xs
xsm
sm
md
lg

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับเศรษฐกิจพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

“เรื่องพลังงานนิวเคลียร์ เมื่อ 10 ปี ก็พูดถึงแล้ว ก็มีผู้เชี่ยวชาญก็เข็นว่าต้องมี ตอนนั้นเลยบอกว่าไม่ควรจะเข็น เพราะว่าเรายังมีอย่างอื่นที่ยังดี ถ้าเมื่อ 10 ปี ตกลงเข็น ก็ให้คนไปศึกษา ป่านนั้นคนที่ไปศึกษาก็กลับมาแล้ว ความจริงก็มีที่ไปแล้วกลับมาแล้ว กลับมาไม่ได้ทำอะไร เพราะว่าไม่สนับสนุนกัน รัฐบาลไม่สนับสนุน ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ก็ไม่สนับสนุน ที่ส่งคนไปก็ออกจากงานไม่มีงานทำ ถ้าเดี๋ยวนี้อย่างที่พูดว่า ถึงเวลาหรือเปล่า ความจริงก็ถึงเวลา แต่ต้องหายไป ไปเรียน แล้วก็เมื่อเรียนหรือศึกษากลับมา จะต้องรัฐบาล คนอื่นทำไม่ได้ เพราะสิ้นเปลืองมาก ทางรัฐบาลจะต้องทำ ซึ่งความจริงรัฐบาลก็ทำมาแล้ว พลังงานปรมาณูนี้ทำมาแล้ว ไม่ใช่ทำพลังงานทดแทน แต่ทำสำหรับเกี่ยวข้องกับเรื่องของการศึกษาปรมาณู ก็ทำส่วนที่ได้ศึกษาและได้ประโยชน์มาแล้ว เกี่ยวข้องกับเรื่องรักษาผลไม้ หรือเร่งผลไม้ หรือทำผลไม้ไม่ให้เน่า ก็ใช้พลังงานปรมาณู ก็ได้ทำแล้ว

ความจริงถ้าจะมาทำโรงงานพลังงานปรมาณู ข้อสำคัญที่สุดจะต้องศึกษาว่า ถ้าสร้างพลังงานปรมาณูแล้ว จะทำให้ปลอดภัยได้อย่างไร ก็ยังไม่ได้ทำอะไร ครั้งเมื่อ 10 ปี ต้องศึกษาความปลอดภัยของพลังงานปรมาณู ตอนนั้นก็มาเกิดเชอร์โนบิล ก็ไม่มีคำตอบว่า ถ้าเชอร์โนบิลเกิดขึ้นในเมืองไทยจะทำอย่างไร ไม่บอก ไม่รู้ เพราะว่าที่จะทำโรงงานพลังงานปรมาณูก็จะทำที่บางปะกง เวลานั้นก็เกิดบางปะกงระเบิด ระเบิดไม่ใช่เพราะปรมาณู ระเบิดเพราะความเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ที่บางปะกง แล้วก็เมื่อระเบิดที่บางปะกง ลมมันพัดเข้ากรุงเทพฯ ถ้าสมมติว่าระเบิดปรมาณู กรุงเทพฯก็จะตายเป็นส่วนใหญ่ เพราะลมมันเข้ากรุงเทพฯ

ฉะนั้น ถ้าทำโรงงานปรมาณู ขั้นแรกทีเดียวจะทำที่ไหน ไม่ได้ศึกษาเรื่องปรมาณู เมื่อ 10 ปี ไม่ได้ศึกษาว่า ถ้าปรมาณูระเบิดแบบเชอร์โนบิลคนจะตายกี่คน ครั้งบางปะกงระเบิดนั้นตายไปคนหนึ่ง แต่ว่าถ้าเป็นปรมาณูก็คงตายเป็นพัน อันนี้ถึงไม่ได้สนับสนุน แม้แต่เดี๋ยวนี้ ถ้าอยากจะศึกษาปรมาณู ก็ดูควรจะไปสร้างโรงงานที่ไหน เพราะว่าต้องรู้ว่าลมมันพัดทางไหน เรื่องบางปะกงตอนนั้นก็มีปัญหาว่ามีอันตรายอะไร คือ บางปะกงนั้นไม่ใช่เรื่องปรมาณู แต่เป็นเรื่องจะทำโรงงานไฟฟ้าใช้ถ่านหิน เขาจึงไปทำทางประจวบฯ ก็เอะอะๆ อันตราย ไม่ใช่ถ่านหินจะทำให้คนตาย แต่คนจะทำให้คนตาย ที่ทะเลาะกัน ยิงกัน ต้องแก้ไขปัญหานี้ก่อน อย่าแก้ไขทางเทคนิค แก้ไขเทคนิคได้ แต่แก้ไขคน คนก็ฆ่ากัน ที่ประจวบฯที่เขาฆ่ากัน ลงท้ายก็การที่จะทำโรงงานปรมาณู รู้สึกยังไม่ควรจะทำ ที่จริงมาเมื่อไม่กี่เดือน พูดถึงจะสร้างโรงงานปรมาณู ตอนนั้นก็บอกว่าถ้าจะถึงเวลาแล้ว แต่ว่าคนที่มาพูด เขาไม่ได้นึกถึงว่าคนจะฆ่ากัน ก็เลยไม่อยากพูด ที่ท่านทูตถามว่าถึงเวลาที่จะพิจารณาหรือยัง ที่จริงถึงเวลามานานแล้วที่จะทำโรงงานปรมาณู ท่านทูตอาจจะกลุ้มใจว่าไม่ใช่ปรมาณูหรอก เรื่องคน คนฆ่ากัน แล้วนอกจากนั้นก็เรื่องสิ้นเปลือง

แต่ว่าอย่างจะทำโรงงานปรมาณู ก็จะทำที่ไหน ขนาดที่จะไปทำที่ปลอดภัยที่สุด คือ แถวประจวบฯ ที่เขาบอกว่าเป็นเมืองไทยที่แคบที่สุด ปรมาณูจะไปไหน ถ้าทำที่ประจวบฯ มันแคบมาก มันก็ไปเข้าพม่า ตรงนั้นบอกว่ามันกว้างเพียง 20 กิโลเมตร มันก็ไปพม่า ไม่เช่นนั้นมันก็กลับมาอีกทาง ก็มาข้ามอ่าว ข้ามอ่าวก็มาทางตะวันออก หรือไม่อย่างนั้นก็มาทางเหนือ ประจวบฯทั้งหมดนั้นกว้างยาว 100, 200 กิโลเมตร พลังงานปรมาณูก็ไป อาจจะลงไปชุมพรก็ได้ ไม่ใช่ไม่มีอันตราย มันมีอันตรายทั้งนั้น

เขาก็บอกว่าเดี๋ยวนี้พลังงานปรมาณูเป็นพลังงานที่สะอาดมาก ก็จริง สะอาดที่สุด แต่ว่าถ้าอันตรายก็อันตราย ถึงตายทั้งนั้น ฉะนั้น ท่านทูตลองไปถามผู้เชี่ยวชาญ ถามทางผู้เกี่ยวข้องพลังงาน ยังลำบาก แต่การที่จะทำพลังงานที่ไม่อันตราย อย่างไบโอดีเซล หรืออะไรพวกนี้ ก็น่าจะคิดจะทำ แต่ไบโอดีเซลมันน้อย ก็ต้องเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง” - พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่องพลังงาน ซึ่งพระราชทานแก่คณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยที่ปฏิบัติราชการอยู่ในต่างประเทศ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 (จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชนวันที่ 3 กันยายน 2550)

หลังจากที่ผมเขียนบทความเรื่อง “เหตุใด ‘หลอดยาสีพระทนต์’ จึงกลายเป็น ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’?” (ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550) ในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ www.manager.co.th ก็มีผู้เข้ามาให้ความเห็นโจมตีผมหลายประเด็น

บ้างว่าผมพยายามดึง ‘เบื้องสูง’ ลงมาทำลายคนอื่น
บ้างว่าผมเป็นลูกอีช่างค้านเหมาะกับการกลับไปอยู่ในยุคหิน เพราะการผลิตพลังงานด้วยวิธีอะไรก็ไม่เอา
บ้างว่าผมเป็นพวกล้าหลังไม่รู้จักแนวคิดการกระจายความเสี่ยงทางด้านพลังงาน
บ้างว่าผมเป็นพวกไม่สนใจศึกษาข้อมูลอะไรเลยและไม่มีสิทธิ์ที่จะพูดเรื่องนี้เพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางพลังงาน
บ้างว่าผมอยู่แต่ในโลกแห่งความฝัน ไม่เคยโผล่หัวออกมาดูโลกแห่งความเป็นจริงบ้างเลย
บ้างก็ด่าหยาบๆ ว่าผมเป็น ‘กระบือ’ ที่สักวันเมื่อไม่มีพลังงานใช้แล้วจะต้องมานั่งเสียใจ
.....................
พูดตามตรงเมื่อได้อ่านความเห็นเหล่านี้ทำให้ผมต้องกลับมาฉุกคิดในสามประเด็นคือ หนึ่ง ณ ปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงประเด็นเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ให้ความสนใจและผลักดันเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ จนกระทั่งว่าเมื่อมีคนที่เสนอความเห็นที่แตกต่างหรือตั้งคำถามอะไรขึ้นมาก็จะถูกโจมตีอย่างที่ผมโดนไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สอง ผมเป็นคนเขียนหนังสือแล้วอ่านไม่รู้เรื่องหรือไม่ หรือ สาม ผู้อ่านบทความของผมบางคนอ่านภาษาไทยไม่แตกขนาดนั้นเลยหรือ? ... กระนั้นไม่ว่าจะเป็นประเด็นข้อที่หนึ่ง สอง หรือ สาม ผมก็ขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้กลับมาอธิบายสิ่งที่ผมพยายามจะบอกอีกครั้ง

ประการแรกคือ มิใช่ผมไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิงเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นในประเทศไทย เพื่อจุดประสงค์ของการกระจายชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า แต่ผมเห็นว่าก่อนที่ภาครัฐ ผู้มีอำนาจ หรือบรรดาเทคโนแครตที่กุมอำนาจอยู่จะตัดสินใจอะไรลงไปนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกท่านจะต้องสอบถามความเห็นของประชาชนเสียก่อน มิใช่เขียนแผนพลังงานขึ้นมาแบบมัดมือชกว่าในช่วง 15 ปีข้างหน้า คนไทยและประเทศไทยจะต้องมี ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ โดยไม่มีทางเลือก

หรือ ออกมาขู่ฟ่อๆ ว่าราคาน้ำมันโลกอาจจะขึ้นถึง 200 เหรียญ/บาร์เรล ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยจะขึ้นถึง 60 บาท/ลิตร และไทยจำเป็นต้องหันหน้าเข้าพึ่งพลังงานนิวเคลียร์ ดังเช่นที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้สัมภาษณ์ แต่ไม่เคยบอกเลยว่าคนไทย-ประชาชนไทยมีหนทางในการแก้ปัญหานี้อย่างอื่นอย่างใดหรือไม่ เช่น การรณรงค์เพื่อลดการใช้พลังงานอย่างจริงๆ จังๆ ที่รัฐมีผลตอบแทนให้อย่างเป็นรูปธรรมเช่น การลดค่าไฟหรือภาษี สำหรับครัวเรือนที่สามารถลดการใช้พลังงานได้จริง มิใช่มาตรการประเดี๋ยวประด๋าว, ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ อะไรอีก นอกเหนือจาก พลังงานนิวเคลียร์ เช่น การผลิตพลังงานจากชีวมวล พลังงานลม เป็นต้น

พูดตามตรงผมไม่อยากจะต้องให้พวกเราต้องเสีย ‘ค่าโง่’ เหมือนกับที่เคยเสียให้กับโครงการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ จ.นครนายก ที่ใช้เงินงบประมาณสร้างออกมาแล้วหลายพันล้านแต่กลับไม่ได้รับการรับรองเรื่องความปลอดภัย หรือ จ่ายค่าน้ำมันแพงหูฉี่แล้วต้องมาจ่ายค่าโรงไฟฟ้า ค่าแร่ยูเรเนียม ค่ากำจัดกากนิวเคลียร์ที่แพงหูฉี่เช่นเดิมหรือกว่าเดิมอีก

ทั้งนี้เมื่อถึงที่สุดแล้วหากเราไม่มีทางออกอื่นจริงๆ ไม่ว่าจะในเชิงอุปสงค์ หรือ อุปทาน จนจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็จะได้เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่าเราจำเป็นต้องนำโรงไฟฟ้ากี่โรงๆ ไปตั้ง ณ จังหวัดใด ท้องที่ใดบ้าง ...

มิใช่ใช้วิธีออกข่าวโยนหินถามทางเช่นข่าว “เล็ง 3 จังหวัดสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์” (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 12 กรกฎาคม 2550) ที่นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออกมาให้สัมภาษณ์ระหว่างแถลงข่าว “โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์” ว่าพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ตอนบนคือ สุราษฎร์ธานี ระนอง และ ชุมพร อยู่ในข่ายความเหมาะสมในการตั้งโรงไฟฟ้า

สุดท้ายที่สำคัญที่สุด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีชุดนี้จะต้องตอบคำถามด้วยว่า จริงๆ แล้วในความเห็นของท่าน ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ ที่พวกท่านเห็นชอบและผลักดันนั้น ไปด้วยกันกับนโยบาย ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ได้อย่างไร?
กำลังโหลดความคิดเห็น