xs
xsm
sm
md
lg

ยักษ์ค้าปลีกแข็งข้อพาณิชย์ เมินร่วมถกไกด์ไลน์ค้าปลีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยักษ์ค้าปลีกแข็งข้อ"พาณิชย์" ไม่ร่วมสังฆกรรมในการแก้ปัญหาการไกด์ไลน์ค้าปลีก อ้างติดประชุมพร้อมกันและวันเดียวกัน แต่ยังดีได้ เซเว่น อิเลฟเว่น กู้หน้า ร่วมถก "ยรรยง"ก้มหน้าแก้ปัญหาต่อไป ขู่หากตกลงเซ็น MOU กันไม่ได้ ก็จะร่างสัญญากลางมาบังคับใช้ ใครฝ่าฝืนเล่นงานตามกฎหมาย ข้าวถุงชม เซเว่นฯ ทำการค้าเป็นธรรม แต่จวก"โลตัส"ยับ

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการข้าวถุง และห้างค้าปลีกรายใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาการไม่ปฏิบัติตามแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้า ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย (ไกด์ไลน์ค้าปลีก) วานนี้ (20 พ.ย.)ว่า ได้มีการหารือถึงความไม่เป็นธรรมทางการค้าต่างๆ ที่ห้างค้าปลีกนำมาใช้กับผู้ผลิตสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า(เอนทรานซ์ ฟี)ที่มากเกินไป การเรียกส่วนลดการขายตามปริมาณเป้าหมาย (รีเบต)ที่ไม่เป็นธรรม และการประวิงการจ่ายเงิน

ทั้งนี้ ในประเด็นค่าเอนทรานซ์ ฟี ปัจจุบันมีการเรียกเก็บสูงถึง 2 แสนถึง 1 ล้านบาท ต่อหนึ่งสินค้า ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ซึ่งกรมฯ ต้องการให้ห้างค้าปลีกมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการเรียกเก็บอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะสินค้าแบบเดียวกัน ไม่ใช่รายหนึ่งเก็บถูก แต่รายหนึ่งเก็บแพง เพราะจะทำให้ผู้ผลิตแข่งขันลำบาก

ส่วนการเรียกเก็บค่ารีเบตนั้น ได้รับแจ้งว่าแต่ละห้างค้าปลีกเก็บไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ที่ 1% จากยอดขาย แต่มีบางรายเรียกเก็บสูง 5-6% ซึ่งมีความเห็นว่าควรจะเรียกเก็บไม่เกิน 1% และต้องไม่หักล่วงหน้า เพราะเงินค่ารีเบต เป็นเงินโบนัสที่ทางผู้ผลิตให้กับห้างค้าปลีกที่ขายสินค้าได้ตามเป้า จึงควรที่จะเก็บเมื่อสิ้นงวด

สำหรับการจ่ายเงิน ควรจะจ่ายไม่เกิน 30 วัน และไม่เลือกปฏิบัติในการจ่ายเงิน เพราะผู้ผลิตสินค้าซื้อวัตถุดิบมาผลิตสินค้าเป็นเงินสด การขายสินค้าก็ควรจะได้รับเงินสดเร็ว เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพราะปัจจุบันนี้ ห้างค้าปลีกบางราย มีการจ่ายเงินให้ผู้ผลิตสินค้าต่างกัน เร็วสุด 30 วัน ช้าสุด 90 วันก็มี

"เมื่อได้หลักเกณฑ์ออกมาแล้ว รูปแบบที่กรมฯ ต้องการก็คือ การให้ห้างค้าปลีกไปทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับผู้ผลิตข้าวถุง เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติระหว่างกัน โดยให้ระยะเวลา 2 เดือน แต่หากทำ MOU กันไม่ได้ กรมฯ ก็จะทำสัญญากลางขึ้นมา และนำมาใช้เป็นเกณฑ์กลาง และจะถือปฏิบัติตามนี้ ถ้าใครทำผิดไปจากนี้ ก็จะดำเนินการตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ตามมาตรา 25 และ 29"

นายยรรยง กล่าวว่าในการประชุมครั้งนี้ ได้เชิญห้างค้าปลีกรายใหญ่ทุกรายมาร่วมหารือ ทั้ง เทสโก้ โลตัส แมคโคร คาร์ฟูร์ บิ๊กซี ท๊อป และ เซเว่น อิเลฟเว่น แต่มีผู้มาร่วมหารือกับผู้ผลิตข้าวถุงเพียงรายเดียวคือ เซเว่นฯ ส่วนรายอื่นแจ้งว่าติดประชุม แต่มาติดประชุมวันนี้พร้อมกันหมด ซึ่งก็ไม่ว่าอะไร

"กรมฯ ต้องการให้การบังคับไกด์ไลน์ค้าปลีกโปร่งใส เป็นธรรม และเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ในเมื่อเชิญมาแล้ว ไม่มา ก็ไม่เป็นไร แต่ข้อมูลต่างๆ เช่น รายละเอียดสัญญาที่ห้างทำกับผู้ผลิต เรามีอยู่แล้ว สามารถดูได้ว่าใครทำธุรกิจเป็นธรรมไม่เป็นธรรม" นายยรรยง กล่าว

สำหรับการเชิญให้ค้าปลีกรายใหญ่มาหารือร่วมกับผู้ผลิตข้าวถุงในครั้งนี้ เนื่องจากข้าวถุงเป็นสินค้าที่ได้รับการร้องเรียนเข้ามามากว่า ห้างค้าปลีกไม่ปฏิบัติตามไกด์ไลน์ค้าปลีก และมีพฤติกรรมที่ดำเนินธุรกิจเอาเปรียบผู้ผลิตอย่างมาก

นายสมฤกษ์ ตั้งพิรุฬห์ธรรม นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า ขณะนี้การเรียกเก็บค่าเอนทรานซ์ ฟี แต่ละห้างเก็บไม่เท่ากัน สูงสุดคือ 1 ล้านบาทต่อ 1 สินค้าและเก็บไปแล้วไม่ใช่ว่าสินค้าจะขายได้ตลอดไป บางทีขายไปได้แค่ 3 เดือน มีหนังสือมาบอกว่าให้เอาสินค้าออก บอกว่าสินค้าขายไม่ดี ไม่หมุนเวียน จากนั้นก็เข้าวงจรเดิม คือถ้าอยากจะเข้าใหม่ ก็ต้องจ่ายค่าเอนทรานซ์ ฟี ใหม่ ที่เสียแล้วก็เสียไปไม่นับ

"ในเมื่อจ่ายค่าแรกเข้าไปแล้ว สินค้าเราควรจะอยู่ได้ 1 ปี แต่ขายไม่ดี เอาออกเลย ซึ่งตามหลักแล้ว ควรให้เวลา 6 เดือน แล้วประเมินร่วมกัน เพื่อหาทางกระตุ้นยอดขาย ไม่ใช่มาบอกขายไม่ดี เอาสินค้าออกไป" นายสมฤกษ์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการเก็บค่ารีเบตที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งจากเดิมเงินพิเศษตรงนี้ ผู้ผลิตจะจ่ายให้ห้างเป็นรางวัล ถ้าขายสินค้าได้ตามเป้าในแต่ละปี แต่ปัจจุบันจะมีการหักเงินตั้งแต่บาทแรกที่ขายสินค้าได้ และหักทุกเดือนโดยไม่คำนึงว่ายอดขายสินค้าจะเข้าเป้าหรือไม่ กลายเป็นว่า ค่ารีเบตเป็นกำไรของห้าง และมีแนวโน้มที่จะเก็บเพิ่มอีก โดยล่าสุดบางรายได้เก็บ 5-6% จากยอดขายแล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการหารือครั้งนี้ ผู้ผลิตข้าวถุงส่วนใหญ่ชมการทำธุรกิจของ เซเว่น อิเลฟเว่น ที่มีความเป็นธรรม และมีความชัดเจนในแนวทางการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยค่าเอนทรานซ์ฟี ก็มีหลักในการคิดว่าจะเรียกเก็บจากอะไร มีต้นทุนอะไรบ้าง และเก็บไม่เท่ากันในแต่ละสินค้า ส่วนค่ารีเบต ก็เก็บแค่ 1% จากยอดขายที่ทำได้ตามเป้า และระยะเวลาในการจ่ายเงินก็เหมาะสม ส่วนห้างค้าปลีกที่ถูกระบุว่ามีเงื่อนไขการค้าที่เอาเปรียบที่สุด คือ เทสโก้ โลตัส ที่มีการเรียกเก็บค่าเอนทรานซ์ฟี สูงสุดถึง 1 ล้านบาท เรียกเก็บค่ารีเบต 5-6% และเก็บทุกเดือน รวมทั้งประวิงการจ่ายเงินนานที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น