xs
xsm
sm
md
lg

เหตุใด ‘หลอดยาสีพระทนต์’ จึงกลายเป็น ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’?

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ช่วงสายวานนี้ (14 พ.ย.) ระหว่างที่เปิดโทรทัศน์นั่งชมข่าวทางโทรทัศน์ ผมพบกับโฆษณาประทับใจชิ้นหนึ่ง

โฆษณาชิ้นดังกล่าว กล่าวถึงคุณหมอชาวกรุงเทพฯ ผู้หนึ่งที่เสียสละตัวเองเดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ในชนบทเพื่อช่วยเหลือชาวชนบทที่อยู่ห่างไกลจากบริการทางการแพทย์อันทันสมัย ทั้งนี้นอกจากคุณหมอผู้นี้จะปฏิบัติตนเป็นแพทย์ผู้เสียสละแล้ว วิถีแห่งการดำรงชีวิตของคุณหมอผู้นี้ยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชาวบ้านทั้งหลายในความสมถะ

เมื่อกล่าวถึงคุณหมอท่านนี้ ชาวบ้าน เพื่อนฝูง และคนรู้จักต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคุณหมอท่านนี้เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่คนรอบข้างในความประหยัด มัธยัสถ์และการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง

ในตอนท้ายของโฆษณามีการกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงของคุณหมอท่านนี้ว่าเกิดจากการได้พอเห็นหลอดยาสีฟันหลอดหนึ่งระหว่างการเรียนหนังสืออยู่ในชั้นระดับมหาวิทยาลัย โดยยาสีฟันหลอดนั้นเป็นหลอดยาสีฟันที่ถูกใช้จนแบนราบเรียบ คล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอดยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปจนถึงเกลียวหลอด ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นผลมาจากการที่เจ้าของใช้อุปกรณ์อะไรบางอย่างช่วยรีดและกดหลอดยาสีฟันจนเป็นรอยบุ๋มเพื่อให้สามารถใช้ยาสีฟันได้จดหมดหลอดจริงๆ

... ยาสีฟันหลอดนั้นแท้จริงแล้วก็คือ ‘หลอดยาสีพระทนต์’ ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ถูกจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ในคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การที่ผมนำเรื่องนี้กลับมาเล่าให้ท่านผู้อ่านหลายท่านได้รับทราบทั้งๆ ที่รู้ดีว่าเรื่องหลอดยาสีพระทนต์นี้อาจเป็นเรื่องที่หลายๆ ท่านได้รับทราบมานานแล้วและหลายๆ ท่านอาจจะเคยเห็นโฆษณาชิ้นนี้ผ่านตามาแล้วด้วย ก็อันเนื่องมาจากโฆษณาชิ้นนี้เป็นโฆษณาที่จัดทำโดย ... กระทรวงพลังงาน

ช่วงหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนที่ผ่านมาท่านผู้อ่านและรับสื่อทั้งหลายรู้สึกเหมือนผมไหมว่ามีโฆษณา งานสัมมนา การเผยแพร่ข่าวสารและบทความที่กล่าวถึงแนวโน้มในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทยและในแถบประเทศเพื่อนบ้านมากอย่างผิดสังเกต?

ยกตัวอย่างง่ายๆ บทความตามหน้าหนังสือพิมพ์ของคอลัมนิสต์รุ่นเก๋าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คุณเปลวสีเงินของไทยโพสต์ คุณลม เปลี่ยนทิศของไทยรัฐ หรือแม้แต่นักหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเองก็ตาม

ในคอลัมน์คนปลายซอย หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับ 2 พ.ย. 2550 และคอลัมน์หมายเหตุประเทศไทย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเช้าวานนี้ คุณเปลวสีเงินและคุณลม เปลี่ยนทิศต่างก็เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่าตนเองได้รับเชิญจากกระทรวงพลังงานให้ไปดู “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” หรือ จะเรียกให้ดูดีหน่อยก็คือ “การกระจายชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า” ร่วมกับนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ประเทศฟินแลนด์ เยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์

การพาสื่อมวลชนอาวุโสคณะใหญ่ไปดูโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หากพูดกันตามภาษานักประชาสัมพันธ์ก็คือ ‘การสร้างความเข้าใจ’ แต่หากพูดกันภาษานักการเมืองก็คือ ‘การล็อบบี้’ นั่นแหละ!

อย่างที่ทราบกันดีว่าคำว่า ‘นิวเคลียร์’ นั้นเป็นคำที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อความรู้สึกของประชาชน ทำให้รัฐบาลชุด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นั้นดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเรื่อยๆ ไม่กระโตกกระตาก โดยอาศัยรถด่วนขบวน ‘ราคาน้ำมัน’ ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในช่วงนี้เป็นแรงผลักดันให้มีการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นในประเทศไทย

แม้ในการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวทุกครั้งผู้กุมนโยบายพลังงานของประเทศหลายท่านจะย้ำแล้วย้ำอีกว่า “การตัดสินใจว่าจะสร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยนั้นเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลหน้า ...” ซึ่งคำพูดนี้อาจแปลความหมายได้ว่า “ณ ปัจจุบันประชาชนยังคงเลือกได้อยู่ว่าจะ “เอา” หรือ “ไม่เอา” โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ …”

แต่ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าตาม PDP 2007 หรือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยช่วงปี 2550-2564 (Power Development Plan) อันเป็นแผนที่จัดทำโดยคณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายปิยสวัสดิ์นั่งเป็นประธาน นั้นมีการบรรจุเอากำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 4 โรงเข้าไปในทุกแผน!

กล่าวคือ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยช่วงปี พ.ศ.2550-2564 อันเป็นแผนการลงทุนในกิจการไฟฟ้าที่กำหนดว่าโรงไฟฟ้าประเภทใด จะถูกสร้างเมื่อไหร่ โดยใครและมีกี่โรงนั้นไม่ว่าจะเป็นแผนในกรณีที่ประชาชนมีปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ, ความต้องการใช้ไฟฟ้าปานกลาง, ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง หรือจะมีการจัดสรรเพื่อใช้พลังงานจากแหล่งอื่นๆไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน กังหันก๊าซ หรือ พลังงานนำเข้าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ชาวไทยก็จะยังคงต้องมีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 4 โรง ที่แต่ละแห่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าแห่งละ 1,000 เมกะวัตต์ รวม 4,000 เมกะวัตต์อยู่นั่นแล

ที่กล่าวมานี้ใช่ว่าผมจะเป็นคนที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างสุดโต่งโดยไม่ฟังเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้นเลย แต่ผมเห็นว่าการฉกฉวยโอกาสในช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงอย่างผิดปกติ ผลักดันเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ ‘มัดมือชก’ ประชาชน และให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพียงด้านเดียวนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ให้ข้อมูลด้านเดียวอย่างไร?

หนึ่ง ภาครัฐพยายามสร้างมายาคติที่ว่า ประเทศและประชาชนชาวไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอารยะ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายกำลังพยายามลดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงด้วยเหตุผลหลายๆ ประการทั้งทางสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย การกำจัดกากกัมมันตรังสี รวมถึงความเสี่ยงจากการก่อการร้าย

สอง ภาครัฐพยายามประชาสัมพันธ์ว่าการผลิตพลังงานนิวเคลียร์นั้นเป็นวิธีการผลิตพลังงานที่สะอาด-ปลอดภัย ทั้งๆ ที่ในกระบวนการวงจรเชื้อเพลิงตั้งแต่การทำเหมืองหาแร่ยูเรเนียม การเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ จนถึงการกำจัดกากกัมมันตรังสีล้วนแล้วแต่มีการปล่อยมลภาวะในขั้นที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนในวงกว้างได้ทั้งสิ้น

สาม ภาครัฐพยายามให้ข้อมูลแก่ประชาชนว่าในภาวะที่แนวโน้มราคาน้ำมันไม่มีทางเป็นสินค้าราคาถูกอีกแล้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อลดต้นทุนในการผลิตพลังงานและการกระจายความเสี่ยงทางด้านพลังงาน ทั้งๆ ที่เทคโนโลยี บุคลากร รวมถึงวัตถุดิบใน การสร้าง การผลิตไฟฟ้าและบำรุงรักษาของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นเราต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด

สี่ ภาครัฐพยายามจะให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวที่ว่า ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นต่ำที่สุดในบรรดาแหล่งพลังงานทั้งหมด ต่ำกว่าพลังงานจากฟอสซิลเช่น น้ำมัน-ถ่านหิน-ก๊าซ รวมไปถึงเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ เช่น ขยะ/ของเสีย ชีวมวล กังหันลม ฯลฯ แต่ภาครัฐไม่เคยพูดเลยว่า หากความต้องการใช้ (อุปสงค์) ต่อแร่ยูเรเนียมคุณภาพสูงเพิ่มขึ้นจากการที่ประเทศต่างๆ หันมาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ราคาของแร่ยูเรเนียมที่ประเทศไทยผลิตเองไม่ได้ ทั้งยังมีจำนวนจำกัดยิ่งจะไม่เพิ่มสูงขึ้นมากส่งให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นมากด้วยหรือไม่

ห้า ภาครัฐพยากรณ์ความต้องการการใช้พลังงานของประชาชนอย่างขาดทิศทาง ทั้งขาดนโยบายในการจูงใจและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนลดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม

จริงๆ แล้ว ยังมีปัญหาของการให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวและปัญหาของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกมากที่ภาครัฐปกปิดไว้หรือไม่กล้าที่จะกล่าวถึงอีกมากมาย แต่สิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำที่สุดก็คือ

ขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ประกาศยกเอา ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ ของพ่อหลวงมาใช้เป็นเข็มทิศในการชี้นำนโยบายต่างๆ ของประเทศ จนถึงขนาดที่ กระทรวงพลังงานของนายปิยสวัสดิ์หยิบยกเอา ‘หลอดยาสีพระทนต์’ มาทำเป็นโฆษณารณรงค์ให้ประชาชนรู้จักลดการใช้พลังงานและรู้จักการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง แต่นายปิยสวัสดิ์และกระทรวงพลังงานกลับพยายามผลักดัน-ล็อบบี้-สอดไส้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาให้คนไทยใช้อย่างไม่มีทางเลือก

ถามจริงๆ ว่าพวกท่านทั้งหลายไม่รู้สึกละอายกันบ้างหรือ?

หมายเหตุ :
- แผน PDP 2007 สามารถดาวน์โหลดได้จากลิงก์ www.egat.co.th/th/images/stories/pdf/report-pdp2007-thai.pdf
- คลิปวิดีโอโฆษณาชุด “หลอดยาสีพระทนต์” สามารถรับชมได้จากคอลัมน์นี้ใน www.manager.co.th
- งานเขียนชุด “ตามรอย ... สนธิ” ยังไม่จบ ท่านผู้อ่านสามารถติดตามต่อได้ในคอลัมน์เดินย้อนตะวันในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันและส่วนทัศนะใน www.manager.co.th

คลิกเพื่อชมคลิปโฆษณาชุดหลอดยาสีพระทนต์ โดย กระทรวงพลังงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น