xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เปิดมุมมองเศรษฐกิจปีหน้าโต4.3-4.8%-สวนกระแสบาทมีสิทธิ์อ่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – ผู้ว่าแบงก์ชาติเดินสายพบนักธุรกิจภาคใต้ ร่ายยาวภาวะเศรษฐกิจปีหน้า คาดจีดีพีโต 4.3-4.8% สวนกระแสบาทมีโอกาสอ่อนค่า แนะผู้ส่งออกไม่ควรมุ่งเก็งค่าเงิน ต้องมีการปรับตัวหันเจาะตลาดใหม่และปรับลดต้นทุนการผลิต ด้านการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งก็ไม่น่ากังวล ชี้เศรษฐกิจของประเทศไม่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกเป็นหลัก แต่ต้องสร้างสมดุลระหว่างการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ ด้านปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังส่งผลด้านจิตวิทยา แต่ราคายางพารายังอยู่ในเกณฑ์ดี แนะส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่า เนื่องจากมีหลายประเทศปลูกยางมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างแน่นอน

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่รายงานวานนี้ (7 พ.ย.) ที่ห้องตะกั่วป่า โรงแรมเจบี หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้มีการสัมมนาในหัวข้อ "เศรษฐกิจไทย : ความท้าทายและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน" โดยนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เป็นประธานในการเปิดงาน พร้อมกันนี้ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "สภาวะเศรษฐกิจไทย ในปีหน้า"

นางธาริษา กล่าวว่า ในปี 2551 มีการวิเคราะห์ว่าอัตราการเติบโต(จีดีพี)ของประเทศไทยจะเติบโตขึ้นประมาณ 4.3 – 4.8 % ขณะที่ด้านการส่งออกจะมีการชะลอตัวทุกประเทศไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เศรษฐกิจไทยจะไม่ถึงกับวิกฤติเนื่องจากจะมีปัจจัยบวกคือความต้องการภายในประเทศช่วยหนุนอยู่ ส่วนการลงทุนในภาคเอกชนน่าจะดีขึ้นมาก ซึ่งในปีนี้พบว่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้ว ในส่วนการลงทุนภาครัฐก็ปรับดีขึ้น มีความชัดเจนว่ารัฐจะผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์ คือโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีแดง ในส่วนปัญหาการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่มีปัญหาเรื่องมลพิษ ก็มีความชัดเจนว่าจะมีการบริหารจัดการอย่างไร ให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และกรณีค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นจะส่งผลให้การลงทุนในประเทศดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนด้านการจัดซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศ

"อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายๆปัจจัยภายในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่เราก็ต้องดูในเรื่องปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น เศรษฐกิจของอเมริกา ราคาน้ำมัน สิ่งเหล่านี้อยู่นอกเหนือการควบคุม ส่วนปัจจัยในประเทศก็คือเรื่องการเมือง ต้องดูว่าการเลือกตั้งทั่วไปผ่านไปได้ด้วยดี มีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาบริหารประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็วหรือไม่ หากล่าช้าการเบิกจ่ายงบประมาณมาบริหารจัดการก็จะล่าช้าไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างแน่นอน”นางธาริษากล่าว

ในส่วนของการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่หลายฝ่ายมีความกังวลนั้น ขณะนี้ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เนื่องจากมีปัจจัยกำหนดหลายอย่าง แต่การบริหารความเสี่ยงต้องอย่าไปคาดว่าค่าเงินบาทจะแข็งหรืออ่อนตลอด เพราะค่าเงินมีขึ้นมีลง ในส่วนของผู้ส่งออกและผู้นำเข้าความถนัดคือการขายของแต่ค่าเงินไม่ใช่ความถนัด จึงไม่ควรไปเก็งค่าเงิน การเก็งมีทั้งถูกและผิด ซึ่งหากโชคไม่ดีก็จะขาดทุน

"จากการวิเคราะห์แล้วพบว่าปีหน้าค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนตัวลง ทั้งนี้มีปัจจัยมากมายเป็นตัวกำหนด ภายในประเทศอาจมีการลงทุนซื้อเครื่องมือ เครื่องจักรเข้ามาช่วยในการขยายการลงทุนมากขึ้น ทำให้ดุลการชำระเงินน้อยลงกว่าปีนี้ เมื่อการส่งออกชะลอตัวแต่การนำเข้าเพิ่มขึ้น ก็ทำให้ขาดดุลการค้า มีโอกาสทำให้ค่าเงินอ่อนได้ จึงไม่ควรครอบครองเงินดอลลาร์ไว้มากเกินไป”ผู้ว่าการธปท.กล่าว

ด้านศักยภาพการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ เมื่อดูในแง่ของค่าเงินแล้ว ตอนนี้ไทยยังเกาะกลุ่มอยู่กับประเทศในภูมิภาค จากในปีที่แล้วพบว่าค่าเงินของเราแข็งค่ากระฉูดไป 17% ประเทศอื่นในภูมิภาคแค่ 6% จนต้องมีมาตรการสำรองเงินลงทุน 30% แต่ในปัจจุบันเรายังเกาะกลุ่มกับภูมิภาค จากข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ย.เทียบกับปลายปีที่แล้วค่าเงินบาทแข็งขึ้น 6% ใกล้เคียงกับสิงคโปร์ ที่แข็งขึ้น 5.9% มาเลเซีย 6% ส่วนจีน 4.9% และยังมีประเทศที่ค่าเงินแข็งกว่าไทย เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย ค่าเงินแข็งขึ้นถึง 12-13% หากเราเกาะกลุ่มกับประเทศในภูมิภาคได้ก็ไม่น่ากังวล

"การจะดูว่าภาวะค่าเงินของเรายังเกาะกลุ่มกับประเทศในภูมิภาคหรือไม่โดยเทียบกับค่าเงินดอลล่าร์ ก็ยังไม่ถูกต้องนัก เพราะทุกวันนี้ไม่ได้มีการซื้อขายกันด้วยเงินดอลลาร์ 100% แต่มีการใช้เงินตราหลากหลายสกุลมากขึ้น การจะดูว่าเราจะสามารถแข่งขันได้หรือไม่ต้องดู Real Effective Exchange Trade ด้วย หากประเทศคู่แข่งทางการค้าของเรามีค่าเงินที่อ่อน แต่ภาวะเงินเฟ้อกลับสูง สินค้าในประเทศก็แพงเหมือกัน ก็ไม่สามารถแข่งขันได้ จึงต้องดูอัตราเงินเฟ้อด้วย ในปี 1994 Real Effective Exchange Trade ของจีนสูงที่สุด ส่วนไทยใกล้เคียงสิงคโปร์ ตอนนี้ไทยยังเกาะกลุ่มการแข่งขันจึงไม่น่าจะมีความกังวล”นางธาริษากล่าว

นอกจากนี้ การแข่งขันด้านการส่งออกกับประเทศคู่แข่ง ปัจจัยไม่ได้อยู่ที่ค่าเงินเพียงอย่างเดียว ค่าเงินเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่ง ยังมีอีกหลายอย่างที่ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัว ถ้าพึ่งเงินดอลลาร์เพียงอย่างเดียว หากเงินดอลลาร์อ่อนค่า เงินก็หายไปเมื่อนำกลับไปแลกกับเงินบาท จึงต้องมีการปรับกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน และต้องมีการหาตลาดใหม่ๆด้วย ซึ่งในเรื่องนี้จากข้อมูลต่างๆ พบว่าภาคธุรกิจไทยค่อนข้างมีการปรับตัวได้ดีพอสมควร โดยมีการพยายามหาตลาดใหม่ๆ มากขึ้น

ในส่วนของกรมส่งเสริมการค้า กระทรวงพาณิชย์ ก็ได้ทำต่อเนื่อง ตัวเลขการส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศต่างๆ มีเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลพบว่าตัวเลขการส่งออกในปี 2006 ไทยส่งสินค้าไปอเมริกา เพิ่มขึ้น 14 % และ 9 เดือนแรกของปีนี้ ยอดการส่งออกลดลง 3 % แสดงว่ามีการปรับ และมุ่งส่งสินค้าไปในกลุ่มสมาชิกใหม่ของ EU มากขึ้น ยอดการส่งออกปีที่แล้ว 40 % ส่วน 9 เดือนแรกของปีนี้ 45 % และส่งออกไปอินเดีย ปีที่แล้ว 18 % 9เดือนแรกของปีนี้ 16 %

"จะเห็นว่าภาคเอกชนไม่ได้นิ่งเฉย แต่มีการพยายามเจาะตลาดใหม่ๆ มาเก็ตแชร์ ที่ได้จากอเมริกา จากเดิม 15 % ปีนี้ลดเหลือ 12 % หายไป 3 % แต่ไปเพิ่มที่ประเทศอื่น ตามลำดับ ซึ่งไม่ค่อยมีใครพูดถึงประเด็นนี้ ในขณะที่การหาตลาดใหม่ๆ คืบหน้าไปมาก แต่การปรับตัวเรื่องการลดต้นทุนการผลิตข้อมูลยังไม่แน่ชัดว่าปรับไปถึงไหน เรื่องโรงงานที่ปิดกิจการไปนั้นมีคนพูดว่าพอเงินบาทแข็งโรงงานปิดไปมาก แต่จากข้อมูลพบว่า ปี 2548 ค่าเงินบาทอ่อน แต่ก็มีโรงงานปิดไป 2,200 ส่วนปีนี้ค่าเงินบาทแข็งแต่มีโรงงานปิดเพียง 1,400 แห่ง ปี 2548 มีคนตกงาน 67,000 คน ส่วน 9 เดือนของปีนี้มีคนตกงาน 34,000 คน และตอนนี้มีภาคธุรกิจที่ยังขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคใต้ ทั้งประมง การแปรรูปอาหารทะเล แรงงานกรีดยาง คนงานที่ตกงานยังมีธุรกิจอื่นรองรับ นอกจากว่าเขาไม่ต้องการที่จะย้ายถิ่นฐาน” ผู้ว่าการธปท.กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของภาครัฐเอง ก็มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนการผลิต ที่ชัดเจนคือการขนส่ง ทุกวันนี้การขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกทำให้สิ้นเปลืองมาก เนื่องจากน้ำมันราคาสูงขึ้น ประเทศอื่นๆ มีการขนส่งด้วยรถไฟ ต้นทุนถูกกว่ามาก ภาครัฐต้องส่งเสริมโลจิสติกส์ มีการทำไปบ้างแล้ว และต้องเร่งมือให้ทันต่อความต้องการของภาคธุรกิจ

"เศรษฐกิจของประเทศไม่ควรมองที่การส่งออกเพียงอย่างเดียว ความวิตกเรื่องค่าเงินแสดงว่าเราให้ความสำคัญกับการส่งออกเพียงอย่างเดียว เศรษฐกิจไม่ควรเดินด้วยเครื่องยนต์ตัวเดียว เพราะหากเกิดปัญหาระบบก็จะหยุดชะงัก และเดือดร้อนกันหมด จึงต้องมีทางอื่นสำรอง เราต้องให้ความสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศ ด้วย ให้สองส่วนนี้เกิดความสมดุลกัน ให้คนหมู่มากอยู่ได้โดยไม่พึ่งการส่งออกมากนัก” นางธาริษา กล่าวและว่า

ด้านเศรษฐกิจโดยรวมของภาคใต้ในขณะนี้ ยางพารายังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ และยังมีราคาอยู่ในเกณฑ์ดี แต่พบว่าขณะนี้ประเทศจีนและประเทศในอาเซี่ยนมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพารามากขึ้น เมื่อผลผลิตสามารถเก็บเกี่ยวได้ก็จะเกิดผลกระทบกับประเทศไทย จึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการแปรรูปเพิ่มมูลค่ามากขึ้น แทนการส่งออกน้ำยางข้น และยางแผ่นดิบเป็นหลัก เพราะประเทศอื่นๆ ก็สามารถทำได้ ในส่วนของรายได้หลักอีกทางของภาคใต้คือการท่องเที่ยว ก็พบว่าปีนี้การท่องเที่ยวมีการชะลอตัวทั่วประเทศ จึงทำให้รายได้ส่วนนี้ลดลง

"เรื่องปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบด้านจิตวิทยา ความเชื่อมั่นต่อการลงทุนลดลง แต่ภายหลังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วคิดว่าปัญหาน่าจะเบาบางลง” นางธาริษา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น