xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอย ‘สนธิ’ (8) – เกมของชนชั้นนำ

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


หลังการรับประทานอาหารกลางวัน พวกเราชมกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ผ่านบานหน้าต่างรถยนต์อย่างคร่าวๆ ตั้งแต่ Washington Monument อนุสาวรีย์ทรงสี่เหลี่ยมปลายแหลมคล้ายแท่งดินสอที่ถูกปักหัวชี้ขึ้นฟ้าที่สร้างขึ้นจากหินสีขาว อนุสาวรีย์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา, Jefferson Memorial ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับโทมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐฯ ผู้มากด้วยความสามารถทั้งในทางการปกครอง, การออกแบบ, เชิงปรัชญา, การประดิษฐ์ ฯลฯ

Union Station สถานีรถไฟอันงดงามที่สร้างขึ้นเมื่อราวร้อยปีที่แล้ว (สร้างในปี ค.ศ.1908) และครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ในปัจจุบันด้วยความซบเซาของความนิยมในการโดยสารรถไฟของชาวอเมริกันทำให้สถานีแห่งนี้ถูกปรับปรุงให้บางส่วนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ชอปปิ้งไป, Vietnam และ Korean Veterans Memorial อนุสรณ์สถานสำหรับทหารอเมริกันที่ผ่านสนามรบที่เวียดนามและเกาหลี

เรามีเวลาแวะถ่ายรูปที่ Lincoln Memorial กันอยู่พักใหญ่ ...

อนุสรณ์สถานลินคอล์นถูกสร้างเพื่ออุทิศให้กับอับราฮัม ลินคอล์น (ค.ศ.1809-1865) ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐฯ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่และยิ่งยงที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาวอเมริกัน เนื่องจากเป็นผู้เลิกทาส รวมชาติ ก่อนที่จะถูกลอบสังหารขณะที่ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

ระหว่างที่ยืนกินลมชมทิวทัศน์ของ Reflecting Pool สระทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ทอดยาวซึ่งสะท้อนภาพของอนุสาวรีย์วอชิงตัน ทิวทัศน์อันเลื่องชื่อของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (อย่างน้อยผมก็จำได้ว่ามีอยู่ในฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องฟอร์เรส กัมพ์ (Forrest Gump) ที่ฟอร์เรส กัมพ์ (แสดงโดยทอม แฮงก์) ลุยน้ำในสระไปกอดกับเจนนี่แฟนสาว) ...... ผมแอบกระซิบถาม ‘อาติ๊ก’ หรือ ดร.วรเวช ตันติเวทย์ ไกด์กิตติมศักดิ์ของคณะของเราหลายต่อหลายเรื่องด้วยกัน

อย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟัง ‘อาติ๊ก’ ทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ธนาคารโลก หากใครเป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์ คงทราบดีกว่าหนึ่งเป้าหมายสูงสุดในการทำงานของนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยก็คือการได้ทำงานใน ธนาคารโลก (World Bank) หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) องค์กรโลกบาลที่มีสถานะเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาและนโยบายต่างๆ ของชาวโลก และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่วอชิงตัน ดี.ซี.

เราคุยสั้นๆ ถึงเรื่องความวุ่นวายในธนาคารโลก จากกรณีเรื่องชู้สาวของนายพอล วูล์ฟโฟวิตซ์ อดีตประธานธนาคารโลก ที่ปรับขึ้นเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่งให้แฟนสาวของตัวเอง

จากนั้นผมจึงคุยกับอาติ๊กสั้นๆ ถึงเนื้อหาในหนังสือ คำสารภาพของมือปืนเศรษฐกิจ หรือ Confessions of an Economic Hit Man หนังสือด้านเศรษฐศาสตร์เล่มอื้อฉาวของโลกที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับบรรดาองค์กรโลกบาลต่างๆ รวมถึงธนาคารโลกด้วยในช่วงปี 2547-2549

คำสารภาพของมือปืนเศรษฐกิจ (Confessions of an Economic Hit Man) เขียนโดย นายจอห์น เพอร์กินส์ (John Perkins) อดีตนักเศรษฐศาสตร์ผู้ซึ่งเคยทำงานให้กับบริษัทที่ปรึกษาที่ชื่อ Chas. T. Main และทำงานลับให้กับองค์กรของรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาแฉว่าไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกนั้นเป็นฟันเฟืองสำคัญชิ้นหนึ่งในจักรกลใหญ่ของโลกตะวันตกในการผลักดันลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจเพื่อดูดซับและขูดรีดเอาทรัพยากรจากประเทศกำลังพัฒนาให้เข้ามาสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ... สหรัฐอเมริกา

ในหนังสือเล่มดังกล่าวเพอร์กินส์เปิดเผยว่าในอดีตเขาเคยเป็น “มือปืนเศรษฐกิจ (Economic Hit Men หรือ EHMs)” โดยทำอาชีพนี้อยู่ราวสิบปีในระหว่างช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ถึงต้นทศวรรษที่ 1980 ทั้งนี้เขาเคยเข้าไปปฏิบัติภารกิจในประเทศอย่างเช่น อินโดนีเซีย อิหร่าน ปานามา ซาอุดิอาระเบีย โคลัมเบีย เอกวาดอร์ มาแล้ว

เพอร์กินส์ระบุว่า ‘มือปืนเศรษฐกิจ’ คือผู้ที่มีหน้าที่ชักชวนและดึงดูดผู้นำในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายผู้สนับสนุนผลประโยชน์ทางการค้า ทางเศรษฐกิจ และทางการเมืองของจักรวรรดินิยมครอบโลกซึ่งก็คือ ‘กลุ่มผลประโยชน์’ ที่เป็นตัวแทนของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา

แน่นอนว่าวิธีการ “ดึงดูดและชักจูง” ของมือปืนเศรษฐกิจนั้นไม่ใช่การเข้าพบและนั่งกินกาแฟ หรืออาหารกลางวัน-ดินเนอร์กันธรรมดา แต่เป็นไปในลักษณะของการต่อรองผลประโยชน์ การติดสินบน การคอร์รัปชัน ทั้งยังเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมและกลเม็ดเด็ดพรายสารพัดสารพันไม่ว่าจะเป็นการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ การตกแต่งตัวเลขการประมาณการทางเศรษฐกิจ การสร้างมายาภาพในตัวเลขผลตอบแทนของโครงการสาธารณูปโภคยักษ์ใหญ่ การโกงการเลือกตั้ง การใช้นกต่อ การข่มขู่ หรือกระทั่ง “การลอบสังหาร”

ทั้งนี้ทั้งนั้นวิธีหนึ่งที่เห็นกันจนเจนตาก็คือ วิธีที่มือปืนทางเศรษฐกิจเหล่านี้เข้าไปติดต่อผู้นำประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ในรูปบริษัทที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ-การเงิน เพื่อแนะนำให้ดำเนินโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เขื่อน โรงไฟฟ้า ทางรถไฟ ถนน ท่าเรือ สนามบิน ฯลฯ โดยเสกสรรปั้นแต่งตัวเลขการสำรวจความเป็นไปได้ของโครงการและผลประโยชน์ให้มากกว่าความเป็นจริง จากนั้นจึงโยงเครือข่ายของตนเองเข้ากับองค์กรระดับนานาชาติอย่างเช่น ธนาคารโลก หรือ องค์การพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) เพื่อปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศนั้นๆ โดยเงินจากโครงการเหล่านี้นอกจากจะไหลเข้าสู่นักการเมืองแล้ว เงินจำนวนมากยังไหลออกสู่บริษัทรับเหมาก่อสร้าง และบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลสหรัฐฯ อีกด้วย

เพอร์กินส์เล่าว่า หลายต่อหลายครั้งหากงานของมือปืนเศรษฐกิจสำเร็จลุล่วงดังเป้าประสงค์ จำนวนเงินกู้ดังกล่าวก็จะสะสมเป็นจำนวนมากพอที่จะทำให้ประเทศผู้กู้ล้มละลาย และแน่นอนผู้รับเคราะห์ย่อมไม่ใช่ผู้นำรัฐบาล หรือชนชั้นนำของประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นแต่เป็นประชาชนตาดำๆ

นอกจากนี้ด้วยเงื่อนไขและข้อบังคับระหว่าง ‘เจ้าหนี้-ลูกหนี้’ ยังบีบให้ประเทศเหล่านั้นต้องดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ ตามคำแนะนำขององค์กรระดับนานาชาติที่อยู่ภายใต้ปีกของสหรัฐฯ และยังจำเป็นต้องเปิดประเทศ แก้รัฐธรรมนูญ แก้กฎหมาย ยกกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเช่น ป่าดงดิบ แหล่งน้ำมัน แหล่งก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ ให้บริษัทจากสหรัฐฯ เข้าหาประโยชน์ ขณะที่ชนชั้นล่างในประเทศนั้นกลับต้องทนทุกข์กับการถูกกดค่าแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำต้อย

หลัง Confessions of an Economic Hit Man ถือกำเนิดขึ้นในบรรณพิภพได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในแวดวงเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงสื่อสารมวลชน จนทำให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ขายดีติดอันดับ New York Times Bestseller โดยมียอดขายรวมมากกว่าสามแสนเล่ม ทั้งยังถูกนำไปแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 20 ภาษา

อย่างไรก็ตาม นอกจากผู้ที่คล้อยตามเรื่องราวของเพอร์กินส์ในหนังสือเล่มดังกล่าวแล้ว ในด้านตรงกันข้ามก็มีผู้ออกมาโต้แย้งเพอร์กินส์เช่นกัน อย่างเช่น กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาตอบโต้เพอร์กินส์ว่า หนังสือเล่มดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็น “คำสารภาพ (Confessions)” แต่เป็น “ความคิดฟุ้งซ่าน (Fantasies)” ของเพอร์กินส์เสียมากกว่า โดยมีการโต้แย้งว่าสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ที่เพอร์กินส์อ้างว่าเป็นองค์กรที่ว่าจ้างให้เขาปฏิบัติหน้าที่เป็น ‘มือปืนเศรษฐกิจ’ เพื่อไปสร้างหนี้สินและขูดรีดทรัพยากรในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกนั้น ในทางปฏิบัติเป็นองค์กรด้านความมั่นคงมากกว่าที่จะเป็นองค์กรทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังมีการโต้แย้งด้วยว่า ในความเป็นจริงรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงประเทศในกลุ่ม G8 มีนโยบายในการลดหนี้ใหักับประเทศที่ยากจนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยากจนที่มีหนี้สูง (Heavily Indebted Poor Countries - HIPC) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอัฟริกา ขณะที่สื่อมวลชนบางกลุ่มก็กล่าวหาว่าเพอร์กินส์เป็นพวกต้านกระแสทุนนิยม โดยชี้ว่าเพอร์กินส์ปฏิเสธมุมมองที่ว่า “การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นส่งผลดีต่อมนุษยชาติโดยรวม”

หลังจากถูกตอบโต้และโจมตีจากหลายฝ่าย ในปี 2550 นี้สำนักพิมพ์ Berrett-Koehler ที่พิมพ์หนังสือของเพอร์กินส์จึงออกหนังสือตามหลังออกมาอีกเล่มหนึ่งในชื่อ A Game As Old As Empire โดยเป็นหนังสือรวมบทความจากนักเขียนหลายๆ คนที่ดาหน้าออกมาเปิดเผยถึงกลเม็ดของการไหลเวียนของเงิน ความมั่งคั่ง อำนาจและการขูดรีดทรัพยากรจากประเทศในโลกซีกใต้โดยชนชั้นนำของประเทศในโลกซีกเหนือ

หนังสือเล่มนี้เพอร์กินส์เป็นผู้เขียนคำนำให้ โดยเขาตอกย้ำอยู่หลายครั้งว่าเนื้อหาในหนังสือ Confessions of an Economic Hit Man นั้นถือเป็นเพียงส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ส่วนเนื้อหาใน A Game As Old As Empire นั้นเป็นการเปิดเผยส่วนอื่นๆ ของภูเขาน้ำแข็งจากบุคคลอื่นๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานของเขา

ตอนหนึ่งของหนังสือเพอร์กินส์กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

“มือปืนเศรษฐกิจรับใช้ชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ ที่มีอิทธิพลกว้างขวางยิ่ง ไม่ว่าใครจะกำชัยในการเลือกตั้งทั่วไปก็ตามที ...พวกเขามีหน้าที่รักษาและแผ่ขยายอาณาจักร (ของชนชั้นนำกลุ่มดังกล่าว) ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น”

*หมายเหตุ – Confessions of an Economic Hit Man ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า “เพชฌฆาตเศรษฐกิจ” แปลโดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ราคา 250 บาท; หนังสือ A Game As Old As Empire, The Secret World of Economic Hit Men and the Web of Global Corruption (2007) บรรณาธิการคือ Steven Hiatt จัดพิมพ์โดย Berrett-Koehler Publishers, INC. มีขายที่ร้านเอเชียบุ๊คส์ ราคา 1,150 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น