xs
xsm
sm
md
lg

ตัวแปรในการพัฒนาประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ประเทศซึ่งปัจจุบันเป็นหน่วยรัฐชาติ จะสามารถพัฒนาเป็นประเทศที่มั่นคงแข็งแกร่ง กล่าวคือ มีระบอบการปกครองที่ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มีระบบเศรษฐกิจที่นำไปสู่ความจำเริญต่อเนื่องพร้อมๆ กับมีการแจกแจงรายได้ที่ยุติธรรมต่อประชาชน ขณะเดียวกันระบบสังคมนั้นเป็นระบบที่มีความยุติธรรม เป็นระบบเปิดที่ให้โอกาสทุกคนด้วยการเข้าถึงการศึกษา ประชาชนมีความสุข การพัฒนา ค่านิยม วัฒนธรรม ที่นำไปสู่ความเจริญงอกงามในการดำเนินชีวิตและจิตใจ

ตัวแปรที่นำไปสู่การพัฒนาดังกล่าวนั้น โดยสังเขปมีดังต่อไปนี้ คือ ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ทรัพยากรธรรมชาติ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบบการเมืองการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างสังคม วัฒนธรรม ประชากรและคุณภาพ ผู้นำทางการเมือง และสภาพแวดล้อมในบริบทภายในประเทศและต่างประเทศ

ภูมิรัฐศาสตร์ เป็นตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งซึ่งในอดีตถือว่าเป็นตัวแปรที่สำคัญ แต่มาในปัจจุบันถึงแม้ความสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์ยังคงมีอยู่ แต่ก็สามารถจะแก้ไขจุดด้อยด้วยการชดเชยด้วยวิทยาการหรือเทคโนโลยี ผลของภูมิรัฐศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนา ตัวอย่างเช่น อังกฤษเป็นประเทศที่เป็นเกาะจึงจำเป็นต้องมีกองทัพเรือที่เข้มแข็ง สวิตเซอร์แลนด์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมากจึงต้องใช้ความรู้ทางทักษะในส่วนที่ละเอียดลออ เช่น ในการทำนาฬิกา สหรัฐอเมริกาและจีนมีแผ่นดินกว้างใหญ่ มีทรัพยากรมาก จุดตั้งของประเทศก็อยู่ในจุดที่ไม่เสียเปรียบเพราะใหญ่จนครอบคลุมทั้งภูเขา มหาสมุทร ในกรณีของประเทศไทยถ้ามองจากแผนที่จะเห็นว่าประเทศไทยตั้งอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยประเทศพม่า เวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน ไกลออกไปก็คือฟิลิปปินส์ ประเทศไทยจึงเสมือนอยู่ตรงดุมล้อเกวียน โอกาสการเป็นศูนย์กลางการบิน การท่องเที่ยวมีสูง ที่อื่นๆ นั้นจะไม่มีภูมิรัฐศาสตร์เหมือนประเทศไทย นี่คือตัวอย่างของภูมิรัฐศาสตร์

ทรัพยากรธรรมชาติ ก็คือแผ่นดินต้องอุดมสมบูรณ์พอที่จะผลิตเลี้ยงประชากรได้ทั้งหมด ซึ่งในอดีตเราเคยได้ยินคำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แต่ในปัจจุบันสามารถจะชดเชยในเรื่องอาหารด้วยการใช้วิทยาการและด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม จนมีรายได้ และใช้รายได้ดังกล่าวซื้ออาหาร และทรัพยากรที่เกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างหนักๆ อันได้แก่ เหล็ก ทองแดง และน้ำมัน เป็นทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับในยุคใหม่ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขาดทรัพยากรแร่เหล็ก แม้จะมีความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมก็เทียบไม่ได้กับสหรัฐฯ ในสงครามโลกครั้งที่สองสหรัฐฯ ผลิตเครื่องบินกว่าหนึ่งแสนลำ โรงงานทำรถแทร็กเตอร์ก็สามารถเปลี่ยนเป็นรถถังได้อย่างฉับพลัน ทรัพยากรในส่วนนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญของการเป็นมหาอำนาจ และถึงแม้จะมีทรัพยากรถ้าขาดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็จะเปล่าประโยชน์ มีน้ำมันแต่ขุดเจาะน้ำมันไม่ได้ เป็นต้น

ระบบการเมืองการปกครอง จะต้องเป็นระบบที่ทำให้คนมีส่วนร่วมทางการเมือง มีความต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ทำให้เกิดความชะงักงันในการบริหารประเทศและนโยบาย แต่พอจะสรุปได้ว่าระบบที่เลวน้อยที่สุดคือระบบประชาธิปไตย แต่ระบบเผด็จการที่มีผู้นำที่มีจริยธรรม มีอุดมการณ์ ก็สามารถสร้างอำนาจของรัฐได้ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีนในขณะนี้ หรือแม้สิงคโปร์ซึ่งก็ไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ระบบเศรษฐกิจ จะต้องมีการเปิดโอกาสให้สร้างความพลวัตในทางเศรษฐกิจและธุรกิจ ด้วยการบริหารจัดการ ด้วยนโยบายที่ถูกต้อง โดยการใช้วิทยาการทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) ทำให้เกิดผลผลิตในด้านการบริการ ถ้าระบบเศรษฐกิจสามารถผลิตได้มากจนพอเพียงต่อการใช้ภายในประเทศ ส่วนที่เหลือสามารถนำส่งออกจนนำไปสู่การได้เงินตราต่างประเทศ ประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างของการสร้างความร่ำรวยจากเศรษฐกิจและธุรกิจ ทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่ขาดทรัพยากรธรรมชาติ แต่มีทรัพยากรที่สำคัญคือทรัพยากรมนุษย์ และมีระบบการเมืองที่ดี

โครงสร้างสังคม วัฒนธรรม เป็นตัวแปรอีกตัวหนึ่งที่ส่งผลต่อการสร้างอำนาจให้กับชาติ สังคมที่เปิดโอกาสให้คนเข้าถึงการศึกษา คนมีระเบียบวินัย คนมีจิตวิทยาศาสตร์ คนมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีจิตสำนึกในผลประโยชน์แห่งชาติ มีตรรกที่มีเหตุมีผล ขณะเดียวกันมีการเปิดโอกาสให้ขยับชั้นทางสังคมบนพื้นฐานของความรู้ความสามารถ แต่ขณะเดียวกันมีวัฒนธรรมที่อำนวยต่อการสร้างชุมชนที่ดี มีความเคารพตัวเอง มีการให้เกียรติผู้อื่น มีความสุข สังคมนั้นก็จะเป็นสังคมที่ได้เปรียบสังคมที่ขาดสิ่งดังกล่าว กล่าวกันว่า ชาวสวิตเซอร์แลนด์เป็นผู้ที่มีวัฒนธรรมสูง มีความสงบทางใจ มีความสุข มีความรับผิดชอบ

ประชากรและคุณภาพ จากการศึกษาของ เอ.เอฟ.เค. ออร์แกนสกี้ ค้นพบว่า ประเทศที่จะเป็นมหาอำนาจในอดีตมีประชากรไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน แต่ต้องเป็นประชากรที่มีคุณภาพ กล่าวคือ มีการศึกษา ความรู้ความสามารถ และมีคุณสมบัติต่างๆ ที่กล่าวมาในส่วนที่เกี่ยวกับสังคม นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงอายุของประชากร การวางแผนครอบครัวจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง ประชากรที่เหมาะที่สุดคืออายุระหว่าง 16-60 ต้องมีจำนวนมากพอ อายุระหว่าง 1-15 ปี อายุ 60 ขึ้นไปควรจะเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าตรงกลางที่กล่าวมา และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นต้องมีการรู้จักวางแผนครอบครัว ระยะใดควรจะชะลอการวางแผน ระยะใดควรจะเข้มข้นในการวางแผน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นพลังสำคัญในการผลิตและให้มีจำนวนมากพอในตลาดภายในที่สามารถสร้างความจำเริญทางเศรษฐกิจและธุรกิจได้ในขั้นต้น สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการผลิตรถยนต์ในเบื้องต้นด้วยการผลิตเพื่อขายภายในประเทศ ซึ่งมีผู้ซื้อมากพอ

ผู้นำทางการเมือง ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถึงแม้จะมีลักษณะเป็นบวกแต่ถ้ามีผู้นำทางการเมืองที่ขาดความรู้ความสามารถจนทำให้ระบบการเมืองการปกครองผิดเพี้ยน ก็อาจก่อให้เกิดความหายนะต่อประเทศได้ ตัวอย่างที่เห็นในประวัติศาสตร์คือ ประเทศอาร์เจนตินาเป็นประเทศที่ร่ำรวยอันดับสี่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ทั้งอาหารทะเล เนื้อวัวที่เป็นที่โจษจันกันทั่วโลก มีวัฒนธรรมแบบยุโรปผสมกับท้องถิ่น มีนักวิทยาศาสตร์ได้รับรางวัลโนเบล มีภูมิรัฐศาสตร์ที่ปลอดจากการรุกรานของต่างชาติ ยกเว้นตอนถูกอังกฤษโจมตีในสงครามโฟกแลนด์ แต่โดยทั่วๆ ไปถือได้ว่าปลอดจากการคุกคามทางทหาร แต่สิ่งที่ทำให้ประเทศอาร์เจนตินาเกิดสภาวการณ์ตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงคือการปกครองโดยผู้นำที่ไม่อยู่ในกรอบ ขาดจริยธรรม มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมากมาย และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ใช้ชีวิตที่รักสนุกด้วยการกิน ดื่ม เต้นรำ จนบ้านเมืองอยู่ในอาการย่ำแย่ เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมีตัวแปรต่างๆ ครบครันถ้าขาดผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ มีจิตสำนึก มีจริยธรรม มีอุดมการณ์ ประเทศที่ร่ำรวยยิ่งใหญ่ก็อาจถูกทำให้ล้มละลายได้ในทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่นเกิดเงินเฟ้ออย่างมหาศาล ผู้รับผิดชอบในการพิมพ์ธนบัตรกลับนำธนบัตรที่พิมพ์ไปใช้เอง มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างดาษดื่น ผู้นำและประชาชนไม่เป็นโล้เป็นพายก็ย่อมเกิดความหายนะ หรือในทางกลับกัน ผู้นำตัวอย่างอย่างนายลี กวนยู ที่ทำให้เกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งได้พัฒนาเปลี่ยนสภาพภายใน 20 ปี จนขณะนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก

สภาพแวดล้อมในบริบทภายในประเทศ ถ้ามีปัญหาผู้ก่อการร้าย มีการพยายามแบ่งแยกดินแดน กล่าวง่ายๆ คือมีศึกภายใน มีการต่อสู้กันทั้งในส่วนที่ต้องการแยกดินแดน ทั้งในส่วนของนักการเมือง จนไม่สามารถคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติได้ ต่อให้มีตัวแปรต่างๆ อย่างครบครันก็ยากที่จะก้าวไปข้างหน้าได้ ในกรณีของตัวแปรนอกประเทศเป็นได้ทั้งบวกและลบ ในส่วนลบเช่น กรณีต่างชาติบุกเข้าไปล้มรัฐบาลอันชอบธรรม ตัวอย่างเช่นกรณีอิรัก หรือมีการรังควานโดยการข้ามพรมแดนโดยกองทหารต่างชาติก็ย่อมทำให้เกิดความปั่นป่วน เช่น การแทรกซึมเข้าสู่ซินเจียงโดยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงนอกประเทศ หรือเผ่ามองโกลบุกเข้ามาตีประเทศจีนจนทำให้ต้องมีการสร้างกำแพงขึ้น หรือในกรณีที่กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าตีแตกเมื่อปี 2310 ในส่วนที่เป็นบวกนั้นการคุกคามเช่นนั้นอาจมีส่วนผลักดันให้มีการเร่งการพัฒนาเช่นในกรณีของอิสราเอล กรณีของเกาหลีใต้ กรณีของไต้หวัน เพราะถ้าไม่พัฒนาอาจจะอยู่ในสถานะลำบาก แต่การพัฒนาเช่นนั้นมักจะมีการนำไปสู่ข้ออ้างของความจำเป็นที่ต้องใช้อำนาจเด็ดขาด หรือการใช้วิธีปราบอย่างรุนแรง ย่อมเกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

กล่าวโดยสรุป ตัวแปรต่างๆ ที่กล่าวมานี้เป็นฐานสำคัญของการพัฒนาอำนาจแห่งชาติ ทั้งในทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ทางทหาร แต่ที่สำคัญจะต้องมีระบบการเมืองและผู้นำทางการเมืองที่ดี เพราะระบบการเมืองและผู้นำทางการเมืองคือตัวแปรขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุด

ประเทศไทยมีตัวแปรต่างๆ เหล่านี้กี่ตัว ตัวใดที่เป็นจุดแข็ง ตัวใดที่เป็นจุดอ่อนหรือขาดแคลน ย่อมสามารถจะวิเคราะห์กันได้ แต่มุมมองนั้นขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลว่ามีตรรกและวิธีคิดอย่างมีเหตุมีผลหรือไม่เพียงใด มีข้อมูลและความรู้เพื่อเสริมการวิเคราะห์ได้ในลักษณะเปรียบเทียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของประเทศต่างๆ ที่พยายามพัฒนาประเทศ แต่ที่สำคัญที่สุด ถ้ามีการวิเคราะห์เกี่ยวกับประเทศของตนเอง มีการวิเคราะห์ปัญหาอย่างวัตถุวิสัยได้มากน้อยเพียงใด
กำลังโหลดความคิดเห็น