อจะได้นำเผยแพร่ให้ประชาคมจุฬาฯ ได้รับรู้ ซึ่งหาก กมธ.ส่งร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ กลับมาให้สภาจุฬาฯ พิจารณา ผมก็เห็นว่าควรจะถอนร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ออกมากก่อน เพื่อพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป”รศ.ดร.พอพันธ์ กล่าว

อนึ่ง สำหรับการนำร่างกฎหมายนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ 3 แห่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) วานนี้(21 พ.ย.)นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่ได้มีการบรรจุอยู่ในวาระของการพิจารณาแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น