xs
xsm
sm
md
lg

ซื้อพิมพ์เขียวอินเดียสร้าง รง.ยา 1.5 พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ซื้อพิมพ์เขียวอินเดีย 1.5 พันล้าน สร้างโรงงานยาแห่งใหม่ขยายกำลังการผลิต คาด 2 ปีเสร็จ พร้อมศึกษาหาข้อมูลจากยุโรป จีน ก่อนเลือกเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตยา เชื่อสามารถลดต้นทุนการสร้างโรงงานได้ 1,500 ล้านบาท ด้าน อภ.เผยผู้บริหาร บ. เอ็มเคียว เตรียมบินมาไทยสัปดาห์หน้า ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตยาสลายลิ่มเลือดหัวใจและสมอง"โคลพิโดเกรล" ที่ทำซีแอล เป็นตัวแรก

วานนี้ (9 พ.ย.) นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาแห่งใหม่ ขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) ว่าขณะนี้ โครงการจะก่อสร้างโรงงานผลิตยาแห่งใหม่ เพื่อขยายแผนการผลิตยาให้เพิ่มมากขึ้น และรองรับการผลิตยาชนิดใหม่ๆ เช่น หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ รวมถึงยาสลายลิ่มเลือดหัวใจ (โคลพิโดเกรล) ที่บริษัท เอ็มเคียว ประเทศอินเดีย ใช้สิทธิโดยสมัครใจ หรือ วีแอล (Voluntary Licensing : VL) ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาให้กับอภ. โดยตรง ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นคือ สธ. จะสั่งซื้อพิมพ์เขียวโรงงานผลิตยาจากโรงงานผลิตยาของประเทศอินเดีย เพื่อลดขั้นตอนในการดำเนินงาน และประหยัดงบประมาณลง คาดว่าการก่อสร้างจะใช้วงเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 2 ปี ก็สามารถผลิตยาออกจำหน่ายได้

ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม(อภ.)กล่าวว่า โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาแห่งใหม่ของอภ. อยู่ระหว่างการสรุปโครงการทั้งหมดเพื่อคำนวณจำนวนเงินที่แน่นอน จากนั้นจึงเสนอเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพื่อขอความเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณ ซึ่งคาดว่าจะเสนอเรื่องไปยัง สศช.ได้ประมาณปลายปีนี้ ในระหว่างนี้ สธ.จะต้องเร่งศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เพราะโรงงายผลิตยาแห่งใหม่ จะเป็นโรงงานที่มีศักยภาพในการผลิตสูง แต่ใช้งบประมาณน้อย โดยอุปกรณ์ต่างๆ จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมไม่จำเป็นจะต้องเป็นเทคโนโลยีจากสหภาพยุโรปทั้งหมด แต่อุปกรณ์บางชิ้นอาจจะใช้เทคโนโลยีของจีน หรืออินเดีย ก็ได้โดยเลือกใช้ตามความเหมาะสม เพื่อลดต้นทุนลง

“ในเบื้องต้น ได้ข้อสรุปว่าจะสั่งซื้อแบบพิมพ์เขียวโรงงานผลิตยาที่ของบริษัท เฮเทอโร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) จากองค์การอนามัยโลก(WHO) ซึ่งผมและนพ.มงคล ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการทำงานมาแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาตกลงราคาที่ชัดเจน ซึ่งการซื้อแบบพิมพ์เขียวจะทำให้ลดงบประมาณลงได้ครึ่งหนึ่ง เพราะลดค่าออกแบบโรงงานลง คือเหลือเพียง 1,500 ล้านบาทเท่านั้น ลดลงจากเดิมที่ประมาณการไว้ในครั้งแรกคือ 3,000 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ก่อสร้างโรงงานนั้น ขณะนี้ได้เลือกพื้นที่บริเวณ คลอง 10 จ.ปทุมธานี มีพื้นที่ 280 ไร่ เป็นที่ดินหลุดจำนอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับท้องถิ่น ว่าอนุญาตให้อภ. ก่อสร้างโรงงานผลิตยาได้หรือไม่” นพ.วิชัย กล่าวว่า

นพ.วิชัย กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีบริษัท เอ็มเคียว ประเทศอินเดีย ผู้ผลิตยาชื่อสามัญ โคลพิโดเกรล หรือ ชื่อทางการค้า พลาวิกซ์ ซึ่งเป็นยาสลายลิ่มเลือดหัวใจและสมอง ได้ใช้สิทธิโดยสมัครใจ หรือ วีแอล (Voluntary Licensing : VL) ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาด้วย ว่า ในสัปดาห์หน้า ผู้บริหารบริษัท เอ็มเคียว จะเดินทางมาประเทศไทย เพื่อเจรจารายละเอียดในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาให้กับ อภ. โดยยาตัวแรกที่จะถ่ายทอดให้คือ ยาสลายลิ่มเลือดหัวใจ โคลพิโดเกรล จากนั้นจะมีการเจรจายาตัวอื่นต่อไป

“ไม่สามารถบอกได้ว่า ยาสลายลิ่มเลือดหัวใจที่อภ. ผลิตได้เอง จะมีราคาถูกกว่าที่สั่งซื้อจากบริษัท เอ็มเคียว ที่ขายให้อภ. ในราคา เม็ดละ 1.01 บาทหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอีกครั้งหลังจากกระบวนการการผลิตยาสำเร็จ ซึ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว ถือเป็นเรื่องดีที่ไทยจะได้ความรู้ในการผลิตยาเพิ่มมากขึ้น และการผลิตยาชนิดใหม่ๆ ทำให้อภ. สามารถแข่งขันกับคู่แข่งบริษัทยาต่างประเทศได้”นพ.วิชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น